1 กรกฎาคม 2548 : ก้าวแรกของการลดภาษี FTA ไทย-นิวซีแลนด์

วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นกำหนดเวลาที่ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย- นิวซีแลนด์จะมีผลบังคับใช้ หลังจากประเทศทั้งสองลงนามความตกลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 โดยไทยและนิวซีแลนด์จะเริ่มต้นลดภาษีสินค้าภายใต้ความตกลง FTA ระหว่างกัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน ทั้งสองฝ่าย ตกลงที่จะเจรจาเปิดเสรีภาคบริการอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2551) นับได้ว่าทั้งไทยและนิวซีแลนด์เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าในเวทีโลก โดยใช้ยุทธศาสตร์การจัดทำ FTA ทั้งในระดับทวิภาคีและกลุ่มเศรษฐกิจ

สำหรับนิวซีแลนด์ นอกจากจัดทำ FTA กับไทยแล้ว ล่าสุดนิวซีแลนด์ได้ประกาศการจัดตั้งเขตการค้าเสรี FTA จตุภาคี 4 ฝ่ายระหว่างนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ชีลี และบรูไน เรียกว่า “Trans-Pacific Strategic Economic Partnership” คาดว่าความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2549 ถือว่าเป็น FTA ฉบับแรกที่นิวซีแลนด์จัดทำกับประเทศในละตินอเมริกา และความตกลงนี้เป็นการเชื่อมโยงของภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ละตินอเมริกา และเอเชียเข้าด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้นิวซีแลนด์และสิงคโปร์ได้จัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2544 รวมถึงความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Closer Economic Relation : CER) ระหว่างนิวซีแลนด์กับออสเตรเลียที่ได้ลงนามตั้งแต่ปี 2526 และปัจจุบันนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างจัดทำ FTA ทวิภาคีกับจีน มาเลเซีย และฮ่องกง และกลุ่มอาเซียน

FTA ไทย-นิวซีแลนด์ … ผลประโยชน์ร่วมกัน

การจัดทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกันของไทยและนิวซีแลนด์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ทั้งไทยและนิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์ร่วมกันในการส่งออกสินค้าที่แต่ละประเทศผลิตได้อย่างมีศักยภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ขณะเดียวกัน สินค้าบางชนิดก็ต้องแข่งกับสินค้านำเข้าของประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาตีตลาดเช่นกัน

• นิวซีแลนด์
นิวซีแลนด์เห็นว่าการจัดทำ FTA กับไทยจะช่วยสนับสนุนแนวทางการจัดทำ FTA ระหว่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลียกับกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ หรือเรียกว่า ASEAN-CER Closer Economic Partnership ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา นอกจากนี้ การจัดทำ FTA กับไทยเป็นการลดอุปสรรคทางการค้าของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งเป็นการเกื้อหนุนเศรษฐกิจระหว่างกันจากการลดภาษีศุลกากรและลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) เพราะสินค้าส่งออกของไทยไปนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่สินค้า ส่งออกหลักของนิวซีแลนด์มาไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร

การจัดทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์จะทำให้สินค้าส่งออกของนิวซีแลนด์มาไทย คิดเป็นสัดส่วน 54% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของนิวซีแลนด์มาไทยจะไม่เสียภาษี เทียบกับก่อนหน้าการจัดทำ FTA ที่สินค้าส่งออกของนิวซีแลนด์มาไทยมีเพียงราว 4% เท่านั้นที่ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้แม้อัตราภาษีขาเข้าเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ราว 12% แต่อัตราภาษีขาเข้าสินค้าที่ไทยเก็บกับสินค้าส่งออกสำคัญของนิวซีแลนด์มีอัตราสูง เช่น ภาษีเนื้อวัวอยู่สูงถึง 50% และอัตราภาษีผลไม้อยู่ที่ 40% สำหรับภาษีขาเข้าเฉลี่ยสินค้าอุตสาหกรรมของไทยอยู่ที่อัตรา 11.55% ซึ่งนิวซีแลนด์เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของนิวซีแลนด์ในการเข้าสู่ตลาดไทย ในขณะที่นิวซีแลนด์จัดเก็บภาษีขาเข้าเฉลี่ยสำหรับสินค้าภาคเกษตร 2.09% และอัตราภาษีเฉลี่ยสินค้าอุตสาหกรรม 3.92% เท่านั้น การจัดทำ FTA กับไทย ทำให้สินค้าส่งออกของนิวซีแลนด์เข้าสู่ตลาดไทยได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ การจัดทำ FTA กับไทย ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้านิวซีแลนด์ในตลาดของไทย โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าของออสเตรเลียและจีน (โดยเฉพาะผักและผลไม้สำหรับจีน) ที่ส่งออกมาไทย ซึ่ง 2 ประเทศนี้ได้จัดทำ FTA กับไทย และได้เริ่มต้นลดภาษีระหว่างกันภายใต้ FTA แล้ว ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 สำหรับ FTA ไทย-จีน และ 1 มกราคม 2548 สำหรับ FTA ไทย-ออสเตรเลีย

ผลดีของนิวซีแลนด์จากการจัดทำ FTA กับไทย
•สินค้าเกษตรของนิวซีแลนด์จะมีศักยภาพทางการแข่งขันในไทยมากขึ้น โดยนิวซีแลนด์ได้ประโยชน์ ดังนี้
– อาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก – ไทยยกเลิกภาษีที่เก็บในอัตราปัจจุบัน 1-5% ทันทีสำหรับอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก ซึ่งปัจจุบันไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์เป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของการนำเข้าสินค้านี้ทั้งหมดของไทย มูลค่านำเข้าอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารกจากนิวซีแลนด์ปีละราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

– นมเต็มมันเนย – ไทยจะลดภาษีที่เก็บในอัตราปัจจุบันที่ 18% สำหรับนมเต็มมันเนย (whole milk powder) เหลือ 15% ในวันที่ 1 กรกฎาคม ศกนี้ ซึ่งนิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกนมเต็มมันเนยมาไทยเป็นอันดับต้นๆ

– แครอท – แครอทของนิวซีแลนด์ที่ส่งออกมาไทยจะถูกยกเว้นภาษีทันทีใน วันที่ 1 กรกฎาคม ศกนี้ จากที่มีอัตราภาษีปัจจุบันที่ 40% ซึ่งจะสามารถแข่งขันกับจีนในตลาดไทยได้ หลังจากที่นิวซีแลนด์ถูกจีนแย่งตลาดส่งออกแครอท เมื่อไทยลดภาษีผักและผลไม้ให้จีนภายใต้ FTA ไทย-จีน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546

– สินค้าเกษตรอื่นๆ ที่มีโอกาสขยายตลาดส่งออกในไทย ได้แก่ อโวคาโด เชอรี่ และกีวี เพราะอัตราภาษีของไทยปัจจุบัน 30-40% จะถูกยกเลิกทันทีที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้

•สินค้าอุตสาหกรรมของนิวซีแลนด์จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งขึ้นในตลาดไทย เมื่อสินค้าอุตสาหกรรมของนิวซีแลนด์ราว 71% ของสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดของนิวซีแลนด์ที่ส่งออกมาไทย จะได้รับการยกเว้นภาษีทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง แก้วและเครื่องแก้ว เครื่องจักรกล น้ำอัดลม กระเบื้องปูพื้นและติดผนัง แชมพู และอาหารสุนัข/แมว เป็นต้น

ข้อผูกพันของนิวซีแลนด์ต่อไทย ภายใต้ FTA ไทย-นิวซีแลนด์
– นิวซีแลนด์จะต้องลดภาษีเหลือ 0% ให้แก่สินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วงเวลา 10 ปี (2548-2558)
– ร่วมมือกับไทยในการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะไทยขอให้สินค้าผลไม้เมืองร้อน (Tropical fruits) ของไทยเข้าสู่ตลาดนิวซีแลนด์
– นิวซีแลนด์อนุญาตให้พ่อครัวไทยที่มีคุณสมบัติโดยได้รับวุฒิบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีประสบการณ์ทำงาน และได้รับการว่าจ้างจากผู้ประกอบการนิวซีแลนด์เข้ามาทำงานชั่วคราวใน นิวซีแลนด์ได้ 3 ปี และต่ออายุการทำงานได้ 1 ปี และจะพิจารณาให้หมอนวดแผนโบราณไทยที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์เข้ามาทำงานชั่วคราวในนิวซีแลนด์ทำนองเดียวกันด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดนิวซีแลนด์ค่อนข้างเปิดอยู่แล้ว จากอัตราภาษีศุลกากรปัจจุบันของนิวซีแลนด์มีระดับต่ำเฉลี่ยราว 3.64% ในขณะที่ภาษีศุลกากรของไทยสูงกว่า การจัดทำ FTA จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายต้องลดภาษีให้นิวซีแลนด์มากกว่าที่นิวซีแลนด์ต้องลดภาษีให้ไทย โดยนิวซีแลนด์จะลดภาษีให้ไทยภายใต้ความตกลง FTA แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา ได้แก่ ปี 2548 2551 2553 และ 2558
สำหรับสินค้าอ่อนไหวของนิวซีแลนด์ที่มีการเลื่อนระยะเวลาการลดภาษีนานที่สุด คือภายในปี 2558 ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และพรม ปัจจุบัน นิวซีแลนด์ นำเข้าสินค้าเหล่านี้จากไทยค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของการ นำเข้าสินค้าเหล่านี้ทั้งหมดของนิวซีแลนด์ และคิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของสินค้านำเข้า ทั้งหมดของนิวซีแลนด์จากไทย คิดเป็นมูลค่านำเข้าจากไทยราว 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

•ไทย
สินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดเป็น 0% ทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จากก่อนหน้านี้ที่ต้องเสียภาษีราว 5-7% (ยกเว้นรถปิกอัพ และกุ้งแช่แข็งที่ภาษีขาเข้าปัจจุบันของนิวซีแลนด์เป็น 0% อยู่แล้ว) ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง เม็ดพลาสติก ของปรุงแต่งจากพืช (เช่น พาสต้า และบิสกิต) อัญมณี เครื่องไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องสำอางบางชนิด แก้วและเครื่องแก้ว เครื่องจักรกล อาหารแมวและอาหารสุนัข ของเล่นและอุปกรณ์กีฬา ของปรุงแต่งจากผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์เซรามิก ส่วนเฟอร์นิเจอร์ จากอัตราภาษีปัจจุบันของนิวซีแลนด์ที่ 5-7% จะเหลือ 0% ภายใน 3 ปี (2551) ทำให้ไทยมีศักยภาพทางการแข่งขันมากขึ้นกับสินค้าของประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้จัดทำ FTA กับนิวซีแลนด์ และยังแข่งขันกับสินค้าของออสเตรเลียได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะสินค้าของออสเตรเลียไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าไปนิวซีแลนด์จากการมีข้อตกลง FTA กับนิวซีแลนด์

ผลดีของไทยจากการจัดทำ FTA กับนิวซีแลนด์
•สินค้าเกษตร
– การจัดทำ FTA กับนิวซีแลนด์ทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในด้านการจัดทำข้อตกลงกับนิวซีแลนด์ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary : SPS) ปัจจุบันนิวซีแลนด์กำหนดมาตรฐานด้าน SPS เป็นเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าเกษตรเข้านิวซีแลนด์ไว้สูงมาก จนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปนิวซีแลนด์ ดังนั้น การจัดทำข้อ ตกลง SPS จึงเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยกำหนดกลไกการดำเนินงานความร่วมมือของสองฝ่ายในการจัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement : MRA) ด้าน SPS ภายใต้คณะกรรมการร่วมด้านมาตรการ SPS และการหารือของคณะทำงานด้านเทคนิค ทำให้สินค้าส่งออกของไทยประเภทผัก ผลไม้และอาหารเข้าสู่ตลาด นิวซีแลนด์ได้ง่ายขึ้น เป็นโอกาสของสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ และสินค้าเกษตรไทยนำร่อง 5 รายการ ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด ทุเรียนและขิงสด จะขยายตัวในตลาดนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้มากขึ้น (แม้นิวซีแลนด์มีประชากรเพียงราว 4 ล้านคน แต่รายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีประมาณ 23,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าไทยราว 10 เท่า)

การที่สินค้าผัก-ผลไม้ของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดนิวซีแลนด์ได้สะดวกขึ้นจะช่วยให้ดุลการค้าสินค้าเกษตรที่ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลกับนิวซีแลนด์มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น แม้ไทยจะเกินดุลการค้ากับนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน และมูลค่าเกินดุลการค้ากับนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด แต่ไทยขาดดุลการค้าสินค้าเกษตรกับนิวซีแลนด์ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของสินค้าเกษตรไทยในการเข้าสู่ตลาดนิวซีแลนด์ คือ การกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ในระดับที่สูงของนิวซีแลนด์

– สินค้าส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยขณะนี้ครองตลาดนิวซีแลนด์ถึง 95% ของตลาดปลาทูน่ากระป๋องในนิวซีแลนด์ การลดภาษีสินค้ารายการนี้ของนิวซีแลนด์จากปัจจุบัน 5% เป็น 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 มีแนวโน้มว่าสินค้าปลาทูน่ากระป๋องของไทยจะสามารถครองตลาดนิวซีแลนด์ได้เกือบทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ออสเตรเลียส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปนิวซีแลนด์เป็นอันดับ 2 รองจากไทย โดยมีสัดส่วน 2% ของตลาดปลาทูน่ากระป๋องในนิวซีแลนด์ สินค้าส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของออสเตรเลียไม่ต้องเสียภาษีเข้านิวซีแลนด์เช่นกัน

•สินค้าอุตสาหกรรม
จากโครงสร้างการส่งออกของไทยไปนิวซีแลนด์ ไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปนิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 78% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2547 รองลงมา ได้แก่ อุตสาห-กรรมการเกษตร (10.64%) และสินค้าเกษตร (4.4%) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปนิวซีแลนด์ขยายตัวถึง 75.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 ส่งผลให้สัดส่วนของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นเป็น 85.47% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปนิวซีแลนด์

การเริ่มต้นลดภาษีของนิวซีแลนด์ภายใต้ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ จะเป็นโอกาสของสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในตลาดนิวซีแลนด์ ดังนี้
– รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ – เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปนิวซีแลนด์ มูลค่าส่งออก 82.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2548 การส่งออกสินค้านี้ของไทยไปนิวซีแลนด์ขยายตัวถึง 134% แม้ภาษีนำเข้ารถปิกอัพในปัจจุบันของนิวซีแลนด์จะเป็น 0% อยู่แล้ว แต่ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่นิวซีแลนด์ทยอยลดภาษีรถยนต์นั่ง (1,500-3,000 ซีซี) จนเหลือ 0% ในปี 2553
– เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ – เป็นสินค้าส่งออกของไทยไปนิวซีแลนด์มากเป็นอันดับ 2 มูลค่าส่งออก 25.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 และนิวซีแลนด์จะทยอยลดภาษีผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าจนเหลือ 0% ในปี 2553 จะทำให้สินค้าส่งออกไทยขยายตัวได้ดีขึ้นในตลาดนิวซีแลนด์
– เม็ดพลาสติก – เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปนิวซีแลนด์เป็นอันดับ 3 มูลค่าส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยไปนิวซีแลนด์ปี 2547 ราว 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และใน 4 เดือนแรกของปี 2548 การส่งออกขยายตัว 44% จาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดียวกันปี 2547 เป็น 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การลดภาษีเหลือ 0% ทันที วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกขยายตัวได้ดีขึ้น
– เฟอร์นิเจอร์ – ภาษีเฟอร์นิเจอร์ของนิวซีแลนด์จะทยอยลดลงจาก 5-7% ในปัจจุบัน จนเหลือ 0% ในปี 2551 ไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไปนิวซีแลนด์มูลค่า 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของการส่งออกของไทยทั้งหมดไปนิวซีแลนด์
– แชมพู – มูลค่าส่งออกแชมพูของไทยไปนิวซีแลนด์ในปี 2547 ราว 3.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยจะได้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษีปัจจุบันที่ 7% เป็น 0% ทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคม ศกนี้
– เครื่องปรับอากาศ – มูลค่าส่งออกของไทยไปนิวซีแลนด์ปี 2547 ราว 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดในนิวซีแลนด์ถึง 39% คู่แข่งไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องปรับอากาศรองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น (18%) จีนและออสเตรเลียมีส่วนแบ่งตลาดเท่ากัน (14%)

•โอกาสเข้าทำงานของพ่อครัวไทย
แม้การเปิดเสรีด้านการค้าบริการและการลงทุนกำหนดจะเจรจาในปี 2551 แต่ภายใต้ข้อตกลง FTA ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ศกนี้ นิวซีแลนด์อนุญาตให้พ่อครัวไทยที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามข้อกำหนดเข้าไปทำงานชั่วคราวในนิวซีแลนด์ได้ ซึ่งโดยปกติ นิวซีแลนด์จะค่อนข้างเข้มงวดในการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้าไปทำงานในนิวซีแลนด์ เพราะกังวลเรื่องปัญหาทางสังคม การเจรจา FTA กับนิวซีแลนด์ ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีของพ่อครัวไทยในการเข้าไปทำงานหารายได้ในนิวซีแลนด์เพื่อนำเงินตรากลับเข้าประเทศ และยังเป็นการเผยแพร่ ชื่อเสียงของอาหารไทยในต่างแดนให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย

•ความสะดวกจากการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
FTA ไทย-นิวซีแลนด์ นับเป็นประเทศแรกที่ไทยจัดทำ FTA และตกลงให้ใช้การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
(Self-certified Rule of Origin) โดยผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกของไทย หรือบุคคลในประเทศที่สามที่ได้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของผู้ผลิตไทยสามารถรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่ผลิตและส่งออกจากไทยด้วยตนเองบนใบ Invoice (โดยไม่ต้องขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ดังเช่นกรณีทั่วๆ ไป) เพื่อส่งให้ลูกค้าในนิวซีแลนด์ใช้แสดงต่อศุลกากรของนิวซีแลนด์ในการขอลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้านิวซีแลนด์ ภายใต้ความตกลง FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งถือเป็นความสะดวกอย่างหนึ่งที่ผู้ส่งออกไทยได้รับ แต่ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเองในการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าและคำนึงถึงความซื่อสัตย์และชื่อเสียงของประเทศในการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยความเป็นจริง เพราะหากนิวซีแลนด์ตรวจพบการแจ้งแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ จะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือโดยรวมของประเทศไทย และอาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่ง ครัดและรัดกุมมากขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่ได้ความสะดวกทางการค้า

สินค้าอ่อนไหวของไทย : เตรียมปรับตัวรับผลกระทบ

การจัดทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ จะทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคของนิวซีแลนด์ที่ไทยนำเข้ามากอยู่แล้วในปัจจุบันมีโอกาสขยายตัวในไทยได้ดีขึ้น จากการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านการลดภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี นอกจากนี้นิวซีแลนด์เป็นประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์โคเนื้อ โคนม อันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้นิวซีแลนด์ได้พัฒนาอุตสาหกรรมนมในประเทศมากว่า 190 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2357 และปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกนมของโลกถึง 40%

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีเวลาปรับตัวอีก 10-20 ปี เนื่องจากความตกลง FTA ไทย-นิวซีแลนด์ให้เวลาสินค้าอ่อนไหวของไทยในการปรับตัว โดยทยอยลดภาษีและเปิดเสรีโควตา นอกจากนี้ยังมีกลไกของมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard : SSG) สำหรับสินค้าเกษตรบางรายการ คือ หากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมากกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ในความตกลงฯ (Trigger Volume) สามารถกลับไปใช้ภาษีที่อัตราก่อนเริ่มลดภาษีหรืออัตราภาษีที่เก็บจริง (MFN applied rates) ในขณะนั้น โดยใช้อัตราใดอัตราหนึ่งที่ต่ำกว่า

สินค้าของไทยที่อยู่ภายใต้มาตรการ SSG ได้แก่ เนื้อวัวและเนื้อหมู (สด แช่เย็นและแช่แข็ง) เครื่องในหมู/วัว (สด แช่เย็นและแช่แข็ง) เครื่องในสัตว์อื่นๆ นมและครีม หางนม เนย ไขมันนม เนยแข็ง (สด ผง แปรรูป และไม่แปรรูป) บัตเตอร์มิลค์ น้ำผึ้งธรรมชาติ ส้มแมนดาริน (สดและแห้ง) องุ่นสด และมันฝรั่งแปรรูป (แช่แข็งและไม่แช่แข็ง) ส่วนนิวซีแลนด์ไม่มีรายการสินค้าภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษ แต่มีระยะเวลาปรับตัว 10 ปี สำหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และพรม ก่อนลดภาษีเป็น 0% ในปี 2558 ซึ่งเหมือนกับ FTA ไทย-ออสเตรเลีย

ทั้งนี้ สินค้านำเข้าของไทยจากนิวซีแลนด์ 3 อันดับแรก เป็นสินค้าเกษตรทั้งหมด ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม คิดเป็นสัดส่วนถึง 44.87% (มูลค่านำเข้า 106.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547) อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก คิดเป็นสัดส่วน 13% (30.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ คิดเป็นสัดส่วน 4.84% (11.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันถึง 62.67% ของการนำเข้าของไทยทั้งหมดจาก นิวซีแลนด์ในปี 2547 และในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยยังคงนำเข้าสินค้าเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 63.65% ของการนำเข้าของไทยทั้งหมดจากนิวซีแลนด์ในช่วงแรกของปี 2548

ข้อผูกพันสินค้าเกษตรของไทยต่อนิวซีแลนด์ ภายใต้ FTA ไทย-นิวซีแลนด์
– สินค้าเกษตรที่ไม่มีโควตาใน WTO – ไทยจะลดภาษีเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะทยอยลดภาษีเป็น 0% ภายใน 5 ปี, ส่วนสินค้าอ่อนไหวจะทยอยลดภาษีเป็น 0% ภายใน 10-20 ปี และกำหนดมาตรการปกป้องพิเศษสำหรับสินค้าอ่อนไหวบางรายการ
– สินค้าเกษตรที่มีโควตาใน WTO – สินค้าเกษตรที่ไทยไม่เคยนำเข้าจากนิวซีแลนด์จะลดภาษีเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ส่วนสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์ เช่น มันฝรั่งสด/แช่แข็ง หอมหัวใหญ่ และเมล็ดหัวหอมใหญ่จะกำหนดโควตานำเข้าพิเศษ และภาษีจะเหลือ 0% ภายในเวลา 15 ปี โดยจะยกเลิกโควตาและภาษีในปี 2563 ส่วนสินค้าอ่อนไหวมาก เช่น น้ำนมปรุงแต่ง จะกำหนดโควตานำเข้าพิเศษและภาษีจะเหลือ 0% ภายในเวลา 20 ปี โดยจะยกเลิกโควตาและภาษีในปี 2568

การเตรียมพร้อมภายในของไทยก่อนการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโคเนื้อและโคนม อย่างเต็มที่ในอีก 15-20 ปี จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า เพื่อเตรียมรับมือต่อการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโคเนื้อ โคนม ควรมีการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยความร่วมมือของภาครัฐ เกษตรกร และกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ และเนื่องจากภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์โคเนื้อและโคนมซึ่งมีทั้งมาตรการเชิงรุกและมาตรการเชิงรับ จึงควรรีบดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น

– การรณรงค์ให้ความรู้ถึงคุณค่าและประโยชน์ของนมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคนมมากขึ้น โดยน่าสังเกตว่า ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาบริโภคนมน้อยกว่าคนของประเทศพัฒนาแล้วมาก โดยคนไทยบริโภคนมต่อคนต่อปี 12 ลิตร เทียบกับการบริโภคนมเฉลี่ยต่อปีของคนนิวซีแลนด์ 210 ลิตร คนออสเตรเลีย 233 ลิตร และญี่ปุ่น 68 ลิตร
– เร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการนมแห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการโคเนื้อแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายของอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อของไทยในภาพรวมทั้งระบบ
– ส่งเสริมการรวมตัวของสหกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งขององค์กร และจัดตั้งกองทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อให้ก้าวหน้า
– ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อลดการนำเข้าโคเนื้อจากต่างประเทศและให้มีผลิตภัณฑ์โคเนื้อเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐานการเลี้ยงโคเนื้อ และการผลิตเนื้อโค

นอกจากนี้ การเจรจาเปิดเสรีด้านการค้าบริการซึ่งจะเริ่มเจรจากันอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2551) ไทยควรเตรียมพร้อมในการเข้าไปรุกตลาดภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพในนิวซีแลนด์ เช่น ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ ร้านอาหารไทย โรงแรมนวดแผนไทย สปา เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในนิวซีแลนด์จำนวนมาก หรือหาช่องทางร่วมลงทุนกับคนนิวซีแลนด์
ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวนิวซีแลนด์เดินทางมาไทยราว 70,000 ต่อปี แม้จะคิดเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาไทย แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัว 18.24% ในปี 2547 และในเดือนมกราคม 2548 แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาไทยลดลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2547 แต่นักท่องเที่ยวจากนิวซีแลนด์ยังคงเดินทางมากไทยเพิ่มขึ้น 13.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 (เพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้น 3.6%)

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปนิวซีแลนด์ราว 12,000 คนในปี 2547 เพิ่มขึ้นราว 7% จากช่วงเดียวกันของปี 2546 และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 (มกราคม-พฤษภาคม) นักท่องเที่ยวไทย เดินทางไปนิวซีแลนด์ประมาณ 6,350 คน เพิ่มขึ้นราว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 คาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์จะขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากการบินไทยจะเพิ่มเที่ยวบินที่บินตรงระหว่างเมืองโอ็คแลนด์ของนิวซีแลนด์กับกรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม 2548 จากเดิมที่ต้องบินผ่านเมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย

สำหรับการลงทุนทางตรงของนิวซีแลนด์ในไทย ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีโครงการลงทุนของนิวซีแลนด์ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยรวม 16 โครงการ มูลค่าราว 715 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน 42% ของโครงการลงทุนของนิวซีแลนด์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในไทย ธุรกิจบริการ (30%) ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องจักรกล (22%) และการลงทุนด้านเกษตร (5%) แม้ปัจจุบันการลงทุนทางตรงจากนิวซีแลนด์ในไทยจะไม่มากนัก แต่การจัดทำ FTA ระหว่างกัน รวมทั้งการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการอีก 3 ปีข้างหน้า จะกระตุ้นให้การลงทุนทางตรงของนิวซีแลนด์ในไทยเพิ่มขึ้นได้

สรุป
แม้นิวซีแลนด์เป็นตลาดเล็ก แต่ประชาชนมีอำนาจซื้อสูง และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปในนิวซีแลนด์ปีหนึ่งจำนวนมากซึ่งถือเป็นกลุ่มบริโภคที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในนิวซีแลนด์เช่นกัน ผู้ส่งออกไทยไม่ควรละเลยตลาดแห่งนี้ การลดภาษีระหว่างกันตามข้อตกลง FTA ไทย-นิวซีแลนด์ เป็นโอกาสให้สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพขยายตัวในตลาดนิวซีแลนด์ เพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าไทยไปนิวซีแลนด์ให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่ยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อย (ไม่ถึง 1% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย) นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในนิวซีแลนด์ เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อเจาะตลาดสินค้าใหม่ๆ รวมทั้งเร่งพัฒนาสินค้าส่งออกไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพราะนิวซีแลนด์เป็นตลาดระดับบนและต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน ไทยควรใช้ช่วงระยะเวลาการปรับตัวก่อนการลดภาษีอย่างเต็มที่ของสินค้าอ่อนไหวของไทยที่ยังไม่มีความสามารถทางการแข่งขันเพียงพอเร่งพัฒนาขีดความสามารถของไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะนมและผลิตภัณฑ์ และเนื้อและผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม