ตลาดปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันแยกออกได้เป็นการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องแบบดั้งเดิม(Basic Tuna) คือปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันและน้ำเกลือ และผลิตภัณฑ์ทูน่า(Flavoured Tuna) ได้แก่ปลาทูน่าในเครื่องแกงประเภทต่างๆ ซอสประเภทต่างๆ และปลาทูน่าสำหรับรับประทานกับขนมปัง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทูน่านี้เริ่มมีการผลิตกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2544 ปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์นับว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าเกษตรที่ตลาดมีแนวโน้มแจ่มใส เนื่องจากความต้องการทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในประเทศเท่ากับ 750 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 7.1 และมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในปี 2548 เท่ากับ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9
ตลาดในประเทศ…ขยายตัวต่อเนื่องตามกระแสอาหารสุขภาพ
ตลาดปลาทูน่ากระป๋องในประเทศเขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องเริ่มหันมาสนใจส่งเสริมการจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องในประเทศมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดในประเทศ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจากการที่ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของปลาทูน่ากระป๋องให้คนไทยรู้จักมากขึ้น กอปรกับปลาทูน่ากระป๋องนั้นเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป และกลุ่มผู้ที่เคยไปศึกษาในต่างประเทศที่คุ้นเคยกับสินค้านี้อยู่แล้ว ร
วมทั้งกระแสการรักษาสุขภาพและการควบคุมน้ำหนักโดยการหันมารับประทานอาหารประเภทปลากำลังมาแรง ทำให้ตลาดปลาทูน่ากระป๋องในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2544 ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในเครื่องแกงซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นลิ้นอยู่แล้ว ทำให้ยอดจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าตลาดปลาทูน่ากระป๋องในประเทศปี 2548 เท่ากับ 750 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 7.1
ตลาดส่งออก…อนาคตสดใส
ไทยเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตปลาทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นไปตามภาวะการค้าปลาทูน่ากระป๋องในตลาดโลก แนวโน้มสำคัญที่น่าจับตามองคือ ปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีและฝรั่งเศสเริ่มมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาเรื่องต้นทุนแรงงาน โดยประเทศเหล่านี้หันมาพึ่งพิงการนำเข้ามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศที่กำลังพัฒนามีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในปี 2548 เท่ากับ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 โดยแยกเป็นการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 และผลิตภัณฑ์ทูน่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1
ตลาดส่งออกสำคัญของปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ได้แก่
– ตลาดสหรัฐฯ
ตลาดปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากการประกาศเตือนถึงอันตรายของสารปรอทตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในปี 2546 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องของชาวอเมริกันลดลงเหลือ 3.4 ปอนด์ต่อคนต่อปี นับว่าอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับในปี 2541 อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยหนุนการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องในตลาดสหรัฐฯคือ การประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์ต่อสุขภาพจากการบริโภคปลาทูน่า ซึ่งทำให้ปริมาณการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องเริ่มมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น
ประเภทของปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ที่สหรัฐฯนำเข้าคือ ปลาทูน่ากระป๋องร้อยละ 67 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ปลาทูน่าแช่แข็งบรรจุกระป๋อง(Frozen Pre-cooked Tuna Loins For Canning)สัดส่วนร้อยละ 17 และผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุถุง(Tuna In Foil Pouches)ร้อยละ 16 ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทูน่าที่เป็นที่นิยมบริโภคในสหรัฐฯคือ ทูน่าก้อนและชิ้นทูน่าบรรจุถุง(Tuna Chunks And Flakes in Pouches) ซึ่งผลิตภัณฑ์ทูน่าทั้งสองประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากความสะดวกในการบริโภคแม้ว่าราคาจะสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุกระป๋อง ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุถุงที่สำคัญ คือ เอกวาดอร์และไทย อย่างไรก็ตามไทยเริ่มจะมีความได้เปรียบเอกวาดอร์ในปี 2547 เนื่องจากปริมาณการจับปลาทูน่าสคิปแจ็คทางตะวันออกของทะเลแปซิฟิกลดลง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบป้อนโรงงานปลาทูน่าของเอกวาดอร์ลดลง
ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับตลาดสหรัฐฯคือ อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯเริ่มประสบปัญหาเนื่องจากการเข้ามาแข่งขันของปลาทูน่ากระป๋องนำเข้า แม้ว่าจะมีแรงต่อต้านจากบรรดาผู้ประกอบการให้คงอัตราภาษีนำเข้าไว้ในเกณฑ์ที่สูง แต่ในระยะยาวแล้วมีแนวโน้มว่าอัตราภาษีนำเข้าจะต้องลดลง ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลาทูน่าในสหรัฐฯจึงหันมาเน้นการปรับปรุงคุณภาพและภาพพจน์ของปลาทูน่ากระป๋องที่ผลิตในสหรัฐฯ
ปัจจัยพึงระวังในตลาดสหรัฐฯคือการแข่งขันจากเอกวาดอร์ เนื่องจากสหรัฐฯและเอกวาดอร์มีความตกลงกับเอกวาดอร์ในเรื่องเขตการค้าเสรีในเดือนกันยายน 2547 ทำให้สหรัฐฯทยอยลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทูน่าให้กับเอกวาดอร์เหลือร้อยละ 0 ภายในระยะเวลา 10 ปี จากเดิมที่เอกวาดอร์เสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 35 ในขณะที่ไทยเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 6-12.5 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นเอกวาดอร์จึงอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการแข่งขันในการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯ
– ตลาดสหภาพยุโรป
ความต้องการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในตลาดสหภาพยุโรปยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศ ยกเว้นเพียงเยอรมนีที่การนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เนื่องจากปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์จัดเป็นอาหารที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นๆ ดังนั้นปลาทูน่ากระป๋องจึงยังคงมีบทบาทสำคัญในเมนูอาหารของชาวยุโรป
คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปในปี 2548 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทูน่า ปัจจัยหนุนในการขยายตัวของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหภาพยุโรป คือการที่สหภาพยุโรปลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องในโควตาจากอัตราร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 12 เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายในการส่งออกให้กับประเทศคู่ค้าจากการที่สหภาพยุโรปมีการขยายประเทศสมาชิก ซึ่งการกำหนดโควตาในช่วงระยะ 2 ปีแรก(1 กรกฎาคม 2546-30 มิถุนายน 2547)เท่ากับ 25,000 ตัน และเพิ่มโควตาเป็น 25,750 ตันในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2547-30 มิถุนายน 2548 อย่างไรก็ตามโควตาดังกล่าวต้องแบ่งกันระหว่างไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยที่ไทยได้รับโควตาในแต่ละปีร้อยละ 52.0 ฟิลิปปินส์ได้รับร้อยละ 36.0
ส่วนอินโดนีเซียได้รับร้อยละ 11.0 ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรป เนื่องจากไทยยังคงได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหภาพยุโรป นอกจากนี้ในการพิจารณาทบทวนภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีนั้นคาดว่าปลาทูน่ากระป๋องของไทยจะได้รับการลดภาษีเหลือร้อยละ 20.5 จากอัตราภาษีเดิมที่ร้อยละ 24.0 ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องคาดการณ์ว่าอานิสงส์ของการลดภาษีจีเอสพีของสหภาพยุโรปนี้จะทำให้ในปี 2548 ไทยจะสามารถส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรปได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัน จากในระยะที่ผ่านมามีการส่งออกเฉลี่ยปีละ 40,000 ตัน
อย่างไรก็ตามปัจจัยพึงระวังในตลาดนี้คือ ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องของสหภาพยุโรปขยายการลงทุนตั้งโรงงานในแถบประเทศแอฟริกาและแคริบเบียน รวมทั้งยังให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของสเปนเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องในแถบอเมริกาใต้ หลังจากที่เข้าไปสร้างโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องในเอกวาดอร์และโคลัมเบีย ซึ่งการขยายเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศต่างๆเหล่านี้เพื่อจะเป็นการถ่วงดุลการแข่งขันของปลาทูน่ากระป๋องที่นำเข้าจากประเทศต่างๆในเอเชีย ทำให้คาดหมายว่าในอนาคตปลาทูน่าจากโรงงานต่างๆเหล่านี้จะเข้ามาแข่งขันกับปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ของไทยในตลาดสหภาพยุโรป
นอกจากนี้โรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องในสหภาพยุโรปยังมีปรับการผลิตเพื่อรับมือกับการแข่งขันกับปลาทูน่ากระป๋องนำเข้า โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า กล่าวคือ การผลิตทูน่าสลัดและทูน่าในซอสเพื่อรับประทานเป็นอาหารประเภทออเดริฟท์ และการคัดปลาทูน่าครีบเหลืองเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าราคาแพงเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น เนื้อปลาทูน่าในน้ำมันมะกอก เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์ทูน่าเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับปลาทูน่ากระป๋อง แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคในยุโรป
– ตลาดญี่ปุ่น
ตลาดญี่ปุ่นนั้นเป็นตลาดสำคัญของการบริโภคปลาทูน่าแช่แข็ง(Sashimi Tuna Market) และปลาทูน่ากระป๋อง จากรายงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าญี่ปุ่นเริ่มหันมาพึ่งพิงการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องมากขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการที่ต้นทุนการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในญี่ปุ่นสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปลาทูน่ากระป๋องที่นำเข้า โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศเพียง 60,000 ตันต่อปี เมื่อเทียบกับที่เคยผลิตสูงถึง 144,600 ตัน โดยอาศัยวัตถุดิบปลาทูน่าสคิปแจ็คที่จับจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลแปซิฟิก ปัจจุบันไทยครองสัดส่วนในการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นถึงร้อยละ 60 ของปริมาณการ ซึ่งปลาทูน่ากระป๋องที่ญี่ปุ่นนำเข้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลาทูน่าสคิปแจ็ค
ปัจจัยพึงระวังในการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น คือ รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการทบทวนและปรับเพิ่มการจัดเก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากไทยทั้งปลาทูน่ากระป๋องในน้ำเกลือและน้ำมันพืช โดยจะปรับเพิ่มจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.6 เนื่องจากในปัจจุบันไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเข้าไปในตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนถึงร้อยละ 68.0 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ทำให้ญี่ปุ่นเกรงว่าไทยจะผูกขาดตลาดและมีอิทธิพลต่อตลาดภายในญี่ปุ่นมากเกินไป ดังนั้นจึงต้องมีปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับไทยเพื่อความเป็นธรรมต่อการบริโภคและการค้า อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา โดยทางรัฐบาลไทยแย้งว่าการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเฉพาะกับไทยเป็นการไม่ถูกต้อง และยังกระทบต่อต้นทุนและราคาจำหน่ายปลากระป๋องในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคของญี่ปุ่นเอง นอกจากนี้วัตถุดิบหลักที่ไทยใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องบางส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น เช่น กระป๋อง ปลาทูน่าแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการค้าที่เอื้อต่อกัน
นอกจากตลาดคู่ค้าสำคัญทั้ง 3 ตลาดที่กล่าวมาแล้ว ตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่
– ออสเตรเลีย
เนื่องจากผลของการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งตามข้อตกลงออสเตรเลียจะลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องให้ไทยจากเดิมร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ในปี 2548 และเหลือร้อยละ 0 ในปี 2550 ส่งผลให้ราคาปลาทูน่ากระป๋องของไทยในออสเตรเลียมีราคาถูกลง โอกาสในการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะครอบครองตลาดปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับหนึ่งในออสเตรเลียแล้วก็ตาม
– ตลาดในตะวันออกกลาง
การส่งออกไปยังตลาดต่างๆในประเทศแถบนี้มีแนวโน้มแจ่มใส เนื่องจากปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์มีโอกาสเจาะขยายตลาดในฐานะของอาหารฮาลาล รวมทั้งประเทศต่างๆในแถบนี้ยอมเปิดตลาดปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์อย่างไม่มีเงื่อนไข หลังจากที่มีการเจรจากันจากปัญหาจีเอ็มโอในถั่วเหลืองที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง
สำหรับคู่แข่งสำคัญที่ต้องจับตามองสำหรับปลาทูน่ากระป๋องคือ ฟิลิปปินส์ และเอกวาดอร์ เนื่องจากฟิลิปปินส์นั้นมีความได้เปรียบกว่าไทยทั้งทางด้านวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน ซึ่งสามารถส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ได้ในราคาใกล้เคียงกับไทย ส่วนเอกวาดอร์ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี โดยเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าไทย โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ทำให้ในระยะยาวแล้วไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ของไทยก็มีปรับตัวโดยการเพิ่มประเภทของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และสร้างสีสันใหม่ๆให้กับตลาด
บทสรุป
ปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ของไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในประเทศเท่ากับ 750 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 7.1 และมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในปี 2548 เท่ากับ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 ตลาดในประเทศนั้นมีปัจจัยหนุนจากการอิงกระแสอาหารสุขภาพ และการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทูน่าให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่วนตลาดส่งออกนั้นมีการคาดการณ์การขยายตัวทั้งในตลาดหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งยังมีโอกาสในการขยายตัวในตลาดใหม่ โดยตลาดใหม่ที่น่าสนใจคือ ออสเตรเลียและตะวันออกกลาง เป็นต้น
ประเด็นที่ต้องจับตามอง ก็คือ ปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าในประเทศเหล่านี้เริ่มย้ายมาตั้งโรงงานในประเทศกำลังพัฒนาโดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องค่าจ้างแรงงาน ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีในการขยายตลาดส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดเหล่านี้
มูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ทูน่า
หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2545 2546 2547 มค.2547 มค.2548
ปลาทูน่ากระป๋อง 561.1 662.7 727.4 50.8 59.7
-สหรัฐฯ 138.2 175.2 197.6 12.9 12.6
-สหภาพยุโรป 74.9 79.2 69.2 4.0 6.9
-ญี่ปุ่น 47.4 50.0 66.2 3.9 5.6
-ออสเตรเลีย 47.6 63.9 68.2 6.7 4.8
-ตะวันออกกลาง 69.1 68.7 74.5 4.1 5.4
-อื่นๆ 183.9 225.7 251.7 19.2 24.4
ผลิตภัณฑ์ทูน่า 126.8 162.7 174.4 11.1 15.1
-สหรัฐฯ 34.1 59.4 59.8 3.2 3.9
-สหภาพยุโรป 22.6 26.3 29.3 1.7 5.9
-ญี่ปุ่น 22.6 26.3 28.6 2.2 1.7
-ตะวันออกกลาง 12.9 15.2 20.8 1.0 1.6
-อื่นๆ 34.6 35.5 35.9 3.0 2.0
รวม 687.9 825.4 901.8 61.9 74.8
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร