นโยบายอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ … คาดว่าจะขยับขึ้นเป็น 2.50%

ในวันที่ 9 มิถุนายน 2548 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) โดยจะเป็นการประชุมรอบที่ 4 ของปี 2548 นี้ หลังจากที่ธปท.มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% มาแล้วในการประชุม 4 ใน 6 รอบหลังสุด นับตั้งแต่ที่ธปท.เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในการประชุมเดือนสิงหาคม 2547 ส่งผลให้ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ยืนอยู่ที่ระดับ 2.25% เทียบกับระดับ 1.25% ก่อนวัฏจักรขาขึ้นของนโยบายอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมรอบวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ธปท.คงจะให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ธปท.น่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 2.25% มาอยู่ที่ 2.50% ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นของธปท. สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้ :-

ปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของธปท.

• อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 นี้ เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียง 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวที่ 5.3% และ 6.1% ในไตรมาส 4/2547 และทั้งปี 2547 ตามลำดับ อันเป็นผลจากปัจจัยลบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่อ่อนแอ ภาวะแห้งแล้ง ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ผลกระทบจากเหตุธรณีพิบัติภัยใน 6 จังหวัดภาคใต้ และความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจัยบวก อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณกลางปีจำนวน 5 หมื่นล้านบาทของภาครัฐ แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจไม่สูงขึ้นไปมากนักจากแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ ของรัฐบาล จำนวนประมาณ 1.41 แสนล้านบาทในปีนี้ ก็คาดว่าน่าจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีกลับมามีการขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา

• แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จากทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% และ 1.2% ตามลำดับในเดือนพฤษภาคม 2548 และมีค่าเฉลี่ยประมาณ 3.2% และ 0.8% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 2.7% และ 0.4% ในปี 2547 อันเป็นผลหลักจากปัจจัยทางด้านอุปทานทั้งราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ ปัญหาแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่คลี่คลายลงอย่างชัดเจน (ซึ่งล่าสุด ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ที่มีกำหนดส่งมอบในเดือนกรกฎาคม ปิดทะลุระดับ 55 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลอีกครั้งในวันที่ 3 มิ.ย. ก่อนที่จะขยับลดลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 54.5 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลในวันที่ 6 มิ.ย.) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยคงจะมีแนวโน้มปรับเร่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2548 อาจอยู่ที่ระดับประมาณ 3.7% ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลแบบจัดการของภาครัฐ จะช่วยพยุงให้ราคาน้ำมันในประเทศทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงผันผวนอยู่ในระดับสูง หรือไม่ลดลงอย่างที่คาดหวังแล้ว ราคาน้ำมันในประเทศก็คงจะต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อไป ซึ่งก็จะส่งผลกดดันตามมาที่ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในประเทศด้วย

• อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ควรจะมีแนวโน้มปรับเข้าสู่ระดับที่มีความเหมาะสมมากขึ้น จากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน อยู่ที่ระดับ 2.25% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.7% ในเดือนพฤษภาคม บ่งชี้ว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงมีค่าติดลบอยู่ ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.อีก 0.25% อาจจะยังไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมามีค่าเป็นบวกได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภคให้มีการปรับตัว โดยการลดภาวะความไม่สมดุล อาทิ การก่อหนี้เกินตัว หรือการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น แล้วหันมาสะสมการออมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวก็คาดว่าจะเป็นผลบวกต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะต่อไปด้วย

• การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% ของธนาคารกลางสหรัฐฯในการประชุมช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ แม้ว่าล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯประจำเดือนพฤษภาคม จะเพิ่มขึ้นเพียง 78,000 ตำแหน่ง ซึ่งค่อนข้างจะน่าผิดหวัง รวมทั้งเริ่มมีสัญญาณที่ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจหยุดการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบเข้มงวดเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม แต่ตลาดล่วงหน้า หรืออัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า ก็ยังคงปรับตัวตอบรับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 3.00% มาเป็น 3.25% ในการประชุมวันที่ 29-30 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงตามที่คาดแล้ว การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ของธปท.อาจจะเป็นผลบวกต่อการรักษาสมดุลในดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิระหว่างประเทศและค่าเงินบาทของไทย ผ่านค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่จะไม่ห่างกันมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.จะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน อีก 0.25% จาก 2.25% มาอยู่ที่ 2.50% ในการประชุมรอบที่ 4 ของปีในวันที่ 9 มิถุนายน 2548 นี้ เนื่องจากการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มีความเข้มงวดมากขึ้นของธปท. น่าจะเป็นผลบวกในการสกัดกั้นแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ในขณะที่การคาดการณ์การขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จากแรงหนุนทางด้านการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถรับผลกระทบจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธปท.ได้

นอกจากนี้ แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของธปท.ในการประชุมรอบนี้ อาจจะไม่นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมหลักของธนาคารพาณิชย์ และการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ของภาคธุรกิจเอกชนโดยทันที เพราะธนาคารพาณิชย์ยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก แต่นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดขึ้นของธปท. ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภคให้มีการปรับตัว โดยการลดภาวะความไม่สมดุลและหันมาสะสมการออมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวก็คาดว่าจะเป็นผลบวกต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะต่อไป ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.ยังเป็นการช่วยรักษาค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯไม่ให้ห่างกันมากขึ้น (โดยเฉพาะในภาวะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขึ้นสู่ระดับ 3.25% ในการประชุมปลายเดือนมิถุนายนนี้) อันอาจจะเอื้อต่อการรักษาสมดุลในดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิและค่าเงินบาทของไทยไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไปด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าข้อกังวลทางด้านการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยอาจมีความเด่นชัดมากขึ้นในระยะนี้ แต่การพยายามที่จะดำรงเป้าหมายทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อและฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คงจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากของธปท.ท่ามกลางภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ในการประชุมรอบวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ธปท.คงจะอยู่ในฐานะที่ต้องตัดสินใจเลือกให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (อัตราเงินเฟ้อและดุลบัญชีเดินสะพัด) เป็นหลักมากกว่า เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการที่ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมและไปพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพราะยังมีความไม่แน่นอนว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวไปในทิศทางใดอย่างชัดเจน