10 มีนาคม 2548 – เลแมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลกเผยว่า การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ยังคงมีเสถียรภาพที่ดี โดยดัชนีการส่งออกที่จัดทำโดย เลแมน บราเดอร์ส ชี้ว่า ไม่มีสัญญาณ การทรุดตัวลงของการส่งออก
จากข้อมูลการส่งออกประจำเดือนมกราคม 2548 ของประเทศจีน เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน พบว่าการส่งออกของภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตถึงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเดือนมกราคมอาจจะมีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากมีการหยุดทำงานเนื่องในเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ขณะที่ในปี 2547 เทศกาลตรุษจีนมีขึ้นในเดือนมกราคม ซึ่งทำให้จีนมีวันทำงานในเดือนมกราคม 2548 มากกว่าเดือนมกราคม 2547 ทั้งนี้ จะพบความคลาดเคลื่อนในลักษณะดังกล่าวในข้อมูลของเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เช่นกัน แต่ในลักษณะที่ตรงกันข้าม ดังนั้น เมื่อพิจารณาครอบคลุมถึงข้อมูลของเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ทำให้เลแมน บราเดอร์ส ประเมินว่า การเติบโตของการส่งออกในภูมิภาคเอเชียในช่วงสองเดือนแรกของ ปี 2548 มีการชะลอตัวลงในระดับปานกลาง ซึ่งข้อมูลการประเมินดังกล่าวได้รับการยืนยันจากดัชนีการส่งออกที่จัดทำโดยเลแมน บราเดอร์ส
การคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกในภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องใช้สถิติในการวิเคราะห์หลากหลายประเภทสำหรับการศึกษาเชิงสังเกตการณ์ครั้งนี้ เลแมน บราเดอร์ส ได้ใช้สถิติ 4 ประเภท ได้แก่ ดัชนี Baltic Dry indexดัชนี Singapore’s purchasing managers’ index ดัชนี US ISM import index และดัชนี Philadelphia semiconductor index ซึ่งดัชนีทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวมีศักยภาพในการคาดการณ์ที่แม่นยำทั้งยังมี ความสัมพันธ์กับการส่งออกของภูมิภาคเอเชียอย่างมาก
สำหรับดัชนีการส่งออกของเลแมน บราเดอร์ส จะนำค่าเฉลี่ยของดัชนีทั้ง 4 ประเภทถ่วงน้ำหนักด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของการส่งออกของเอเชียที่มีการปรับลดตามภาวะการผันผวนที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งดัชนีการส่งออกของเลแมน บราเดอร์ส ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของเดือนกุมภาพันธ์ชี้ว่า ไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการชะลอตัวดังกล่าว
เหตุใดการส่งออกของภูมิภาคเอเชียจึงยังคงมีเสถียรภาพที่ดีในขณะที่สกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าวมีการเพิ่มค่าสูงขึ้น? เหตุผลสำคัญประการแรก คือ จีนมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีและไต้หวัน โดยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 9.5 ในปีที่ผ่านมา และสำหรับปีนี้ เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า จีนจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.8 นอกเหนือจากตลาดภายในประเทศที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว จีนยังเป็นกลไกสำคัญของระบบการผลิตในภูมิภาค โดยโรงงานในจีนที่มีต้นทุนต่ำจะทำหน้าที่ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มที่ส่วนใหญ่จะมีวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียจากนั้นจึงถูกส่งออกไปยังประเทศปลายทาง
อุตสาหกรรมรับจ้างผลิตในจีนช่วยกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น สำหรับเหตุผลประการที่สอง คือ สกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียโดยรวมไม่ได้มีการเพิ่มค่าขึ้น แต่ยังคงมีค่าที่ ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยสกุลเงินเรนเมนบิของจีน สกุลเงินเหรียญของฮ่องกง และสกุลเงินริงกิตของมาเลเซียยังคงผูกติดกับค่าเงินเหรียญสหรัฐที่มีค่าลดลง ขณะที่สกุลเงินของบางประเทศ อาทิ สกุลเงินวอนของประเทศเกาหลี มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ แต่เพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นและเงินยูโรของสหภาพยุโรป
เลแมน บราเดอร์ส วิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนถ่วงน้ำหนักด้วยดุลการค้าที่เป็นจริงของภูมิภาคเอเชีย โดยการนำค่าเฉลี่ยของอัตราแลกเปลี่ยนถ่วงน้ำหนักด้วยดุลการค้าที่เป็นจริงของ 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียถ่วงน้ำหนักด้วยค่าจีดีพี พบว่า (ซึ่งบ่งชี้ว่า ค่าของสกุลเงินที่ลดลงได้สะท้อนถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงเช่นกัน) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับก่อนเกิดภาวะวิกฤติในเอเชียที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีการสะสมดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาลอย่างต่อเนื่อง