คาดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะขยับขึ้นเป็น 2.75%

ในวันที่ 22 มีนาคม 2548 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะมีการประชุมรอบที่ 2 ของปีนี้ เพื่อพิจารณาทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds หลังจากที่เฟดได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันมาแล้วรวม 1.50% จากระดับต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปีที่ 1.00% มาเป็น 2.50% ในการประชุม 6 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเดินหน้าเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่มีความเป็นกลาง (neutral) มากขึ้นของเฟด น่าจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไปภายใต้สถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ยังเอื้ออำนวย โดยคาดว่าเฟดคงจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.75% ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจมีแนวโน้มขยับเข้าสู่ระดับ 3.75-4.00% ณ ปลายปี 2548 อนึ่ง ปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ข้างต้น สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้ :-

ปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟด ได้แก่

? แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความเข้มแข็งมากพอรองรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้น จากการเปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 4/2547 ของสหรัฐฯ รอบที่ 2 (Preliminary) ที่อยู่ที่ระดับ 3.8%% (q-o-q annualized) เพิ่มขึ้นจากการประกาศในรอบแรก (Advance) ที่ 3.1% รวมทั้งแนวโน้มจีดีพีของสหรัฐฯที่ยังน่าจะขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ (potential growth) ที่ประมาณ 3.5-4.0% (y-o-y) ได้ในปี 2548 ประกอบกับ การที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯยังมีแนวโน้มเติบโตไปได้ดี ดังจะเห็นได้จาก ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) ที่เพิ่มขึ้นรวม 3.94 แสนตำแหน่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้

ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด คงจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมากนัก เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการจ้างงานสหรัฐฯยังคงน่าที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่สนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศหรือกำลังซื้อของประชาชนอยู่ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านราคาน้ำมันที่ผันผวนในระดับสูงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ จากรายงาน Blue Chip Financial Forecasts ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 นักวิเคราะห์จำนวนประมาณ 86% เห็นว่า การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯจะมีระดับการเพิ่มขึ้นในปี 2548 ที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นในปี 2547

? แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ยังเป็นระดับที่เฟดสามารถดูแลจัดการได้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (core personal consumption expenditure (PCE) inflation) ซึ่งเป็นตัวแปรที่เฟดมักจะใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจทิศทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.6% (y-o-y) ในเดือนมกราคม 2548 ขยับขึ้นจาก 1.5% ในเดือนก่อน ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง, เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ รวมทั้งตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

แม้ว่าอาจจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับตัวเร่งขึ้นในระยะข้างหน้า แต่การเดินหน้าเพิ่มระดับความเข้มงวดของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของเฟดโดยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ ก็น่าจะทำให้เฟดยังสามารถดูแลจัดการความเสี่ยงจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นดังกล่าวได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ทิศทางอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่วัดจาก Core PCE Inflation ในปี 2548 น่าจะยังเคลื่อนไหวอยู่ภายในกรอบ 1.50-1.75% ตามการประเมินของเฟด ซึ่งประธานเฟดได้ระบุไว้ในแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ

เครื่องชี้ต่างๆ ทิศทางการปรับตัว เทียบกับการคาดการณ์ของตลาด

จีดีพี ไตรมาส 4/2547 (Preliminary)

– ขยายตัว 3.8% (q-o-q annualized) แม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.0% แต่ก็ปรับขึ้นจากตัวเลขในรอบแรก (Advance) ที่ 3.1% โดยตัวเลขในรอบที่สองมีการทบทวนเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบโดยเฉพาะในภาคการส่งออก ขณะที่มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับลดลงจากตัวเลขในรอบแรก

– สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6%

ดัชนีชี้ภาวะอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing Index)

– ลดลงจาก 56.4 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ 55.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2546 แต่ตัวเลขที่ยืนเหนือระดับ 50 ก็บ่งชี้ว่าภาวะอุตสาหกรรมของสหรัฐฯยังมีการขยายตัวอยู่

– ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ของตลาดที่ 56.8

ดัชนีภาคการบริการ (ISM Non-manufacturing Index)

– เพิ่มขึ้นจาก 59.2 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ 59.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่มีการปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในด้านการจ้างงาน, คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ และการส่งออก ซึ่งเป็นสัญญาณทางบวกต่อการขยายตัวของภาคการบริการสหรัฐฯในระยะต่อไป

– ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ของตลาดที่ 60.0

การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls)

– เพิ่มขึ้น 2.62 แสนตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 1.32 แสนตำแหน่งในเดือนก่อน รวม 2 เดือนแรกของปีนี้ การจ้างงานสหรัฐฯเพิ่มขึ้นแล้ว 3.94 แสนตำแหน่ง

– มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.18 แสนตำแหน่ง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production)

– ขยายตัว 0.3% (m-o-m) ในเดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับที่ขยายตัว 0.1% ในเดือนมกราคม สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับสูงขึ้นมาที่ 79.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ จาก 79.2 ในเดือนก่อน

– น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะขยายตัว 0.4%

ยอดค้าปลีก (Retail Sales)

– ขยายตัว 0.5% (m-o-m) ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวที่ 0.3% ในเดือนมกราคม ขณะที่ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมหมวดยานยนต์ก็ยังขยายตัวค่อนข้างแข็งแกร่งประมาณ 0.4%

– น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะขยายตัว 0.6%

อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure – PCE – Inflation)

– ในเดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.2% (y-o-y) เทียบกับ 2.4% ในเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.6% เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในเดือนธันวาคม 2547

– ไม่มีข้อมูลตัวเลขคาดการณ์ของตลาด

ที่มา: The Dismal Scientist

ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯในปี 2548-2549

โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ
(% q-o-q ในไตรมาส 4, ยกเว้นอัตราการว่างงานที่เป็นค่าเฉลี่ยในไตรมาส 4)
2548 2549
การประมาณเมื่อ ก.ค. 2547 การประมาณ
เมื่อ ก.พ. 2548 การประมาณ
เมื่อ ก.พ. 2548
Nominal GDP 5.25-6.00 5.50-5.75 5.00-5.50
Real GDP 3.50-4.00 3.75-4.00 3.50
Core PCE price index 1.50-2.00 1.50-1.75 1.50-1.75
Unemployment 5.00-5.25 5.25 5.00-5.25
ที่มา: Reuters

? อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า หรือ Fed Fund Futures ได้ปรับตัวตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมของเฟดไปแล้วล่วงหน้าด้วยความเป็นไปได้เกือบ 100% นอกจากนี้ ตลาดยังคาดว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขยับขึ้นเป็น 3.25% ก่อนเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปีนี้ด้วย

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จากระดับ 2.50% มาอยู่ที่ 2.75% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 22 มีนาคม 2548 นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ที่เฟดได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่กลางปี 2547 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง (โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ 3.5-4.0% ได้ในปี 2548) รวมทั้งภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตลอดจนแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังอยู่ภายในกรอบที่เฟดดูแลจัดการได้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเดินหน้าเพิ่มระดับความเข้มงวดนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขยับเข้าสู่ระดับที่มีความเป็นกลางมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ก็มองว่า เฟดยังมีความยืดหยุ่นที่จะเพิ่มระดับความเข้มงวดได้มากขึ้นอีกหากพิจารณาว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯอาจปรับสูงขึ้นในอัตราเร่งกว่าที่คาดไว้ อนึ่ง จากความเสี่ยงที่มีจำกัดต่อการที่เฟดจะก้าวไม่ทันแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูงก็อาจกดดันความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายภายในประเทศ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดอาจจะยังคงถ้อยแถลงที่ระบุว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป (measured pace) ไว้ในแถลงการณ์หลังการประชุม และรอดูการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในช่วงต่อๆ ไป โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงาน ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อถึงคราวที่เฟดมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้ออาจเร่งสูงกว่าที่คาดไว้เดิม

สำหรับผลกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงจะเป็นหนึ่งในปัจจัยแวดล้อมที่ทางการไทยจะพิจารณาประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า แต่ทางการไทยก็คงจะให้น้ำหนักสำคัญไปที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักมากกว่า ซึ่งภายใต้ภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเร่งสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานหรือราคาน้ำมันที่อาจไม่สิ้นสุดลงในระยะใกล้ ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะอุปสงค์ในประเทศยังคงถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน (ทั้งภาวะภัยแล้ง ความไม่สงบในภาคใต้ ปัญหาโรคไข้หวัดนก และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั้งในและต่างประเทศ) ทำให้คาดว่า การตัดสินใจดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยในระยะต่อไปคงจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นอย่างแน่นอน