ดิสนีย์แลนด์ ฮ่องกง : กระตุ้นนักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายในฮ่องกง 8,600 ล้านบาท

ฮ่องกง เป็นเมืองท่องเที่ยวและสวรรค์ของนักช็อปฯที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คงมีเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 ที่การท่องเที่ยวฮ่องกงถดถอยลงอย่างรุนแรง ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เกื้อหนุนการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของฮ่องกง คือ นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปยังฮ่องกง

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปยังฮ่องกง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ คือ ดิสนีย์แลนด์ ฮ่องกง ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของฮ่องกงให้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยดิสนีย์แลนด์ ฮ่องกงตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวกว่า 5.6 ล้านคนในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

นักท่องเที่ยวคนไทย นับเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวของฮ่องกง โดยจากข้อมูลการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในปี 2547 มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังฮ่องกงจำนวน 238,827 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.6 จากปี 2546 และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 9.2 ของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 2,595,021 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 จากปี 2546

เมื่อพิจารณาในด้านการใช้จ่ายประเภทต่างๆของนักท่องเที่ยวคนไทยระหว่างที่พำนักท่องเที่ยวอยู่ในฮ่องกงพบว่า นักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวฮ่องกงในปี 2547 ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 4,979 บาทต่อวัน โดยใช้เวลาพำนักอยู่ในฮ่องกงเฉลี่ยอยู่ที่ 5.75 วัน ทำให้โดยรวมแล้วในปี 2547 ประเทศไทยสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายในฮ่องกงของนักท่องเที่ยวคนไทยรวมทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่า 6,837 ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า นักท่องเที่ยวคนไทยใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งเป็นเมืองปลอดภาษีด้วยสัดส่วนที่สูงใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 34.6 และร้อยละ 34.5 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวคนไทยในประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวคนไทยในต่างประเทศแล้วพบว่า อันดับ 1 คือ มาเลเซีย รองลงมา คือ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่นตามลำดับ โดยในปี 2547 นักท่องเที่ยวคนไทยใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในฮ่องกงคิดเป็นมูลค่า 2,359 ล้านบาท มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 9 ของมูลค่าการซื้อสินค้าทั้งหมดของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศในปี 2547 ซึ่งมีมูลค่ารวม 25,886 ล้านบาท

ในปี 2548 จากข้อมูลของททท.พบว่า มีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 โดยในเดือนมกราคมมีจำนวน 212,368 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เดือนกุมภาพันธ์มีจำนวน 207,220 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 และเดือนมีนาคมมีจำนวน 280,646 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 โดยรวมแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 มีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 700,234 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1จากปี 2546 ช่วงเดียวกัน

ขณะที่ข้อมูลของการท่องเที่ยวฮ่องกง ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังฮ่องกงเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 10,978,048 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากปีที่แล้วช่วงเดียวกันที่มีจำนวน 10,012,618 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 54 เป็นนักท่องเที่ยวจีนจากแผ่นดินใหญ่จำนวน 5,883,791คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 สำหรับนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางไปยังฮ่องกงในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 จากปี 2547 ช่วงเดียวกัน

ดังนั้น ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 จึงมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังฮ่องกงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 เป็นประมาณ 75,000 คน ทำให้โดยรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังฮ่องกงรวมทั้งสิ้น 137,116 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากปี 2546 ช่วงเดียวกันที่มีจำนวน 108,241 คน

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาจากครึ่งปีแรก แม้มีปัจจัยลบหลายประการที่บั่นทอนการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนในส่วนน้ำมัน และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากราคาสินค้าและบริการที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้กำลังซื้อโดยรวมในระบบเศรษฐกิจถดถอยลง ประชาชนต่างประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นรวมทั้งรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้ตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2548 ได้แก่

– การแข่งขันของสายการบินที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเส้นทางบินระยะสั้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ เอื้อต่อการท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย
– ประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวในเอเชียใช้วิกฤตสึนามิเป็นโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศไทย รวมทั้งตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยที่หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเที่ยวในแถบอันดามัน ด้วยการจัดแพ็กเกจราคาถูกพิเศษดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ
– การเปิดดิสนีย์แลนด์ ฮ่องกง มีแนวโน้มส่งผลกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคนไทยในกลุ่มครอบครัวเดินทางไปยังฮ่องกงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงปิดภาคการศึกษาของไทย และช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ด้วยปัจจัยที่เกื้อหนุนดังกล่าว บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่าการเดินทางไปฮ่องกงของนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 จะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตรากว่าร้อยละ 20 เป็นประมาณ 158,000 คน ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2548 มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังฮ่องกงประมาณ 295,116 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปี 2547 และจากการใช้จ่ายด้านต่างๆในฮ่องกงของนักท่องเที่ยวคนไทย ก่อให้เกิดการรั่วไหลของเงินตราออกนอกประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,600 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 26

10 อันดับประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวคนไทย ปี 2547

อันดับ ประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทย (คน) สัดส่วน
(ร้อยละ) ขยายตัว
(ร้อยละ) การใช้จ่าย
(ล้านบาท) สัดส่วน
(ร้อยละ) ขยายตัว
(ร้อยละ)
1 มาเลเซีย 859,231 33.1 9.5 27,959 33.3 30.7
2 จีน 292,462 11.3 81.8 8,062 9.6 139.3
3 สิงคโปร์ 279,186 10.8 43.3 9,678 11.5 87.6
4 ฮ่องกง 238,827 9.2 61.7 6,837 8.2 107.2
5 ญี่ปุ่น 139,050 5.4 29.1 6,206 7.4 62.8
6 ลาว 105,077 4.0 25.3 2,498 3.0 20.0
7 ออสเตรเลีย 65,073 2.5 3.0 2,795 3.3 66.2
8 เกาหลีใต้ 58,173 2.2 20.8 1,829 2.2 61.6
9 เยอรมนี 54,419 2.1 20.8 2,238 2.7 29.8
10 อังกฤษ 42,974 1.7 31.4 1,880 2.2 46.5
ประเทศอื่นๆ 460,549 17.7 23.8 13,883 16.6 27.7
รวมทุกประเทศ 2,595,021 100.0 27.2 83,865 100.0 50.3

แหล่งข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ที่มา : รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด