ลดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย : ชะลอขาดดุลการค้าครึ่งปีหลัง 2548

สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยปรากฏยอดขาดดุลการค้ารายเดือนติดต่อกันตลอด 6 เดือนแรก 2548 รวมเป็นยอดขาดดุลสูงถึง 8,153 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกือบเท่ากับตัวเลขประมาณการยอดขาดดุลการค้าของไทยตลอดทั้งปีนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สถานการณ์การค้าของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2548 ต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ โดยภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณ 15% ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ควรจะขยายตัวเกินกว่าอัตราเฉลี่ย 28% จึงจะสามารถประคับประคองให้ยอดขาดดุลการค้าของไทยอยู่ภายในเป้าหมายประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่กำหนดไว้ในปี 2548 หลังจากที่ประเทศไทยมียอดเกินดุลการค้าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

แนวโน้มการขาดดุลการค้าของไทย กระตุ้นให้ทางการไทยผลักดันการส่งออกกันอย่างเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และดูแลด้านการนำเข้าอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะมาตรการรณรงค์ลดการใช้พลังงาน เพื่อชะลอการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ซึ่งพุ่งขึ้น 85% ในช่วงครึ่งปีแรก 2548 รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยงดใช้สินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศด้วย ล้วนเป็นมาตรการที่ช่วยชะลอการนำเข้าโดยรวมของประเทศ และแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของไทยในระยะต่อไป

จับตาสินค้านำเข้า

ในบรรดาสินค้านำเข้าของไทยทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรก 2548 ปรากฏว่าน้ำมันดิบเป็นสินค้าที่มีมูลค่านำเข้ามากเป็นอันดับ 1 โดยทำสถิติสูงถึง 8,803 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าน้ำมันดิบจึงมีอิทธิพลสำคัญต่อการนำเข้าสินค้าโดยรวมของไทยให้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งแพงขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ จึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องร่วมมือกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพื่อชะลอการนำเข้าและบรรเทายอดขาดดุลการค้าของไทย เพราะแม้ว่าภาครัฐและเอกชนกำลังกระตุ้นด้านการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายอัตราเติบโต 20% ก็ตาม แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนไหวจากพิษราคาน้ำมันแพงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยในตลาดโลกไม่ราบรื่นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ปัญหาการขาดดุลการค้าต่างประเทศไม่สามารถคลี่คลายได้ตามที่ตั้งใจกันไว้

ดังนั้น การหันมาระมัดระวังด้านการนำเข้าให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล จึงน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าของไทยได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบต่างประเทศ ซึ่งควรใช้เท่าที่จำเป็นและใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ขณะเดียวกันการลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ เป็นสิ่งที่ต้องกระทำควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นแรงเสริมให้การชะลอการนำเข้าเห็นผลจริงจัง หากทางการไทยสามารถบริหารจัดการด้านการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าฟุ่มเฟือย ก็จะมีส่วนยับยั้งมิให้การนำเข้าโดยรวมพุ่งขึ้นรวดเร็วในปีนี้

สินค้าที่จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในขณะนี้ ได้แก่ รายการสินค้าที่เกินความจำเป็น รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ระดับหรูหราและสินค้าที่มีตรายี่ห้อชั้นนำของต่างประเทศ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า กระเป๋าหนัง เข็มขัดหนัง น้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องประดับอัญมณี เครื่องเล่นเกม ปากกา นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ สุรา เบียร์ รวมทั้งผลไม้เมืองหนาวจำพวกแอปเปิล ลูกแพร์ เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าเหล่านี้หลายรายการเป็นสินค้าที่ไทยสามารถผลิตได้เองในประเทศ แต่ก็ยังปรากฏว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่านิยมของคนไทยบางกลุ่มต้องการใช้ของนอกยี่ห้อต่างประเทศ และเห็นว่าสินค้าเมืองนอกมีคุณภาพสูง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดดุลการค้าอีกครั้ง คนไทยจำเป็นต้องช่วยกันพิจารณาและควบคุมการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ

ถึงแม้บางรายการสินค้าฟุ่มเฟือยยังมีมูลค่านำเข้าไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น ถ้าประเทศไทยไม่ชะลอการนำเข้า ก็มีแนวโน้มว่ายอดนำเข้าสินค้าเหล่านั้นจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่คล้ายคลึงกับสินค้าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ อาทิ สินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องประดับอัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น ขณะเดียวกันสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ รวมทั้งบุหรี่ ก็ควรลดการนำเข้าอย่างจริงจังเช่นกัน

การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย (ม.ค. – มิ.ย. 2548)
รายการสินค้า มูลค่า (ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) % เพิ่ม
– ผลไม้จำพวกส้มสดและแห้ง 1.5 196.2
– เครื่องเล่นเกม 0.3 104.1
– แจ็กเก็ตและเสื้อเบลเซอร์ 2.2 87.6
– ชุดนอนสำหรับผู้หญิง 0.2 81.2
– เครื่องประดับอัญมณีแท้ 106.2 48.9
– รองเท้าหนัง 9.0 40.6
– เครื่องปรับอากาศ 75.5 39.3
– กางเกง กระโปรง และเครื่องแต่งตัว 14.5 36.0
– เครื่องสุขภัณฑ์ 11.8 35.9
– เสื้อเชิร์ต/เบลาส์ 8.3 31.3
– รองเท้ากีฬา 6.6 30.6
– เครื่องทำน้ำร้อน 68.3 24.0
– เครื่องวิดีโอ 40.4 17.7
– เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 80.0 15.9
– เครื่องสำอาง 122.7 14.4
– ขนมหวานและช็อกโกแล็ต 20.4 12.6

จัดระเบียบนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลมีมาตรการสอดส่องดูแลการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระดับหนึ่งแล้ว แต่ควรเพิ่มความเข้มงวดยิ่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นมากนัก เพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศสำหรับใช้ในการนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปสำหรับส่งออกและใช้ในประเทศ

สินค้าอุปโภค-บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ทางการไทยควรจัดระเบียบการนำเข้าเพิ่มเติม แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

– สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ สุรา เบียร์ เป็นต้น เป็นสินค้าที่ควรลดการนำเข้าอย่างยิ่ง ทางการไทยต้องมีมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบจัดเป็นสิ่งเสพติดประเภทหนึ่ง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้เสพ การนำเข้าสินค้าเหล่านี้ ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศโดยเปล่าประโยชน์ และทำลายสุขภาพของประชาชนอย่างน่าเสียดาย ถึงแม้ในช่วงครึ่งปีแรก 2548 ไทยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบลง 6.9% เหลือมูลค่า 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไทยยังคงนำเข้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 16% มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน

ดังนั้น ทางการไทยควรดำเนินมาตรการเชิงรุก ด้วยการรณรงค์ให้สถาบันครอบครัวและสถานศึกษาช่วยกันปลูกจิตสำนึกของเยาวชนไทยให้เห็นถึงพิษภัยร้ายแรงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันเยาวชนรุ่นใหม่มิให้หันไปติดสิ่งเสพติดเหล่านี้แล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานที่แข็งแรงให้แก่ระบบสังคมไทยและช่วยชาติประหยัดการนำเข้าสินค้าอันตรายต่อสุขภาพในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องห้ามนำเข้าซึ่งขัดกับกฎระเบียบการค้าเสรีของโลก

– สินค้านำเข้าภายใต้ข้อตกลง FTA ป

ระเทศไทยบรรลุข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ และมีแนวโน้มที่การจัดทำ FTA ของไทยจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ไทยได้บรรลุข้อตกลง FTA และเริ่มต้นลดภาษีระหว่างประเทศต่างๆกันบ้างแล้ว ได้แก่ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ การปรับลดภาษีขาเข้าสินค้าภายใต้ข้อตกลง FTA มีส่วนทำให้สินค้านำเข้าจากประเทศเหล่านี้มีราคาถูกลง จึงมีแนวโน้มที่ไทยจะนำเข้าสินค้าที่ลดภาษีภายใต้กรอบ FTA เพิ่มขึ้น อาทิ การนำเข้าผลไม้และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจากจีน การนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชจากออสเตรเลีย การนำเข้าอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสัตว์น้ำสดแช่เย็น-แช่แข็งจากนิวซีแลนด์ การนำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมจากอินเดีย เป็นต้น

การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าที่เริ่มลดภาษีภายใต้ FTA ระหว่างกันไปแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ปรากฏว่าไทยกลับเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียในช่วงครึ่งปีแรก 2548 จากเดิมที่เคยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับอินเดีย ขณะที่ไทยพลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับออสเตรเลียในช่วงเดียวกัน จากเดิมที่เคยเกินดุล และไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก ทางด้านการค้าระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ยังไม่เห็นผลกระทบจาก FTA เพราะFTA ไทย–นิวซีแลนด์ เพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเกินดุลการค้ากับนิวซีแลนด์ในช่วง 6 เดือนแรก 2548
ด้วยเหตุนี้ การค้าขายภายใต้กรอบ FTA จึงมีผลเปลี่ยนแปลงต่อสถานะดุลการค้าของไทย ภาครัฐและผู้ส่งออกไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากกรอบ FTA เพื่อสนับสนุนการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญาให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อชดเชยยอดการนำเข้าสินค้าภายใต้ FTA จากประเทศคู่สัญญาเช่นกัน

ประเด็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ก็คือ ไทยมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ก็จำเป็นต้องเปิดตลาดข้าวภายในประเทศให้แก่ต่างชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรีของ WTO แม้ว่าการนำเข้าข้าวมีมูลค่าไม่สูงนักคือประมาณ 0.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คิดเป็นอัตราขยายตัวสูงถึง 423% ในช่วงครึ่งปีแรก 2548

– สินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้เอง

ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าบางรายการจากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ นอกเหนือจากน้ำมันดิบแล้ว ไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ ฯลฯ รวมทั้งสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น เคมีภัณฑ์ เส้นใยใช้ในการทอ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์เหล็ก ฯลฯ แม้ว่าสินค้าเหล่านี้จำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปสำหรับส่งออกและสำหรับใช้ในประเทศ แต่ก็ควรดูแลจัดการให้มีการนำเข้าอย่างเหมาะสม ป้องกันการนำเข้าเพื่อกักตุนและเก็งกำไร

ทั้งนี้ สินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบรายการหนึ่งที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากมูลค่านำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นในอัตราสูงนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงต้นปี 2548 โดยมีอัตราขยายตัว 69.5% มูลค่า 1,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เทียบกับอัตราเพิ่ม 64% และมูลค่า 1,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าทองคำแท่งจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับทองคำสำหรับจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ การนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาทองคำในตลาดโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันราคาทองคำต่างประเทศมีระดับเฉลี่ยราว 430 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับระดับราคาเฉลี่ยประมาณ 350 ดอลลาร์/ออนซ์ระหว่างปี 2545-2546

ข้อพึงระวังที่อาจผลักดันให้การนำเข้าทองคำพุ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็คือ ความหวั่นวิตกว่าราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการไทยอาจเร่งนำเข้าทองคำในช่วงนี้ เพราะคาดว่าราคาจะขยับสูงขึ้นอีกในช่วงปลายปี ทางการไทยจึงควรดูแลการนำเข้าทองคำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องปรามการนำเข้าทองคำเพื่อเก็งกำไร

นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ที่ไทยไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ หรือผลิตได้แต่ไม่เป็นที่นิยม เช่น เครื่องสำอาง หัวน้ำหอม เป็นต้น นับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ควรลดการนำเข้าลง โดยรณรงค์ส่งเสริมการใช้เครื่องสำอางสมุนไพรไทยเป็นการทดแทน ในช่วง 6 เดือนแรก 2548 ไทยนำเข้าเครื่องสำอางเพิ่มขึ้น 14.3% มูลค่า 122.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

– สินค้านำเข้าที่คล้ายคลึงกับสินค้าไทย

แม้ว่าไทยสามารถผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคได้เองภายในประเทศ แต่ก็ยังปรากฏรายการนำเข้าสินค้าเหล่านั้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง เครื่องประดับอัญมณี เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เป็นต้น สาเหตุสำคัญเนื่องจากคนไทยเห็นว่าสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศมีคุณภาพสูง ประกอบกับมีการออกแบบสวยงาม ทันสมัย แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในประเทศ สินค้านำเข้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนมระดับหรูที่มีชื่อเสียงชั้นนำของต่างประเทศ จึงจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะสามารถใช้สินค้าไทยทดแทนสินค้านำเข้าดังกล่าวได้ อาทิ

– เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

การนำเข้าเพิ่มขึ้น 15% เป็นมูลค่า 767 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งปีแรก 2548 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 39% เครื่องทำน้ำร้อนขยายตัว 24% เครื่องวิดีโอ 18% เป็นต้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้น่าจะชะลอการนำเข้าจากต่างประเทศลงได้ และหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

– เสื้อผ้า-รองเท้า-กระเป๋า

มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 11% เป็น 172 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งปีแรก 2548 สินค้าเสื้อผ้า-รองเท้าและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ชุดสูทผู้หญิง เสื้อเชิร์ต/เบลาส์ แจ็กเก็ตและเสื้อเบลเซอร์ กางเกง-กระโปรงและเครื่องแต่งตัว ชุดนอนของผู้หญิง รองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง เป็นต้น

– เครื่องประดับอัญมณี

การนำเข้าเครื่องประดับอัญมณี โดยเฉพาะเครื่องประดับอัญมณีแท้ขยายตัวค่อนข้างสูงในอัตรา 49% เป็นมูลค่า 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งปีแรก 2548 การนำเข้าสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ นับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอีกรายการหนึ่งที่ควรชะลอการนำเข้า

– เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน

สินค้าประเภทเครื่องใช้ภายในบ้านที่มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นสูงในช่วงครึ่งปีแรก 2548 ได้แก่ เครื่องสุขภัณฑ์ขยายตัว 36% มูลค่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการนำเข้าเครื่องสุขภัณฑ์ระดับหรู สินค้านำเข้าประเภทนี้น่าจะสามารถใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศทดแทนได้ โดยผู้ผลิตของไทยควรพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยีเพื่อผลิตสินค้าระดับสูง สำหรับสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยที่มีกำลังซื้อสูงและรสนิยมหรู ซึ่งต้องการใช้สิ่งของเครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านที่สวยงามและมีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล

* ข้อเสนอแนะ *

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ามาตรการที่จะช่วยชะลอการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ อาทิ

1. ส่งเสริมคนไทยใช้ของไทย การรณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยปลูกฝังจิตสำนึกของคนไทยตั้งแต่เด็ก เพื่อลดค่านิยมในการใช้ของนอกในหมู่เยาวชนไทย ซึ่งมักจะติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยยังคงนำเข้าสินค้าหลายรายการที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องตกแต่งบ้าน เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ หากคนไทยหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

2. สนับสนุนสินค้าโอท็อป การที่รัฐบาลผลักดันสินค้าโอท็อปจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว จึงควรส่งเสริมอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อช่วยให้สินค้าโอท็อปของท้องถิ่นต่างๆ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ วัตถุประสงค์สำคัญ ก็คือ สินค้าโอท็อปควรเป็นสินค้าที่คนไทยหันมานิยมซื้อใช้สอยกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นสินค้าคุณภาพมาตรฐานที่พร้อมส่งออกไปทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยด้วย ความสำเร็จของโครงการสินค้าโอท็อปชั้นนำจึงจัดเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้บ้าง ทั้งนี้ มีรายการสินค้าโอท็อปหลายประเภทน่าจะสามารถใช้ทดแทนสินค้านำเข้าได้ เช่น เครื่องตกแต่งบ้านเรือน เครื่องสำอางสมุนไพร เครื่องหอม เครื่องประดับและอัญมณี เป็นต้น

3. ผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่มีคุณภาพ ข้ออ้างประการหนึ่งของการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ก็คือ คุณภาพสินค้าเมืองนอกดีกว่าของที่ผลิตในประเทศไทย ดังนั้น ทางการควรสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านการจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและราคาย่อมเยา การแสวงหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และนวัตกรรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม เพื่อผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสูงขึ้น มีความเป็นสากล ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าระดับหรูต่อไป แม้ว่าในระยะแรกจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่คาดว่าจะส่งผลดีในระยะยาวแก่ผู้ผลิตไทย เพราะจะสามารถยกระดับคุณภาพสินค้าไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ทำให้คนไทยทั่วไปเชื่อมั่นสินค้าไทยและหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ทางการควรให้ความสำคัญกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ใช้สินค้าในประเทศไว้วางใจและยินดีที่จะซื้อของที่ผลิตโดยคนไทยด้วยกันเอง

4. กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า การนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคจากต่างประเทศ ควรกำหนดคุณสมบัติสินค้านำเข้าอย่างชัดเจน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคชาวไทย และป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำจากต่างประเทศ เข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น
– เครื่องรับโทรทัศน์สี : เข้มงวดตรวจสอบชิ้นส่วนและส่วนประกอบให้เป็นไปตามมาตรฐานที่บังคับใช้
– เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ : เร่งดำเนินการให้เครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับด้านการประหยัดพลังงานโดยเร็ว
– เครื่องใช้ไฟฟ้า : เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศตามมาตรฐานที่บังคับใช้
– เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ : กำหนดให้มีใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) จากประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
– สุรา ไวน์ และเบียร์ : กำหนดให้สุรา ไวน์ และเบียร์ที่นำเข้ามีใบรับรองสุขอนามัยที่ออกโดยประเทศผู้ผลิตแนบมากับทุกใบส่งสินค้า และสุ่มตรวจสอบสุรา ไวน์ และเบียร์นำเข้าให้ได้มาตรฐานตามใบรับรองที่แสดงไว้
– เสื้อผ้าสำเร็จรูป : กำหนดมาตรฐานบังคับให้ใช้สีย้อมผ้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
– ผักและผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง : กำหนดให้การนำเข้าผักและผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็งต้องมีใบรับรองปราศจากสารปนเปื้อนและสิ่งผิดปกติกำกับมาด้วย เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและระงับการนำเข้าในกรณีที่ตรวจพบโรคพืช สารปนเปื้อนและสิ่งผิดปกติ
– รองเท้าและเครื่องหนัง : พิจารณากำหนดให้รองเท้าและผลิตภัณฑ์เครื่องหนังเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับเกี่ยวกับการห้ามใช้สารย้อมสีที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง
– ปากกาและอุปกรณ์ : พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดให้ปากกาเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ผสมในน้ำหมึกสำหรับใช้กับปากกา
– สัตว์น้ำสดแช่เย็น-แช่แข็ง : ตรวจจับการลักลอบนำเข้ากุ้งอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำเข้ากุ้งที่มีสารอันตราย เช่น ไนโตรฟูแรน คลอแรมเฟนิคอล เป็นต้น

มาตรการจัดระเบียบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศควรเร่งรัดจัดทำทั้งมาตรการเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาปัญหาขาดดุลการค้าระหว่างประเทศของไทยในปีนี้ รวมทั้งกำหนดมาตรการระยะยาว เพื่อดูแลการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งควรแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ เปลี่ยนค่านิยมของคนไทยที่มักนิยมซื้อสินค้าต่างประเทศราคาแพง ให้หันมาซื้อสินค้าไทยเป็นการทดแทน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็ต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ ตลอดจนถึงการออกแบบสินค้าที่ทันสมัย น่าใช้ และค้นคิดนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ เพื่อแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ จึงจะจูงใจให้คนไทยยอมรับและนิยมใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศในระยะยาว