เหตุการณ์วินาศกรรมกลางกรุงลอนดอนในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคมตามเวลาในประเทศอังกฤษ สร้างความตื่นตระหนกและหวั่นวิตกเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่จู่โจมประเทศอังกฤษ ซึ่งกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ หรือ G-8 ที่สก็อตแลนด์ และอังกฤษเพิ่งจะยินดีกับการที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2012 มาหมาดๆ แต่อังกฤษยังไม่ทันจะได้ชื่นชมกับความสำเร็จดังกล่าว ก็เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งร้ายแรงที่สุดในเมืองหลวงของประเทศ
วินาศกรรมระเบิดขบวนรถไฟใต้ดินและรถโดยสารประจำทางสองชั้นที่เป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของประเทศอังกฤษ ส่งผลกระทบทันทีต่อค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงให้ลดลงอยู่ในระดับ 1.74 ดอลลาร์/ปอนด์ ตลาดหุ้นลอนดอนดำดิ่งลง 71.3 จุด ปิดตลาดที่ระดับ 5158.3 จุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ทั้งๆ ที่ในช่วงที่ผ่านมา อังกฤษเป็นประเทศที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศค่อนข้างสงบเรียบร้อย ประชาชนหลากหลายเชื้อชาติสามารถทำมาหากินและพำนักอาศัยในกรุงลอนดอนอย่างเป็นมิตรซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันอังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ที่มีภาวะเศรษฐกิจแจ่มใสที่สุด คาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัวในอัตรา 2.5% ในปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยของกลุ่ม EU ในระดับ 1.9% ในปี 2548
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าทางการอังกฤษน่าจะสามารถควบคุมเหตุการณ์ความวุ่นวายให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และบรรเทาผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัดและไม่ลุกลามบานปลาย อย่างไรก็ตาม ภัยก่อการร้ายในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกา จะปลุกกระแสให้ประชาชนชาวอังกฤษและประชาชนชาติอื่นๆ ในยุโรปต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น จึงอาจกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในระยะต่อไป
การที่ประเทศไทยและอังกฤษมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างกันมาช้านาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเหตุการณ์วินาศกรรมอังกฤษมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ประเด็น ได้แก่ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และตลาดเงิน-ตลาดหุ้นไทย สรุปได้ดังนี้
ผลกระทบท่องเที่ยวไทย เหตุการณ์วินาศกรรมอุกอาจที่เกิดขึ้นใจกลางมหานครลอนดอน ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวของอังกฤษทันที ทั้งการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างแดนของชาวอังกฤษ และการที่ชาวต่างชาติจะเดินทางไปเที่ยวอังกฤษ เนื่องจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวอังกฤษและประชาชนทั่วโลก และทำให้หวนกลับมาตระหนักว่าการก่อการร้ายเป็นภัยใกล้ตัวที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรและสถานที่ใดก็ได้ วิกฤตการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ รวมทั้งการเดินทางมาประเทศไทยด้วย อย่างน้อยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเอง รวมทั้งยังคงหวาดระแวงว่าอาจจะเกิดภัยก่อการร้ายในประเทศอื่นๆ อีก จึงเป็นที่น่าเสียดายว่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยในกลุ่ม EU มีแนวโน้มที่จะชะลอการเดินทางมาเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง
นอกจากนี้ คาดว่าเหตุการณ์วินาศกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษครั้งนี้ จะกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ มีมาตรการป้องกันภัยก่อการร้ายเข้มงวดยิ่งขึ้น ทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในปีนี้ ไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 13 ล้านคน แต่อาจจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใกล้เคียงกับปีที่แล้วประมาณ 11 ล้านคน
ในช่วงต้นปี 2548 ชาวอังกฤษเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 2.5% เป็นจำนวน 58,421 คนในเดือนมกราคม 2548 แม้ว่าไทยจะเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สึนามิก็ตาม ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่ม EU ที่เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้ มีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ส่วนประเทศ EU อื่นๆ ได้ชะลอการเดินทางมาเที่ยวไทยทุกตลาด ในรอบปีที่ผ่านมาชาวอังกฤษเดินทางมาไทยจำนวน 628,679 คน ประมาณว่าสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยไม่ต่ำกว่า 28,000 ล้านบาทในปี 2547
ทางด้านนักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางไปอังกฤษในช่วงนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอลงชั่วคราว เพราะสถานการณ์ภายในอังกฤษยังคงสับสนและนักท่องเที่ยวต่างชาติคงจะไม่ได้รับความสะดวกในด้านการคมนาคมและการเดินทางท่องเที่ยวในกรุงลอนดอน ขณะเดียวกันทางการอังกฤษน่าจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราการเดินทางเข้า-ออกประเทศของชาวต่างชาติมากขึ้น เพื่อระมัดระวังมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นอีก ทำให้การเดินทางไปอังกฤษไม่คล่องตัวเท่าที่ควร
อังกฤษเป็นแหล่งท่องเที่ยวในยุโรปที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 รองจากเยอรมนี ในช่วงต้นปีนี้ คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวอังกฤษเพิ่มขึ้น 32% เป็นจำนวน 2,831 คนในเดือนมกราคม 2548 นับว่านักท่องเที่ยวไทยสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยคนไทยที่เดินทางไปอังกฤษทำสถิติสูงสุดจำนวน 43,626 คนในปี 2547 เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปอังกฤษไม่ถึง 30,000 คนในปี 2544 ประมาณว่านักท่องเที่ยวไทยเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปอังกฤษราว 1,700 ล้านบาทในปี 2547 คาดว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายในลอนดอนครั้งนี้จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยบางกลุ่มชะลอการเดินทางไปอังกฤษในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยกเว้นคนไทยที่มีบุตรหลานและญาติกำลังเล่าเรียนหนังสือและประกอบอาชีพในอังกฤษที่อาจจำเป็นต้องเดินทางไปเยี่ยมเยือนกัน
ผลกระทบการค้าไทย – อังกฤษ การที่อังกฤษถูกลอบวางระเบิดในครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษในระยะสั้น เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าไทยของอังกฤษส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคอังกฤษให้ต้องยืดเยื้อออกไป ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษโดยรวม และอาจมีผลต่อภาวะการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษในระยะต่อไป
การค้าไทย-อังกฤษ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าการค้ารวม (ส่งออก+นำเข้า) เพิ่มขึ้น 2.76% จาก 1,613.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547 เป็น 1,658.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกของไทยไปอังกฤษขยายตัว 1% มีมูลค่า 1,106.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 6.4% มีมูลค่า 551.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยยังคงเกินดุลการค้ากับอังกฤษ 554.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มูลค่าเกินดุลลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่ไทยเกินดุลกับอังกฤษ 576.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัจจุบันอังกฤษเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 9 ของไทย จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 8 ในปี 2547 เนื่องจากถูกตลาดส่งออกออสเตรเลียแซงหน้า โดยการส่งออกของไทยไปอังกฤษคิดเป็นสัดส่วนราว 2.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าส่งออกไทยไปอังกฤษที่ขยายตัวได้ดี เรียงลำดับตามมูลค่าการส่งออกมาก ได้แก่ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 37.9% เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (18.24%) ไก่แปรรูป (34.68%) อาหารทะแลกระป๋องและแปรรูป (28.5%) รองเท้าและชิ้นส่วน (33.15%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (37%) เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (176.4%) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (134%) เป็นต้น
ส่วนสินค้าส่งออกของไทยไปอังกฤษที่ลดลง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น
ทางด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าจากอังกฤษมากเป็นอันดับที่ 22 คิดเป็นสัดส่วน 1.13% ของการนำเข้าของไทยทั้งหมด สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอังกฤษมากและนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 62.65% ธุรกรรมพิเศษ (4,425%) แผงวงจรไฟฟ้า (35%) เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา (55.8%) เครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบ (11%) เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์และการทดสอบ (23.75%) เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอังกฤษลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น
ผลกระทบลงทุนไทย ทางด้านการลงทุนของอังกฤษในประเทศไทย คาดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักในช่วงนี้ เนื่องจากโครงการลงทุนต่างๆ ของอังกฤษเป็นการลงทุนระยะยาวและได้วางแผนการลงทุนไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการลงทุนใหม่ๆ ของอังกฤษที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในระยะต่อไป นักลงทุนอังกฤษอาจจะต้องพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อยทางการเมืองในระดับหนึ่ง คาดว่าประเทศไทยยังคงเป็นทำเลที่น่าลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับชาวอังกฤษ
ในช่วง 5 เดือนแรก 2548 โครงการลงทุนของอังกฤษที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้น 18.1% เป็นมูลค่าเงินลงทุน 1,845 ล้านบาท จำนวน 8 โครงการ นับเป็นประเทศในกลุ่ม EU ที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากเนเธอร์แลนด์ ประเภทของอุตสาหกรรมที่นักลงทุนอังกฤษเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ การผลิตกระแสไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป ถุงมือยาง รวมทั้งธุรกิจซอฟท์แวร์และธุรกิจบริการเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน เป็นต้น
สำหรับนักธุรกิจไทยที่เข้าไปประกอบกิจการในอังกฤษ เช่น กิจการร้านอาหารไทย ธุรกิจสปา ธุรกิจบริการนวดแผนไทย ฯลฯ คาดว่าจะได้รับผลกระทบบ้างในช่วงแรก เนื่องจากชาวอังกฤษอาจยังวิตกกังวลและไม่ออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ทำให้ธุรกิจของคนไทยข้างต้นเงียบเหงาลงบ้าง แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าคงเป็นเวลาไม่นานนัก หลังจากนั้นชาวอังกฤษน่าจะใช้ชีวิตตามปกติต่อไป เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวให้มากขึ้น
ผลกระทบตลาดเงิน-ตลาดหุ้นไทย เหตุการณ์วินาศกรรมในอังกฤษ ส่งผลให้เงินปอนด์มีค่าอ่อนตัวลงทันทีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินปอนด์มีค่าแตะระดับ 1.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปอนด์ในวันที่ 8 กรกฎาคม เทียบกับอัตราเฉลี่ย 1.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปอนด์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม สำหรับเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ของอังกฤษในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ มีค่ากระเตื้องขึ้นเล็กน้อยอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 73.30 บาท/ปอนด์ เทียบกับอัตราเฉลี่ย 74-75 บาท/ปอนด์ในเดือนมิถุนายน 2548 การที่เงินปอนด์มีค่าอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลให้เงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ของอังกฤษทรงตัวอยู่ในระดับ 73 บาท/ปอนด์ในระยะต่อไป
ทางด้านตลาดหุ้นไทย สถานการณ์การค้าหุ้นของไทยค่อนข้างเปราะบาง อันเป็นผลจากปัจจัยภายในประเทศและราคาน้ำมันเป็นหลัก รวมทั้งได้รับผลกระทบบางส่วนจากการที่ตลาดหุ้นลอนดอนดำดิ่งลง 71.3 จุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ดัชนีราคาหุ้นของไทยปิดตลาดลดลง 21.6 จุด เหลือ 638.31 จุดในวันเดียวกัน นับเป็นดัชนีราคาหุ้นต่ำสุดในรอบ 8 เดือน อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ปั่นป่วนในตลาดค้าหุ้นลอนดอนน่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น จึงมิใช่ปัจจัยหลักที่จะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นของไทย ทิศทางของตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ วินาศกรรมจู่โจมเมืองหลวงของประเทศอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นดินแดนที่สงบเรียบร้อย ส่งผลให้อังกฤษติดบ่วงประเทศที่ล่อแหลมต่อการก่อการร้ายข้ามชาติอีกแห่งหนึ่ง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอังกฤษในฐานะเป็นแหล่งการศึกษาชั้นนำในต่างแดนของนักเรียนไทย ทำให้ผู้ปกครองที่ต้องการจะส่งบุตรหลานไปศึกษาเล่าเรียนยังประเทศอังกฤษที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาชั้นแนวหน้าของโลก ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นหลักอีกประการหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าทางการอังกฤษน่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้โดยเร็ว และควรจะวางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งป้องกันมิให้ภัยก่อการร้ายเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม ซึ่งจะเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชนชาวอังกฤษกลับคืนมา และกอบกู้เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของอังกฤษกลับคืนมาในที่สุด