สบู่ดำ : จากพืชพื้นบ้าน…สู่พืชพลังงานทดแทนน้ำมัน

ในยุคที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตไบโอดีเซลทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งพืชที่มีการกล่าวถึงอย่างมากและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ ปาล์มน้ำมันที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซล อย่างไรก็ตามยังมีพืชน้ำมันอีกหลายประเภทที่มีโอกาสในการพัฒนาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไบโอดีเซลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สบู่ดำ” แม้ว่าสบู่ดำจะยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของคนทั่วไป แต่สบู่ดำนั้นจัดได้ว่าเป็นพืชน้ำมันอันดับต้นๆที่เป็นทางเลือกสำคัญในการพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำสามารถสกัดใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่เกษตรกรใช้อยู่ได้ทันที และต้นสบู่ดำคงทนต่อความแห้งแล้ง ส่วนกากเป็นปุ๋ยและมีผลพลอยได้อื่นๆ อีก โดยเฉพาะการใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน

สบู่ดำ…คุณประโยชน์หลากหลาย

“สบู่ดำ”(Purging Nut หรือ Physic Nut)เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ไม้ยางพารา ซึ่งมีความหลากหลายกันค่อนข้างมากในลักษณะต้น ใบ ช่อดอก ผลและเมล็ด โดยเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เพื่อรับซื้อเมล็ดไปคัดบีบเอาน้ำมันสำหรับทำสบู่ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสบู่ดำนำมาจุดไฟแทนการใช้เทียนไข โดยมีคุณสมบัติเด่นคือ ไม่มีเขม่า นอกจากนี้ในชนบทยังใช้ส่วนต่างๆของสบู่ดำเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านกล่าวคือ ยางจากก้านใบ ใช้ป้ายรักษาโรคปากนกกระจอก ห้ามเลือด แก้ปวดฟัน แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว โดยผสมกับน้ำนมมารดาป้ายลิ้น ลำต้นตัดเป็นท่อนต้มน้ำให้เด็กกินแก้ซาง ตานขโมย แช่น้ำอาบแก้โรคพุพอง

นอกจากการใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านแล้วยังมีการใช้ประโยชน์จากสบู่ดำอีกมากมายหลายประเภทกล่าวคือ ต้นสบู่ดำยังสามารถนำมาทำกระดาษ และไม้อัด ส่วนของใบนำมาเป็นเชื้อเพลิงเขียว ปุ๋ยหมัก เลี้ยงไหม เกษตรกรปลูกสบู่ดำเพื่อใช้เป็นแนวรั้วป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าทำลายผลผลิตทางการเกษตร สำหรับเมล็ดใช้หีบเป็นน้ำมัน ใช้บำรุงรากผม ทำน้ำมันหล่อลื่น สบู่ เทียนไข และใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าด้วย ส่วนกากที่เหลือจากการหีบน้ำมัน ซึ่งมีธาตุอาหารหลักคือไนโตรเจนและฟอสฟอรัสมากกว่าปุ๋ยหมักและปุ๋ยจากมูลสัตว์ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามข้อควรระวังในการใช้สบู่ดำเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านคือ เมล็ดสบู่ดำมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดอาการระคายเคืองอย่างมากในกระเพาะอาหาร เพราะมีสารพิษ Curcin

สบู่ดำเป็นพืชที่ทยอยให้ผลผลิตตลอดทั้งปี(ส่วนมากให้ผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และเดือนตุลาคม-ธันวาคม) ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตได้ประมาณ 8-10 เดือนหลังปลูก แต่ถ้าใช้กิ่งชำจะให้ผลผลิต 6-8 เดือนหลังปลูก ในสภาพปกติให้ผลผลิตประมาณ 200-250 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้ามีการดูแลรักษาอย่างดีและต้นเติบโตเต็มที่(อายุประมาณ 2 ปี) สามารถจะให้ผลผลิตสูงถึง 3,200 กิโลกรัมต่อไร่ (ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อต้น) โดยสบู่ดำน้ำหนัก 1 กิโลกรัมจะมีผลสบู่ดำประมาณ 85-90 ผล( 1 ผลน้ำหนักประมาณ 11.37 กรัม) เมื่อนำมากะเทาะเปลือกจะได้เมล็ดสบู่ดำ 260-270 เมล็ด (ผลสบู่ดำ 1 ผลจะมี 3 เมล็ด) น้ำมันในเมล็ดสบู่ดำมีอยู่ประมาณร้อยละ 35 ของน้ำหนักเมล็ด ซึ่งเมล็ดสบู่ดำประมาณ 4 กิโลกรัมจะสกัดน้ำมันได้ 1 กิโลกรัม น้ำมันที่สกัดได้นี้ต้องทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1-2 วัน สามารถนำไปใช้แทนน้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องจักรกลและเครื่องยนต์ทางการเกษตรโดยไม่ต้องผสมกับส่วนผสมใดๆอีก

การวิจัยสบู่ดำ…พืชพลังงานทดแทน

งานวิจัยเพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันที่สกัดได้จากสบู่ดำที่ผ่านมามีทั้งในภาครัฐบาลไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ โดยมีการร่วมมือวิจัยกับภาคเอกชนทั้งนี้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านวิชาการของน้ำมันสบู่ดำ ซึ่งกรอบการวิจัยของน้ำมันสบู่ดำ ได้แก่ ทดสอบหาสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซล ทดสอบการใช้น้ำมันสบู่ดำกับรถบรรทุกเล็ก วิเคราะห์ส่วนประกอบของน้ำมันสบู่ดำ สำรวจแหล่งที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก วิเคราะห์การใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจสอบมลภาวะของไอเสีย ทดสอบการสึกกร่อนของเครื่องยนต์ พัฒนาเครื่องไฮโดรลิก และทดสอบหาสมรรถนะของเครื่องยนต์เบนซิน

ผลจากการวิจัยรายงานตรงกันว่าน้ำมันที่สกัดได้จากสบู่ดำสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องเพิ่มส่วนผสมอื่นๆ เหมาะกับเครื่องยนต์สูบเดียวรอบต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะของเครื่องจักรกลการเกษตร นอกจากนี้ยังมีปริมาณควันน้อยกว่าน้ำมันดีเซล และไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ อีกทั้งมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถละลายได้ดีทั้งในน้ำมันดีเซลและเบนซิน เมื่อเก็บไว้นานๆก็ไม่มีการแยกชั้น โดยเมื่อทดสอบกับรถยนต์บรรทุกเล็กและรถจักรยานยนต์พบว่าน้ำมันสบู่ดำมีคุณลักษณะพิเศษคือ เครื่องยนต์ไม่น๊อคเมื่อเดินด้วยความเร็วปกติ ไม่จำเป็นต้องดัดแปลงโครงสร้างของเครื่องยนต์ กลิ่นและจำนวนของคาร์บอนมอนนอคไซด์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ และเครื่องยนต์ติดง่าย นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการใช้น้ำมันสบู่ดำทดแทนน้ำมันออโต้ลูป ซึ่งผลการทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์และความสิ้นเปลืองของน้ำมันที่ใช้นั้นใกล้เคียงกัน นับว่าน้ำมันสบู่ดำสามารถประโยชน์ในการนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน ใช้เป็นน้ำมันดีเซลในการเติมยานพาหนะ และการใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นต่อไป

ในปี 2547 กรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงดำเนินการนำร่องส่งเสริมการใช้น้ำมันสบู่ดำในไร่นา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษาเพื่อกระตุ้นและเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรทั่วไปเห็นความสำคัญของพลังงานทดแทนที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง โดยดำเนินการจัดทำแปลงคัดเลือกและขยายพันธุ์สบู่ดำ รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกสบู่ดำในหลายพื้นที่ และจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำมันสบู่ดำตามโครงการนำร่องส่งเสริมการใช้สบู่ดำในไร่นา โดยเกษตรกรสามารถขอรับคำแนะนำทั้งในด้านการปลูก การสกัดน้ำมัน และการใช้น้ำมันสบู่ดำในเครื่องจักรกลการเกษตรผ่านทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร

นอกจากนี้ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมมือกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท น้ำมันสบู่ดำไทย จำกัด รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของสบู่ดำเพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน โดยจะมีการวิจัยทั้งในด้านพันธุ์ และข้อมูลทางด้านวิชาการ จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาสบู่ดำให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยมีเป้าหมายจะผลักดันให้สบู่ดำเป็นพลังงานทดแทนใน 2 ระดับ คือ

– การนำน้ำมันสบู่ดำมาใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นการผลิตเพื่อให้เกษตรกรใช้เองในไร่นาในลักษณะของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้

– ในระดับการใช้น้ำมันสบู่ดำเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซลในรถทั่วไป ซึ่งการวิจัยในลักษณะนี้ต้องพิจารณาว่าน้ำมันสบู่ดำมีคุณสมบัติที่ได้มาตรฐานสากลของน้ำมันไบโอดีเซล สามารถผลิตได้จำนวนมากในต้นทุนที่ต่ำ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากนักในการสกัดน้ำมัน

โอกาสของน้ำมันสบู่ดำ…เริ่มที่เครื่องจักรกลการเกษตร

จากงานวิจัยต่างๆนั้นทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมของกระมส่งเสริมการเกษตรเพื่อใช้น้ำมันสบู่ดำกับเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งนี้ผลพลอยได้ของโครงการคือ สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร นับว่าเป็นการช่วยยกมาตรฐานการครองชีพของเกษตรกรด้วย

นอกจากนี้สบู่ดำยังมีข้อดีเหนือกว่าพืชน้ำมันอื่นๆ คือ ราคาสบู่ดำนั้นไม่ผันผวนมากนัก เนื่องจากไม่ได้ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเหมือนปาล์มน้ำมัน ให้ผลผลิตเร็วแค่ 8 เดือน และลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนานกว่า 30 ปี จึงมีข้อเสนอว่าหากมีการเร่งส่งเสริมการปลูกสบู่ดำนำมาผลิตเป็นน้ำมันทดแทนในขณะนี้สามารถทดแทนระหว่างการรอผลผลิตปาล์มน้ำมันที่รัฐบาลส่งเสริม เนื่องจากต้องรอผลผลิตประมาณ 2-3 ปี ราคาจำหน่ายน้ำมันเมล็ดสบู่ดำประมาณ 13-15 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบราคาน้ำมันดีเซลที่อยู่ที่ 18.19 บาทต่อลิตร(ราคา ณ วันที่ 20 เมษายน 2548) นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติที่สามารถเอามาใช้ได้โดยตรงกับเครื่องยนต์ เพราะน้ำมันสบู่ดำมีกระบวนการสกัดที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีข้อโต้แย้งในการขยายการปลูกสบู่ดำในเชิงพาณิชย์ แม้ว่าสบู่ดำเป็นพืชน้ำมันที่มีคุณสมบัติทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่การทำไร่สบู่ดำให้ผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับพืชน้ำมันอื่นๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีรายงานผลเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของการปลูกสบู่ดำเมื่อเปรียบเทียบกับพืชน้ำมัน และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ดังนั้นเกษตรกรในแต่ละท้องที่ควรประเมินเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่นก่อนปลูก และควรมีเครือข่ายซื้อขายเพื่อลดต้นทุนทางด้านการขนส่ง รวมทั้งต้องมีการคัดเลือกพันธุ์ และมีการดูแลในระหว่างการปลูกอย่างถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มผลตอบแทนของการปลูกสบู่ดำอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งปัจจุบันคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังดำเนินการวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยการรวบรวมสายพันธุ์ ศึกษาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของสบู่ดำ รวมทั้งเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการใช้น้ำมันสบู่ดำในวงจำกัดในลักษณะของโครงการนำร่องสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเอง สกัดน้ำมันเอง และใช้สำหรับทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องจักรกลการเกษตรเท่านั้น

บทสรุป

ในยุคที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวทางของการค้นคว้าหาพลังงานทดแทนได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งสบู่ดำก็เป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ โดยในปัจจุบันเริ่มมีโครงการนำร่องในการใช้น้ำมันสบู่ดำทดแทนน้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร หลังจากที่มีการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องโดยภาครัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนที่ยืนยันว่าน้ำมันสบู่ดำนั้นสามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้การใช้น้ำมันสบู่ดำแพร่หลายยิ่งขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาไปถึงการใช้ในรถยนต์ทั้งที่ใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล รวมทั้งการใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นด้วยนั้น ยังต้องมีการศึกษาตั้งแต่การขยายพื้นที่ปลูกเพื่อให้มีปริมาณน้ำมันสบู่ดำมากเพียงพอกับความต้องการ ในประเด็นการขยายพื้นที่ปลูกนั้นต้องศึกษาถึงพันธุ์ที่เหมาะสมกับท้องที่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ รวมไปถึงการศึกษาเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างสบู่ดำกับพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรปลูกอยู่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรถึงผลตอบแทนจากการหันมาปลูกสบู่ดำ ส่วนการขยายการใช้น้ำมันสบู่ดำในรถยนต์นั้นนับว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการคือการทดสอบการใช้น้ำมันสบู่ดำในวงกว้างโดยร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์ต่อไป