อาหารกึ่งสำเร็จรูป : แนวโน้มขยายตัว…สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภครัดเข็มขัด

อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีบทบาทต่อคนไทยมากขึ้น เนื่องจากสามารถตอบสนองกับวิถีชีวิตในปัจจุบันที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา และในช่วงที่ผู้บริโภคต้องประหยัดนั้น ความนิยมอาหารกึ่งสำเร็จรูปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นของอาหารกึ่งสำเร็จรูปคือ ราคาจำหน่ายอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมอาหารมากนัก มีความสะดวกรวดเร็ว และมีให้เลือกหลากหลายรสชาติ รวมทั้งยังเป็นอาหารที่เก็บไว้ได้นานอีกด้วย ภาพรวมธุรกิจอาหารกึ่งสำเร็จรูปปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านบรรจุภัณฑ์ รสชาติและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากขึ้น เช่น เมื่อผู้บริโภคหันมาสนใจเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยมากยิ่งขึ้น บรรดาผู้ประกอบการก็คิดค้นอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่ไม่มีส่วนผสมของผงชูรส การหันมาใช้วัตถุดิบเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะโฮลวีท เป็นต้น

ในปี 2548 คาดว่าตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 11,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวของตลาดร้อยละ 5-7 โดยอาหารกึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบันแยกออกได้เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่าตลาดใหญ่มากที่สุดในบรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกประเภท แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะไม่สูงมากนักก็ตาม แต่ก็ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมเป็นอันดับสอง และมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจกล่าวคือ ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์สูงและบางบริษัทมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 50 ส่วนสินค้าที่เพิ่งเข้าตลาดเมื่อไม่นานมานี้คือ ซุปกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันตลาดยังมีขนาดเล็กแต่นับว่าเป็นตลาดที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี และคาดว่าจะเข้ามาแย่งตลาดซุปกระป๋องที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้บางส่วน

นอกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในประเทศแล้ว อาหารกึ่งสำเร็จรูปของไทยยังมีโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศอีกด้วย แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีการแยกพิกัดศุลกากรสำหรับอาหารกึ่งสำเร็จรูปแต่ละประเภทออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่บรรดาผู้ประกอบการยืนยันถึงการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งตลาดส่งออกนั้นครอบคลุมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น การหันมาเปิดตลาดส่งออกนั้นนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารกึ่งสำเร็จรูปของไทย เนื่องจากตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในต่างประเทศนั้นมีขนาดใหญ่มาก และผู้บริโภคในต่างประเทศยอมรับและคุ้นเคยกับอาหารกึ่งสำเร็จรูป โอกาสของผู้ส่งออกไทยคือ การสร้างความแตกต่างของสินค้า และสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของอาหารไทยเป็นจุดขายในการส่งออกสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูป

บะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป…มีโอกาสขยายการส่งออก

ในปี 2548 คาดว่าตลาดของบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปในประเทศมีมูลค่าประมาณ 9,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนแล้วขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0 แยกเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดซองมีสัดส่วนร้อยละ 95 ของมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด ซึ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดซองมีอัตราการขยายตลาดเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยมีสัดส่วนร้อยละ 5 ของมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปชนิดถ้วยนี้นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการคาดหมายว่าในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยจะเป็นตลาดที่ใหญ่มากขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 30-40 ต่อปี นอกจากนี้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ยังเป็นตลาดใหม่สำหรับคนไทย คือ ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดชาม ซึ่งตลาดนี้เริ่มมีวางจำหน่ายแล้วแต่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

ในปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเร่งผลิตผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ๆและนวัตกรรมใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ โดยลงทุนขยายโรงงานเพิ่ม ซื้อเครื่องจักรใหม่ ทำวิจัยตลาดเพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ทั้งนี้เพื่อผลิตสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ซึ่งจากการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหันมาวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณผงชูรส และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการโดยการใส่เนื้อสัตว์และผักเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงรสด้วย นอกจากนี้ยังมีการจับแนวตลาดที่ผู้บริโภคเน้นสินค้าเพื่อสุขภาพ ทำให้มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ หรือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยผลที่ได้รับคือ ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยที่การส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นยังไม่มีการแยกพิกัดศุลกากรอย่างชัดเจน แต่รวมอยู่ในพิกัดอาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ คาดว่าปริมาณการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในแต่ละปีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15 ของปริมาณการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตลาดส่งออกนั้นครอบคลุมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น คาดหมายว่าการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงระยะ 1-2 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายหันมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาสูง โดยมุ่งที่จะส่งออกไปเจาะตลาดบนในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในเรื่องระยะทางและรสนิยมการบริโภคที่คล้ายคลึงกัน

โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป…ขยายตัวเร็ว

ในปี 2548 คาดว่ามูลค่าโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปในประเทศรวมประมาณ 500 ล้านบาท โดยแยกเป็นโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปไม่ต้องต้มหรือโจ๊กที่ใส่น้ำร้อนแล้วสามารถรับประทานได้มีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนตลาดโจ๊กที่ต้องต้มหรือโจ๊กซอง 200 ล้านบาท ปัจจุบันตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ต้องต้มมีอัตราการเติบโตที่ดี หากเปรียบเทียบกับตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่ต้องต้ม โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ กรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป คาดว่าในปีนี้ตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปจะมีสีสันมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหันมาทำกิจกรรมทางการตลาดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไม่ค่อยได้มีการทำกิจกรรมทางการตลาดมากนักในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปประเภทไม่ต้องต้มปีนี้ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 10-15
ปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวคือ การออกรสชาติใหม่ที่แตกต่างจากเดิมเพื่อกระตุ้นยอดขาย การสร้างตลาดใหม่ๆ โดยมองหาตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ ซึ่งเดิมนั้นอาหารกึ่งสำเร็จรูปจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากนัก เพราะมีข้อจำกัดทั้งด้านต้นทุน และการปรุงอาหารที่เน้นความรวดเร็ว แต่เมื่อกระแสสุขภาพนั้นเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปเริ่มนำประเด็นนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการขยายตลาด

ซุปกึ่งสำเร็จรูป…ตลาดยังเล็ก แต่มีโอกาสเติบโตสูง

ตลาดซุปกึ่งสำเร็จรูปในเมืองไทยยังมีขนาดเล็กมาก และยังไม่มีผู้ผลิตรายใดเข้ามาทำตลาดสินค้าประเภทนี้อย่างจริงจัง จะมีเพียงแต่สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง ดังนั้นการบริโภคซุปกึ่งสำเร็จรูปจึงอยู่ในวงจำกัด สำหรับผู้ที่มีรายได้สูง หรือการบริโภคในร้านอาหารและภัตตาคารที่มีเมนูอาหารตะวันตกเท่านั้น อย่างไรก็ตามโอกาสในการแจ้งเกิดของซุปกึ่งสำเร็จรูปก็คือ ปัจจัยหนุนจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานในเมืองที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยละเลยการรับประทานอาหารเช้า ทำให้ผู้ประกอบการต้องการสร้างพฤติกรรมให้คนไทยส่วนหนึ่งหันมารับประทานซุปกึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารเช้า เช่นเดียวกับประเทศต่างๆในตะวันตก รวมทั้งญี่ปุ่น โดยมูลค่าตลาดของซุปกึ่งสำเร็จรูปในประเทศเหล่านี้สูงมาก

บทสรุป

ปัจจุบันตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น จากความโดดเด่นของคุณสมบัติของอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่สะดวก ใช้เวลาในการปรุงไม่นาน ราคาไม่แพงมากนัก หาซื้อได้ง่าย เก็บรักษาไว้ได้นาน และมีให้เลือกหลากหลาย ดังนั้นอาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของคนไทย โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด ทำให้ยอดจำหน่ายของอาหารกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น

ในบรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายนั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนับว่ามีตลาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากเป็นที่นิยมบริโภคอย่างมาก แม้ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าตลาดในประเทศจะไม่สูงมากนัก แต่น่าจับตาเมื่อบรรดาผู้ประกอบการเริ่มหันไปขยายตลาดส่งออก โดยอาศัยจุดเด่นของรสชาติอาหารไทยที่กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศในการเจาะขยายตลาด เนื่องจากตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในต่างประเทศนั้นมีขนาดใหญ่มาก อันเป็นผลมาจากผู้บริโภคในต่างประเทศยอมรับและคุ้นเคยกับการรับประทานอาหารประเภทนี้ ส่วนอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวสูงในประเทศคือ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและซุปกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งการที่เริ่มมีผู้ประกอบการเข้ามาขยายตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นนั้นนับว่าเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองสำหรับตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย