แผ่นดินไหวซ้ำ..ความไม่สงบภาคใต้ : วิบากกรรม..ท่องเที่ยวปี’48

การท่องเที่ยวไทยในปี 2548 มีแนวโน้มจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบอันดามันที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ ให้กลับมารองรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี 2548 ได้ รวมทั้งการเรียกความมั่นใจด้านความปลอดภัยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเที่ยวชายทะเลให้กลับคืนมาโดยเร็วและเดินทางมาเที่ยวตามเดิม
อย่างไรก็ตาม การเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงซ้ำใกล้ที่เดิมเมื่อคืนวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 3 เมษายน 2548 ได้เกิดเหตุระเบิด 3 จุดพร้อมกันที่อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ ยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยที่อยู่ภายใต้ภาวะต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น การแข่งขันช่วงชิงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากไทย และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังรุมเร้า

เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่เริ่มจะฟื้นตัวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากลับมีแนวโน้มซบเซาลงไปอีก จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูตลาดท่องเที่ยวของไทยให้กลับคึกคักขึ้นมาโดยเร็ว ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นตลาดท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสามารถเพิ่มพูนรายได้ด้านการท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าประเทศ และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

สึนามิถล่มอันดามัน : กระทบการท่องเที่ยวช่วงสิ้นปี 2547

หลังพ้นวิกฤตโรคซาร์สในช่วงกลางปี 2546 การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาในปี 2547 แม้จะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยถดถอยลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็สามารถทรงตัวและปรับทิศทางได้ในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นจึงเติบโตอย่างต่อเนื่องมาถึงช่วงปลายปี 2547

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เป็นที่คาดกันว่า ตลอดทั้งปี 2547 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยได้ประมาณ 11.8 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งไว้เมื่อช่วงต้นปี คือ 12.0 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ หรือ ที่เรียกกันว่า สึนามิ ติดตามมา ซึ่งถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อแหล่งท่องเที่ยวแถบชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ และพังงาที่มีชื่อเสียงในตลาดท่องเที่ยวระดับโลก ส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์จนถึงสิ้นปี 2547 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมีเป้าหมายจะเดินทางไปพักผ่อนที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ จำนวนเกือบ 2 แสนคน ต่างยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางมายังประเทศไทยออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้โดยรวมแล้วตลอดทั้งปี 2547 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 11.65 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากปี 2546

สึนามิและหลากปัจจัยลบ : กระทบการท่องเที่ยวปี’48

สำหรับในปี 2548 ททท.ยังคงยืนยันเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 13.38 ล้านคน ซึ่งนับเป็นภารกิจที่หนักหน่วง เมื่อคำนึงถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางกลับมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบอันดามันของไทยเช่นเดิม ภายใต้ภาวะการณ์ที่มีปัจจัยลบหลายประการที่ต้องฟันฝ่า ได้แก่

– ปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่คลี่คลายลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 80 และนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ประมาณร้อยละ 15 ซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณกว่า 1 ล้านคน นิยมเดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ของไทยด้วยรถยนต์หรือรถไฟ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี รวมทั้งสงขลาซบเซาลงมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ

– ปัญหาต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตาม แต่จากภาวะตลาดท่องเที่ยวที่ไม่เอื้ออำนวย และการแข่งขันที่มีในระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปบางส่วนไป และพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆที่ไม่จำเป็นลง ทั้งนี้เพื่อสามารถรักษาตลาดที่มีอยู่ไว้ได้

– ปัญหาการแข่งขันช่วงชิงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติไปจากไทย ในช่วงที่การท่องเที่ยวไทยต้องประสบกับวิกฤตสึนามิ เป็นโอกาสให้หลายประเทศในเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน เป็นต้น ต่างจัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในราคาถูกพิเศษ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเข้าประเทศ ซึ่งรวมทั้งนักท่องเที่ยวคนไทย

นอกจากนี้ แผนการตลาดที่ปรับเปลี่ยนหลังเกิดสึนามิของททท.ด้วยการหันมาขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งมีคนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปที่หดหายไป แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยได้มากเท่าที่ควร คงมีในส่วนของนักท่องเที่ยวยุโรปจำนวนไม่มากนักที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อพำนักท่องเที่ยวในภูเก็ตและกระบี่ ซึ่งบริการด้านท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวมีความพร้อมสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้แล้ว และในส่วนของนักท่องเที่ยวคนไทยที่ซื้อแพ็กเกจราคาถูกพิเศษไปเที่ยวอันดามัน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในภูเก็ตและกระบี่กระเตื้องขึ้นจากช่วงต้นปี 2548

ในช่วงเดือนมกราคม 2548 จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยลดลงต่อเนื่องมาจากช่วงสิ้นปี 2547 หลังเกิดสึนามิ โดยมีจำนวนประมาณ 890,000 คนลดลงร้อยละ 27 จากปี 2547 ในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องมายังเดือนมีนาคม ส่งผลให้โดยรวมแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 2.68 ล้านคนลดลงร้อยละ 10 จากปี 2547 ในช่วงเวลาเดียวกัน

แผ่นดินไหวซ้ำ..ตามด้วยระเบิดสงขลา : กระทบการท่องเที่ยวไทย

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 นั้น บรรยากาศการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะเริ่มดีขึ้นกลับมีแนวโน้มซบเซาลงไปอีก หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงซ้ำเมื่อคืนวันที่ 28 มีนาคม 2548 ซึ่งเกิดในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนส่วนใหญ่ที่ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่ก่อให้เกิดสึนามินั้น จะต้องใช้เวลาอีกนานนับหลายร้อยปีเพื่อสะสมพลังงานครั้งใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนชะลอการเดินทางมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยออกไปหรือเปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางไปยังแห่งอื่นแทน

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำมาได้เพียงไม่ถึงสัปดาห์ ได้เกิดเหตุวางระเบิดพร้อมกัน 3 จุด ที่จังหวัดสงขลาเมื่อคืนวันที่ 3 เมษายน 2548 คือ

– ที่หน้าห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

– ที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

– ที่บริเวณโรงแรมกรีนเวิลด์ พาเลซ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

เหตุระเบิดดังกล่าวสร้างความหวั่นวิตกในความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่จะเดินทางไปยังจังหวัดสงขลา ซึ่งมีหาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

โดยในปี 2547 หาดใหญ่มีรายได้ด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 50 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.7 พันล้านบาทเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปยังหาดใหญ่ประมาณ 8.5 แสนคนลดลงร้อยละ 18 จากปี 2546 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 และร้อยละ 25 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังหาดใหญ่ ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นมา การท่องเที่ยวหาดใหญ่ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มถดถอยลงตามลำดับ โดยในปี 2546 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังหาดใหญ่ลดลงร้อยละ 4.4 เป็น 1.04 ล้านคน และลดลงสูงถึงร้อยละ 18.4 เป็น 8.5 แสนคนในปี 2547

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นในพื้นที่หาดใหญ่เองเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการท่องเที่ยวหาดใหญ่อย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีการจัดงานมิดไนท์สงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 13 เมษายน 2548 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยจองห้องพักโรงแรมในหาดใหญ่มาล่วงหน้าแล้ว

เป็นที่คาดกันว่า หากสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสงขลายังไม่คลี่คลายลงแล้ว ตลอดทั้งปี 2548 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังหาดใหญ่ลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 หรือคิดเป็นจำนวนประมาณเกือบ 2 แสนคน ทำให้สูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าหาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมากในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่

การเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงซ้ำครั้งล่าสุดในหมู่เกาะสุมาตรา และเหตุระเบิดรุนแรงที่อำเภอหาดใหญ่และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมืองท่องเที่ยวสำคัญซึ่งสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 6 ของไทย รองจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และกระบี่ กระทบบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ทำให้มีแนวโน้มถดถอยลง

โดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.45 ล้านคนลดลงร้อยละ 3.4 จากปี 2547 ในช่วงเวลาเดียวกัน

จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 มีแนวโน้มถดถอยลง โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 5.13 ล้านคนลดลงร้อยละ 7 จากปี 2547

แนวทางแก้ไข : เน้นความปลอดภัย..มุ่งขยายตลาดคุณภาพ

แผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำใกล้ที่เดิม ในช่วงระยะเวลาห่างจากครั้งแรกเพียง 3 เดือน แม้ไม่ก่อให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ถล่มชายฝั่งทะเลเช่นครั้งแรก แต่ก็สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของธรรมชาติใต้พื้นผิวโลก ซึ่งยากแก่การคาดการณ์ของบรรดานักธรณีวิทยาทั้งหลาย ทั้งยังตอกย้ำถึงความจำเป็นของ การวางระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพในความรวดเร็วและระบบการอพยพผู้คนไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ทันการ ตามแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลทั้งหลายไม่เฉพาะชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ซึ่งหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเร่งศึกษาและดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ทุกฝ่ายควร เร่งส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแห่งอื่นของไทย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ที่มีอยู่จำนวนมาก และมีความพร้อมในด้านบริการรองรับนักท่องเที่ยวในระดับมาตรฐานสากล อาทิ พัทยา ระยอง ตราด ชะอำ หัวหิน ปราณบุรี ชุมพร และสมุย ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเที่ยวชายทะเล แต่ต้องการหลีกเลี่ยงแหล่งท่องเที่ยวแถบอันดามันในช่วงนี้

การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามสถานที่ชุมนุมชนขนาดใหญ่ ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆไม่เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสงขลา ทั้งนี้โดยได้รับการประสานความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิง เป็นต้น

การขยายตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไปกลุ่มที่มีศักยภาพสูง อาทิ ตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย และตลาดนักท่องเที่ยวจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแถบตะวันออกกลางซึ่งไม่ควรมองข้าม เพราะแต่ละประเทศต่างมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งด้วยการส่งออกน้ำมันที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางยังใช้เวลาพักเฉลี่ยในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 วัน ซึ่งเป็นรองจากนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกาเพียงเล็กน้อย และยังใช้จ่ายเฉลี่ยในแต่ละวันค่อนข้างสูง คือ ประมาณคนละ 4,000-5,000 บาทต่อวัน

การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจเพื่อขยายตลาดท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม หรือ ที่เรียกกันว่า นิชมาร์เก็ต ได้แก่

– ตลาดการประชุมสัมมนาและแสดงสินค้านานาชาติ รวมทั้งตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หรือที่รวมเรียกกันว่า ตลาดไมซ์

– ตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ซึ่งรวมทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือก อาทิ ทัวร์ตรวจร่างกาย ทัวร์ทำฟัน ทัวร์ศัลยกรรมความงามและการแปลงเพศ ทัวร์สปาและการนวดแผนโบราณ เป็นต้น

– ตลาดท่องเที่ยวด้านกีฬา อาทิ ทัวร์ดำน้ำ และทัวรกอล์ฟ เป็นต้น

– ตลาดทัวร์ช็อปปิ้ง ตลาดท่องเที่ยวเพื่อการจับจ่ายซื้อสินค้า โดยประเทศไทยมีสินค้าให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อได้อย่างหลากหลาย ทั้งสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำ สินค้ามาตรฐานส่งออกในราคาย่อมเยาว์ สินค้าหัตถกรรมไทย รวมทั้งสินค้าโอทอป

– ตลาดท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาพำนักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน อาทิ นักท่องเที่ยวกลุ่มที่เกษียณการทำงานแล้ว นักท่องเที่ยวจากซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งหลบอากาศที่หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวเข้ามาพำนักในประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยที่มีค่าครองชีพต่ำกว่ามาก

ตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มแม้จะเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีขนาดเล็ก แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็มีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดที่ยังมีลู่ทางจะขยายตัวได้อีกมาก การส่งเสริมการท่องเที่ยวในตลาดกลุ่มนิชมาร์เก็ตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เป็นแนวทางสำคัญที่จะสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าประเทศได้อย่างรวดเร็ว

สรุป

หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนต่างประสานความร่วมมือเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควบคู่กับการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไปเพื่อรักษาตลาดที่มีอยู่เดิม และเร่งขยายตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ยังจำกัดอยู่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว ก็เป็นที่คาดว่าการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าช่วงช่วงครึ่งปีแรก

โดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.0 ล้านคนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 2 จากปี 2547 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 คาดว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 6.4 เป็น 3.4 ล้านคน

ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2548 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 11.53 ล้านคนลดลงร้อยละ 1 จากปี 2547 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 370,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 จากปี 2547

+++++++

ตารางแสดงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้ด้านการท่องเที่ยว

ปี จำนวนนักท่องเที่ยว (คน) การขยายตัว (ร้อยละ) รายได้ (ล้านบาท) การขยายตัว (ร้อยละ)
2544 10,061,950 + 5.8 299,047 + 4.8
2545 10,799,067 + 7.3 323,484 + 8.2
246 10,004,453 – 7.4 309,269 – 4.4
2547 11,650,703 + 16.5 363,000* + 17.4
2548* 11,532,000 – 1.0 370,000 + 1.9

ที่มา : รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
ข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ : * ประมาณการโดย บริษั ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด