กรุงเทพฯ, 20 ตุลาคม 2548 – บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้นำติดอันดับหนึ่งในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศไทย พร้อมบริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด(บริษัทย่อย) ผู้ดำเนินกิจการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เผยว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่ออนุมัติการกระจายหุ้นต่อประชาชนและเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังยื่นไฟล์ลิ่งขอกระจายหุ้นจำนวน 182 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท
นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ประธานกรรมการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้ทำการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟล์ลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งนี้ บริษัทได้แต่งตั้งให้ บริษัท ฟาร์อีสท์ แคปปิตอล แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ ฟาร์อีสท์ จำกัด เป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะทำการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนจำนวน 182 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23.03 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วหลังการเสนอขายครั้งนี้
สำหรับจุดประสงค์ของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ได้ภายในต้นปี 2550 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคตและชำระหนี้เดิมบางส่วน
“ปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก เห็นได้จากอัตราการเติบโตของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ที่สูงขึ้นเฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจากการศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจนี้ บริษัทฯ จึงได้ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ขึ้น โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะป้อนให้กับส่วนการประกอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด และอีกส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้โรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แห่งนี้จะเป็นโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย” นายจุลจิตต์ กล่าว
นายจุลจิตต์ฯ กล่าวต่อถึงผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัทฯ ว่า ที่ผ่านมาผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยในปี 2547 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 99 ล้านบาท ไม่รวมรายการพิเศษกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2546 กว่า 200 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2547 บริษัทฯ ได้มีการปรับแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ เป็นผลให้มีกำไรพิเศษจากการปรับโครงสร้างอีก 1,433 ล้านบาท ส่งผลให้ระดับภาระหนี้ลดลงและมีศักยภาพพอเพียงในการขยายกิจการ สำหรับผลประกอบการล่าสุด (ม.ค. – มิ.ย.) ของปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้และกำไรสุทธิ จำนวน 646 ล้านบาท และ 68.4 ล้านบาท ตามลำดับ
“ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าคุณภาพสูงครองตำแหน่งผู้นำในตลาดด้วยส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับมีความเชื่อมั่นว่าทิศทางของอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะพลังงานไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศและการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ประกอบกับการต่อยอดธุรกิจในการบริการเชิงพลังงานครบวงจรของบริษัทฯ อาทิ การให้บริการซ่อม บำรุง ติดตั้ง และงานที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการพลังงานที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เป็นผลจากความตื่นตัวในการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน” นายจุลจิตต์ กล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังการผลิต 3,000 เมกะโวลต์แอมแปร์ต่อปี พร้อมด้วยธุรกิจต่อยอดในรูปแบบการบริการในเชิงพลังงานครบวงจร อาทิ งานซ่อมบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าทุกระบบ มอเตอร์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า งานออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าอุตสาหกรรมทั้งระบบ Medium และ Low Voltage งานที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการทั้งระบบบริหารคุณภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น พร้อมด้วย บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการประกอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งชนิดผลึกเดี่ยวซิลิคอนและชนิดผลึกโพลีซิลิคอน พร้อมด้วยโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาค ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2550