ประธานาธิบดี Blaise Compaore แห่งบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการวันที่ 8 เมษายน 2548 ถือเป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกาที่เดินทางมายังประเทศไทยในปี 2548 นี้ ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์กับทวีปแอฟริกา หรือ นโยบายมองตะวันตก “Look West” เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างไทยกับภูมิภาคแอฟริกา
ประเทศแอฟริกาอื่นๆ อีกหลายประเทศ ได้แก่ ลิเบีย ไนจีเรีย โมรอคโค เซเนกัล และอิยิปต์ มีกำหนดการเบื้องต้นในการเดินทางมาเยือนไทยในปี 2548 เช่นกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับไทย และในวันที่ 22 เมษายน 2548 นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำประเทศในเอเชียกับประเทศในทวีปแอฟริกา หรือที่เรียกว่า “Asia-Africa Summit” ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นับได้ว่าทั้งสองภูมิภาคต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือและกระชับมิตรมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศบูร์กินาฟาโซ คนส่วนใหญ่คงไม่คุ้นเคย หรืออาจไม่เคยได้ยินชื่อประเทศนี้มาก่อน เนื่องจากประเทศบูร์กินาฟาโซ เดิมชื่อสาธารณรัฐอัปเปอร์ โวลต้า เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ไม่มีดินแดนติดทะเล ทางเหนือมีพรมแดนติดกับประเทศมาลี ทางตะวันออกติดกับไนเจอร์ ทางใต้ติดกับเบนินและโตโก ส่วนทางตะวันตกติดกับกานาและโกตติวัวร์ บูร์กินาฟาโซเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมแอฟริกาตะวันตกของฝรั่งเศส โดยได้รับสิทธิปกครองตนเองภายใต้อาณัติของฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม 2501 และได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2503 ในช่วงปี 2513-2523 การเมืองในบูร์กินาฟาโซไม่มั่นคง เนื่องจากมีรัฐบาลผสมหลายพรรค จนทำให้ประชาชนจำนวนหลายแสนคนอพยพไปทำงานที่ประเทศทางตอนใต้ของแอฟริกา เช่น ประเทศโกตติวัวร์และกานา
ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศบูร์กินาฟาโซ
ที่ตั้ง ตะวันตกของทวีปแอฟริกา
เมืองหลวง กรุงอูวากาดูกู (Ouagadougouo)
ประชากร 13.4 ล้านคน
พื้นที่ 274,200 ตารางกิโลเมตร
ระบอบการเมือง สาธารณรัฐ (ภายใต้การควบคุมของทหาร)
ศาสนา อิสลาม (50%) ความเชื่อดั้งเดิม (40%) คริสต์ (10%)
ประมุขของรัฐ ประธานาธิบดี Blaise Compaore
หัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรี Paramanga Ernest YONLI
ภาษาราชการ ฝรั่งเศส (ภาษาราชการ)
สกุลเงิน West African CFA Franc
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ฝ้าย ผลิตภัณฑ์จากสัตว์
บูร์กินาฟาโซถือเป็นประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาที่ยากจนที่สุด จากดัชนีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ระบุว่า บูร์กินาฟาโซเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) ของโลก โดยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 175 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ประเทศที่รั้งท้าย 2 ประเทศ คือ ไนเจอร์และเชียร์ราลีโอน (Sierra Leone) ซึ่งก็เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาเช่นกัน ที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่าบูร์กินาฟาโซ ประชากรของประเทศบูร์กินาฟาโซราว 90% ทำงานในภาคเกษตร และมีรายได้ต่อปีเพียง 264 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหัว หรือประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน
เศรษฐกิจพึ่งพิงการผลิต & ส่งออกสินค้าขั้นต้น
ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของบูร์กินาฟาโซมีการขยายตัวต่อเนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 3.5% ต่อปีระหว่างปี 2533-2538 เป็น 4.7% ต่อปีระหว่างปี 2539-2545 แม้ว่าบูร์กินาฟาโซจะเผชิญกับผลกระทบจากการลดค่าเงินฟรังก์ เซฟา (Franc CFA) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกาในปี 2537 เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เป็นผลให้เศรษฐกิจของบูร์กินาฟาโซย่ำแย่ เพราะขาดดุลการชำระเงินจำนวนมาก รัฐบาลจึงต้องมุ่งพัฒนาประเทศโดยส่งเสริมการส่งออกเพื่อลดการขาดดุลการค้า และกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน แต่ถือได้ว่าบูร์กินาฟาโซสามารถผ่านวิกฤตการณ์นี้มาได้ด้วยดี และได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศในการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง
– ภาคเกษตรกรรม –
เศรษฐกิจของบูร์กินาฟาโซขึ้นอยู่กับภาคการผลิตขั้นต้น (Primary Sector) ที่สำคัญ ได้แก่ ฝ้ายและปศุสัตว์ แต่ภาคการผลิตมีการพัฒนาไม่มากนักส่งผลให้ผลผลิตมีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประกอบกับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ได้แก่ ฝ้าย เผชิญกับปัญหาราคาฝ้ายของโลกตกต่ำ โดยมีสาเหตุจากการที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปให้การอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายภายในประเทศ ทำให้ราคาฝ้ายของโลกตกต่ำ
นอกจากนี้ แม้บูร์กินาฟาโซจะมีทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด ได้แก่ แมงกานีส หินปูน หินอ่อน ทองคำ ทองแดง บอกไซด์ ตะกั่ว ฟอสเฟต สังกะสี และเงิน แต่ยังไม่ได้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากการผลิต/การทำเหมืองไม่ได้พัฒนาหรือ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนใหญ่จึงอยู่ในขั้นตอนการสำรวจแหล่งแร่ แต่ยังไม่ได้ทำการขุดเจาะ
บูร์กินาฟาโซเป็นแหล่งของทองคำจำนวนมาก แต่การผลิตทองคำของบูร์กินา- ฟาโซลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการส่งออกทองลดลงจาก 1,642 กิโลกรัม ในปี 2537 เหลือ 390 กิโลกรัม ในปี 2547 ทั้งนี้ เพราะการผลิตทองคำหยุดชะงักในปี 2543 แม้ว่ายังคงมีการสำรวจทองคำอยู่ แต่ก็ไม่มีเหมืองแร่ทองคำใหม่ขนาดใหญ่เปิดดำเนินการ และโดยทั่วไปการผลิตทองคำของบูร์กินาฟาโซใช้วิธีการแบบดั้งเดิม ปัญหาหลักของการผลิตทองคำ คือ ขาดแคลนแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับประเทศในแอฟริกาอื่นๆ ด้วย
– ภาคอุตสาหกรรม –
การผลิตภาคอุตสาหกรรมของบูร์กินาฟาโซส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา โดยกิจกรรมหลักในภาคอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ ฝ้าย น้ำตาล ข้าวสาลี เบียร์ เครื่องดื่มอื่นๆ และยาสูบ ไปสู่อุตสาหกรรมปั่นด้ายและทอผ้า อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมโม่แป้ง เป็นต้น
– การส่งออก –
สินค้าส่งออกหลักของบูร์กินาฟาโซ คือสินค้าขั้นต้นที่ยังไม่แปรรูป (unprocessed primary products) และมีเพียงไม่กี่ประเภท โดยฝ้ายเป็นสินค้าส่งออกหลักของบูร์กินาฟาโซ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 55% ของการส่งออกทั้งหมดของบูร์กินาฟาโซ รองลงมา ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ คิดเป็นสัดส่วนราว 12% แต่บูร์กินาฟาโซประสบปัญหารายได้จากการส่งออกฝ้ายลดลงกว่า 20% ช่วงระหว่างปี 2541-2544 เพราะราคาฝ้ายของโลกตกต่ำลง โดยถือเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 32 ปี ประเทศที่บูร์กินาฟาโซส่งออกฝ้ายเป็นหลัก คือ สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ส่วนสินค้าปศุสัตว์ส่งออกไปประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ โกตติวัวร์ และกานา ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญที่สุดของบูร์กินาฟาโซ โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งเคยปกครองบูร์กินาฟาโซมาก่อน ประเทศคู่ค้าหลักอื่นๆ ได้แก่ อิตาลี สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และโกตติวัวร์
– จุดอ่อนทางภูมิศาสตร์ & ต้นทุนค่าขนส่งสูง –
เนื่องจากบูร์กินาฟาโซเป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล (เช่นเดียวกับประเทศมาลีและไนเจอร์ซึ่งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก) ทำให้มีต้นทุนด้านการขนส่งสูง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางรถไฟและต้องอาศัยท่าเรือประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดทะเลเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าทางทะเล ได้แก่ Abidjan ในประเทศโกตติวัวร์ และกรุงอักกรา (Accra) ในประเทศกานา
– จุดแข็งทางการเมือง –
ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองของบูร์กินาฟาโซค่อนข้างสงบเรียบร้อย และมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา เนื่องจากพรรคของประธานาธิบดี Blaise Compaore ได้รับเสียงข้างมากในสภาทำให้สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างปลอดโปร่ง ทำให้นักธุรกิจต่างชาติมั่นใจในการเข้าไปประกอบธุรกิจ/ติดต่อการค้าในบูร์กินาฟาโซ
– บทบาทในประชาคมโลก –
บูร์กินาฟาโซเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร เช่น อังค์ถัด (UNCTAD) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชา-ชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (World Intellectual Property Organization : WIPO) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) องค์กรแรงงานสากล (International Labor Organization : ILO) รวมทั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ซึ่งบูร์กินาฟาโซเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ในวันที่ 3 มิถุนายน 2540 และจากกฎระเบียบของความตกลง WTO ทำให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด รวมทั้งบูร์กินาฟาโซ ได้รับประโยชน์จากหลักเกณฑ์ของ WTO คือ หลักการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment : S&D) คือ ประเทศ LDCs ได้รับความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตามความตกลงต่างๆ ของ WTO โดยสามารถยืดระยะเวลาในการลดภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นนานกว่าประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประเทศ LDCs มีระยะเวลาปรับตัวต่อการแข่งขันกับสินค้า/บริการจากต่างประเทศ
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจของบูร์กินาฟาโซขึ้นอยู่กับการผลิตและส่งออกฝ้ายและผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลัก รวมทั้งต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินและด้านเทคนิคจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่พัฒนาแล้ว จุดอ่อนของบูร์กินาฟาโซ คือ การไม่มีดินแดนติดทะเล ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมทั้งปัญหาความยากจน ดังนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับการส่งออกสินค้าหลักที่สำคัญ ได้แก่ ฝ้าย ผลิตผลทางการเกษตร และทองคำ การพัฒนาภาคการผลิตและอุตสาหกรรม/การทำเหมืองเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการขยายภาคการผลิตโดยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบูร์กินาฟาโซพยายามดึงดูดการลงทุนโดยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เหมืองแร่ ศุลกากร และแรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุน
ความสัมพันธ์ไทย-บูร์กินาฟาโซ
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบูร์กินาฟาโซเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2528 และหลังจากนั้นได้แลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศ โดยครั้งหลังสุดในเดือนมิถุนายน 2543 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบูร์กินาฟาโซและคณะได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเยือนระดับรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และในวันที่ 8 เมษายน 2548 ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซมีกำหนดการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศบูร์กินาฟาโซเดินทางมาเยือนไทย ถือเป็นการสานความสัมพันธ์ครั้งสำคัญระหว่างประเทศไทยกับบูร์กินาฟาโซให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบูร์กินาฟาโซที่ผ่านมาเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นหลัก สรุปได้ดังนี้
– การค้าไทย-บูร์กินาฟาโซ –
มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบูร์กินาฟาโซ ค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด และคิดเป็นเพียง 0.5% ของการค้าระหว่างไทยกับทวีปแอฟริกาทั้งหมดในปี 2547 อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับบูร์กินาฟาโซมาตลอด โดยในปี 2547 ไทยขาดดุลการค้ากับบูร์กินาฟาโซ 11.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยอดขาดดุลลดลงเมื่อเทียบกับปี 2546 ที่ขาดดุลการค้า 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากปี 2547 การส่งออกไปบูร์กินาฟาโซขยายตัว 50% จาก 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2546 เป็น 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากบูร์กินาฟาโซลดลง 29.44% จาก 21.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 15.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ไทยส่งออกไป บูร์กินาฟาโซเพิ่มขึ้น 100% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 (จาก 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่นำเข้าลดลง 50% (จาก 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับบูร์กินาฟาโซลดลงเป็น 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่ขาดดุลการค้า 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สินค้านำเข้าของไทยจากบูร์กินาฟาโซเกือบทั้งหมด (ราว 99%) เป็นด้ายและเส้นใย ในปี 2547 ไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 28.91% เมื่อเทียบกับปี 2546 ที่นำเข้าด้ายและเส้นใยเป็นมูลค่า 21.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปีที่ไทยนำเข้าด้ายและเส้นใยจากบูร์กินาฟาโซสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 157% เมื่อเทียบกับ 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2545 ทั้งนี้ การนำเข้าด้ายและเส้นใยจากบูร์กินาฟาโซ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอประเภทต่างๆ ของไทยสำหรับส่งออก
ส่วนสินค้าส่งออกของไทยไปบูร์กินาฟาโซที่สำคัญในปี 2547 ได้แก่
? รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประเทศ มูลค่า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยไปบูร์กินาฟาโซ แต่ยอดส่งออกในปี 2547 ลดลง 14% จากปี 2546 ที่มีมูลค่าส่งออก 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
? ข้าว ข้าวของไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาวบูร์กินาฟาโซมาก ไทยส่งออกข้าวไปยังบูร์กินาฟาโซเพิ่มขึ้นถึง 300% เป็นมูลค่า 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 22.22%) ในปี 2547 ประกอบด้วยปลายข้าวเจ้าขาวหอมมะลิ เกรดเอ ซึ่งเป็นข้าวชนิดที่ไทย ส่งออกไปบูร์กินาฟาโซมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ข้าวจ้าวขาวอื่นๆ 100% ชั้น 2 และข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 100% ชั้น 2 เป็นต้น
? รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 19.44%) เพิ่มขึ้น 40% คิดเป็นมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
? เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (สัดส่วน 8.33%) ส่งออกไปบูร์กินาฟาโซเป็นปีแรกคิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
? เสื้อผ้าสำเร็จรูป (สัดส่วน 5.56%) เพิ่มขึ้น 100% คิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
? แม้บูร์กินาฟาโซจะเป็นประเทศยากจนและพัฒนาน้อยที่สุด แต่ถือว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายชนิดซึ่งยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ประกอบกับบูร์กินาฟาโซมีความสงบเรียบร้อยทางการเมือง ช่วยทำให้บรรยากาศในการประกอบธุรกิจพลอยแจ่มใสตามไปด้วย ดังนั้น นักธุรกิจไทยจึงควรหาโอกาสเข้าร่วมลงทุนด้านการทำเหมือง การสำรวจและผลิต เช่น ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว และเงิน เป็นต้น เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มาใช้ประโยชน์สูงสุด และยังก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนของบูร์กินาฟาโซ
นอกจากนี้ ไทยกับบูร์กินาฟาโซยังมีโอกาสขยายปริมาณการค้าระหว่างกันได้อีกมาก เพราะขณะนี้มูลค่าการค้าระหว่างกันยังน้อยมาก สินค้าส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวในบูร์กินาฟาโซ ได้แก่ ข้าว ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวบูร์กินาฟาโซ และมีแนวโน้ม ส่งออกเพิ่มขึ้น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และเสื้อผ้าสำเร็จ-รูปที่การส่งออกของไทยในปัจจุบันขยายตัวสูง สำหรับรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แม้มูลค่าการส่งออกจะลดลงในปี 2547 แต่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย และเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกมากในปัจจุบัน จึงคาดว่าการส่งออกยังจะขยายตัวได้ดี ดังนั้น การมาเยือนไทยของประธานาธิบดีแห่งบูร์กินาฟาโซครั้งนี้ถือเป็นการปูทางสร้างความสัมพันธ์อันดีและส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมระหว่างกันมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป