พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียและแอฟริกา “Asia-Africa Summit” ที่จะจัดขึ้นวันที่ 22-23 เมษายน 2548 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะมีผู้นำประเทศจาก 2 ภูมิภาคนี้เดินทางเข้าร่วมประชุมครั้งนี้รวม 55 ประเทศ ถือเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งแห่งปี โดยผู้นำจะร่วมกันลงนามปฎิญญาว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Declaration on Strategic Partnership) ระหว่าง 2 ภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยแผนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นหุ้นส่วน ดังกล่าว นับว่าเป็นปีแห่งการสานความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์กับแอฟริกา โดยส่งเสริมให้นักธุรกิจไทย “มองไปทางตะวันตก” (Look West) มากยิ่งขึ้น
ภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาประกอบด้วยประเทศทั้งหมด 106 ประเทศ มีประชากรรวมกันราว 4,600 ล้านคน คิดเป็น 73% ของประชากรทั้งหมดของโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมของ 2 ภูมิภาครวมกันราว 9.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทวีปแอฟริกานับว่าเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองมาจากทวีปเอเชีย มีพื้นที่ประมาณ 31 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ติดกับทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ประกอบด้วยประเทศ 54 ประเทศ ประชากรประมาณ 800 ล้านคน คิดเป็นราว 11% ของประชากรโลกทั้งหมด โดยมีประเทศ แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองที่สุดในทวีป และถือเป็นพลัง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกา โดยแอฟริกาใต้แสดงความประสงค์และความพร้อมที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia-Africa Summit ครั้งต่อไป ในปี 2552 ซึ่งกำหนดประชุมระดับผู้นำทุกๆ 4 ปี ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีกำหนดจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี
ที่ผ่านมาไทยให้ความสนใจกับทวีปแอฟริกาค่อนข้างน้อย เนื่องจากที่ตั้งอยู่ห่างไกล ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกายากจน และมีความไม่สงบทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูมิภาคนี้จึงมีไม่มากนัก แต่ปัจจุบันนี้เนื่องจากไทยต้องการขยายตลาดส่งออกในทุกๆ ภูมิภาค โดยเฉพาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและโอกาสทางการค้า ผนวกกับปี 2548 นโยบายของรัฐให้ความสำคัญกับทวีปแอฟริกามากยิ่งขึ้น และถือเป็นตลาดที่ จัดตั้ง Special Task Force (STF) เพื่อเข้าไปเจาะตลาดโดยการสนับสนุนจากภาครัฐ และล่าสุดเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าของไทยตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2548 เป็นต้นมา รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงพยายามเร่งรัดการส่งออกโดยขยาย เป้าหมายการส่งออกในปี 2548 จากเดิมที่กำหนดให้ขยายตัว 15% เป็น 20% จึงควรพยายามมองโอกาสการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายในปีนี้
* การค้าไทย-ทวีปแอฟริกา
ถึงแม้การค้าระหว่างไทยกับทวีปแอฟริกายังไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมดในปี 2547 เทียบกับสัดส่วนเฉลี่ย 1.7% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการค้าของไทยกับทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้น 48.98% จาก 2,578.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 3,840.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 แต่มีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประการ คือ
(1) ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับแอฟริกามาโดยตลอด และเกินดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัวจาก 638.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 1,217.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 สำหรับช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 56.06% คิดเป็นมูลค่า 414.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่า 265.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าลดลง 3.45% คิดเป็นมูลค่า 148.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ 2 เดือนแรกของปี 2547 ที่มีมูลค่า 153.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2 เดือนแรก 266.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 137.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547
(2) ทวีปแอฟริกาเป็นลูกค้าตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ใน 2 เดือนแรกของปีนี้ เซเนกัล ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา สามารถแซงหน้าจีนและคว้าแชมป์ตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย จากจีนได้สำเร็จ โดยมูลค่าส่งออกข้าวไป เซเนกัลเพิ่มขึ้น 134.68% จาก 17.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปี 2547 เป็น 40.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศในแอฟริกาที่ไทยส่งออกข้าวมากรองลงมาในช่วง 2 เดือนนี้ ได้แก่ แคเมอรูน มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 500% เบนิน (เพิ่มขึ้น 1,940%) ไนจีเรีย (เพิ่มขึ้น 353.5%) และมาดากัสการ์ (เพิ่มขึ้น 15,700%)
สินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ของไทยไปแอฟริกา ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากทวีปแอฟริกา ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทอง เยื่อกระดาษ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์
* ลงทุนไทย-ทวีปแอฟริกา
การลงทุนระหว่างไทยกับประเทศในแอฟริกายังน้อย ประเทศหลักที่เข้าไปลงทุนในแอฟริกา ได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สำหรับการลงทุนของไทยในแอฟริกา ได้แก่ ธุรกิจประมงในมาดากัสการ์ การร่วมทุนระหว่างไทยกับคนท้องถิ่นประกอบตัวถังรถยนต์ในเคนยา รวมทั้งธุรกิจสนามกอล์ฟ ร้านอาหารไทย และโรงแรมในแอฟริกาใต้
ส่วนบริษัทแอฟริกาที่เข้ามาลงทุนในไทย เช่น บริษัท MIH (Multichoice International Holding Co., Ltd) ของแอฟริกาใต้ ทำธุรกิจด้านไอทีและเอ็นเทอร์เทนเมนต์มา ลงทุนในเวบไซน์ของไทย และบริษัท Thermo Bond Tyres ของแอฟริกาใต้ซึ่งประกอบธุรกิจ ผลิตยางล้อรถ เข้ามาลงทุนในไทยเช่นกัน
* ท่องเที่ยวไทย-ทวีปแอฟริกา
นักท่องเที่ยวชาวแอฟริกาเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยยังไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไทยทั้งหมด และปี 2546 เกิดปัญหาการบริหารจัดการด้านการตลาดของสายการบินในตลาดแอฟริกาใต้ โดยสายการบินไทยซึ่งแต่เดิม ได้ทำการบินร่วมกับเซาท์ แอฟริกัน แอร์ไลน์จำนวน 3 เที่ยว/สัปดาห์ ในเส้นทางบินตรงโยฮันเนส-เบิร์ก-กรุงเทพฯ ได้ยกเลิกสำนักงานในพื้นที่ จึงทำให้การดำเนินงานด้านการตลาดไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และได้ยกเลิกเที่ยวบินตรงดังกล่าวไปในที่สุด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคแอฟริกาเดินทางมาไทยในปี 2546 ลดลง 25% เหลือ 67,117 คน
ในปี 2547 คาดว่ามีนักท่องเที่ยวชาวแอฟริกาทั้งหมดเดินทางมาไทยราว 80,000 คน เพิ่มขึ้นราว 25% ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศแอฟริกาใต้เกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปทวีปแอฟริกาคาดว่าจะลดลงกว่า 50% จาก 4,974 คน ในปี 2546 เป็น 2,320 2 ในปี 2547 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศแอฟริกาใต้เป็นอันดับ 1 ในบรรดาประเทศแอฟริกา ทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปทวีปแอฟริกาทั้งหมด แต่ในปี 2547 สัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปแอฟริกาใต้ลดลงเหลือราว 30% ของนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปแอฟริกาทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 700 คน (ลดลงราว 85%) ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาเพิ่มขึ้นเกือบ 190% เป็น 1,620 คน สาเหตุที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปแอฟริกาใต้ลดลง เพราะไทยและแอฟริกาใต้ ยกเลิกเส้นทางบินตรงระหว่างกัน ทำให้นักท่องเที่ยวไทยไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางเท่าที่ควร จึงหันไปท่องเที่ยวประเทศอื่นในแอฟริกาแทน ได้แก่ เคนยาและมาดากัสการ์ที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเพิ่มขึ้นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายการบินบินตรงระหว่างไทยกับเคนยาเปิดดำเนินการในปี 2547 เป็นครั้งแรก
* ลู่ทางธุรกิจ & การค้าของไทยในตลาดแอฟริกา
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ไทยมีโอกาสทางการค้า การลงทุนประกอบธุรกิจผลิตสินค้าและบริการในแอฟริกา เพื่อขยายตลาดส่งออกของไทย รวมทั้งเป็นฐานการผลิต และเป็นแหล่งกระจายสินค้าไทยไปภูมิภาคใกล้เคียง ดังนี้
– สินค้าส่งออกไทยหลายชนิดมีศักยภาพในตลาดแอฟริกา เนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้ดี และมีแนวโน้มที่จะส่งออกได้มากขึ้น ได้แก่ ข้าว แม้ราคาข้าวไทยจะสูงกว่าข้าวของแอฟริกา แต่ก็เป็นที่นิยมของชาวแอฟริกัน เพราะคุณภาพข้าวไทยดีและ หุงขึ้นหม้อ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกอื่นๆ ของไทยที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
– ไทยสามารถใช้แอฟริกาเป็นประตูการค้า (Gateway) ไปสู่ภูมิภาคอื่นใกล้เคียง ได้แก่ ยุโรป และอเมริกา เช่น ประเทศโมรอคโคมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหภาพยุโรป และได้จัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จากโมรอคโคไปสหรัฐฯ ได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่สินค้าส่งออกจากโมรอคโคจะได้รับการยกเว้นภาษีในตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ดังนั้นไทยอาจใช้โมรอคโคเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าไทยไปสหภาพยุโรปและอเมริกา เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าว ประกอบกับที่ตั้งของแอฟริกากับภูมิภาคยุโรปและอเมริกาไม่ห่างไกลกันนักเมื่อเปรียบเทียบกับไทย ทำให้ต้นทุนการขนส่งถูก ยกตัวอย่าง ไทยสามารถใช้แอฟริกาเป็นฐานการผลิตและช่องทางกระจายสินค้าประเภทอาหารทะเลกระป๋อง หรืออาหารแช่แข็งส่งออก เนื่องจากแอฟริกามีแหล่งประมงอุดมสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกไปยุโรปและอเมริกาโดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีข้างต้น
– ไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในแอฟริกา ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศแอฟริกา จากผลการหารือระหว่างไทยกับตัวแทนจากประเทศแอฟริกา 7 ประเทศ ในการสัมมนาเรื่องยุคใหม่ของการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-แอฟริกา “Thailand-Africa Symposium : A New Era for Economic Partnership” ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนมีนาคม 2548 พบว่า ประเทศในแอฟริกาต้องการให้ต่างชาติ รวมถึงไทย เข้าไปลงทุนผลิต และประกอบธุรกิจในแอฟริกา มากกว่าการเน้นเฉพาะการส่งออกสินค้าไปแอฟริกาเพียงอย่างเดียว เพราะการเข้าไปลงทุน/ประกอบธุรกิจในแอฟริกาจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ได้แก่ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น สร้างสิ่งสาธารณูปโภค/โครงสร้างพื้นฐาน และถ่ายทอดเทคโนโลยี/ความรู้ รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศแอฟริกา ประกอบกับหลายประเทศในแอฟริกาได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเห็นว่าไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนผลิตและประกอบธุรกิจในแอฟริกา ดังนี้
– อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้แก่ การลงทุนสำรวจและผลิตในภาคเหมืองแร่ เพราะแอฟริกาเป็นทวีปที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ทองคำ ปิโตรเลียมที่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโมรอคโคและไนจีเรียซึ่งมีแร่ธาตุมาก รวมทั้งน้ำมันที่ยังไม่ได้ขุดเจาะและ อยู่ระหว่างการสำรวจ
– ธุรกิจด้านการบริการที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ ร้านอาหาร ภัตตาคาร บริการนวดแผนไทย สปา เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากยุโรป และอเมริกา เดินทางมาท่องเที่ยวในแอฟริกาจำนวนมากในแต่ละปี เพราะภูมิภาคอยู่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ที่มีเศรษฐกิจเจริญที่สุดในแอฟริกา และแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟุตบอลโลก รวมทั้งการประชุม Asia-Africa Summit ในอีก 4-5 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าแอฟริกาใต้ได้มาก และหากปัญหาการบริหารจัดการด้านการตลาดของสายการบินแอฟริกาใต้หมดไป จะช่วยส่งเสริมการเดินทางไป-มาระหว่างไทยกับ แอฟริกาใต้ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
* ข้อควรระวังในการเข้าไปประกอบธุรกิจการค้า & ส่งออกไปแอฟริกา
แม้ว่าแอฟริกาจะเป็นทวีปที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์และเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในหลายๆ ด้าน แต่จุดอ่อนของแอฟริกาที่นักธุรกิจไทยควรระวัง และเตรียมพร้อมรับมือ ได้แก่
เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองของประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งอาจกระทบต่อนโยบายทางธุรกิจ เช่น ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ และความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยในซูดาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซียและอินโดนีเซียเข้าไปทำธุรกิจน้ำมันในซูดาน และขณะเดียวกัน ประเทศในแอฟริกาได้พยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นนักธุรกิจไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในแอฟริกาต้องตื่นตัวและฉับไวต่อการรับรู้ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อปรับตัว ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่อาจส่งผลต่อธุรกิจ
– ระบบการเงินการธนาคารในแอฟริกายังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร (ยกเว้นประเทศแอฟริกาใต้ที่มีระบบการเงินทันสมัย และเทคโนโลยีก้าวหน้า) การชำระเงินส่วนใหญ่ยังใช้เงินสด สำหรับการใช้เช็ค เครดิตการ์ด หรือตู้เบิกเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) ยังไม่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในแอฟริกา ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกทางการเงิน และระบบการชำระเงินไม่คล่องตัว
– การแข่งขันกับประเทศอื่นที่ต้องการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่อย่างแอฟริกาเช่นกัน ซึ่งมีสินค้าส่งออกประเภทเดียวกันกับสินค้าส่งออกของไทย เช่น สินค้าจากจีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน ทำให้ต้องเผชิญกับการแข่งขัน และอาจเสียเปรียบด้านราคากับสินค้าจากจีนและอินเดียซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ดังนั้นสินค้าส่งออกของไทยควรเน้นคุณภาพและเอกลักษณ์ของไทยมากกว่าการแข่งขันด้านราคา
นักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปประกอบธุรกิจในแอฟริกาควรศึกษาตลาดแอฟริกา รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ เป็นอย่างดี และภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมให้การค้า การลงทุนระหว่างไทยกับแอฟริกาเป็นไปด้วยความสะดวก ไม่มีอุปสรรคด้านกฎระเบียบและ ความไม่แน่นอนของนโยบายทางธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจไทยในการเข้าไปลงทุน/ประกอบธุรกิจในแอฟริกา
– การส่งออกของไทยไปตลาดแอฟริกาที่ผ่านมาขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อไปในอนาคต ถือเป็นโอกาสสำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ เพื่อขยายการส่งออกของไทยในปี 2548 ให้เติบโต 20% ตามเป้าหมายที่ รัฐบาลตั้งไว้ให้สำเร็จ ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาน้ำมันที่สูง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มไทยและความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าการ ขยายตัวการส่งออกของไทยไปยังตลาดแอฟริกาจะช่วยบรรเทาปัญหาการดุลการค้าของไทยในขณะนี้ได้ นอกจากนี้ การสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับแอฟริกา โดยการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจผลิตสินค้าและบริการ ยังจะส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของคนในแอฟริกา ช่วยให้คนเหล่านั้นสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพที่ดีขึ้น และสร้างเสริมความรู้/พัฒนาทักษะของคนแอฟริกัน ซึ่งถือเป็นการสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญจะทำให้ประชาชนชาวแอฟริกันเกิดความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทย/คนไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างมิตรและความผูกพันที่ยั่งยืนต่อไป และการเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-แอฟริกาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความความร่วมมือทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจระหว่าง 2 ภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากขึ้น