บทเรียนอินโดนีเซีย : ฝ่าวิกฤตพลังงาน

อินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบส่งออกหรือกลุ่มโอเปค แต่ขณะนี้อินโดนีเซียกลับเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป และผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประธานาธิบดีสุสิโล มัมบัง ยูโดโยโน ของอินโดนีเซียต้องยกเลิกกำหนดการเดินทางเยือนไทย บรูไนฯ และจีน ในช่วงระหว่างวันที่ 13-20 กรกฎาคม 2548 นี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์พลังงานภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

การขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปส่งผลกระทบต่อพื้นที่หลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย จนเป็นเหตุให้การขนส่งสาธารณะต้องหยุดให้บริการ โดยเฉพาะการขาดแคลนพลังงานในเมืองซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของ อินโดนีเซียไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยในปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันรวม 9 แห่งของอินโดนีเซียมีกำลังผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การบริโภคเชื้อเพลิงภายในประเทศสูงถึง 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกันปริมาณน้ำมันดิบสำรองของอินโดนีเซียลดน้อยลง ส่งผลให้อินโดนีเซียต้องนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2547 เนื่องจากการลงทุนสำรวจขุดเจาะแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ในประเทศเกิดภาวะชะงักงัน

นับว่าวิกฤตน้ำมันครั้งนี้เป็นปัญหาท้าทายประธานาธิบดียูโดโนโย ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศในเดือนตุลาคม 2547 แม้อินโดนีเซียจะขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไปแล้ว 29% จนถึงเดือนมีนาคม 2548 แต่ยังไม่ได้ปล่อยราคาน้ำมันลอยตัว โดยยังคงใช้เงินอุดหนุนพยุงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ประธานาธิบดียูโดโยโนต้องตัดสินใจระหว่างการดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไปเพื่อสร้างคะแนนนิยมจากประชาชน หรือใช้มาตรการลอยตัวราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นแรงกดดันจากภาคเอกชนส่วนหนึ่งภายในประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมัน เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐในการพยุงราคาน้ำมัน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงในระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล คาดว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะต้องใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศถึงกว่า 10,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เทียบกับในปี 2547 อินโดนีเซียใช้เงินพยุงราคาน้ำมัน 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลมากขึ้น

แต่จนถึงขณะนี้ประธานาธิบดียูโดโยโนยังไม่มีนโยบายปล่อยราคาน้ำมันลอยตัว เพียงแต่ออกมาตรการประหยัดพลังงานระยะสั้น ได้แก่ ลดจำนวนชั่วโมงในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศา จำกัดจำนวนลิฟท์ใช้งาน และกำหนดให้ใช้ยานพาหนะในภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานของอินโดนีเซียระยะกลางและระยะยาว ดังนี้

– พิจารณาเพิ่มภาษีรถยนต์และภาษีค่าไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน
– พิจารณาแก้ไขกฎหมายน้ำมันและก๊าซ จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซต้องกันปริมาณน้ำมันและก๊าซสำหรับบริโภคภายในประเทศในอัตราสูงสุด 25% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยจะแก้ไขให้ต้องกันน้ำมันและก๊าซเพื่อใช้ภายในประเทศในอัตราขั้นต่ำ 25% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ว่าจะมีปริมาณก๊าซและน้ำมันเพียงพอต่อการใช้ในภาคการผลิต
– อินโดนีเซียวางแผนลดการใช้น้ำมันดิบให้เหลือ 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด และเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถ่านหิน 5% และ 15% ตามลำดับ ภายในปี 2558 รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนลดการใช้พลังงานให้ได้ 20% ต่อปีตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป
– อินโดนีเซียวางแผนจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ในเมืองตูบัน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ระดับหนึ่ง

ราคาน้ำมันพุ่ง : ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
นโยบายการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของอินโดนีเซียเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยทางการอินโดนีเซียคาดว่า จำนวนรถยนต์ใหม่ในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเป็น 550,000 คัน ในปี 2548 จากราว 465,000 คัน ปี 2547 และยอดขายจักรยานยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านคันในปี 2547 เป็น 5 ล้านคันในปี 2548 ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณในการอุดหนุนพยุงราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทางด้านการผลิตน้ำมันดิบของอินโดนีเซียมีปริมาณลดลงเหลือ 941,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤษภาคม 2548 จากปริมาณเฉลี่ย 968,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2547 ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 34 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบต่อวันของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกโอเปค และคิดเป็นสัดส่วนราว 3% ของปริมาณน้ำมันดิบที่กลุ่มโอเปคผลิตได้ทั้งหมด (30,021,000 บาร์เรลต่อวัน) ในปัจจุบันอินโดนีเซียต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 400,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการกลั่นน้ำมันภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมัน

?ผลกระทบน้ำมันแพง
1. ค่าเงินรูเปี๊ยะตกต่ำ
การนำเข้าน้ำมันในภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดุลการค้าของอินโดนีเซียในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 เกินดุลลดลงเป็น 5,408 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ที่ดุลการค้าเกินดุล 5,939 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เงินทุนสำรองของอินโดนีเซียลดลงมาอยู่ที่ 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2547 กดดันให้ค่าเงินรูเปี๊ยะของอินโดนีเซียอ่อนค่าลง จนสู่ระดับต่ำสุดที่ 9,800 รูเปี๊ยะต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าอ่อนค่าที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 เป็นต้นมา ถือว่าปัญหาขาดแคลนพลังงานเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลอินโดนีเซียต้องรีบแก้ไข เพื่อกอบกู้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและค่าเงินรูเปี๊ยะ

ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยบวกให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้าสู่อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงินรูเปี๊ยะแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก
– แนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียจะเกินดุลลดลงในปี 2548 เนื่องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพราะปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลลดลงในปี 2548 จากที่เกินดุลเกือบ 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 และ 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546

– ความชะงักงันของแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากประธานาธิบดียูโดโยโนดำเนินนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างระมัดระวัง ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศที่จะไหลเข้าอินโดนีเซียชะลอตัวลง
– แม้ว่าจะมีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งแบบให้เปล่าและเงินกู้เพื่อฟื้นฟูรัฐอาเจะห์ซึ่งประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ แต่คงไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
– ขณะเดียวกันการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ในขณะที่อินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินรูเปี๊ยะอ่อนค่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อช่วยไม่ให้เงินรูเปี๊ยะอ่อนค่าจนเกินไป แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียชะลอตัวลง จากการชะลอตัวด้านการลงทุนและการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศ กดดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทางการอินโดนีเซียกำหนดไว้ ทางการอินโดนีเซียจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบน้อยที่สุด

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังพิจารณาปรับปรุงระบบบริหารราชการเพื่อเร่งใช้จ่ายเงินฟื้นฟูดินแดนอาเจะห์ และปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนสำรวจและขุดเจาะแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันให้เพิ่มขึ้น

2. เศรษฐกิจพลาดเป้า
ทางการอินโดนีเซียคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตในอัตรา 6% ในปี 2548 เทียบกับอัตราการเติบโต 5.1% ในปี 2547 แต่จากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปีนี้ไม่ถึงเป้าหมายที่ทางการอินโดนีเซียตั้งไว้ วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันแพงทำให้รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและก๊าซของอินโดนีเซีย (Pertamina) ประสบกับปัญหาด้านกระแสเงินสดในการนำเข้าน้ำมัน และรัฐบาลอาจไม่สามารถให้การอุดหนุนราคาน้ำมันได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้รัฐต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมัน และใช้มาตรการให้ประชาชนลดปริมาณการใช้น้ำมัน ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

การใช้นโยบายอุดหนุนพยุงราคาน้ำมันของรัฐบาลอินโดนีเซียประสบปัญหา เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทยที่ใช้มาตรการพยุงราคาน้ำมัน ทำให้ไม่จูงใจให้ผู้บริโภคลดการใช้น้ำมันจนล่าสุดไทยต้องใช้มาตรการลอยตัวน้ำมันดีเซลในวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 เพื่อสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และลดปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน

อย่างไรก็ตาม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า แม้ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเกื้อหนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยชดเชยกับผลกระทบอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพงได้บางส่วน อาทิ

?การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ – การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 145% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 จาก 2,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 6,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากบรรยากาศทางการลงทุนที่ดีขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น หลังจากประธานาธิบดียูโดโยโนเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2547 เทียบกับก่อนหน้านี้หลังช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่การลงทุนของต่างชาติในอินโดนีเซียซบเชาลง เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนของกฎหมายและปัญหาคอร์รัปชั่น ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียด้านก่อสร้าง เคมีภัณฑ์และยา นักลงทุนต่างชาติในเอเชียที่มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยเข้าลงทุนด้านการผลิตน้ำมันปาล์ม ปิโตรเคมี และการกลั่นน้ำมัน/ถ่านหิน

?การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ – ทางการอินโดนีเซียมีนโยบายเพิ่มการลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอในประเทศ เช่น ถนน และสะพาน รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการจ้างงานและรายได้ในประเทศ แต่ควรเร่งรัดการดำเนินการโครงการเพื่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการของทางการให้มีความโปร่งใส แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาดำเนินโครงการเหล่านี้

?การท่องเที่ยวอินโดนีเซีย – แม้อินโดนีเซียจะประสบเหตุจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิถล่มที่เกาะสุมาตรา จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบให้คนชะลอการท่องเที่ยวในช่วงแรก แต่ขณะนี้การท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเริ่มฟื้นตัว ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเกาะบาหลีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวน 700,000 คน เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 เนื่องจากเกาะบาหลีไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวของประเทศใกล้เคียงได้รับผลกระทบ จึงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหันไปเที่ยวที่บาหลีแทน ทางการอินโดนีเซียคาดว่าปี 2548 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาอินโดนีเซียไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2547

นอกจากนี้ อินโดนีเซียออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ โดยอนุญาตเพิ่มเติมให้นักท่องเที่ยวจาก 14 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย คูเวต เบลเยี่ยม สเปน โปรตุเกส รัสเซีย อิยิปต์ ออสเตรีย กรีซ กาตาร์ ไอร์แลนด์ และเยอรมนี สามารถขอซื้อวีซ่าปลายทางเข้าอินโดนีเซียได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เศรษฐกิจอินโดนีเซียสะดุด : ผลกระทบไทย
ไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตั้งแต่ปี 2510 การที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียมี แนวโน้มชะลอลงในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และการ เดินทางท่องเที่ยวไป-มาระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย สรุปได้ดังนี้

* การค้าระหว่างไทย-อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียนับว่าเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยอันดับที่ 7 รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ตามลำดับ ขณะที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซียมากเป็นอันดับที่ 10 รองจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ตามลำดับ

การคาดคะเนว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มชะลอลง อาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทยไปอินโดนีเซียให้ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2548 ทั้งๆ ที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 อินโดนีเซียเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยการส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียขยายตัว 47.1% มีมูลค่า 1,732.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไทย นำเข้าจากอินโดนีเซียขยายตัวถึง 67.3% มีมูลค่า 1,398.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับอินโดนีเซีย 334.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่ไทยเกินดุล 341.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะไทยนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมาก

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากเรียงตามมูลค่านำเข้าสูง ได้แก่ น้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นถึง 241.7% จาก 55.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2547 เป็น 188.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 101.6% จาก 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 161.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ่านหิน ขยายตัว 156.54% จาก 49.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 127.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รถยนต์นั่ง ขยายตัว 543.4% ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 68.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และน้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 135.11% จาก 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 22.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้านำเข้าของไทยจากอินโดนีเซียราวครึ่งหนึ่งเป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป รองลงมาเป็นสินค้าเชื้อเพลิง (24.19%) สินค้าทุน (13.24%) ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (8.6%) และสินค้าอุปโภคบริโภค (6.96%)

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินโดนีเซียที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ข้าว ผลิตภัณฑ์-ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก วงจรพิมพ์ และน้ำมันสำเร็จรูป สำหรับสินค้าส่งออกไทยไปอินโดนีเซียที่ลดลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (-10.4%) และยางพารา (-3.32%) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม (75.46%) รองลงมาเป็นสินค้าอุตสาห-กรรมการเกษตร (12.83%) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง (9.21%)

* การท่องเที่ยวไทย-อินโดนีเซีย
สถานการณ์ราคาน้ำมันแพงที่ประเทศไทยและอินโดนีเซียเผชิญอยู่ในขณะนี้ คาดว่าจะบั่นทอนการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในปีนี้ โดยปรากฏว่า ในเดือนมกราคม 2548 การเดินทางท่องเที่ยวไป-มาระหว่างไทยกับอินโดนีเซียลดลง นักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียเดินทางมาไทยมีจำนวน 11,590 คน ลดลง 31.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปอินโดนีเซียมีจำนวน 1,170 คน ลดลง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 เนื่องจากทั้งไทยและอินโดนีเซียประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิถล่มในเดือนธันวาคม 2547 ส่งผลเสียหายต่อสถานที่ท่องเที่ยวและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กระทบต่อขวัญและกำลังใจของทั้งคนไทยและคนอินโดนีเซีย ทำให้ชะลอการท่องเที่ยวไป-มาระหว่างกัน แต่คาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวไป-มาระหว่างกันจะฟื้นตัวหลังจากนี้ ซึ่งขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยจัดทำเว็บไซต์เป็นภาษาฮาซาร์เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร และงานประเพณีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ในปี 2547 นักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเดินทางมาไทยมีจำนวน 201,303 คน เพิ่มขึ้น 20.24% เมื่อเทียบกับปี 2546 นับว่านักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเดินทางมาไทยมากเป็นอันดับ 3 ในบรรดาประเทศอาเซียน 10 ประเทศ รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ตามลำดับ
แม้ว่านักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปอินโดนีเซียยังค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยทั้งหมด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปอินโดนีเซียในปี 2547 เพิ่มขึ้น 29.3% จาก 17,361 คน ในปี 2546 เป็น 22,449 คน นับว่าอินโดนีเซียเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยเดินทางไปมากเป็นอันดับ 6 ในบรรดาประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนามและพม่า

* การลงทุนไทย-อินโดนีเซีย
การลงทุนของไทยในอินโดนีเซียหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ค่อนข้างชะลอตัว โดยประเภทการลงทุนที่ไทยเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์และผลิตอาหารสัตว์ เพาะเลี้ยงไก่ ฟาร์มกุ้ง โรงงานผลิตยิปซั่ม กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น โครงการปิโตรเคมี เหมืองแร่ ถ่านหิน อุตสาหกรรมการประมง โทรคมนาคม เป็นต้น คาดการณ์ว่าท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงคงจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนระหว่างไทยกับอินโดนีเซียมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

อินโดนีเซียเข้ามาลงทุนในไทยจนถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่าสะสมราว 2,400 ล้านบาท โดยในปี 2547 โครงการของอินโดนีเซียที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 5 โครงการ มูลค่า 1,253 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศอาเซียนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รองจากสิงคโปร์ 18,239 ล้านบาท และมาเลเซีย 11,937 ล้านบาท ตามลำดับ

การลงทุนในไทยของอินโดนีเซียยังค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนไม่ถึง 1% ของโครงการลงทุนของภูมิภาคเอเชียทั้งหมดในไทยที่มีมูลค่ารวม 195,086 ล้านบาท ในปี 2547 โดยโครงการที่อินโดนีเซียเข้ามาลงทุนในไทยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นโครงการด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มีมูลค่า 643 ล้านบาท และที่เหลือเป็นโครงการลงทุนเกี่ยวกับกระดาษและเคมีภัณฑ์ มูลค่ารวม 610 ล้านบาท สำหรับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 (มกราคม-พฤษภาคม) ยังไม่มีโครงการของอินโดนีเซียที่ขอส่งเสริมการลงทุนในไทย เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มี 1 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุน 210 ล้านบาท

แม้ว่ารายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีของคนอินโดนีเซียจะไม่มากนัก ราว 1,150 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในประเทศอาเซียน (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศราว 2.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และเป็นอันดับที่ 22 ของโลก ประชากรของอินโดนีเซียรวมราว 233 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของอาเซียน ถือว่าอินโดนีเซียเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน ในขณะที่ไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (1.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และเป็นอันดับที่ 32 ของโลก ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 36 และ 40 ของโลก ตามลำดับ ดังนั้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนด้วย จากสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งไทยและอินโดนีเซีย รวมทั้งภูมิภาคอาเซียน การฝ่าวิกฤตพลังงานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายที่ถูกทิศทางของรัฐบาล และความร่วมมือร่วมใจของประชาชาชนในชาติในการประหยัดพลังงานด้วย

ไทยและอินโดนีเซียนควรร่วมมือกันพัฒนาและส่งเสริมการใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ ทดแทนความต้องการน้ำมัน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เช่น การผลิตพลังงานชีวภาพ (Biofuels) โดยใช้พืชผลทางการเกษตร เช่น น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของอินโดนีเซีย และช่วยส่งเสริมให้ราคาพืชผลทางการเกษตรในตลาดโลกสูงขึ้นด้วย อีกทั้งเป็นการช่วยพัฒนาและส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรในภาคชนบท ขณะเดียวกันการผลิตพลังงานชีวภาพ จะช่วยลดการเกิดก๊าซพิษที่ทำลายบรรยากาศของโลก ถือเป็นการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกิดผลดีในระยะยาวต่อโลก