ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง : มูลค่าตลาดปี’48 เติบโต 10%

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนับว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงนั้นมีการขยายตัวอย่างมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงของไทยนั้นผลิตเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามตลาดในประเทศธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงก็น่าสนใจอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยจะสังเกตเห็นจากการขยายชั้นวางจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เมื่อเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยมีหลายยี่ห้อและหลากหลายรูปแบบให้เลือก อีกทั้งยังมีการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากปัจจัยหนุนจากการที่คนไทยหันมานิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมต่อสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ การหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านแทนการปล่อยไว้ในบริเวณบ้าน การหันมานิยมเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น การหันมาเอาใจใส่ดูแลสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง ทำให้เป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรายเดิมขยายการลงทุนเพิ่มเติม และนักลงทุนรายใหม่ทยอยเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

ตลาดในประเทศ…ปี’48 เติบโตร้อยละ 10.0

มูลค่าตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเท่ากับ 109.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 4,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 โดยแยกเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 80.0 ของมูลค่าตลาดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงทั้งหมด นอกจากนั้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นของเล่น เสื้อผ้าเครื่องประดับ เวชภัณฑ์และอาหารเสริม อย่างไรก็ตามยังไม่นับรวมธุรกิจสำหรับสัตว์เลี้ยงแนวใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สปา ที่พักสำหรับสุนัข รวมถึงโรงเรียนฝึกสอน และสถานเสริมความงามให้กับสัตว์เลี้ยง
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในประเทศนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ในปัจจุบันคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา และนิยมเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้านมากกว่าการเลี้ยงในบริเวณบ้าน รวมทั้งการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น แชมพู เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น กรง ของเล่น ชามข้าว เป็นต้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพของสัตว์เลี้ยง

มูลค่าตลาดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในประเทศ
: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รายการ 2544 2545 2546 2547 2548
นำเข้า 135.13 113.75 125.13 137.64 151.40
ผลิตในประเทศ 299.12 355.41 390.95 430.05 473.05
ส่งออก 368.33 386.74 425.41 467.96 514.75
มูลค่าตลาดสุทธิ 65.92 82.42 90.66 99.73 109.70
ที่มา : คาดการณ์โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
หมายเหตุ : 1/ มูลค่านำเข้าและส่งออก ประมาณการจากสถิติการนำเข้าและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง
2/ มูลค่านำเข้าและส่งออกเป็นยอดรวมของอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง
3/ มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงบางส่วนเพื่อการส่งออก

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงที่น่าสนใจคือ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2548 ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาทหรือประมาณ 87.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 20-25 คาดการณ์ว่าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากในปัจจุบันคาดว่ามีเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ใช้อาหารสำเร็จรูปเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการในธุรกิจนี้สามารถประชาสัมพันธ์ให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้าใจถึงประโยชน์ของอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปก็จะทำให้มีเจ้าของสัตว์เลี้ยงหันมาเพิ่มปริมาณการใช้อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้มูลค่าของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปในประเทศแบ่งเป็นอาหารเม็ดร้อยละ 90 และอาหารกระป๋องร้อยละ 10 ธุรกิจด้านอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยประมาณร้อยละ 20-30 ต่อปี ทั้งนี้อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปนั้นยังสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มระดับพรีเมี่ยมประมาณร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มสแตนดาร์ดและอีโคโนมี่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง โดยอาหารสัตว์เลี้ยงในกลุ่มสแตนดาร์ดยังคงมีช่องว่างในการเข้าไปทำตลาด ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันของอาหารสัตว์เลี้ยงในกลุ่มสแตนดาร์ดนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น ผู้ประกอบการเจาะขยายตลาดโดยอาศัยช่องทางจำหน่ายทั้งร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม(Traditional Trade) และร้านค้าปลีกสมัยใหม่(Modern Trade) ทั้งนี้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

ตลาดส่งออก : สหภาพยุโรป…ตลาดที่น่าจับตามอง

ตลาดส่งออกนั้นนับว่าเป็นตลาดหลักของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพิกัดศุลกากรนั้นมีการเก็บสถิติเพียงการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนมูลค่าของการส่งออกผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนั้นยังไม่ได้มีการแยกออกมาอย่างชัดเจน ถ้าพิจารณาถึงการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยพบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 มีมูลค่าส่งออก 135.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.2 คาดการณ์ว่าในปี 2548 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 ซึ่งการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยนั้นแยกออกเป็นการส่งออกอาหารสุนัขและแมวร้อยละ 75.0 และที่เหลืออีกร้อยละ 25.0 นั้นเป็นการส่งออกอาหารสัตว์อื่นๆ โดยวัตถุดิบสำคัญของอาหารสุนัขและแมวคือ ผลพลอยได้จากโรงงานผลิตปลากระป๋อง ดังนั้นการเติบโตของธุรกิจปลากระป๋องในประเทศมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตอาหารสุนัขและแมวในประเทศ

มูลค่าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย
: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประเทศ 2545 2546 2547 มค.-พค.2547 มค.-พค.2548
ญี่ปุ่น 158.8 179.5 194.4 60.8 56.9
สหรัฐฯ 26.8 32.7 33.7 8.2 12.4
อาเซียน
-มาเลเซีย
-เวียดนาม
-กัมพูชา
-อินโดนีเซีย
-อื่นๆ 58.3
28.0
15.6
2.1
2.8
9.8 73.9
32.5
20.7
4.5
4.8
11.4 88.6
36.3
21.7
9.4
6.6
14.6 21.2
9.7
4.0
1.9
1.3
4.3 29.5
10.9
6.5
3.9
3.3
4.9
สหภาพยุโรป 13.9 18.1 34.6 8.5 15.5
อื่นๆ 44.6 54.5 49.5 18.0 21.3
รวม 302.4 358.7 400.8 116.7 135.6
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ รวมรวบโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ตลาดส่งออกสำคัญของอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยคือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามในปี 2548 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปนับว่าเป็นตลาดที่มีการขยายตัวของการส่งออกที่น่าจับตามอง
ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้มงวดสำหรับผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงคือ มาตรฐานในการผลิต โดยขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐานข้อกำหนดของสมาคมควบคุมอาหารสัตว์แห่งสหรัฐฯ ( Association of American Feed Control Offical : AAFCO ) ที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงดังกล่าวได้ทำการพัฒนาโดยทีมงานสัตวแพทย์และนักโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยง ตลอดจนการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งมาตรฐานการผลิตจะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

ตลาดนำเข้า : ปี’48 ขยายตัวเพิ่มขึ้น
แม้ว่าไทยจะมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีการพึ่งพาการนำเข้าบางส่วน โดยในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนั้นพิกัดศุลกากรนั้นแยกไว้เฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 เท่ากับ 51.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 คาดว่าในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงเท่ากับ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 การนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงนั้นร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าอาหารสัตว์อื่นๆ ที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นการนำเข้าอาหารสุนัขและแมว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารระดับพรีเมี่ยม โดยนำเข้ามาตามความต้องการของผู้เลี้ยงที่ยังคงมีความเชื่อมั่นในตราสินค้าต่างประเทศ หรือต้องการอาหารพิเศษเฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงประเภทที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่ปลา เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งไม่มีการผลิตมากนักในประเทศไทย

มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย
: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประเทศ 2545 2546 2547 มค.-พค.2547 มค.-พค.2548
สหรัฐฯ 36.05 40.74 38.33 15.32 18.99
สหภาพยุโรป 25.47 28.11 30.84 12.18 13.81
เกาหลีใต้ 1.76 7.86 7.03 2.52 4.50
ออสเตรเลีย 6.92 7.84 7.35 2.36 4.36
จีน 5.35 3.86 5.11 1.99 2.51
ญี่ปุ่น 3.42 6.09 4.21 1.56 1.75
สิงคโปร์ 3.59 4.25 3.95 1.63 1.62
ไต้หวัน 5.33 5.59 2.97 0.59 1.06
อื่นๆ 10.93 9.54 6.54 2.12 2.60
รวม 98.95 114.11 106.60 40.38 51.34
ที่มา : กรมศุลกากร รวมรวบโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

แหล่งนำเข้าสำคัญของอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงทุกตลาดนั้นเพิ่มขึ้นในปี 2548

บทสรุป

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงทั้งเพื่อป้อนตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคนไทย ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงของไทยได้รับการยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตทำให้มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไทยยังต้องมีการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องสัตว์เลี้ยงบ้าง แต่ก็เป็นการนำเข้าสินค้าที่ไทยยังไม่มีการผลิตมาก และตอบสนองความต้องการของผู้เลี้ยงบางกลุ่มเท่านั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนั้นก่อให้เกิดผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมากมาย โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ผลิตสินค้าต่างๆโดยอาศัยแนวคิดความทันสมัยและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเจ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญต่ออนาคตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง นอกจากการขยายตัวของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีนักลงทุนทั้งรายเก่าที่ขยายกิจการและนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุน