อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ … อาจพลิกกลับมาปรับสูงขึ้นอีกครั้งในอนาคต

แม้ว่านับตั้งแต่กลางปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไปแล้วรวม 1.50% จากระดับต่ำสุดในรอบ 40 กว่าปีที่ 1.00% มาเป็น 2.50% แต่ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี กลับมีความเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยจะสอดคล้องไปด้วยกันนัก โ

ดยล่าสุดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.27% ต่ำกว่าระดับ 4.74% ในวันที่ 28 มิถุนายน 2547 หรือก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds เป็นครั้งแรกของเฟดในการประชุมเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แถลงการณ์รอบครึ่งปีของประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการธนาคารประจำวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา ที่ระบุถึงการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯว่าเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย นั้น ก็ได้ทำให้เกิดการตีความโดยนักวิเคราะห์บางส่วนว่าทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯในปัจจุบันอาจจะมีระดับที่ต่ำเกินไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯดังกล่าว เชื่อมโยงกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่แท้จริง จากข้อมูลสถิติในอดีต เพื่อประเมินแนวโน้มความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯในระยะข้างหน้า ไว้ดังต่อไปนี้ :-

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี ปรับลดลงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะขยับขึ้นแล้ว 1.50%

? การลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังคงอยู่ภายในระดับที่ควบคุมได้ และจากปัจจัยความต้องการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯของนักลงทุน ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีการขยายตัวที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง หรือเติบโต 4.4% เทียบต่อปี ในปี 2547 และแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (NYMEX) จะยังคงผันผวนในระดับสูงใกล้เคียง 50 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในปัจจุบัน แต่อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core Personal Consumption Expenditure Price Index) ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เฟดมักจะใช้อ้างอิงการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น ก็ยังคงปรับตัวอยู่ภายในระดับที่ควบคุมได้ โดยในปี 2547 อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 1.3% ในปี 2546 ขณะที่ ปริมาณการซื้อสุทธิในหลักทรัพย์สหรัฐฯจากนักลงทุนต่างชาติมีจำนวนประมาณ 915.8 พันล้านดอลลาร์ฯในปี 2547 เพิ่มขึ้นจาก 745.9 พันล้านดอลลาร์ฯในปี 2546

? อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่คาดว่าจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2548, การเติบโตของตลาดแรงงาน, ระดับค่าจ้างที่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นจากต้นทุนประสิทธิภาพการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ, เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจไม่ลดลงมากเท่าที่คาดหวังจากความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อให้กับสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน การอ่อนตัวลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯอย่างต่อเนื่องก็ยังอาจนำไปสู่การลดลงของความต้องการถือครองหลักทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯของนักลงทุนทั่วโลกด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อาจจะไม่สามารถยืนอยู่ที่ระดับค่อนข้างต่ำเช่นในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยเรื่องการคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการลดลงของความต้องการซื้อหลักทรัพย์สหรัฐฯดังกล่าว อาจจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ในที่สุด

? ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลสถิติรายเดือนในระหว่างปี 2503-2547 พบว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่แท้จริง ซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลบด้วยอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน มีค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 2.5% ขณะที่ผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี และอัตราดอกเบี้ย Fed Funds มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.9% นั่นหมายความว่า หากอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน มีค่าอยู่ระหว่าง 1.50-1.75% ในปี 2548 ตามการคาดการณ์ที่เปิดเผยในแถลงการณ์ล่าสุดวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ของเฟดแล้ว เพื่อให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่แท้จริง เคลื่อนเข้าสู่ระดับค่าเฉลี่ยที่ 2.5% ตามสถิติในอดีต ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างต่อเนื่องเข้าสู่ระดับ 4.00-4.25% จากในปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.50% ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวก็น่าที่จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นตามไปที่ระดับ 4.90-5.15% ในอนาคตด้วย

? อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ อาจขยับขึ้นเป็น 3.75-4.00% ณ ปลายปี 2548 ทำให้เมื่อนำค่าเฉลี่ยผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี และอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ระดับ 0.9% ในช่วงปี 2503-2547 มาใช้เป็นมาตรฐานแล้ว จะได้ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อาจปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 4.65-4.90% ณ ปลายปี 2548 นี้ แต่ทั้งนี้ การปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อาจไม่เป็นไปตามการประเมินข้างต้นได้ในหลายกรณี ดังนี้

ปัจจัยที่อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภท 10 ปี อยู่ในระดับต่ำกว่าคาด ปัจจัยที่อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภท 10 ปี อยู่ในระดับสูงกว่าคาด

? เศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอกว่าที่คาด และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯไม่เร่งขึ้นมาก ทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจพิจารณาหยุดวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด

? เงินดอลลาร์ฯอ่อนค่าลงไม่มากนัก หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ไม่เข้มแข็งเท่าที่คาด ทำให้นักลงทุนยังมีความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์สหรัฐฯ

? ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงของสหรัฐฯเริ่มมีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนและมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีมากขึ้น

? เศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่งมากกว่าที่คาด และอัตราเงินเฟ้อขยับเร่งขึ้น ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หรืออาจพิจารณาเพิ่มระดับความเข้มงวดของนโยบายอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

? เงินดอลลาร์ฯอ่อนค่าลงอย่างมาก จากการขยายตัวของเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ทำให้นักลงทุนลดการถือครองหลักทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ และหันไปถือครองสินทรัพย์สกุลเงินอื่นมากขึ้นแทน

? ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงของสหรัฐฯยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และยังคงกดดันเงินดอลลาร์ฯอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรไทย

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้เคลื่อนไหวตามกันอย่างสมบูรณ์ แต่ค่าความสัมพันธ์ (correlation) ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ สำหรับตราสารหนี้ประเภทอายุ 10 ปี ที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 84 ในช่วงปี 2543-2547 ก็เป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การคาดการณ์ถึงทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯว่าอาจจะสามารถพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะข้างหน้า ก็คงจะมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลสถิติรายเดือนในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ สำหรับตราสารหนี้ประเภทอายุ 10 ปี มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.45% และหากกำหนดให้ค่าเฉลี่ยดังกล่าวเป็นค่ามาตรฐานแล้ว จะได้ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี ที่คาดว่าอาจขยับขึ้นไปที่ 4.65-4.90% ณ ปลายปี 2548 คงจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยประเภทอายุ 10 ปี ปรับขึ้นตามไปอยู่ที่ 5.10-5.35% ณ ปลายปี 2548 เช่นกัน (ปัจจุบัน ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี อยู่ที่ 4.80% และ 4.27% ตามลำดับ) ซึ่งการคาดการณ์แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวของไทยดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักไปที่การลงทุนในตราสารระยะสั้นเป็นหลัก เช่นเดียวกับภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็คาดว่านักลงทุนจะยังคงมีการทบทวนภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างสม่ำเสมอเพื่อพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนของตนให้มีความเหมาะสมในระยะต่อๆ ไป

แต่ทั้งนี้ การปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เกิดขึ้นจริงอาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขคาดการณ์ข้างต้นได้ เนื่องจากปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อาจยังต้องขึ้นอยู่กับ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อภาวะสภาพคล่องของระบบการเงินไทย และเป็นตัวแปรที่กำหนดปริมาณอุปสงค์ในตราสารหนี้, แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของไทย ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนในตลาดต่างๆ, ขนาดอุปทานตราสารหนี้ รวมทั้งระดับความเสี่ยงของประเทศด้วย ดังนั้น จากทั้งปัจจัยเรื่องแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และปัจจัยด้านวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็คาดว่าอาจทำให้ทิศทางอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรไทยมีความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างจะผันผวนในระยะข้างหน้าได้

บทสรุป

แม้ว่านับตั้งแต่กลางปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไปแล้วรวม 1.50% จากระดับต่ำสุดในรอบ 40 กว่าปีที่ 1.00% มาเป็น 2.50% แต่ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี กลับมีความเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยจะสอดคล้องไปด้วยกันนัก โดยล่าสุดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.27% ต่ำกว่าระดับ 4.74% ในวันที่ 28 มิถุนายน 2547 หรือก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds เป็นครั้งแรกของเฟดในการประชุมเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังคงอยู่ภายในระดับที่ควบคุมได้ และจากปัจจัยความต้องการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯของนักลงทุนชาติต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่คาดว่าจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2548, การเติบโตของตลาดแรงงาน, ระดับค่าจ้างที่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นจากต้นทุนประสิทธิภาพการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ, เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ตลอดจนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจไม่ลดลงมากเท่าที่คาดหวังจากความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อให้กับสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน การอ่อนตัวลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯอย่างต่อเนื่องก็ยังอาจนำไปสู่การลดลงของความต้องการถือครองหลักทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯของนักลงทุนทั่วโลกด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อาจจะไม่สามารถยืนอยู่ที่ระดับค่อนข้างต่ำเช่นในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยเรื่องการคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการลดลงของความต้องการซื้อหลักทรัพย์สหรัฐฯดังกล่าว อาจจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ในที่สุด

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯอาจจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.75-4.00% ณ ปลายปี 2548 จาก 2.50% ในปัจจุบัน ขณะที่หากกำหนดให้ค่าเฉลี่ยของผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี และอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ระดับ 0.9% จากข้อมูลสถิติในช่วงปี 2503-2547 มาใช้เป็นค่ามาตรฐานแล้ว จะได้ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อาจจะปรับตัวสูงขึ้นไปที่ประมาณ 4.65-4.90% ณ ปลายปี 2548 แต่การปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี อาจไม่เป็นไปตามการประเมินในข้างต้นได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ฯ และระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก เป็นต้น

สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยนั้น การคาดการณ์ถึงทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯว่าอาจจะสามารถพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะข้างหน้า หรือขยับเข้าสู่ระดับ 4.65-4.90% ณ ปลายปี 2548 อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยประเภทอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นตามไปที่ 5.10-5.35% ณ ปลายปี 2548 ด้วยเช่นกัน (หากใช้ค่าผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯที่ประมาณ 0.45% ในช่วงปี 2543-2547 มาเป็นค่ามาตรฐาน) ซึ่งการคาดการณ์แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวของไทยดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักไปที่การลงทุนในตราสารระยะสั้นเป็นหลัก เช่นเดียวกับภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็คาดว่านักลงทุนจะยังคงมีการทบทวนภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างสม่ำเสมอเพื่อพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนของตนให้มีความเหมาะสมในระยะต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เกิดขึ้นจริงอาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขคาดการณ์ข้างต้นได้ เนื่องจากปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อาจยังต้องขึ้นอยู่กับ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อภาวะสภาพคล่องของระบบการเงินไทย และเป็นตัวแปรที่กำหนดปริมาณอุปสงค์ในตราสารหนี้, แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของไทย ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนในตลาดต่างๆ, ขนาดอุปทานตราสารหนี้ รวมทั้งระดับความเสี่ยงของประเทศด้วย ดังนั้น จากทั้งปัจจัยเรื่องแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และปัจจัยด้านวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็คาดว่าอาจทำให้ทิศทางอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรไทยมีความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างจะผันผวนในระยะข้างหน้าได้