ประมาณต้นปี 2547 กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านประมาณ 20 บริษัทก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น โดยมีบริษัทที่เป็นแกนนำคือ ปทุมดีไซน์ฯ เป็นผู้ประสานงานและเจรจานัดพบโดยพร้อมเพรียงกันในเวลาต่อมา โดยที่ทุกบริษัทต่างเห็นพ้องตรงกันว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องร่วมมือกันสร้างศักยภาพและแบรนด์รับสร้างบ้านให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมๆกับการกำหนดกฎ กติกา และข้อปฏิบัติที่สมาชิกจะต้องพึงปฏิบัติ รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อช่วยกันสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นภายใต้โลโก้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
1 ปีสมาคมฯ เร่งตอกย้ำความเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ
แม้จะเป็นสมาคมฯน้องใหม่และมีสมาชิกเริ่มต้นในปีแรกไม่มากนัก แต่จากการติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกิจกรรมและผลงานต่างๆที่ปรากฏออกมาให้เห็น นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมฯจนถึงปัจจุบันนี้ ประมาณ 1 ปีเศษ อาทิ กิจกรรมด้านการตลาด ด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ รวมทั้งการสร้างการรับรู้และการยอมรับสู่ผู้บริโภค ถือว่าสมาคมฯทำได้ดีและสอบผ่านในจุดนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สมาคมฯสามารถรวมผู้ประกอบการและพันธมิตร จัดงานแสดงสินค้าหรืองานแสดงรับสร้างบ้านขึ้นมา และกลายเป็นงานประจำปีของสมาคมฯได้เอง เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายสู่ผู้บริโภคออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่สร้างสีสันต์และตามกระแสการตลาดได้ทัน ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลือกที่เด่นชัดขึ้น ในสายตาของผู้บริโภคที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง นอกจากการซื้อบ้านจัดสรรหรือบ้านมือสอง
จากความสำเร็จในเบื้องต้นทำให้น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าความเคลื่อนไหวในอนาคต สมาคมฯจะมีทิศทางการพัฒนาตลาดรับสร้างบ้านไปในทางใด ทั้งการยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับ และการมีบทบาทที่จะกำกับดูแลบรรดาบริษัทรับสร้างบ้านในธุรกิจให้ประกอบอาชีพอย่างมีจรรยาบรรณ ซึ่งเชื่อว่าแนวคิดเช่นนี้น่าจะมีอยู่แล้วในกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเป็นมืออาชีพ และหวังว่าอีกไม่นานคงได้เห็นการบทบาทของสมาคมฯ เพื่อที่จะไม่สร้างปัญหาให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวงด้วยการที่โฆษณาว่าเป็นบริษัทรับสร้างบ้าน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายต่อภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน
แนวโน้มและทิศทางการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านครึ่งหลัง
ปี 2547 จำนวนบ้านสร้างเอง ในเขตกรุงเทพปริมณฑลและต่างจังหวัด มีจำนวนประมาณ 20,000 หน่วย หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวเลขที่รวบรวมได้ของบริษัทรับสร้างบ้าน มีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 3,500 หน่วย หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ในปี 2548 นี้จำนวนบ้านสร้างเองมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือจำนวนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการบริษัทรับสร้างบ้านประเมินว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 – 4,000 หน่วย ทั้งนี้ก็ด้วยการสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ทั้งนี้จากการสำรวจตัวเลขยอดขายของบริษัทรับสร้างบ้านในสมาคมฯ พบว่าเกือบทุกบริษัทมียอดขายในครึ่งปีแรกเฉลี่ยประมาณ 35 – 50 % ของมูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านทั้งปีที่ตังไว้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีปัจจัยมากระทบอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก แต่ภาพรวมของตลาดก็ยังสามารถเติบโตได้ด้วยดี ซึ่งโดยปกติแล้วความต้องการสร้างบ้านหรือยอดขายของบริษัทรับสร้างบ้าน เกือบทุกบริษัทจะมียอดขายเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าช่วงครึ่งปีแรกมาโดยตลอด รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการขายและโปรโมชั่น ต่างๆของแต่ละบริษัทฯก็จะออกมากระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจในช่วงครึ่งปีหลังเป็นส่วนใหญ่
จากข้อมูลข้างต้นจึงยังถือว่าธุรกิจรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลัง มีโอกาสและมีศักยภาพในการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือในทีมงาน ชื่อเสียง ประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องร่วมกันพึงรักษาไว้ และให้ความสำคัญในการสร้างความภักดีต่อสินค้าและบริการของผู้บริโภค นอกจากนี้การร่วมกันพัฒนาตลาดและธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญและควรจะต้องมีความจริงใจต่อกัน ทั้งต่อเพื่อนร่วมธุรกิจ พันธมิตรการค้า ลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจรับสร้างบ้าน
แนะบริษัทรับสร้างบ้าน เร่งพัฒนาแบรนด์ – มุ่งแข่งขันอย่างสร้างสรรค์
ฝ่ายการตลาด บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อ 6 – 7 ปีก่อน โดยยกตัวอย่างของ ปทุมดีไซน์ ขณะนั้นเป็นบริษัทรับสร้างบ้านขนาดกลางรายหนึ่ง ซึ่งชื่อชั้นในขณะนั้นจัดว่ายังอยู่อันดับท้าย ๆ ตาราง ของบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำและคู่แข่งขันในธุรกิจนี้ รวมทั้งชื่อเสียงก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของลูกค้าและผู้บริโภคเท่าไรนัก แต่เมื่อประมาณปี 2545 ผู้บริหารบริษัทฯ กล้าออกมาบอกว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่ติดอันดับ Top 5 ของประเทศ ซึ่งวันนั้นบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำและบริษัทคู่แข่งขันต่างเห็นเป็นเพียงเป็นเพียงการสร้างกระแสข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรเท่านั้น
มาวันนี้ภาพลักษณ์และบทบาทของ ปทุมดีไซน์ สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักชื่อเสียงของบริษัทมากขึ้น และทำให้คู่แข่งขันและบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ ต่างต้องหันมามองถึงการก้าวกระโดดและเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น การขยายตลาดครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัด และการสร้างแบรนด์ ปทุมดีไซน์ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยมีการศึกษาและวิจัยพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีระบบ สร้างจุดแข็งและจุดต่างในการแข่งขัน ตลอดจนนำกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์มาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคอย่างได้ผล นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับได้อย่างสร้างสรรค์
นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานกรรมการ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด กล่าวว่า ช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ในด้านยอดขายเราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากยอดขายเพียง 45 ล้านบาท เมื่อปี 2544 เติบโตขึ้นมาเป็น 200 กว่าล้านบาทในปี 2546 – 2547 และจากสำนักงานขายพียงแห่งเดียวในปี 2544 ปัจจุบันเพิ่มเป็น 5 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการทำการบ้านและการทำงานอย่างหนัก ของทีมงานและผู้บริหารบริษัทในช่วง 3 – 4 ปี ที่ผ่านมา อีกประการที่ถือเป็นความโชคดีของเราก็คือว่าเมื่อคราวที่เราประกาศเป้าหมายว่า ปทุมดีไซน์ จะขอก้าวขึ้นเป็น Top 5 ของธุรกิจรับสร้างบ้านใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อประมาณปี 2545 นั้น ปรากฏว่าไม่มีบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำรายใดสนใจเราเลย จึงกลายเป็นโอกาสที่หยิบยื่นให้เราในการที่จะวางกลยุทธ์การแข่งขันได้โดยคู่แข่งขันไม่ได้ระวัง ซึ่งการรุกแต่ละก้าวของบริษัทในแต่ละปีนั้น ฝ่ายบริหารมีการจัดทำแผนธุรกิจและเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตไว้ดีพอสมควร พร้อมๆกับการให้ความสำคัญในการศึกษาและวิจัยตลาดและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และจะถือว่า ปทุมดีไซน์ เป็นบริษัทรับสร้างบ้านเพียงรายเดียวก็ได้ที่ลงทุนว่าจ้างทำการศึกษาและวิจัยตลาด ทั้งนี้เพราะต้องการนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ดีแม้ว่า ปทุมดีไซน์ จะสามารถเติบโตและก้าวขึ้นมาในกลุ่มผู้นำธุรกิจได้แล้วนั้น แต่เมื่อบริษัทก้าวขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งและหันกลับไปมองผู้ประกอบการรายอื่นๆ ตลอดจนขนาดของตลาดรับสร้างบ้านกลับไม่ได้มีการพัฒนาและเติบโตควบคู่ไปพร้อมๆกัน ซึ่งทำให้โอกาสในการขยายตลาดและการแข่งขันแบบสร้างสรรค์ไม่เกิดขึ้น แน่นอนว่าถ้าเป็นเช่นนั้นผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ทุกรายในธุรกิจนี้ จะต้องแข่งขันกันหนักและเหนื่อยตลอดไป และอาจจะพบวิกฤติอีกครั้งเนื่องเพราะมีการแข่งขันที่มุ่งทำลายกัน หรือเป็นแบบปลาเล็กกินปลาใหญ่ หรือรายเล็กรุมกินโต๊ะรายใหญ่ หรือแข่งขันด้วยการตัดราคากันอย่างเดียว
นายสิทธิพร กล่าวต่อไปว่า หากเป็นอย่างนี้ตลอดไปย่อมจะทำให้ผู้ประกอบการ และธุรกิจรับสร้างบ้านขาดศักยภาพที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเป็นที่ยอมรับกาผู้บริโภค และคงปล่อยให้ธุรกิจบ้านจัดสรรที่ถือเป็นคู่แข่งขันโดยตรงพัฒนาหนีไปไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นนอกจากการสร้างแบรนด์ ปทุมดีไซน์แล้วบริษัทจึงได้วางแผนและกำหนดเป็นโยบายสำคัญอีกประการคือ การสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน เพื่อที่จะสร้างมิติใหม่ของการแข่งขันในธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยจะต้องทำความเข้าใจที่จะเปลี่ยนทัศนคติและแนวคิดจากคู่แข่งมาเป็นพันธมิตรก่อน และนำเสนอแนวทางการแข่งขันที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคยอมรับและให้ความเชื่อถือธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งวันนี้ถือว่าได้เริ่มต้นและก้าวเดินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยที่จะต้องอาศัยปัจจัยและความร่วมมือของผู้ประกอบการในธุรกิจช่วยกันสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งในฐานะตัวแทนของ ปทุมดีไซน์ พร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อส่วนรวมไม่ว่าในฐานะที่จะต้องออกหน้าหรือทำงานอยู่เบื้องหลัง