ผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงกันมากนักคือ แรงงานภาคเกษตรที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองโดยเฉพาะการมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งแรงงานอพยพในช่วงฤดูแล้ง หรือการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆในระยะเวลาสั้นๆเพื่อรอฤดูฝนนั้นจะเป็นเรื่องปกติทุกปี และในปีที่มีภาวะภัยแล้งรุนแรงการเคลื่อนย้ายของแรงงานอพยพก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในช่วงนี้อาจกล่าวได้ว่าเกษตรกรจะเปลี่ยนไปเป็นผู้ขายแรงงานยึดอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยลักษณะของแรงงานอพยพในช่วงฤดูแล้งนี้จะเป็นแรงงานที่ทำงานระยะสั้น และส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ
แม้ว่าปัญหาภัยแล้งเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการระดมทำฝนหลวงทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2548 เป็นต้นมา กล่าวคือ การคาดการณ์พื้นที่เกษตรเสียหายจากภาวะภัยแล้งลดลงเหลือเพียง 9.2 ล้านไร่ จากเดิมที่เคยมีการคาดการณ์ว่าจะเสียหาย 11.7 ล้านไร่ แต่ก็ยังพบว่าการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากภาคนอกการเกษตรโดยขยายตัวร้อยละ 3.1 ขณะที่ปัญหาภัยแล้งส่งผลให้การจ้างงานในภาคเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 กล่าวคือ จากจำนวนแรงงานในภาคเกษตร 12 ล้านคน การจ้างงานใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงไป 204,000 คน และที่น่าเป็นห่วงคือ ตัวเลขการจ้างงานในภาคเกษตรที่ลดลงนี้เป็นการลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 กล่าวคือในเดือนธันวาคมการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.2 เดือนมกราคมลดลงร้อยละ 2.0
จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดหมายว่าจากปัญหาภัยแล้งทำให้จำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล ในปี 2548 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงเดือนมกราคม 2548 มีแรงงานที่รอฤดูกาลทำอาชีพเกษตรกรสูงถึง 330,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีจำนวนแรงงานที่รอฤดูการทำอาชีพเกษตรกรเพียง 180,000 คนเท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าแรงงานที่รอฤดูกาลทำอาชีพเกษตรกรในช่วงเดือนมกราคม 2548 นี้ใกล้เคียงกับในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 (มกราคม-มีนาคม) ที่มีแรงงานที่รอฤดูกาลทำอาชีพเกษตรประมาณ 379,500 คน ซึ่งแรงงานที่รอฤดูกาลทำอาชีพเกษตรกรนี้บางส่วนอพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ โดยรูปแบบการเข้ามาหางานทำของแรงงานจากภาคเกษตรนั้นมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การติดต่อผ่านสำนักงานจัดหางานของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะเป็นผู้ประสานงานกับนายจ้างให้ บางส่วนก็ตามเพื่อนหรือญาติที่เข้าทำงานในกรุงเทพฯ และบางส่วนติดต่อกับนายจ้างโดยตรง อย่างไรก็ตามมีบางส่วนที่เข้ามาโดยไม่ได้มีการติดต่อหางานทำล่วงหน้าหรือเรียกว่า “เสี่ยงดวง”
จากการสำรวจ “การอพยพหนี “ภัยแล้ง”ของประชาชน” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,747 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอบถามที่สถานีรถไฟหัวลำโพงและสถานีขนส่งหมอชิต เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเป็นเส้นทางหลักของการเดินทางของแรงงานอพยพ โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2548 ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอพยพจากภาคเกษตรกรรม มีดังนี้
– แรงงานอพยพเข้ากรุงเทพฯมาจากภาคเกษตรมากที่สุด จากการสำรวจพบว่าแรงงานที่อพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯที่เป็นแรงงานจากภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 28.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆแล้วนับว่าเป็นอันดับสองของแรงงานที่อพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ รองจากอาชีพรับจ้างที่มีสัดส่วนร้อยละ 33.7 ซึ่งแรงงานในอาชีพรับจ้างนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมเช่นกัน
– แรงงานอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับหนึ่ง ภูมิลำเนาเดิมของแรงงานที่อพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯอันดับหนึ่งคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 33.7 ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมาคือ ภาคเหนือร้อยละ 26.6 และภาคกลางร้อยละ 16.0
– ปัญหาภัยแล้งในปี 2548 ทำให้แรงงานภาคเกษตรเข้ามาในกรุงเทพฯมากขึ้น สาเหตุการเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯของแรงงานภาคเกษตร 5 อันดับแรก คือ รายได้ไม่เพียงพอร้อยละ 24.8 ไม่มีงานทำ/ว่างงานร้อยละ 24.5 หมดฤดูการเก็บเกี่ยวร้อยละ 18.3 ประสบปัญหาภัยแล้งร้อยละ 16.4 และถูกเลิกจ้างงานร้อยละ 13.3 ซึ่งจะเห็นว่าปัญหาภัยแล้งนั้นมีส่วนทำให้จำนวนแรงงานในภาคเกษตรนั้นเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงนี้แรงงานภาคเกษตรที่อพยพเข้ามาเป็นผลมาจากการว่างงานตามฤดูกาลอยู่แล้ว นอกจากกรุงเทพฯแล้วจังหวัดอื่นๆที่แรงงานต้องการไปทำงาน 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ระยอง และนครราชสีมา
– งานรับจ้างเป็นอาชีพยอดฮิตของแรงงานภาคเกษตรที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ จากการสำรวจพบว่าแรงงานภาคเกษตรที่อพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯเกือบทั้งหมดต้องการจะทำงานประเภทรับจ้าง เนื่องจากเป็นการเข้ามาทำงานในระยะสั้น และต้องอาศัยฝีมือแรงงานที่มีอยู่ โดยค่าจ้างที่คาดว่าจะได้รับนั้นประมาณ 200-300 บาทต่อวัน โดยรายได้จากการทำงานในช่วงที่รอฤดูการผลิตใหม่นั้นบรรดาแรงงานภาคเกษตรที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯนั้นจะเก็บไว้เป็นทุนในการทำการเกษตรต่อไป และส่วนหนึ่งก็แบ่งไปใช้หนี้สินที่เกิดจากความเสียหายจากภัยแล้ง
สำหรับในกรณีที่หางานทำในกรุงเทพฯไม่ได้นั้นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.6 ก็ต้องกลับไปภูมิลำเนาเดิม ซึ่งในกรณีนี้จะสร้างปัญหาให้กับแรงงานในส่วนนี้ เนื่องจากแหล่งที่มา 3 อันดับแรกของเงินที่นำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯนั้นร้อยละ 75.0 ใช้เงินเก็บส่วนตัว ร้อยละ 21.5 กู้ยืมเงิน และร้อยละ 1.2 ต้องจำนำทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หรืออาจกล่าวได้ว่าแรงงานที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯแล้วหางานทำไม่ได้นั้นจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับแรงงานในกลุ่มนี้
– ปัจจัยที่เป็นกังวลเมื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ จากการสำรวจพบว่าปัจจัยที่เป็นกังวล 3 อันดับแรกของแรงงานที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ คือ กลัวถูกหลอกลวงร้อยละ 19.3 กลัวหางานทำไม่ได้ร้อยละ 19.0 และกลัวว่าค่าจ้างแรงงานไม่เพียงพอร้อยละ 16.8
ในปี 2548 รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาแรงงานอพยพในช่วงฤดูแล้งที่มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนมากกว่าทุกปี เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง แนวนโยบายของกระทรวงแรงงานที่มีการกำหนดไว้ 3 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นแรกพยายามตรึงประชาชนให้อยู่ในพื้นที่ โดยการ“สร้างงานในหมู่บ้าน-ตำบล”ด้วยการฝึกอาชีพในสาขาช่างต่างๆ ตลอดจนมีการแนะแนวอาชีพอิสระ ขั้นที่สองในส่วนที่ตรึงไม่อยู่ ต้องการอพยพหางานทำในถิ่นอื่นทางกระทรวงแรงงานจะร่วมกับภาคเอกชน“จัดมหกรรมนัดพบแรงงานในตัวจังหวัดต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษาจัดหาตำแหน่งงาน-รับสมัครงาน และในขั้นที่สามเป็นการเฝ้าระวังปลายทางในส่วนของผู้ที่อพยพเข้ากรุงเทพฯ โดยจัดศูนย์บริการจัดหางานที่สถานีรถไฟหัวลำโพง และสถานีขนส่งหมอชิต ทั้งนี้เพื่อป้องกันการที่แรงงานอพยพจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เช่น ถูกต้มตุ๋น ถูกจี้ปล้น เป็นต้น รวมทั้งเป็นการป้องกันปัญหาการไม่มีงานทำแล้วทำให้แรงงานส่วนนี้กลายเป็นคนเร่ร่อนอยู่ในเมือง ซึ่งอาจจะสร้างภาวะบีบคั้นให้แรงงานบางส่วนก่อปัญหาสังคม โดยเฉพาะการจี้ปล้น และลักเล็กขโมยน้อย
ปัจจุบันกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาหาแนวทางป้องกันแรงงานอพยพจากปัญหาภาวะภัยแล้ง โดยการเร่งจ้างงานในพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะการจ้างขุดสระกักเก็บน้ำ ส่วนแผนระยะยาวในการรับมือปัญหาแรงงานอพยพนั้นจะมีการนำเอาระบบเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อใช้เป็นข้อมูลบอกตำแหน่งงานว่างส่งไปยังเครือข่ายระดับท้องถิ่น โดยให้เชื่อมโยงในลักษณะอินเทอร์เน็ตตำบล ทั้งนี้เพื่อให้คนหางานสามารถเข้าไปดูและสามารถสมัครงานได้เลย คาดว่าวิธีนี้จะสามารถกระจายตำแหน่งงานไปยังพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่เกิดปัญหาแรงงานอพยพเข้ามาแออัดอยู่ในกรุงเทพฯ
ปัญหาในเรื่องแรงงานภาคการเกษตรอพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆจะยังคงมีต่อไป และระดับความรุนแรงของปัญหานั้นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่าถ้าหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนป้องกันปัญหาภัยแล้งหรือการเตรียมแหล่งน้ำสำรองให้บรรดาเกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง หรือมีการส่งเสริมอาชีพนอกการเกษตรในช่วงฤดูแล้งเพื่อให้เกษตรกรมีงานทำในท้องถิ่นก็จะเป็นการบรรเทาปัญหาแรงงานอพยพจากภาคการเกษตรหรือแรงงานที่ว่างงานในช่วงรอฤดูการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ