ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม และแนวโน้มในเดือนมิถุนายน

ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม ที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงบ่งชี้ถึงปัญหาการชะลอตัวของการบริโภคและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ในขณะที่แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะดูเหมือนว่ายังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ แต่จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และสัดส่วนระหว่างราคาสินค้าส่งออกและนำเข้า (terms of trade) ที่ถดถอยลง ทำให้ไม่แน่ใจว่าการลงทุนภาคเอกชนจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวต่อเนื่องไปได้นานเพียงใด ทั้งนี้ รายละเอียดที่น่าสนใจของตัวเลขดังกล่าว มีดังต่อไปนี้:-

การส่งออกชะลอตัว ขณะที่การนำเข้าเร่งตัวขึ้น ในเดือนพฤษภาคม มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 14.8 ในเดือนเมษายน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า ยังคงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33.6 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าในเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.0 เล็กน้อย นอกจากนี้ หากพิจารณาตัวเลขปริมาณการค้า จะเห็นถึงความไม่สมดุลของการส่งออกและนำเข้าได้ชัดเจนมากขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าขยายตัวถึงร้อยละ 15.8 ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 14.8 ในเดือนเมษายน แต่ปริมาณการส่งออกแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ในเดือนเมษายน

ในขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัวสูงกว่าการส่งออกอยู่นั้น ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงอยู่ในฐานะที่ติดลบ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีมูลค่าเท่ากับ 1.62 และ 1.56 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากที่ขาดดุล 1.76 และ 1.61 พันล้านดอลลาร์ฯในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ดุลการชำระเงินของประเทศยังคงอยู่ในฐานะเกินดุล อันเป็นผลจากการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนจากต่างประเทศ

การบริโภคของภาคเอกชนยังคงอยู่ในภาวะซบเซา โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนของธนาคารแห่งประเทศมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้ว่ายอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์จะหดตัวในอัตราที่ลดลง คือร้อยละ -7.4 และ -2.8 จากปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ -10.0 และ -8.9 ในเดือนเมษายน แต่การนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคได้ชะลอลง โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 ในเดือนพฤษภาคม จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินได้ปรับตัวลดลง โดยหดตัวถึงร้อยละ 11.6 ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 10.1 ในเดือนเมษายน

การลงทุนภาคเอกชนยังคงสามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ใกล้เคียงกับในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับปรุงใหม่ ขยายตัวร้อยละ 9.6 ในเดือนพฤษภาคม จากที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ ตัวแปรที่มีอัตราการขยายตัวดีขึ้นได้แก่ ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ18.7 ในเดือนเมษายน นอกจากนี้ ยอดขายปูนซีเมนต์ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ในเดือนพฤษภาคม จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการที่สัดส่วนระหว่างราคาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้า (terms of trade) ที่ถดถอยลง ทำให้ไม่แน่ใจว่า การลงทุนภาคเอกชนจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องเพียงใดในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้ขยายตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ในเดือนเมษายนก่อนหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลจากการผลิตในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ เบียร์ (29.1 % y-o-y) ฮาร์ดดิสก์ (52.1 % y-o-y) แผงวงจรรวม (5.4 %y-o-y ซึ่งถือได้ว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัว 16.9 % ในเดือนเมษายน) รถยนต์เชิงพาณิชย์ (30.2 % y-o-y) และเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (23.5 %
y-o-y) อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การขยายตัวดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากการขยายตัวของความต้องการของตลาดทั้งหมด เช่น การเพิ่มของการผลิตเบียร์นั้น คาดว่าจะเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการคาดการณ์การปรับขึ้นของอัตราภาษีสรรพสามิต ในขณะที่การขยายตัวของการผลิตเหล็กและฮาร์ดดิสก์ เป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำของปีก่อนหน้า โดยในกรณีของฮาร์ดดิสก์ เป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติ นอกจากนี้ จากการที่จำนวนวันทำงานในเดือนพฤษภาคม มีมากกว่าในเดือนเมษายน ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤษภาคม ขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 71.4 จากร้อยละ 67.7 ในเดือนเมษายน และร้อยละ 68.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงกว่าที่คาด ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมากล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อดึงดูดเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากต่างประเทศและชดเชยดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล โดยอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย) ควรจะปรับขึ้นเหนืออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ร้อยละ 3.2 (ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544) คำกล่าวดังกล่าวของผู้ว่าการ ธปท. ทำให้คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 2.75 ในการประชุมในวันที่ 20 กรกฎาคม นี้

สำหรับแนวโน้มในเดือนมิถุนายน นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันของไทยยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงใกล้เคียงกับในเดือนที่ผ่านๆมา ในขณะที่อัตราการขยายตัวของการส่งออก น่าจะทรงตัวอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 12-13 อย่างไรก็ตาม คาดว่า มูลค่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมิถุนายน น่าที่จะปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนพฤษภาคม อันเป็นผลจากฐานะการเกินดุลบริการตามปัจจัยทางฤดูกาล (โดยในช่วงย้อนหลัง 2 ปีที่ผ่านมา ฐานะดุลบริการในเดือนมิถุนายนมักจะดีกว่าในเดือนพฤษภาคม) ส่วนในด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชนนั้น คาดว่า การบริโภคของภาคเอกชนอาจจะถูกกดดันจากกระแสการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ภาวะการลงทุนของภาคเอกชน อาจจะถูกกดดันจากส่วนต่างกำไรของผู้ประกอบการที่แคบลง หลังจากที่ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งแพงขึ้น แต่ความสามารถในการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปยังผู้บริโภคมีจำกัด เนื่องจากการชะลอตัวของความต้องการสินค้าและการควบคุมราคาจากทางการ นอกจากนี้ ภาวะการลงทุนโดยรวม ยังอาจถูกกดดันจากสัดส่วนราคาสินค้าส่งออกต่อสินค้านำเข้า (terms of trade) ที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ส่งออกในช่วงที่ผ่านมา