ธุรกิจหมอดูปี’48 : เงินสะพัด 4,000 ล้านบาท

“ธุรกิจหมอดู” เป็นธุรกิจที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องไม่ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองหรือซบเซา คนไทยส่วนหนึ่งต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น ทำให้เกิดอาการเครียด ภาวการณ์เช่นนี้ทำให้ทุกคนพยายามหาทางออกที่ดีกว่าให้กับชีวิตและจิตใจของตนเอง โดยที่ปรึกษาที่เป็นทางเลือกหนึ่งของคนไทยจำนวนไม่น้อย คือ หมอดู ถึงแม้ว่าในปัจจุบันบรรดาหมอดูที่มีชื่อเสียงจะเพิ่มราคาค่าบริการแต่ก็ยังมีลูกค้าไปอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการใช้บริการหมอดูเป็นการส่วนตัวแล้ว ในปัจจุบันบรรดาหนังสือและนิตยสารต่างๆก็จะมีการตีพิมพ์คำทำนายชะตาชีวิตสอดแทรกเข้ามาเป็นหนึ่งในคอลัมภ์ประจำให้กับผู้อ่าน ซึ่งบริการหมอดูก็จัดเป็นหนึ่งในคอลัมภ์ยอดฮิตที่มีแฟนประจำไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้ในช่วงที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้นก็มีการทำนายชะตาชีวิตทั้งในอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และบริการผ่านระบบออดิโอเท็กซ์ ซึ่งบริการเหล่านี้มีทั้งบริการฟรีและต้องเสียค่าใช้จ่าย การดูหมอผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆนี้ทำให้ธุรกิจหมอดูได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาหรือกลุ่มเยาวชน ดังนั้นธุรกิจหมอดูจึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเงินที่สะพัดอยู่ในธุรกิจนี้ในแต่ละปีมีมูลค่าไม่น้อยเลยทีเดียว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “คนไทยกับการใช้บริการหมอดู” ในช่วงระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2548 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,441 คน โดยกระจายกลุ่มตัวอย่างตามภาค ซึ่งพิจารณาสัดส่วนการกระจายกลุ่มตัวอย่างตามจำนวนประชากรจากรายงานสถิติประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมทั้งกระจายกลุ่มตัวอย่างตามเพศและอาชีพ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมในการใช้บริการหมอดูมีความแตกต่างกัน คาดว่าในปี 2548 คนไทยเสียค่าใช้จ่ายในการดูหมอประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนคนที่ใช้บริการหมอดู ความถี่ในการใช้บริการ และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการใช้บริการ นอกจากนี้ยังคาดว่าเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจหมอดูจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ที่เคยใช้บริการหมอดูก็ยังคงยืนยันที่จะพึ่งพาบริการหมอดูต่อไป

บริการหมอดู…เงินสะพัด 4,000 ล้านบาท…คนกรุงเทพฯนำลิ่ว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “คนไทยกับการใช้บริการหมอดู” ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณจากจำนวนคนที่ใช้บริการหมอดู ความถี่ในการใช้บริการ และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการใช้บริการ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าธุรกิจหมอดูทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดทั่วประเทศในปี 2548 ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้เฉพาะค่าใช้จ่ายในการดูหมอเท่านั้นยังไม่รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจทำบุญ/สะเดาะเคราะห์ ธุรกิจหนังสือพยากรณ์ดวงชะตา เป็นต้น

เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจหมอดูแยกรายภาค

จำนวนผู้ใช้บริการ
(ร้อยละ) ความถี่ในการใช้บริการ(ครั้ง/ปี) ค่าใช้จ่าย
(บาท/ครั้ง) เม็ดเงินสะพัด
(ล้านบาท)
กรุงเทพฯและปริมณฑล 17.5 3.49 270.34 1,600
ภาคกลาง 12.1 2.82 192.61 900
ภาคเหนือ 5.4 2.81 192.72 300
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.8 3.2 163.04 1,000
ภาคใต้ 6.8 3.2 105.67 200
ที่มา : โพลล์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

จากผลการสำรวจพบว่าคนในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นมีจำนวนผู้ที่นิยมใช้บริการธุรกิจหมอดูเฉลี่ยร้อยละ 17.5 ของกลุ่มตัวอย่าง มีความถี่ในการใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 3.49 ครั้งต่อปี และค่าใช้จ่ายในการใช้บริการหมอดูนั้นเฉลี่ย 270.34 บาทต่อครั้ง ดังนั้นเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจหมอดูในกรุงเทพฯจึงสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ส่วนภาคใต้นั้นมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจหมอดูน้อยที่สุด เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการธุรกิจหมอดูมีเพียงร้อยละ 6.8 และเสียค่าใช้จ่ายในการดูหมอเฉลี่ยเพียง 105.67 บาทต่อครั้งเท่านั้น

สำหรับประเภทของหมอดูยอดนิยม 5 อันดับแรก คือ วัน-เดือน-ปีเกิด ลายมือ ดวง กราฟชีวิต และคนทรง ซึ่งอันดับความนิยมประเภทของหมอดูนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละภาค เช่น กลุ่มตัวอย่างในภาคเหนือจะนิยมใช้บริการดูลายมือมากกว่าภาคอื่นๆ กลุ่มตัวอย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมใช้บริการคนทรงมากกว่าภาคอื่นๆ เป็นต้น

ถ้าพิจารณาแยกกลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพที่นิยมใช้บริการหมอดูคือ กลุ่มอาชีพค้าขาย/กิจการส่วนตัว กล่าวคือกลุ่มอาชีพค้าขาย/กิจการส่วนตัวร้อยละ 14.3 ของกลุ่มตัวอย่างใช้บริการหมอดูเป็นประจำ มีความถี่ในการใช้บริการเฉลี่ย 2.52 ครั้งต่อปี เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 328.81 บาทต่อครั้ง ปัญหายอดนิยมที่ต้องไปปรึกษาหมอดูคือ ปัญหาด้านการงาน ปัญหาด้านการเงิน และปัญหาครอบครัว สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กลุ่มนักเรียน/นักศึกษาหรือกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบในการใช้บริการหมอดู โดยกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 1.4 ของกลุ่มตัวอย่างใช้บริการหมอดูเป็นประจำ มีความถี่ในการใช้บริการเฉลี่ย 3.75 ครั้งต่อปี เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 111 บาทต่อครั้ง อย่างไรก็ตามกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนิยมใช้บริการหมอดูผ่านทางอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และบริการออดิโอเท็กซ์ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ทำให้กลุ่มวัยรุ่นหันมาสนใจใช้บริการธุรกิจหมอดูมากขึ้น ปัญหายอดนิยมที่บรรดาวัยรุ่นต้องไปปรึกษาหมอดูคือ ปัญหาความรัก ปัญหาเรื่องการเรียน และปัญหาครอบครัว

หมอดู…ที่ปรึกษาปัญหาของคนไทย

จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการหมอดูของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่า

– ลักษณะการพึ่งพาธุรกิจหมอดู

แยกเป็นร้อยละ 54.6 พึ่งพาบริการดูหมอเมื่อเวลามีปัญหา ร้อยละ 36.6 จะดูหมอเมื่อมีโอกาส ร้อยละ 5.4 พึ่งพาธุรกิจหมอดูเป็นประจำ และอีกร้อยละ 3.4 นานๆครั้งจึงจะพึ่งพาหมอดู เมื่อเทียบกับผลการสำรวจในครั้งที่ผ่านๆมาแล้วพบว่าจำนวนคนที่พึ่งพาหมอดูนั้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการที่จะหาโอกาสดูหมอทุกครั้งที่มีโอกาส ดังนั้นความถี่ในการดูหมอจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มค้าขาย/กิจการส่วนตัว และกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา

– ปัญหายอดนิยม

ปัญหายอดนิยม 3 อันดับแรกที่นำไปปรึกษาหมอดู คือ ปัญหาเรื่องการเงิน ปัญหาในเรื่องการงาน และปัญหาความรัก ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจในครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือคนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องการเงิน ปัญหาในเรื่องการงาน และปัญหาความรักมากขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับผลสำรวจที่ผ่านมา

– ความถี่ในการใช้บริการหมอดู

โดยเฉลี่ยการใช้บริการหมอดูเฉลี่ยปีละ 3.16 ครั้ง และเสียค่าใช้จ่ายในการดูหมอเฉลี่ย 190.66 บาทต่อครั้ง อย่างไรก็ตามความถี่ในการไปดูหมอและค่าใช้จ่ายในการดูหมอนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างทั้งในแง่ของเพศ ระดับการศึกษาและอาชีพ เนื่องจากคนส่วนใหญ่เสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 200 บาทต่อครั้ง แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างบางรายยินดีจะจ่ายเกินกว่า 1,000 บาทต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือในตัวหมอดูแต่ละคน นอกจากนี้เมื่อเทียบกับผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการหมอดูจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาแล้วพบว่าทั้งความถี่และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการดูหมอต่อครั้งเพิ่มขึ้น จึงพอจะสรุปได้ว่าไม่ว่าหมอดูจะขึ้นราคาค่าบริการแต่คนไทยก็ยังนิยมไปใช้บริการหมอดู

– ประเภทของหมอดูยอดนิยม

ประเภทของหมอดูยอดนิยม 5 อันดับแรก คือ ดูวัน-เดือน-ปีเกิด ดูลายมือ ดูดวง กราฟชีวิต และคนทรง โดยสถานที่ที่นิยมไปดูหมอมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บ้านหมอดู วัด และใช้บริการอินเตอร์เน็ต จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันทางเลือกในการดูหมอเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากความทันสมัยของเทคโนโลยี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ความนิยมพึ่งพาบริการหมอดูทางโทรศัพท์มือถือ การใช้บริการทางอินเตอร์เน็ต และการใช้บริการออดิโอเท็กซ์มากยิ่งขึ้น

– ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการเลือกหมอดู

ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการเลือกหมอดู คือ ร้อยละ 57.0 ของกลุ่มตัวอย่างได้รับการแนะนำจากเพื่อนหรือญาติ ร้อยละ 28.5 ไปดูหมอเพราะได้ยินชื่อเสียงของหมอดู ร้อยละ 12.3 ไปตามคำแนะนำของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร และที่เหลืออีกร้อยละ 2.3 ไม่ได้เจาะจงหมอดูคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเพียงแต่โอกาสเอื้ออำนวยให้ดูหมอในช่วงนั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตได้ว่าความมีชื่อเสียงของหมอดูนั้นเริ่มเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากขึ้นในการเลือกหมอดู

ภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง…ไม่ส่งผลกระทบธุรกิจหมอดู

ธุรกิจหมอดูเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการหมอดูตลอดระยะที่ผ่านมาของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ธุรกิจหมอดูก็ยังคงได้รับความนิยมและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาหลากหลายธุรกิจในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า แต่ธุรกิจหมอดูนั้นนับเป็นธุรกิจหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูและยังได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงเศรษฐกิจรุ่งโรจน์ธุรกิจหมอดูก็ยังมีเม็ดเงินสะพัดเป็นกอบเป็นกำ มูลค่าของธุรกิจที่มหาศาลของธุรกิจนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก โดยจากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ทั้งในช่วงที่เศรษฐกิจดีและในช่วงเศรษฐกิจซบเซาพบว่าพฤติกรรมในการดูหมอนั้นใกล้เคียงกันมาก ทั้งในแง่ความถี่ในการไปดูหมอและค่าใช้จ่ายในการไปดูหมอในแต่ละครั้ง จะแตกต่างกันเพียงแต่รายละเอียดของปัญหาที่นำไปปรึกษาหมอดูเท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ สาเหตุหลักที่คนไทยนิยมไปใช้บริการหมอดูก็เพื่อต้องการคลายความกังวลกับปัญหาต่างๆที่รุมเร้าในชีวิต โดยจากผลการสำรวจพบว่าหมอดูช่วยคลายความกังวลไปได้ไม่มากก็น้อย กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 จะรู้สึกคลายความกังวลกับปัญหาต่างๆเมื่อไปปรึกษากับหมอดู ดังนั้นคำกล่าวที่ว่าหมอดูนั้นนอกจากจะทำนายทายทักอนาคตแล้วยังรับหน้าที่เป็นจิตแพทย์อีกด้วยนั้นไม่เกินความเป็นจริงเลย

สิ่งที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือ มีเพียงร้อยละ 5.1 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่เชื่อมั่นกับคำทำนายของหมอดูมาก ที่เหลือร้อยละ 70.3 นั้นเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง และอีกร้อยละ 24.6 ไม่เชื่อคำทำนายเลย แต่ร้อยละ 20.9 ของกลุ่มตัวอย่างยังคงจะพึ่งพาบริการหมอดูอีกต่อไปในอนาคต

เทคโนโลยีที่ทันสมัย…สร้างลูกค้าใหม่สำหรับธุรกิจหมอดู

ในปัจจุบันจะสังเกตเห็นว่ากิจการหมอดูแพร่หลายเข้าไปในสื่อต่างๆแทบทุกประเภท เดิมนั้นคำทำนายของหมอดูที่จะพบเห็นได้อยู่เสมอคือ ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ โดยแต่ละเล่มจะมีคอลัมภ์หมอดูไว้ให้บริการคนอ่านโดยเฉพาะ ซึ่งผู้อ่านบางท่านก็เปิดอ่านคอลัมภ์นี้ก่อนคอลัมภ์อื่นๆ หลังจากนั้นกิจการหมอดูเริ่มเข้าไปมีบทบาทในห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ซึ่งก็สร้างรายได้ให้กับสถานที่ดังกล่าวพอสมควรทีเดียว ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีส่วนในการช่วยให้ธุรกิจหมอดูเฟื่องฟูมากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นการให้บริการดูหมอทางโทรศัพท์มือถือ ออดิโอเท็กซ์ และอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ที่นิยมดูหมอทั้งหลายมีทางเลือกเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการจะดูหมอมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ธุรกิจเหล่านี้พยายามดึงหมอดูที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาเป็นผู้ให้คำทำนายเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของคำทำนายมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าการดูหมอในสื่อต่างๆจะเป็นเพียงบริการเสริมเท่านั้น แต่ก็นับว่ามีส่วนอย่างมากในการสร้างสีสันที่น่าสนใจให้กับสื่อต่างๆ จนกระทั่งในบางครั้งมีการโฆษณาว่าหมอดูชื่อดังมาเขียนคำพยากรณ์ให้กับฉบับนี้เป็นพิเศษเพื่อดึงดูดให้ผู้ที่นิยมหมอดูหันมาซื้อหนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น

สถานที่ที่นิยมไปใช้บริการหมอดู
ร้อยละ
พนักงานบริษัท ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ค้าขาย/กิจการส่วนตัว นักเรียน/นักศึกษา แม่บ้าน รับจ้าง
บ้านหมอดู 27.5% 34.8% 50.0% 4.6% 32.3% 41.7%
สมาคมโหราศาสตร์ 4.3% 7.6% 2.0% 0.7% 3.2% 2.8%
วัด 30.4% 19.7% 20.0% 9.9% 35.5% 19.4%
ห้างสรรพสินค้า 2.9% 1.5% – 4.6% 6.5% –
โรงแรม – 1.5% 2.0% 0.7% – 8.2%
ใช้บริการอินเตอร์เน็ต 13.0% 16.7% 8.0% 28.5% – 16.7%
โทรศัพท์มือถือ 2.9% 6.1% 2.0% 22.5% 6.5% 2.8%
อ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ 11.6% 9.1% 4.0% 4.6% 3.2% 5.6%
ใช้บริการออดิโอเท็กซ์(1900) 1.4% 3.0% 6.0% 20.5% 6.5% –
สถานที่จัดงานต่างๆ 5.8% – 6.0% 3.3% 6.5% 2.8%
ที่มา : โพลล์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การใช้สื่อที่ทันสมัยมากขึ้นในการให้บริการหมอดู ทำให้ธุรกิจหมอดูได้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่กว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา กลุ่มหนุ่มสาวสมัยใหม่ที่เคยชินกับการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การสื่อสารที่ทันสมัย ซึ่งทำให้เป้าหมายของการดูหมอเพิ่มบทบาทในการเป็นธุรกิจที่สร้างความบันเทิง และช่วยแก้เหงาในยามว่างด้วย จากที่เคยเป็นธุรกิจที่มุ่งจะทำนายทายทักอนาคต และเป็นที่ปรึกษายามที่มีปัญหาเท่านั้น นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการหมอดูในสื่อที่ทันสมัยต่างๆได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว คือ การให้คำทำนายฟรีหรือมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการไปใช้บริการหมอดูตามสถานที่ต่างๆ แต่ถ้าต้องการจะรู้รายละเอียดจึงจะมีการจ่ายเงินกัน ทำให้กลุ่มผู้ที่เข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเน้นอ่านคำพยากรณ์เพื่อความบันเทิงมากกว่าที่จะเป็นการดูหมออย่างจริงจัง

เม็ดเงินทำบุญ-สะเดาะเคราะห์…รับอานิสงส์จากธุรกิจหมอดู

ความนิยมหมอดูนอกจากจะทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากสะพัดอยู่ในธุรกิจนี้แล้ว ธุรกิจต่อเนื่องเกี่ยวกับธุรกิจดูหมอในเมืองไทยยังเฟื่องฟูตามไปด้วย เนื่องจากเมื่อไปหาหมอดูร้อยละ 67.3 ของกลุ่มตัวอย่างได้รับคำแนะนำให้ทำบุญ และร้อยละ 19.9 ได้รับคำแนะนำให้สะเดาะเคราะห์ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12.9 ไปพบหมอดูเพื่อต้องการตรวจดวงชะตาหรือถามปัญหาเท่านั้น

ธุรกิจทำบุญ-สะเดาะเคราะห์ ในบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหมอดูนั้นธุรกิจการทำบุญ/สะเดาะเคราะห์นับว่าเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูและได้รับอานิสงส์มากที่สุด โดยคนที่ไปใช้บริการหมอดูประมาณร้อยละ 85.0 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจจะไปทำบุญหรือสะเดาะเคราะห์ตามที่ได้รับคำแนะนำ แยกเป็นร้อยละ 8.3 จะทำตามคำแนะนำทันที ร้อยละ 28.1 จะทำตามคำแนะนำเมื่อพร้อม ส่วนอีกร้อยละ 48.6 ต้องพิจารณาก่อนว่าจะทำตามหรือไม่ มีเพียงร้อยละ 15.0 เท่านั้นที่ไม่ทำตามคำแนะนำเนื่องจากคิดว่าไม่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาได้ ซึ่งจากการสำรวจ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าการทำบุญ/สะเดาะเคราะห์ตามคำแนะนำของหมอดูทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดทั่วประเทศถึงปีละ 200 ล้านบาท

เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจทำบุญ/สะเดาะห์เคราะห์แยกรายภาค

กลุ่มตัวอย่างที่ทำตามคำแนะนำให้ทำบุญ/สะเดาะห์เคราะห์
(ร้อยละ) ค่าใช้จ่าย
(บาท/ครั้ง) เม็ดเงินสะพัด
(ล้านบาท)
กรุงเทพฯและปริมณฑล 94.2 274.72 85
ภาคกลาง 85.7 243.12 40
ภาคเหนือ 82.0 216.28 24
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 77.8 210.25 39
ภาคใต้ 78.5 243.89 14
ที่มา : โพลล์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการทำบุญ/สะเดาะห์เคราะห์ของคนที่ทำตามคำแนะนำของหมอดู คือ ธุรกิจปล่อยสัตว์ต่างๆ ธุรกิจเครื่องสังฆทาน ธุรกิจหล่อพระพุทธรูป ธุรกิจจำหน่ายผ้าหลากสี หรือแม้แต่ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์แปลก เช่น เลื่อย ฆ้อน เป็นต้น ซึ่งบางครั้งหมอดูแนะนำให้นำของเหล่านี้ไปถวายพระเพื่อเป็นการทำบุญหรือแก้เคล็ด

นอกจากการทำบุญ/สะเดาะเคราะห์ที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหมอดูที่ใหญ่ที่สุดแล้วก็มีธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมอดูอื่นๆอีกได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการดูหมอ โดยเฉพาะตำราที่ใช้ประกอบในการดูหมอ ซึ่งมีวางจำหน่ายอย่างหลากหลาย สำหรับผู้ที่สนใจจะหาซื้อไว้เพื่อศึกษาด้วยตนเอง หรือซื้อไปใช้สำหรับการประกอบอาชีพหมอดูในอนาคต โดยในร้านจำหน่ายหนังสือหลายแห่งจัดวางหนังสือเกี่ยวกับหมอดูไว้เป็นมุมเฉพาะเพื่อตอบสนองผู้อ่านที่สนใจหนังสือด้านนี้ ส่วนอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นไพ่ป๊อก ไพ่ทาโร่หรือไพ่ยิปซี แว่นขยาย ปฏิทิน 100 ปีสำหรับดูตำแหน่งของดาวต่างๆในวันเกิดของผู้ที่ต้องการดูหมอ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูหมอเหล่านี้มียอดขายเพิ่มขึ้นตามความนิยมของธุรกิจหมอดู

โดยบรรดาหมอดูสมัครเล่นต้องการซื้ออุปกรณ์เหล่านี้เพื่อไปประกอบในการศึกษาตำราหมอดู ธุรกิจหนังสือและเทปพยากรณ์ดวงชะตา โดยเฉพาะหนังสือและเทปเฉพาะกิจที่เป็นคำทำนายดวงชะตาตลอดทั้งปีตามดวงวันเกิด 12 ราศี ซึ่งจะออกวางจำหน่ายในช่วงปลายปีและต้นปี หนังสือและเทปดังกล่าวนี้มีวางจำหน่ายในร้านขายหนังสือและได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจโรงเรียนสอนการพยากรณ์ดวงชะตา ปัจจุบันคนไทยสนใจดูหมอมาก ทำให้อาชีพหมอดูเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีรายได้งามถ้ามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันมีผู้ที่เป็นหมอดูสมัครเล่นมากมายที่สนใจศึกษาด้วยตนเอง และการเรียนรู้จากบรรดาอาจารย์หมอดูทั้งหลาย ดังนั้นโรงเรียนสอนการพยากรณ์ดวงชะตานั้นจึงเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มแจ่มใสไม่น้อยเลยทีเดียว

บทสรุป

ธุรกิจหมอดูเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือซบเซา ธุรกิจหมอดูก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยความถี่ในการไปดูหมอ และค่าใช้จ่ายในการไปดูหมอใกล้เคียงกัน ผลจากการสำรวจของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจหมอดูในปี 2548 ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนคนที่ใช้บริการหมอดู ความถี่ในการใช้บริการ และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการใช้บริการ ซึ่งนอกจากเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจหมอดูแล้ว ความนิยมของธุรกิจหมอดูที่เติบโตอย่างต่อเนื่องยังสร้างเม็ดเงินในธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจทำบุญ/สะเดาะเคราะห์ ซึ่งประเมินว่าในปี 2548 เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอดูถึง 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆอีกหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจจำหน่ายหนังสือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูหมอ เทปและหนังสือคำพยากรณ์ รวมทั้งธุรกิจโรงเรียนสอนการพยากรณ์ดวงชะตาเหล่านี้ เป็นต้น ต่างก็ได้รับอานิสงส์จากธุรกิจหมอดูที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง