TUCAR กรมคุมประพฤติ และ สสส. 3 ภาคีเครือข่าย ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาระบบงานต้นแบบเพื่อการแก้ปัญหายาเสพติด

จากแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นในการปราบปรามยาเสพติด และนำผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทางสำนักงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับสารแอมเฟตามีน ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (TUCAR) และ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบงานต้นแบบเพื่อการแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร” ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ที่ประกอบไปด้วย 2 โครงการ คือ โครงการศึกษาและพัฒนากระบวนการ ฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยพลังชุมชน หรือ “ร้อยใจ ให้โอกาส ในอ้อมกอดชุมชน” ที่ดำเนินการโดย TUCAR และ โครงการพลังเครือข่ายยุติธรรมชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด ที่ดำเนินการโดย กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งทั้งสองโครงการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 และมีรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกัน แต่มีจุดหมายเดียวกันเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้อำนวยการโครงการพลัง เครือข่าย ยุติธรรมชุมชน กล่าวว่า โครงการพลังเครือข่ายยุติธรรมชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด ที่กรมคุมประพฤติเป็นผู้ดูแล ได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหายาเสพติด และแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคมไปด้วย โดยเป็นโครงการที่มีลักษณะกึ่งวิจัยและปฏิบัติการจริง เพื่อต้องการหารูปแบบการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาอื่นๆ อย่างครบวงจร โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการทดลองในชุมชนต่างๆ จำนวน 18 ชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ยุติธรรมถ้วนหน้า ประชามีส่วนร่วม” ซึ่งจากการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้ต่อยอดไปสู่การปฏิบัติในการนำประชาชนเข้ามาเป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชนได้มากกว่า 20,000 คน และเครือข่ายยุติธรรมชุมชนเหล่านี้สามารถรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ได้มากกว่า 30 แห่ง สำหรับสถิติผู้เสพยาเสพติดตามในภาพรวม ระหว่าง ปี 2546 – ปี 2548 ได้ตรวจพิสูจน์ 63,502 ราย ฟื้นฟู 55,780 ราย ผลการฟื้นฟูเป็นที่น่าพอใจ 83 % จึงเห็นได้ว่าโครงการที่ดำเนินการ เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือปัญหาอื่นๆ ในชุมชนได้

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระบบงานต้นแบบเพื่อการแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร กล่าวว่า จากสถิติของผู้ป่วยซึ่งใช้สารเสพติดโดยผ่านโปรแกรมบำบัดจากสถานพยาบาล พบว่าในระยะยาวประมาณ 80 % มีโอกาสกลับไปเสพยาซ้ำ จึงทำให้โปรแกรมบำบัดดังกล่าวถูกมองว่าไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้นนักวิชาการจึงร่วมกันระดมความคิดหาวิธีการบำบัดอย่างครบวงจร จนพบว่าชุมชนเข้มแข็งน่าจะเป็นแหล่งบำบัดที่ดีได้ โดยเป็นลักษณะของการนำผู้ป่วยเข้าไปบำบัดในชุมชนจริงๆ โดยจัดหาอาสาสมัคเป็น “ครอบครัวพักใจ” เพื่อนำผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการฯ เข้าไปพักอาศัยอยู่ด้วยเป็นระยะเวลา 4 เดือน ในฐานะครอบครัวอุปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รู้จักการใช้ศักยภาพชุมชน เช่น ประเพณีวัฒนธรรมชุมชน รูปแบบเศรษฐกิจชุมชน และจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือได้ว่า โครงการของเราในแบบชุมชนเข้มแข็งบำบัดนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากผู้ป่วยที่ผ่านโครงการส่วนใหญ่จะไม่มีการกลับไปเสพยาซ้ำ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่สำคัญคือการใช้พลังชุมชนประสานกับหลักวิชาการเพื่อบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้อย่างมีสัมฤทธิ์ผล

นายวรเดช สุขขวัญ ผู้ใหญ่บ้านนาปาบ ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ผู้แทนชุมชนบ้านนาปาบ โครงการศึกษาและพัฒนากระบวนฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยพลังชุมชน กล่าวว่า หลังจากที่โครงการพัฒนาศักยภาพทางสังคม เข้ามาในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านได้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มเติม และช่วยสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้ระบบครอบครัวอุปถัมภ์ เปิดรับผู้ที่ผ่านการบำบัด มาอยู่ร่วมในครอบครัว เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นเลิกยาเสพติดอย่างเด็ดขาด และทุกฝ่ายเข้าใจแนวทางและเป้าหมายของการทำงานอย่างชัดเจน ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างราบรื่นไร้ปัญหา

นายชยุต ไชยธานี ประธานอบต. ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ผู้แทนชุมชน บ้านจอกขวาง โครงการพลังเครือข่ายยุติธรรมชุมชน กล่าวว่า อดีตบ้านจอกขวางเป็นหมู่บ้านสีแดง มีการระบาดของยาเสพติดสูงมาก เมื่อกรมคุมประพฤติได้ลงพื้นที่ทำโครงการพลังเครือข่าย เพื่อให้ความรู้ด้านยาเสพติดกับประชาชน และก่อตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน จนกระทั่งมีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอดส่องดูและพฤติกรรมของคนในชุมชน ทำให้ปัญหายาเสพติดลดน้อยลงไป นอกจากนี้ยังเข้ามาอบรมอาชีพเสริมให้ชาวบ้านที่หลากหลายอีกด้วย

นายสุทิน ธราทิน ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการแผนงานยาเสพติด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนงานการแก้ปัญหายาเสพติดที่ได้ดำเนินการนั้น มีเป้าหมายหลักๆ คือเริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลซึ่งเป็นผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ถูกจุดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เป็นการพัฒนาระบบบำบัดทางเลือก โดยใช้องค์กรที่เป็นชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลให้มีแผนแก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ จากนั้นจะร่วมกันพัฒนาเยาวชนเป็นเครือข่ายป้องกัน ยาเสพติด และจัดตั้งศูนย์วิชาการ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านยาเสพติด และท้ายที่สุดคือการสนับสนุนให้มีแผนงานในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและมีการจัดตั้งกลุ่มทำงานประสานเป็นภาคีเครือข่ายที่มีศักยภาพในการป้องกันต่อไปในอนาคต

โครงการศึกษาและพัฒนากระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยพลังชุมชน หรืออาจเรียกเพื่อความเข้าใจที่ชัดขึ้นว่า “โครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัด” เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้รูปแบบการจัดบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และได้เครือข่ายหรืออาสาสมัครที่จะเป็นแกนนำในการบำบัด ฟื้นฟู และป้องกันปัญหายาเสพติด ซึ่งจากการดำเนินการในพื้นที่นำร่องใน 7 จังหวัด 7 ชุมชน คือ 1. ชุมชนบ้านเสียว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น 2. ชุมชนบ้านดอนไพล อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา 3. ชุมชนบ้านแม่ฮักพัฒนา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 4. ชุมชนบ้านหนองกลางดง กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 5. ชุมชนหนองหมากฝ้าย อ.วัฒนานคร จ. สระแก้ว 6. ชุมชนบ้านดงบัง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี 7. ชุมชนบ้านนาปาบ อ.รัตภูมิ จังหวัดสงขลา

ส่วนโครงการพลังเครือข่ายยุติธรรมชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด เป็นโครงการที่เน้นแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่ก็รวมการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคมไปด้วย โดยเป็นโครงการที่มีลักษณะกึ่งวิจัยและปฏิบัติการจริง ทั้งนี้เพื่อต้องการหารูปแบบการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาอื่นๆ อย่างครบวงจรที่มีลักาณะสอดคล้องกับบริบทของชุมชน และมีกระบวนการทำให้เกิดและพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน และท้ายสุดได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนทั้งด้านมาตรฐานการทำงาน รูปแบบการทำงาน และการบริหารจัดการชุมชน โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการทดลองในชุมชนต่างๆ ประกอบ 9 จังหวัด 18 ชุมชน คือ 1. ชุมชนน้อมเกล้า เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 2. ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 3.ชุมชนบดินทร์เดชา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 4. ชุมชนบ้านศรีมูล อ.บ้านทิ จ.ลำพูน 5. ชุมชนบ้านป่าลาน อ.บ้านธิ จ.ลำพูน 6. ชุมชนมณีไพรสณฑ์ อ.แม่สอด จ.ตาก 7. ชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก 8. ชุมชนบ้านผือ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ 9. ชุมชนบ้านเมืองน้อยใต้ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ 10. ชุมชนจอกขวาง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม 11. ชุมชนบ้านดงใหญ่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม 12. ชุมชนบ้านสนวน อ.เมือง จ.นครราชสีมา 13. ชุมชนบ้านโนนสว่าง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา 14. ชุมชนบ้านโนนกราด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา 15. ชุมชนบ้านท้ายโขด อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 16. ชุมชนบ้านซากตาด้วง อ.แกลง จ.ระยอง 17. ชุมชนหลังวัดเมืองยะลา อ.เมือง จ.ยะลา 18. ชุมชนมุสลิมสัมพันธ์ อ.เมือง จ.ยะลา

จากกการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการ ที่ผ่านมาพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการนำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ได้ข้อค้นพบว่า ชุมชน คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและแก้ไข ป้องกันปัญหาทุกประการ ไม่ว่าจะใช้รูปแบบ หรือวิธีการใด หากชุมชนมีความพร้อม มีศักยภาพในการดำเนินการเพื่อทำให้ชุมชน สังคมตนเองมีความสงบสุขแล้วก็ย่อมทำให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ ซึ่งจากความสำเร็จของการกระตุ้น สร้างความเข้มแข็งชุมชนใน 2 โครงการ จะเป็นบทเรียน หรือเส้นทางลัดที่ทรงคุณค่าในการที่จะนำไปใช้ในการขยายความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดขึ้นทั่วสังคมไทย