ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบเป็นสินค้าออก หรือ โอเปก ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ อิหร่าน อิรัก ลิเบีย เวเนซุเอลา ไนจีเรีย แอลจีเรีย และอินโดนีเซีย กำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศ เนื่องจากกลุ่มโอเปกมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกรงกันว่าหากราคาน้ำมันดิบยังคงทะยานต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างทั่วถึง สำหรับประเทศไทย อิทธิพลของราคาน้ำมันดิบได้มีส่งผลกระทบเบื้องต้นให้เห็นแล้ว เพราะการที่ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ ทำให้ดุลการค้าของไทยในเดือนมกราคม 2548 หวนกลับมาขาดดุลอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 และมีแนวโน้มว่าดุลการค้าโดยรวมของไทยตลอดทั้งปี 2548 จะปรากฏยอดขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
นำเข้าน้ำมันโอเปก VS ส่งออกรถยนต์ไทย
การค้าขายสินค้าระหว่างไทยกับโอเปก ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับกลุ่มโอเปกมาโดยตลอด เนื่องจากน้ำมันดิบเป็นสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากโอเปก คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 60% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดจากกลุ่มโอเปกในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูงนับตั้งแต่ปลายปี 2546 ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าโดยรวมของไทยกับโอเปกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว จากยอดขาดดุล 1,447.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 เพิ่มเป็น 3,703.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 และเฉพาะในเดือนมกราคม 2548 เพียงเดือนเดียว ยอดขาดดุลการค้ารายเดือนระหว่างไทยกับโอเปกพุ่งขึ้นถึง 257% เป็นมูลค่า 677.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับยอดขาดดุล 189.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2547
ดุลการค้าไทย – โอเปก
ปี ไทยขาดดุลการค้า
(ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) % เปลี่ยนแปลง
2543 – 2,674.0 –
2544 – 1,991.8 – 25.5
2545 – 1,447.4 – 27.3
2546 – 1,998.5 37.3
2547 – 3,703.4 84.3
2548 (ม.ค.) – 677.5 257.0
ไทยนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากโอเปกในปี 2547 เพิ่มขึ้น 63.5% และ 1112% ตามลำดับ น้ำมันดิบเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากโอเปกมากเป็นอันดับ 1 ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 4 จากโอเปก ในบรรดาสมาชิกโอเปก ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากที่สุดและเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 1 ของไทยในบรรดาประเทศคู่ค้าทั้งหมดด้วย สำหรับสมาชิกโอเปกอื่นๆ ที่ไทยนำเข้าน้ำมันดิบติดกลุ่ม 10 อันดับแรก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต อินโดนีเซีย และกาตาร์
นอกเหนือจากน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากโอเปกแล้ว ไทยยังนำเข้าสินค้าสำคัญรายการอื่นๆ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ-เศษโลหะ สัตว์น้ำสดแช่เย็น/แช่แข็ง-แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ถ่านหิน ปุ๋ย-ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ เป็นต้น ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากโอเปกทั้งหมดขยายตัว 55.4% เป็นมูลค่า 9,827.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 และเฉพาะในเดือนมกราคม 2548 การนำเข้าสินค้าจากโอเปกทั้งหมดพุ่งขึ้น 104.3% เป็นมูลค่า 1,185.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สมาชิกโอเปกที่ไทยนำเข้าสินค้ามากที่สุด เรียงตามลำดับดังนี้
ประเทศ มูลค่านำเข้า 2547
(ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) % เปลี่ยนแปลง สัดส่วน
(%)
1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3,793.3 89.1 38.6
2. ซาอุดีอาระเบีย 2,353.7 40.0 23.9
3. อินโดนีเซีย 2,318.7 32.0 23.6
4. กาตาร์ 713.4 53.1 7.3
5. คูเวต 308.8 86.4 3.1
6. แอลจีเรีย 129.4 85.1 1.3
7. อิรัก 113.4 353.6 1.2
8. ไนจีเรีย 48.7 -20.2 0.5
9. อิหร่าน 40.0 -44.0 0.4
10. เวเนซุเอลา 8.4 43.4 0.1
11. ลิเบีย 0.0 -100.0 0.0
รวม 9,827.8 55.4 100.0
ทางด้านการส่งออกสินค้าไทยไปโอเปก แม้ว่าไทยจะส่งออกสินค้าไปยังตลาดโอเปกขยายตัวต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ไม่สามารถเติบโตได้ทันกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่า โดยการส่งออกสินค้าไทยไปโอเปกเพิ่มขึ้น 41.6% เป็นมูลค่า 6,124.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 (เทียบกับการนำเข้าจากโอเปกเพิ่มขึ้น 55.4%) และในเดือนมกราคม 2548 การส่งออกของไทยไปยังโอเปกขยายตัว 30.1% เป็นมูลค่า 508.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบกับการนำเข้าจากโอเปกพุ่งขึ้น 104.3%) ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของไทยกับโอเปกเพิ่มขึ้นรวดเร็วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะขาดดุลกับกลุ่มโอเปกเพิ่มขึ้นอีกในปี 2548
สำหรับสินค้า 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปโอเปก ได้แก่ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เคมีภัณฑ์ น้ำตาลทราย เม็ดพลาสติก เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และผ้าผืน
ทั้งนี้ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปโอเปกและเป็นสินค้าที่มีลู่ทางสดใสในกลุ่มประเทศอาหรับ เพราะขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกรถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่มขึ้น 308% ซาอุดีอาระเบียขยายตัว 73% คูเวต 138% อินโดนีเซีย 108% แอลจีเรีย 206% และลิเบีย 1,047% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเทศเหล่านี้มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศสูงตามไปด้วย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าประเภทรถยนต์ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังตลาดโอเปก ก็ยังไม่สามารถชดเชยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสินค้านำเข้าสำคัญที่สุดของไทยในขณะนี้
อันดับประเทศโอเปกที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากที่สุด
ประเทศ มูลค่าส่งออก 2547
(ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) % เปลี่ยนแปลง สัดส่วน
(%)
1. อินโดนีเซีย 3,216.3 42.0 52.5
2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 969.2 28.2 15.8
3. ซาอุดีอาระเบีย 618.6 42.6 10.1
4. อิหร่าน 452.9 52.5 7.4
5. ไนจีเรีย 321.8 44.7 5.3
6. อิรัก 170.3 54.7 2.8
7. ลิเบีย 113.6 89.0 1.8
8. คูเวต 94.8 15.6 1.5
9. แอลจีเรีย 87.6 50.0 1.4
10. กาตาร์ 49.7 76.9 0.8
11. เวเนซุเอลา 29.6 176.6 0.6
รวม 6,124.4 41.6 100.0
แม้ว่าไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าโดยรวมกับกลุ่มโอเปก แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ ปรากฏว่าไทยมีฐานะเกินดุลการค้ากับสมาชิกโอเปก 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิหร่าน ไนจีเรีย ลิเบีย อิรัก และเวเนซุเอลา ขณะที่ไทยขาดดุลการค้ากับโอเปก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ คูเวต และแอลจีเรีย สรุปได้ดังนี้
ประเทศโอเปกที่ไทยเกินดุลการค้า เกินดุลการค้า 2547
(ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ประเทศโอเปกที่ไทยขาดดุลการค้า ขาดดุลการค้า 2547
(ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
1. อินโดนีเซีย 897.6 1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ – 2,824.1
2. อิหร่าน 412.9 2. ซาอุดีอาระเบีย – 1,735.2
3. ไนจีเรีย 273.1 3. กาตาร์ – 663.6
4. ลิเบีย 113.6 4. คูเวต – 214.0
5. อิรัก 56.9 5. แอลจีเรีย – 41.8
6. เวเนซุเอลา 21.1
คู่แข่งสินค้าไทยในตลาดโอเปก
โอเปก นับเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงราคาน้ำมันแพง ส่งผลให้กลุ่มประเทศโอเปกมีรายได้จำนวนมหาศาลจากการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความต้องการซื้อสินค้าของสมาชิกโอเปก สินค้าไทยหลายรายการน่าจะสามารถขยายตลาดโอเปกได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยยกระดับคุณภาพสินค้าไทยและปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับรสนิยมของประเทศต่างๆ ในกลุ่มโอเปก
ทั้งนี้ สินค้าที่มีความต้องการสูงในกลุ่มโอเปก ได้แก่ สินค้าจำพวกอาหาร เครื่องมือ-เครื่องจักร อุปกรณ์ขนส่ง-สื่อสาร เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ยานพาหนะและส่วนประกอบ สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม วัตถุดิบ สินค้าบริโภคอื่นๆ ยารักษาโรค เป็นต้น ปัจจุบัน ประเทศที่โอเปกนำเข้าสินค้ามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สเปน เป็นต้น ดังนั้น สินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งหลากหลาย และเป็นคู่แข่งที่จับทั้งตลาดระดับบนและตลาดระดับล่างของกลุ่มโอเปก ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเผยแพร่ชื่อเสียงสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มโอเปกอย่างจริงจัง และวางยุทธศาสตร์ทางการตลาดให้ชัดเจนในแต่ละประเทศโอเปก เพื่อให้สินค้าออกของไทยเป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้
คู่แข่งของไทยในตลาดโอเปก จำแนกเป็นรายสินค้า สรุปได้ดังนี้
1. อาหารและสินค้าบริโภคอื่นๆ : สมาชิกโอเปกส่วนใหญ่จำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ สินค้าจำพวกอาหารและสินค้าบริโภคที่ไทยส่งออกไปตลาดโอเปก ที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง เป็นต้น ประเทศคู่แข่งของไทยในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังกลุ่มโอเปก ได้แก่ จีน เวียดนาม บราซิล เป็นต้น
2. เครื่องมือ-เครื่องจักร : เป็นสินค้านำเข้าสำคัญของกลุ่มโอเปกอีกรายการหนึ่ง สินค้าประเภทเครื่องมือ-เครื่องจักรที่ไทยส่งออกไปยังตลาดโอเปก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น เกาหลีใต้ จีน สำหรับเครื่องมือเครื่องจักรที่มีความทันสมัยและซับซ้อน โอเปกนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ เป็นต้น
3. เคมีภัณฑ์ : เป็นสินค้านำเข้าสำคัญของบางประเทศในกลุ่มโอเปก เช่น ซาอุดิ อาระเบีย กาตาร์ อินโดนีเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยส่งออกเคมีภัณฑ์ไปยังอินโดนีเซียมากที่สุดในกลุ่มโอเปก ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปยังโอเปก อาทิ จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น
4. รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ : สินค้ารายการนี้เป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดโอเปกมากที่สุด โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิ อาระเบีย คูเวต กาตาร์ ลิเบีย แอลจีเรีย ไนจีเรีย อิรัก และอินโดนีเซีย ประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดโอเปก ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ระดับหรูและเป็นตลาดระดับบน เช่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละตลาดกับรถยนต์ของไทย จึงมิได้แข่งขันกับไทยโดยตรง
5. เครื่องใช้ไฟฟ้า : ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการไปยังตลาดโอเปก ส่วนใหญ่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน อาทิ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ตู้เย็น-ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เป็นต้น ประเทศคู่แข่งของไทยที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังโอเปก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น เป็นต้น
6. สิ่งทอ & เสื้อผ้าสำเร็จรูป : ไทยส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ไปยังหลายประเทศในกลุ่มโอเปก ประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังโอเปก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น
7. รองเท้าและชิ้นส่วน : ไทยส่งออกสินค้าประเภทรองเท้าและชิ้นส่วนไปยังบางประเทศในกลุ่มโอเปก เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต ไนจีเรีย เป็นต้น ประเทศที่ส่งออกรองเท้าไปแข่งขันกับไทยในตลาดโอเปก ได้แก่ จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ เป็นต้น สำหรับรองเท้าประเภทแฟชั่นและรองเท้าระดับหรู โอเปกนำเข้าจากประเทศที่เป็นแหล่งแฟชั่นชั้นนำของโลก เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส เป็นต้น
8. สินค้าวัตถุดิบ : ไทยส่งออกสินค้าจำพวกวัตถุดิบไปยังโอเปก อาทิ เม็ดพลาสติก เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ ยางพารา เป็นต้น คู่แข่งของไทยที่ส่งออกสินค้าวัตถุดิบดังกล่าวไปยังตลาดโอเปก เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น
9. สินค้ากึ่งสำเร็จรูป : ไทยส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูปหลายรายการไปยังโอเปก เช่น หลอดภาพโทรทัศน์สี เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ หม้อแบตเตอรีและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม กระดาษและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ประเทศที่ส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเหล่านี้ไปแข่งขันกับไทยในตลาดโอเปก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม เป็นต้น
10. สินค้าอื่นๆ : ไทยส่งออกสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ไปยังโอเปก เช่น เครื่องสำอาง-สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น แม้ว่าสินค้าเหล่านี้มีมูลค่าไม่สูงนักและส่งออกไปเฉพาะบางประเทศในกลุ่มโอเปก แต่ก็เป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดโอเปก เช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย เป็นต้น
ข้อเสนอแนะ
แม้ว่าไทยเสียเปรียบทางการค้ากับกลุ่มโอเปกมาโดยตลอด และมีแนวโน้มที่ยอดขาดดุลการค้าของไทยกับโอเปกจะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดโอเปกต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ ที่ส่งออกสินค้าคล้ายคลึงกับไทย แต่ไทยน่าจะแปลงวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงนี้ ด้วยการมุ่งขยายการส่งออกไปยังโอเปกอย่างจริงจัง เนื่องจากสมาชิกโอเปกมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันจำนวนมาก เศรษฐกิจโอเปกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่ากลุ่มโอเปกจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4-5% ในปี 2548 ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น กลุ่มโอเปกจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับสินค้าส่งออกของไทยได้อีกมาก
กลยุทธ์ที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังโอเปก อาทิ
? จัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าไทย เพื่อช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยในกลุ่มโอเปก โดยจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าไทยในเมืองสำคัญๆ ของประเทศสมาชิกโอเปก เช่น เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะเป็นประตูส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มโอเปกต่อไป ทั้งนี้ ควรเน้นตลาดระดับบนของกลุ่มโอเปกที่มีกำลังซื้อสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพสูง สินค้าระดับหรู ที่เน้นความวิจิตรงดงามของงานฝีมือ ความละเอียดประณีตด้านการผลิต และรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับรสนิยมของประชาชนชาวโอเปก
? เร่งรัดศูนย์ส่งออกอาหารฮาลาล ทางการไทยได้เริ่มต้นดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาลที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับส่งออก โครงการนี้ควรเร่งรัดดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะจะช่วยสร้างความเชื่อถือให้แก่อาหารฮาลาลที่ผลิตจากประเทศไทยในการส่งออกไปยังประเทศมุสลิมต่างๆ รวมทั้งกลุ่มประเทศโอเปกด้วย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและมีความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้น หากสินค้าอาหารฮาลาลของไทยได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม จะช่วยให้การส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทยไปยังโอเปกสะดวกยิ่งขึ้นและสามารถกระจายตลาดได้อย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศโอเปก
? รณรงค์ศูนย์ธุรกิจบริการครบวงจร ประเทศโอเปกเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมาก ทั้งสินค้าและบริการต่างๆ จึงน่าจะเป็นช่องทางให้ธุรกิจบริการของไทยเสนอธุรกิจบริการหลากหลายรูปแบบ เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มโอเปกอย่างแท้จริงและครบวงจร โดยส่งเสริมให้ประชาชนชาวโอเปกเดินทางมาใช้บริการต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ บริการด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ บริการด้านอาหารการกินและผลไม้ไทย บริการจัดโปรแกรมทัวร์เพื่อเล่นกีฬา เช่น เล่นกอล์ฟ ล่องแก่ง ปีนเขา ฯลฯ รวมทั้งธุรกิจบริการด้านการออกแบบก่อสร้างอาคารและการตกแต่งภายใน เป็นต้น
มาตรการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังโอเปก ตลอดจนกลยุทธ์ดึงดูดประเทศโอเปกให้สนใจใช้ธุรกิจบริการของไทย น่าจะมีส่วนบรรเทาการเสียเปรียบทางการค้าของไทยกับโอเปกลงได้บ้าง ในช่วงที่น้ำมันมีราคาแพงเช่นนี้