ประชุมผู้นำเอเปค 2548 : ผลักดันการเจรจารอบโดฮา

การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค (APEC Summit) ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2548 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ นับว่าเป็นการรวมตัวของประเทศสมาชิกเอเปค 21 ประเทศ ที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ให้เกิดผลคืบหน้า โดยรัฐมนตรีของ WTO ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 148 ประเทศ มีกำหนดการประชุม WTO รอบโดฮา ในเดือนธันวาคม 2548 นอกจากนี้ในโอกาสของการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ผู้นำไทยกับเปรูจะร่วมกันประกาศผลการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู ซึ่งได้ข้อสรุปรายการสินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) จำนวน 4,000 รายการ หรือ 70% ของรายการสินค้าทั้งหมด คาดว่า FTA ไทย-เปรูจะเริ่มมีผลบังคับใช้ปี 2549

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า แม้กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) จะไม่ใช่เวทีเจรจาการค้า แต่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเวทีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปค 21 ประเทศ เป็นกลุ่มภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน โดยมีประชากรในกลุ่มรวมราว 2,600 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มเอเปคคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของ GDP ของโลก และการค้าของเอเปคคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
แม้ว่าสมาชิกเอเปคมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ได้แก่ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเอเปคประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ผนวกกับประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เปรู ชิลี ระบบการปกครองประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งครอบคลุมระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย ระบอบสังคมนิยม ระบอบสหพันธรัฐ และระบอบราชาธิปไตย เป็นต้น อย่างไรก็ตามเอเปคมีวัตถุประสงค์หลักเดียวกัน คือ (1) พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี (WTO) (2) สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก และ (3) เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO)

เอเปค
? ประชากรคิดเป็นสัดส่วน 44% ของประชากรโลก
? GDP คิดเป็นสัดส่วน 57% ของ GDP โลก
? การค้าคิดเป็นสัดส่วน 45% ของการค้าโลก

วาระสำคัญของการหารือ & ผลดีต่อไทย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ประเด็นสำคัญของการหารือของผู้นำเอเปค 21 ประเทศครั้งนี้ มีความสำคัญต่อทิศทางการเปิดเสรีของการค้าโลก และร่วมมือป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่เป็นภัยต่อภูมิภาค ได้แก่ โรคระบาดไข้หวัดนก และภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมกันประกาศแถลงการณ์ปูซาน คาดว่าจะส่งผลดีต่อไทยในฐานะหนึ่งในประเทศสมาชิกเอเปค สรุปได้ดังนี้

?สนับสนุนการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา & ลดการอุดหนุนภาคเกษตรของประเทศพัฒนาแล้ว
เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีซึ่งถือว่าเป็นระบบการค้าที่ดีที่สุดในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และสร้างความมั่นคงให้กับการค้าของประเทศสมาชิก กลุ่มเอเปคจึงมีบทบาทสำคัญในการเจรจาของ WTO เพื่อให้เกิดความสมดุล
เอเปคสนับสนุนการขจัดการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของสมาชิก WTO ซึ่งกำหนดจะจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าโลก ณ ฮ่องกง ในเดือนธันวาคม ศกนี้ โดยจะพยายามเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงเพื่อลดการอุดหนุนภาคเกษตรที่บิดเบือนการค้าและลดอุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (market access) สำหรับการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม สมาชิกเอเปคสนับสนุนการใช้ Swiss Formula เป็นแนวทางการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมในการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา คือ อัตราภาษีสูงจะลดลงมากกว่าอัตราภาษีต่ำ โดยให้มีความยืดหยุ่นสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถลดภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับว่าเอเปคเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะสนับสนุนให้การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา ซึ่งเริ่มต้นเจรจาตั้งแต่ปี 2544 เกิดผลคืบหน้าโดยเร็ว ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้การเจรจาสิ้นสุดวันที่ 1 มกราคม 2548 แต่ต้องเลื่อนกำหนดเวลาออกไป เพราะการประชุมรัฐมนตรี WTO ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ในปี 2546 ประสบความล้มเหลว
ขณะนี้ไทยได้เข้าร่วมกับกลุ่มจี 20 (G20) ซึ่งประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรวม 21 ประเทศ เพื่อต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้วให้ลด/ยกเลิกการอุดหนุนภาคเกษตรภายในประเทศ เช่น สหภาพยุโรปที่ให้การอุดหนุนสินค้าเกษตรในประเทศสูงถึงปีละแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากการผลักดันของกลุ่มจี 20 ประสบผลสำเร็จ จะทำให้ข้าวและน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของไทย มีราคาสูงขึ้น โดยธนาคารโลกคาดว่าปริมาณการค้าข้าวและน้ำตาลในโลกจะเพิ่มขึ้น 20% หากประเทศพัฒนาแล้วยอมลดภาษีและลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรไทยรวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

?บรรลุเป้าหมายโบกอร์ (Bogal Goals)
ผู้นำเอเปคได้ประกาศเป้าหมายโบกอร์ (Bogal Goals) ในปี 2537 โดยมุ่งให้ประเทศสมาชิกเปิดเสรีการค้าและการลงทุนโดยสมัครใจภายในปี 2553 สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และภายในปี 2563 สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งขณะนี้นับว่าเป้าหมายโบกอร์ได้บรรลุผลสำเร็จที่น่าพอใจ โดยอัตราภาษีเฉลี่ยรวมของเอเปคอยู่ระหว่าง 6-7% จาก 17% เมื่อเริ่มก่อตั้งเอเปคในปี 2532
ในการประชุมครั้งนี้จะมีการทบทวนและประเมินผลความคืบหน้าในการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้าหมายโบกอร์ ได้แก่ การสนับสนุนการเจรจาการค้าพหุภาคี การจัดทำการรวมกลุ่มทางภูมิภาค (Regional Trading Arrangement : RTAs) และการจัดทำเขตการค้าเสรี ทวิภาคี (FTA) ระหว่างสมาชิกเอเปคให้มีคุณภาพ ปรับปรุงการจัดทำแผนปฏิบัติการรายสมาชิก (Individual Action Plans : IAPs) การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมของสมาชิก (Collective Action Plans : CAPs) และการจัดทำแผนงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาคลง 5% ภายในปี 2549 เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ เช่น ลดขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร จัดทำมาตรฐานร่วมกันของสินค้า และสนับสนุนให้ใช้ระบบการค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) มากขึ้น ทั้งนี้ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของสมาชิกเอเปคเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าและการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทยด้วย

?ป้องกันโรคระบาดไข้หวัดนก
การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกนับเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ เพราะโรคไข้หวัดนกได้คร่าชีวิตประชาชนในหลายประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) รายงานว่า ผลจากการระบาดของไข้หวัดนกทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคได้รับความเสียหายถึง 283,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียลดลง 6.5%
เอเปคได้จัดให้มีการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมตัวและรับมือกับโรคไข้หวัดนก “Meeting on Avian and Pandemic Influenza Preparedness and Response” วันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2548 ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เพื่อพัฒนากลไกการร่วมมือในเอเปคให้ ดีขึ้นในการป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างความโปร่งใส และเตรียมความพร้อมภายในกลุ่มเอเปคเพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนก และขณะนี้สมาชิกเอเปคตกลงที่จะจัดทำแผนป้องกันการระบาดของไข้หวัดนก โดยสมาชิกแต่ละประเทศจะจัดทำมาตรการโปร่งใสให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ไทยเตรียมเสนอที่ประชุมผู้นำเอเปคให้จัดหายาต้านโรคไข้หวัดนกในกลุ่มเอเปค และให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายตามความจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ การหารือเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกของผู้นำเอเปคครั้งนี้ จะทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก ส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย และหากเอเปคตกลงที่จะจัดตั้งคลังยาสำรองสำหรับรับมือกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก จะทำให้การป้องกันการระบาดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

?ปราบปรามการก่อการร้ายข้ามชาติ
เมื่อเริ่มประชุมเอเปคในปี 2532 การประชุมหารือของเอเปคเน้นประเด็นทางเศรษฐกิจอย่างเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนและไต้หวัน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์โจมตีตึก World Trade ประเทศสหรัฐฯ ในปี 2544 สหรัฐฯ ได้ผลักดันเรื่องสงครามการก่อการร้ายข้ามชาติในที่ประชุมผู้นำเอเปคปี 2544 เป็นครั้งแรก และในที่ประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงต้องการใช้เวทีนี้เพื่อให้สมาชิกเอเปคร่วมมือกันเพื่อยุติการก่อการร้าย ซึ่งนับว่าเป็นความร่วมมือในกลุ่มเอเปคเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติที่จะส่งผลต่อชีวิตและสภาพจิตใจของประชาชน ความปลอดภัยในการเดินทางไปมาภายในภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของภูมิภาค

ความสัมพันธ์ไทย & เอเปค

ไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีเอเปค โดยไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี2546 โดยใช้หัวข้อการประชุม “World of Difference : Partnerships for the Future” เนื่องจากสมาชิกเอเปคเป็นการรวมตัวกันของ 21 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยประเทศในเอเชีย 13 ประเทศ ประเทศในทวีปอเมริกา 5 ประเทศ และประเทศโอเชียเนีย 3 ประเทศ มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ศาสนา และระบบการปกครอง แต่นับว่าไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้นกับประเทศสมาชิกเอเปค
เอเปคมีบทบาทสำคัญด้านการค้าและการลงทุนของไทย รวมทั้งเป็นแหล่งที่มาของรายได้จากการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอเปคด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สรุปได้ดังนี้

การค้าระหว่างไทยกับเอเปค
เอเปคเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าที่สำคัญที่สุดของไทย ทั้งนี้ คู่ค้าสำคัญ 9 อันดับแรกของไทยล้วนแต่เป็นสมาชิกเอเปค ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้สมาชิกอาเซียน 7 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศ เป็นสมาชิกเอเปค (ยกเว้นพม่า ลาว และกัมพูชาที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปค) โดยการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปค คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย
ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 (มกราคม-กันยายน) การค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปคมีมูลค่า 120,687 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 59,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16.37% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นสัดส่วน 72.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าออกสำคัญของไทยไปเอเปค ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ยางพารา เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ไทยนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 61,463.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 26.73% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นสัดส่วน 68.73% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเอเปค ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เป็นต้น
ไทยเคยขาดดุลการค้ากับเอเปค จนกระทั่งปี 2541 ที่ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเอเปคเรื่อยมา โดยมีมูลค่าเกินดุลเฉลี่ย 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2541-2547) แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ไทยกลับเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเอเปคอีกครั้งหนึ่ง ยอดขาดดุล 2,240.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับที่ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเอเปคมูลค่า 2,391.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547 เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (สัดส่วนรวมกันถึงราว 80% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากเอเปค) เพิ่มขึ้น 26% และ 22.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 ส่วนไทยนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (สัดส่วน 6.6% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากเอเปค) เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547

การลงทุนไทย-เอเปค
การลงทุนของสมาชิกเอเปคในไทยมีความสำคัญมาก โครงการลงทุนของสมาชิกเอเปคที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 มีมูลค่ารวม 180,224 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 76% ของโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 สมาชิกเอเปคเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก โดยมีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้แก่ ญี่ปุ่น มูลค่าโครงการลงทุน 140,186 ล้านบาท สิงคโปร์ (9,769 ล้านบาท) สหรัฐฯ (7,219 ล้านบาท) ไต้หวัน (6,455 ล้านบาท) แคนาดา (5,630 ล้านบาท) มาเลเซีย (5,366 ล้านบาท) จีน (1,656 ล้านบาท) เกาหลีใต้ (1,111 ล้านบาท) อินโดนีเซีย (1,023 ล้านบาท) ฮ่องกง (853 ล้านบาท) ออสเตรเลีย (806 ล้านบาท) และฟิลิปปินส์ (150 ล้านบาท)
การท่องเที่ยวไทย-เอเปค
เอเปคเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมดของคนไทย นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเอเปคในช่วง 4 เดือนแรกปี 2548 ราว 833,500 คน เพิ่มขึ้นราว 10% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีจำนวนประมาณ 759,000 คน
ส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกเอเปคที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 63% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางมาไทย ช่วง 4 เดือนแรกปี 2548 มีจำนวนราว 2,176,500 คน ลดลง 12.5% เทียบกับ 4 เดือนแรกของปี 2547 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเปคเดินทางมาไทยราว 2,488,000 คน เนื่องจากผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิถล่มไทยในเดือนธันวาคม 2547 และเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในไทย แต่คาดว่าครึ่งปีหลัง 2548 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2548 ซึ่งเป็นฤดูกาลเดินทางท่องเที่ยว

การประกาศผลเจรจา FTA ไทย-เปรู
ในการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ไทยและเปรูจะประกาศผลการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-เปรู ซึ่งได้ข้อสรุปรายการสินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) จำนวน 4,000 รายการ หรือ 70% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยแบ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่จะลดภาษีเป็น 0% ทันทีที่ข้อตกลง FTA มีผลบังคับใช้ และกลุ่มสินค้าที่จะลดภาษีเป็น 0% ภายใน 5 ปี และยังคงต้องเจรจาเรื่องสินค้าอ่อนไหวต่อไป คาดว่า FTA ไทย-เปรูจะเริ่มมีผลบังคับใช้ปี 2549 ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-เปรู เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2547 หลังจากที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในช่วงระหว่างการประชุมผู้นำเอเปคในปี 2546 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรี และการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมทั้งการขยายความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับว่าเวทีการประชุมผู้นำเอเปคเป็นโอกาสให้ผู้นำประเทศพบปะหารือกันและนำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับทวิภาคีที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ไทยตั้งเป้าหมายในการจัดทำ FTA ไทย-เปรู เพื่อให้เปรูเป็นประตูการค้า (gateway) ไปสู่ภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งเปรูมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในฐานะเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มแอนเดียน (ANDEAN) รวมทั้งขยายความเชื่อมโยงไปสู่ทวีปอเมริกาและยุโรป ซึ่งเปรูได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันเปรูสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่ภูมิภาคอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการขยายตลาดการค้าสินค้า การค้าภาคบริการ และการลงทุน นับว่าเปรูเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกาที่ไทยจัดทำ FTA ทวิภาคีด้วย ซึ่งเป็นการสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกใหม่ของไทย

?การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2548 นี้ มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันวาระทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะการสนับสนุนการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาของ WTO ถือว่าเป็นรอบแห่งการพัฒนา (Doha Development Agenda : DDA) ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าภาคบริการ และการลงทุนของโลก ให้เกิดความสมดุล ท่ามกลางท่าทีที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มสมาชิก WTO ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนไว้
ขณะนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่การต่อรองการเปิดตลาดภาคเกษตรที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการอุดหนุนภาคเกษตรภายในประเทศ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดเสรีภาคบริการ และลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น แถลงการณ์สนับสนุนการเจรจา WTO ของการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองที่จะผลักดันการเจรจา WTO ครั้งสำคัญก่อนการประชุมรัฐมนตรี WTO ในเดือนธันวาคม ศกนี้ ณ ฮ่องกง ซึ่งไทยจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะความสำเร็จของการเจรจา WTO รอบโดฮา จะทำให้ตลาดเปิดกว้างขึ้น ลดการบิดเบือนทางการค้าของสมาชิก WTO 148 ประเทศ ส่งผลให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น