ขนมไหว้พระจันทร์ปี’48 : กำลังซื้อหดหาย…ยอดขายฝืด

เทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2548 ซึ่งในช่วงนี้ของทุกปีผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่างมีการเร่งผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายเพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่ซื้อไปไหว้หรือรับประทานและเป็นของฝากญาติมิตร แต่มาปีนี้คาดว่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์จะไม่คึกคักมากนัก ดังจะเห็นได้จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆที่มีค่อนข้างน้อยกว่าปีก่อนๆ โดยผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์บางรายมีการชะลอหรือหยุดการทำตลาดในปีนี้ เนื่องจากคาดว่าปริมาณการจำหน่ายจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวทำให้กำลังซื้อของประชาชนมีค่อนข้างจำกัด ประกอบกับราคาจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์เองก็มีการปรับขึ้นตามปัจจัยด้านวัตถุดิบ จึงส่งผลไปถึงพฤติกรรมการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะในกลุ่มที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อไปรับประทานเองหรือซื้อเป็นของฝากญาติมิตรซึ่งถือเป็นตลาดที่กว้างและมีการขยายตัวสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับลดจำนวนการซื้อลงเพื่อให้เหมาะสมกับรายได้และค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่กลุ่มซึ่งซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อใช้ในพิธีไหว้นั้นคาดว่าจะยังคงมีปริมาณการซื้อเฉลี่ยในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสภาพตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2548 มีทิศทางไม่สดใสนัก เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายและตัดส่วนที่จำเป็นน้อยกว่าลง ประการสำคัญ จากการที่ต้นทุนการผลิตขนมไหว้พระจันทร์เพิ่มทั้งในส่วนต้นทุนบรรจุภัณฑ์และค่าขนส่ง รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ แป้ง ไข่ รวมทั้งไส้ต่างๆยกเว้นไส้ที่ทำจากผลไม้ซึ่งราคามีการปรับตัวลดลงอาทิ ไส้ทุเรียน ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ขึ้นอีกประมาณ 2-5 บาทต่อชิ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นผลทางด้านจิตวิทยาที่ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปคิดว่าราคาสินค้าแพงขึ้นมากทำให้ผู้บริโภคลดจำนวนขนมไหว้พระจันทร์ที่ซื้อเฉลี่ยต่อคนต่อชิ้นลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการเองนั้นคาดหวังว่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2548 จะยังคงสามารถเติบโตได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ยังมีกลุ่มผู้บริโภคดั้งเดิมที่ยังคงต้องการซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อใช้ไหว้และรับประทานเองอย่างเหนียวแน่น รวมทั้งการที่ราคาจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นก็ทำให้ตลาดรวมปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาพตลาดของขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2548 เพิ่มเติมดังนี้

ข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์

ผู้ประกอบการรายใหญ่รวมทั้งผู้ประกอบการรายดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น เอส แอนด์ พี, มังกรทอง , เชียงการีล่า ,ท่องกี่ , กาโตว์เฮ้าส์ และสตาร์บัคส์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้จะมีภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการรายใหญ่หรือมีการทำธุรกิจมาช้านานส่งผลให้ผู้ซื้อมีความเชื่อถือต่อคุณภาพและรสชาติของสินค้า ในขณะเดียวกัน กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีความได้เปรียบทางด้านช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถกระจายไปยังสาขาที่มีอยู่ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละวันโดยไม่ต้องพึ่งพาทางด้านช่องทางร้านค้าปลีกเช่นห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ยิ่งผู้ประกอบการรายใดมีสาขาให้บริการมากก็ยิ่งช่วยขยายกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลจากการผลิตในปริมาณมากทำให้สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบได้ในราคาต่ำกว่าผู้ประกอบการที่ผลิตในปริมาณน้อย ซึ่งต้นทุนการผลิตที่สามารถลดลงได้ในส่วนนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายได้เช่น การแจกแถมสินค้าอาทิ ซื้อ 4 ชิ้น แถม 1 ชิ้น หรือหากซื้อในปริมาณมากจะได้ส่วนลดตามที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มนี้มีศักยภาพการแข่งขันสูงและยังคงมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะชะลอตัวก็ตาม

ผู้ประกอบการรายย่อยรวมทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ๆ สำหรับในปีนี้คาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์รายย่อยทั้งรายเดิมและรายใหม่ๆซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตขนมและเบเกอรี่ รวมทั้งร้านอาหารรายเล็กซึ่งทำในรูปแบบครอบครัวจะชะลอการทำตลาด ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการต่างประเมินกันว่ายอดจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้จะไม่สูงมากนักอันเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจนส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุนการผลิตก็มีการปรับขึ้นไปมากทั้งในส่วนของวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ ส่งผลให้ราคาจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์มีการปรับเพิ่มขึ้นซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมกำลังซื้อของประชาชนยิ่งขึ้น ประการสำคัญ จากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดขนมไหว้พระจันทร์เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์หลายรายตัดสินใจที่จะชะลอดูทิศทางตลาดในปีนี้ไปก่อน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับกลุ่มผู้ซื้อขนมไหว้พระจันทร์

กลุ่มที่ซื้อไปไหว้ เนื่องจากส่วนใหญ่ของที่ใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์จะเป็นประเภทขนม ผักและผลไม้ ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลใหญ่ของคนจีนอย่างตรุษจีน สารทจีน หรือเช็งเม้ง ดังนั้นจึงคาดว่ากลุ่มผู้ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อใช้ในพิธีไหว้นั้นจะยังคงมีปริมาณการซื้อเฉลี่ยในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแม้ว่ากำลังซื้อจะปรับลดลงสวนทางกับราคาขนมไหว้พระจันทร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นไป แต่กลุ่มนี้จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายปีละครั้งที่ไม่มากนักพอที่จะจ่ายได้ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มผู้ที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์ส่วนใหญ่จะซื้อเฉลี่ย 7-8 ชิ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนขนมไหว้พระจันทร์ที่ซื้อเฉลี่ยต่อครั้งจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่จากการที่ลูกหลานจีนรุ่นใหม่เริ่มที่จะให้ความสำคัญด้านประเพณีของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อๆกันมาน้อยลงเรื่อยๆภายหลังจากมีการแต่งงานหรือแยกครอบครัวออกไป ทำให้จำนวนประชากรกลุ่มที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อใช้ไหว้เริ่มแคบลงไปมากและส่งผลกระทบต่อตลาดขนมไหว้พระจันทร์พอสมควร

กลุ่มที่ซื้อไปรับประทานหรือเป็นของฝาก เป็นกลุ่มที่เพิ่มบทบาทความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับภายหลังจากที่กลุ่มผู้ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อใช้ไหว้เริ่มลดบทบาทและมีตลาดแคบลงเป็นลำดับ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันไปขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มประเภทของไส้ขนมไหว้พระจันทร์ให้มีความหลากหลายจากเดิมที่มีการผลิตมานานเช่น เม็ดบัว ลูกพลับ เกาลัด พุทราจีน และโหงวยิ้ง ก็พัฒนาปรับปรุงเพิ่มขึ้นมาเป็นไส้ช็อกโกแลต ไส้ชาเขียว ไส้ลูกพรุน และไส้สาหร่าย เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังได้มีการออกแบบรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามและมีคุณค่าสำหรับผู้ได้รับรวมทั้งยังมีการขยายระยะเวลาการจำหน่ายให้นานขึ้น ซึ่งจากปัจจัยดังที่กล่าวถือเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้ตลาดกลุ่มผู้ที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อรับประทานเองหรือซื้อเป็นของฝากญาติมิตรมีบทบาทสำคัญทดแทนตลาดกลุ่มที่ซื้อไปไหว้

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในส่วนของกลุ่มที่ซื้อไปรับประทานหรือซื้อเป็นของฝากในปี 2548 มีทีท่าว่าจะไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้ประกอบการได้เหมือนดังเช่นปีก่อนๆที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ประกอบกับกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกยึดติดด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีดังเช่นกลุ่มที่จำเป็นต้องซื้อไปไหว้ ฉะนั้นเมื่อค่าใช้จ่ายทางด้านการครองชีพทั้งค่าน้ำมัน ค่าอาหารปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ยังคงมีเท่าเดิม กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมาจึงสามารถตัดสินใจลดรายจ่ายค่าขนมไหว้พระจันทร์ที่ซื้อไปฝากญาติมิตรซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่สามารถตัดทอนได้ ดังนั้นผลกระทบต่อตลาดขนมไหว้พระจันทร์จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มนี้จะลดจำนวนการซื้อลงหรือตัดสินใจงดการซื้อทั้งหมด ซึ่งหากเป็นประเด็นหลังก็ส่งผลกระทบต่อตลาดขนมไหว้พระจันทร์ค่อนข้างมากทีเดียว

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในปี 2548 ผู้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์คงต้องทำใจกับยอดขายที่คาดว่าจะมีภาวะไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์กลุ่มที่ซื้อไปรับประทานหรือซื้อเป็นของฝากซึ่งปกติจะมีการขยายตัวสูงก็พลอยซบเซาตามไปด้วย ในขณะที่ตลาดขนมไหว้พระจันทร์กลุ่มที่ซื้อไปไหว้ก็เริ่มจะมีแคบลงเนื่องจากการสืบทอดประเพณีที่เลือนไปตามกาลเวลา ฉะนั้น หากผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์มุ่งหวังเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าเพื่อจับตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงซึ่งยังคงมีกำลังซื้อที่ดีทดแทนกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางลงมาที่ชะลอหรือการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ลง อาทิ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ประจำวัน เดือน หรือปีเกิด ที่เพิ่มคุณค่าซึ่งถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นต้น