ไทยรับมือการแข่งขัน & กีดกันการค้า …. หลังยกเลิกโควตาสิ่งทอ

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกรวม 148 ประเทศ ก้าวสู่การเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีข้อจำกัดด้านโควตานำเข้าอีกต่อไป หลังจากที่มีกฎระเบียบโควตาสิ่งทอมาเป็นเวลานานในช่วงเกือบสี่ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะแรงผลักดันที่สหรัฐฯ ต้องการคงระบบโควตาไว้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างประเทศมานาน

การปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนา…รับการแข่งขัน & กระแสกีดกันการค้า

การเปิดเสรีโควตาสิ่งทอที่ไม่มีข้อจำกัดปริมาณการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันกับสิ่งทอจากจีนและอินเดียที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก เพราะได้เปรียบจากการมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า รวมทั้งรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการสกัดกั้นสินค้าสิ่งทอจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อ ปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอของตนเอง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า จีนเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการยกเลิกโควตาสิ่งทอ รองลงมา ได้แก่ อินเดีย เพราะสามารถผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ จากค่าแรงงานในประเทศที่ถูก ทำให้ราคาสินค้าของจีนและอินเดียมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ ดังนี้

? จีน – สถานการณ์ที่สำคัญของการค้าสิ่งทอของโลก คือ หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2544 จีนสามารถส่งออกสิ่งทอเพิ่มขึ้นมาก และถือเป็นประเทศผู้ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก รายงานขององค์การการค้าโลกระบุว่าจีนเป็นประเทศส่งออกเสื้อผ้ามากที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2545 เนื่องจากจีนมีระบบการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่อุตสาหรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ ค่าแรงงานถูก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ทำให้จีนครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกสิ่งทอมากขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1 แม้ว่าขณะนี้ค่าแรงงานใน อุตสาหกรรมสิ่งทอของจีนไม่ได้ต่ำที่สุด โดยสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา แต่จีนยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกมากที่สุดในตลาดสิ่งทอของโลก

ค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง
สหรัฐฯ เยอรมนี เม็กซิโก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา
ค่าแรง 11.16 10.03 1.75 0.86 0.71 0.24 0.23

ที่มา : OXFAM, International Labor Organization

จีนส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 6,500 ล้านดอลลาร์หรัฐฯ ในปี 2541 เป็น 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 WTO คาดว่า จีนจะครองส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้าประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้า ทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2551 ประเทศผู้ส่งออกสิ่งทออื่นๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ละตินอเมริกา แคริบเบียนและแอฟริกา ได้เสียส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอให้กับจีน ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน เช่น กัมพูชา บังคลาเทศ เนปาล มอริเชียส ซึ่งประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพ ต้องสูญเสียงาน กลายเป็นคนว่างงาน และอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ยิ่งกว่านั้น รายได้จากการส่งออกสิ่งทอของประเทศเหล่านี้ ถือเป็นรายได้หลักสำคัญที่นำเงินตราเข้าประเทศ

โดยการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอคิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา บังคลาเทศ (75%) และเนปาล (40%) นอกจากการยกเลิกโควตาจะกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ยังกระทบต่อประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งมี ประชากร 2.7 ล้านคนทำงานในภาคสิ่งทอและเสื้อผ้า คาดว่าการยกเลิกโควตาสิ่งทอจะทำให้การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศในสหภาพยุโรปลดลงเช่นกัน

กล่าวได้ว่า จีนจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอขององค์การการค้าโลก เพราะการส่งออกจะไม่ถูกจำกัดปริมาณโดยการกำหนดโควตาอีกต่อไป

นอกจากนี้ จีนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผลิตเสื้อผ้าและ สิ่งทอในจีน นับตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ในปี 2544 เพราะบริษัทต่างชาติต้องการลด ต้นทุนการผลิตโดยอาศัยค่าแรงในจีนที่ถูก แรงงานมีทักษะ และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการผลิต ทั้งนี้ บริษัทผลิตเสื้อผ้าของสหรัฐฯ ได้ย้ายฐานการผลิตมาที่จีน

? อินเดีย – อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอรองมาจากจีน เพราะค่าแรงในอุตสาหกรรมสิ่งทอของอินเดียถูกมาก และถูกกว่าค่าแรงของจีน อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประเทศในเอเชียใต้อื่นๆ ได้แก่ ปากีสถาน ศรีลังกา เนปาล และบังคลาเทศ แม้ค่าแรงงานในประเทศจะต่ำเช่นกัน แต่ไม่สามารถแข่งขันกับอินเดียได้ เพราะอินเดียได้เปรียบในด้านมีวัตถุดิบในประเทศ เช่น การปลูกฝ้ายเอง และมีฐานการผลิตที่ใหญ่กว่าประเทศเอเชียใต้อื่นๆ อย่างไรก็ตาม อินเดียมีจุดอ่อนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะเส้นทางด่วนและท่าเรือที่แออัดและหนาแน่นมาก ระบบไฟฟ้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ โรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ใหญ่และทันสมัยยังมีจำนวนไม่มากเท่ากับจีน รวมทั้งระบบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของอินเดียสูงกว่าจีน แต่อินเดียยังคงมีความได้เปรียบด้านการส่งออกสิ่งทอ เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั้งในด้านค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า แม้จีนและอินเดียจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอขององค์การการค้าโลก แต่ประเทศทั้งสองต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้มาตรการกีดกันการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

? แรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา

การที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2544 ได้มีการกำหนดให้สิทธิสมาชิก WTO อื่นๆ สามารถจำกัดการนำเข้าสินค้าส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของจีนได้เป็นเวลา 3 ปี ในระหว่างปี 2548-2551 นับจากข้อตกลงกำหนดโควตาสิ่งทอสิ้นสุดลงในปี 2547 หากสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเปิดเสรี ส่งผลกระทบเสียหายรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอและ เสื้อผ้าของสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้รัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าสิ่งทอจากจีนไม่ให้เพิ่มเกินร้อยละ 7.5 ต่อปี

นอกจากนี้ สหรัฐฯ เห็นว่าการที่จีนตรึงค่าเงินหยวนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินหยวนมีค่าอ่อนเกินไป ซึ่งทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และจีน ยังใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศด้วย โดยก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอของสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกสิ่งทอพยายามผลักดันให้ต่ออายุโควตาสิ่งทอออกไปอีก 3 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศของสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ไม่สามารถแข่งขันกับสิ่งทอของจีนมีเวลาปรับตัวให้สามารถคงอยู่ได้

? แรงกดดันจากสหภาพยุโรป

ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอในอิตาลีรวมตัวกันเสนอให้สหภาพยุโรป ออกกฎหมายระบุที่มาของแหล่งผลิตสินค้าและออกมาตรการคุ้มครองความสามารถในการแข่งขันต่อสินค้านำเข้าหลังการเปิดเสรีสิ่งทอ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดสินค้าสิ่งทอนำเข้าจากจีน ซึ่งคาดว่าจะกระทบถึงประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยที่ส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวของสหภาพยุโรปอาจจะออกใช้ในเดือนเมษายน 2548

จากปัจจัยเสี่ยงข้างต้น โดยเฉพาะแนวโน้มการใช้มาตรการปกป้องฉุกเฉิน (Safeguard) ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกับสินค้าส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอจากจีน ทำให้บริษัทต่างชาติที่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอโดยใช้จีนเป็นฐานการผลิตได้พยายามลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตในจีนอย่างเดียว หันไปผลิตในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น ไทย และเม็กซิโกแทน

จีนได้ตระหนักถึงแรงกดดันจากนานาประเทศที่กลัวจีนจะแย่งส่วนแบ่งตลาด และเกรงว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะนำมาตรการกีดกันการค้าสิ่งทอมาเล่นงานจีน จีนจึงลดแรงกดดัน โดยประกาศจะเก็บภาษีส่งออกสิ่งทอของจีนเอง แต่สหรัฐฯ เห็นว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดส่วนแบ่งตลาดของจีนในตลาดโลก เพราะการเก็บภาษีของจีนถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และเป็นมาตรการที่จีนต้องการนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า ทำให้จีนยังคงเสี่ยงกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่อไป

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ส่งออกสิ่งทอค้าขายในตลาดโลก ต้องเผชิญแรงกดดันสองด้าน ทั้งจากการแข่งขันกับประเทศจีนและอินเดียที่มีต้นทุนการผลิตสิ่งทอต่ำกว่า อีกทั้งยังต้องเสี่ยงกับการกีดกันทางการค้าจากประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่ส่งออกสิ่งทอไปยังตลาดโลก จำเป็นต้องกระตือรือร้นรับมือจากการเปิดเสรีการค้า สิ่งทอโลกอย่างจริงจัง เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศต่อไป

ไทย & ศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีการผลิตครบวงจรตั้งแต่อุตสาหกรรมขั้นต้นจนถึงขั้นปลาย ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเส้นใย 2) ปั่นด้าย 3) ทอผ้าและถักผ้า 4) ฟอกย้อม พิมพ์ลายและตกแต่งสำเร็จ และ 5) เครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมดก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้นกว่า 1,000,000 คน โดยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีจำนวนโรงงานมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ทอผ้าและถักผ้า ฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จ และปั่นด้าย ส่วนเส้นใยสังเคราะห์มีจำนวนโรงงานน้อยที่สุด

ขั้นตอนการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

อุตสาหกรรมสิ่งทอขั้นต้น (Upstream) ได้แก่ อุตสาหกรรมเส้นใยซึ่งใช้เงินทุนการผลิตมาก และใช้เทคโนโลยีในระดับสูง (Capital Intensive) ใช้แรงงานไม่มาก วัตถุดิบสำคัญในการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ได้แก่ สารปิโตรเคมี ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ผลผลิตจากอุตสาหกรรมนี้นำไปใช้ต่อไปในอุตสาหกรรมขั้นกลาง

อุตสาหกรรมสิ่งทอขั้นกลาง (Middlesream) ได้แก่ อุตสาหกรรมปั่นด้าย ทอผ้า และถักผ้า ฟอก ย้อม พิมพ์ลายและตกแต่งสำเร็จ สามารถเลือกใช้เงินทุนการผลิตและเทคโนโลยีในระดับสูง (Capital Intensive) หรือเน้นการใช้แรงงานผลิตมาก (Labor Intensive) ได้ ผลผลิตที่ได้จากอุตสาหกรรมขั้นกลางจะนำไปผลิตในอุตสาหกรรมขั้นปลายต่อไป

อุตสาหกรรมสิ่งทอขั้นปลาย (Downstream) ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก และใช้เงินทุนในการผลิตน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลาง
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นอุตสาหกรรมขั้นปลายของ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดในอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย เพราะก่อให้เกิดการจ้างงานสูงสุดราว 77.6% ของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด และมีมูลค่าการผลิตเป็นสัดส่วนถึง 49% ของมูลค่าการผลิตรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมทั้งมีมูลค่าส่งออก มากกว่าอุตสาหกรรมสิ่งทออื่นๆ

อุตสาหกรรมสิ่งทอในแต่ละขั้นตอนมีศักยภาพในการผลิตแตกต่างกันไป จุดอ่อนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยในแต่ละขั้นการผลิตสรุปได้ดังนี้

1. อุตสาหกรรมสิ่งทอขั้นต้น

– อุตสาหกรรมเส้นใย ฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเส้นใย ธรรมชาติต้องนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพราะการผลิตในประเทศยังมีคุณภาพ ไม่ดีนัก และผลผลิตมีน้อย เพราะเกษตรกรหันไปปลูกพืขชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนวัตถุดิบผลิตเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีมาจากปิโตรเลียมส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน

2. อุตสาหกรรมขั้นกลาง

อุตสาหกรรมทอผ้าและถักผ้า ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก และเลือกใช้การผลิตแบบใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor Intensive) เครื่องทอที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องทอมีกระสวย ซึ่งบางส่วนเป็นเครื่องทอนำเข้าจากต่างประเทศที่มีอายุการใช้งานนานแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานมีแนวโน้มลดลง และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น มีการนำเครื่องทอแบบไร้กระสวยที่สามารถทอผ้าได้เร็วกว่าเครื่องทอมีกระสวย รวมทั้งมีคอมพิวเตอร์ควบคุมมาใช้ ทำให้ช่วยลดแรงงาน พลังงานและการสูญเสียวัตถุดิบระหว่างการผลิต

– อุตสาหกรรมฟอก ย้อม พิมพ์ลาย และแต่งสำเร็จ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยการนำผ้าผืนไปฟอก ย้อม พิมพ์ลาย และแต่งสำเร็จ เช่น ทำให้กันน้ำ กันยับ หรือทำให้เป็นเงา ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทต่างชาติ เพราะต้องใช้ เงินทุนและเทคโนโลยีสูง วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิต ได้แก่ สีย้อมและสารเคมีในประเทศมีข้อจำกัดด้านความหลากหลายและคุณภาพ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง

3.อุตสาหกรรมขั้นปลาย

– อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีผู้ประกอบการผลิตมากทั้งโรงงานขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยจำนวนโรงงานขนาดเล็กและกลางมีสัดส่วนราว 95% ของโรงงานเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในไทยทั้งหมด แต่สัดส่วนการผลิตดังกล่าวกว่า 50% อยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ และการผลิตส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต โดยนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

แม้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยจะมีการผลิตครบวงจรตั้งแต่ขั้นต้นถึงขั้นปลาย แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยแต่ละขั้นตอนยังไม่มีความเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์ โดยปกติอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งหุ่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอโดยรวม เพราะเป็นตัวกำหนดคุณภาพและปริมาณของอุตสาหกรรมสิ่งทอขั้นต้นและ ขั้นกลาง เพื่อให้เกิดการพึ่งพากันด้านวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องและครบวงจร แต่การที่อุตสาหกรรมผลิตเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยยังมีลักษณะรับจ้างตัดเย็บจากบริษัทต่างชาติ และ ส่วนใหญ่มักมีข้อกำหนดจากบริษัทต่างชาติให้ใช้ผ้าผืนนำเข้าจากต่างประเทศเป็นวัตถุดิบการผลิต ทำให้ไม่ได้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยไม่สามารถพึ่งพากันในแต่ละขั้นตอนได้อย่างต่อเนื่องและครบวงจร

นอกจากนี้อุตสาหกรรมขั้นกลางซึ่งเป็นตัวกลางการเชื่อมโยงระหว่าง อุตสาหกรรมขั้นต้นที่ผลิตวัตถุดิบใยสังเคราะห์ โดยนำมาผลิตเป็นผ้าผืน และเพิ่มมูลค่าจากการฟอก ย้อม พิมพ์ลาย และแต่งสำเร็จ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรม ขั้นปลาย แต่การผลิตในขั้นต้นและขั้นกลางต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นหลัก และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมขั้นต้น และขั้นปลายยังมีคุณภาพไม่ทัดเทียมกับต่างประเทศ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยรวม รวมทั้งภาวะการผลิตในอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมโดยสร้างผู้ประกอบการใหม่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรวมทั้งเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงินของรัฐ และสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การเปิดเสรีโควตาสิ่งทอภายใต้ WTO ทำให้กระแสการแข่งขันในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเข้มข้นขึ้นมาก เพราะจากเดิมในระบบโควตาที่สินค้าส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีหลักประกันทั้ง เรื่องตลาดส่งออกและปริมาณส่งออกที่แน่นอน แต่หลังจากการเปิดเสรีโควตาแล้ว ประเทศสมาชิก WTO ที่มีศักยภาพทางการแข่งขันสามารถส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้อย่างเสรีโดยไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณส่งออกอีกต่อไป ดังนั้น อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ซึ่งในแต่ละขั้นการผลิตจะต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขัน ดังนี้

? อุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิต เส้นใยสังเคราะห์ อุตสาหกรรมปั่นด้าย และอุตสาหกรรมทอผ้า/ถักผ้า เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมขั้นปลาย ยังสามารถแข่งขันได้ดี และได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศในเอเชียสามารถส่งออกและต้องการใช้เครื่องนุ่งห่มมากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะจีนยังคงต้องการสินค้าเหล่านี้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งการที่ไทยทำเขตการค้าเสรี FTA กับจีน และอินเดีย เป็นการขจัดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรการส่งออกเส้นใยและผ้าผืนของไทยไปสองประเทศดังกล่าว ทำให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศนี้มีความต้องการเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนมากเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ ไทยอาจเน้นการพัฒนาวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าและ ขายให้กับประเทศผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มที่กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกรายหลักของโลก เช่น จีน อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ

อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องพัฒนาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมขั้นต้นและ ขั้นกลาง เช่น ฝ้าย รวมทั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ และการผลิตเคมีภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบใน อุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งแม้ว่าสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบผลิตใน อุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์ได้ แต่ก็ต้องใช้เงินทุนสูง นอกจากนี้ สีย้อมและสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกย้อมยังมีคุณภาพไม่ดีพอจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

? อุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก (labor Intensive) น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าสิ่งทอมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะต้องเผชิญกับการ แข่งขันส่งออกกับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า เช่น จีนและอินเดีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเล็กจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันมาก อีกทั้งส่วนแบ่งตลาด ส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอ คาดว่าประเทศผู้นำเข้าสิ่งทอรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคงไม่ต้องการ พึ่งพาการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปอย่างมากจากประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว โดยเฉพาะจีนซึ่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยอย่างมาก ดังนั้น ไทย น่าจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโลกไว้ได้

ดังนั้น โดยภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยยังคงสามารถแข่งขันได้ แม้จะต้องเผชิญการแข่งขันรอบด้าน แต่ไทยควรปรับตัวโดยหันไปผลิตสินค้าที่เป็นสินค้าแฟชั่น พัฒนาสินค้าแบรนด์เนมของตนเอง หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่า แรงงานต่ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในแต่ละขั้นตอนการผลิตให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการผลิต เพื่อเจาะตลาดส่งออกระดับกลางและตลาดบนที่มีอำนาจซื้อสูง ทั้งนี้ องค์การการค้าโลกคาดการณ์ว่า หลังจากเปิดเสรีโควตาสิ่งทอ ไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ ประมาณ 3% ซึ่งมากกว่าประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและ ฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ เท่ากันราว 2% ในขณะที่จีนและอินเดียคาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอสหรัฐฯ สูงถึง 50% และ 15% ตามลำดับ ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากที่จีนจะครองส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอ ถึง 50% เพราะผู้นำเข้าสิ่งทอคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานสินค้ามากขึ้น ในขณะที่อินเดียยังมีปัญหาด้านมาตรฐานแรงงาน

สรุป

การเปิดเสรีโควตาสิ่งทอของ WTO อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ทำให้ประเทศสมาชิก WTO ทั้งหลายต้องแข่งขันมากขึ้นในตลาดสิ่งทอโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่อุตสาหกรรมสิ่งทอมีความสำคัญโดยก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และนำรายได้จากการส่งออกเข้าสู่ประเทศ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีต้นทุนค่าแรงงานต่ำ มีศักยภาพการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีวัตถุดิบในประเทศอย่างจีน และอินเดีย อีกทั้งต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่นำกฎระเบียบ/เงื่อนไขต่างๆ เป็นเงื่อนไขทางการค้าทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

แม้ไทยจะไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตกับจีนและอินเดียได้ แต่ไทยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงกว่าและมีความสามารถด้านการออกแบบ จึงควรพัฒนาสิ่งทอไทยโดยเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าไทย ทำให้สินค้าไทยมีความแตกต่าง เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเน้นตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น นอกจากมาตรฐานและคุณภาพการผลิตแล้ว ไทยควรเร่งรัดระบบการจัดการขนส่งอย่างครบวงจร หรือลอจิสติกส์ ซึ่งมีบทบาทช่วยลดต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และถือเป็นหัวใจของการแข่งขันในเวทีโลก นอกจากนี้ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาคเอเชีย โดยควรเน้นการพัฒนาด้านทักษะการออกแบบใหม่ๆ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่สามารถแข่งขันและครองส่วนแบ่งตลาดได้ ควรมีความรู้และทันต่อเหตุการณ์ของโลกรอบด้าน มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย มีวัตถุดิบ/เครื่องจักรในการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การจัดการด้านการตลาดที่ทันสมัย และเป็นผู้นำด้านแฟชั่น และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนด ยุทธศาสตร์ภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ การพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมขั้นปลาย

การที่ไทยอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย จะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย เพราะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของสินค้าส่งออกของไทย จากการขจัดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรในการเข้าสู่ตลาดประเทศดังกล่าว โดยไทยมีโอกาสส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และส่งออก ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปจีน และอินเดีย โดยเสียภาษีที่ต่ำลงจนกระทั่งไม่มีภาษีในที่สุด ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าส่งออกของไทยเหนือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้จัดทำเขตการค้าเสรี กับประเทศดังกล่าว และหวังว่าการเจรจา FTA จะช่วยให้ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วย