ทองคำตรุษจีน : ราคาแพง พลังซื้อลด

ราคาทองคำของไทยเข้มแข็งต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2549 โดยทรงตัวสูงกว่า 10,000 บาท/บาทเกือบตลอดเดือนมกราคม ขณะนี้ราคาซื้อ-ขายทองคำแท่งเคลื่อนไหวอยู่ในระดับราว 10,300-10,400 บาท/บาท การที่ทองคำไทยมีราคาแพงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อทองคำของคนไทยทั่วไปให้ชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนของปีนี้ ซึ่งตามปกติเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนนิยมซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำ เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวไทยเชื้อสายจีนและมอบเป็นของขวัญให้แก่ญาติมิตร รวมถึงพนักงานลูกจ้างเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน แต่เนื่องจากราคาทองคำแท่งในช่วงตรุษจีนของปีนี้อยู่ในระดับประมาณ 10,400 บาท เพิ่มขึ้นถึง 36% หรือแพงขึ้น 2,750 บาท/บาท เมื่อเทียบกับราคาทองคำในช่วงเทศกาลตรุษจีนของปีที่แล้ว ซึ่งมีราคาประมาณ 7,650 บาท ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำชะลอการซื้อทองคำชั่วคราวในช่วงนี้ เพราะคาดว่าราคาทองคำอาจมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป จึงจะตัดสินซื้อทองคำ

อย่างไรก็ตาม ทองคำและเครื่องประดับทองคำยังคงเป็นทรัพย์สินมีค่าที่คนไทยต้องการเก็บออม รวมทั้งนิยมสวมใส่เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามและเพื่อบ่งบอกฐานะทางสังคม แม้ว่าราคาทองคำที่แพงขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ร้านทองแถบเยาวราชค่อนข้างเงียบเหงา แต่คาดว่าเมื่อราคาทองคำอ่อนตัวลง น่าจะจูงใจให้มีแรงซื้อทองคำกลับคืนมา โดยเฉพาะบรรดาลูกจ้างพนักงานห้างร้านต่างๆ ที่ได้รับเงินอั่งเปาในช่วงตรุษจีน นอกจากจะเก็บออมในรูปตัวเงินแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะแบ่งสรรเงินออมส่วนหนึ่งสำหรับซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำ โดยทั่วไปหากราคาทองคำมีแนวโน้มชะลอลงเมื่อใด ก็จะจูงใจให้ประชาชนที่มีเงินเก็บออมหวนกลับมาซื้อทองคำอยู่เสมอ

ปัจจุบันมีประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ พฤติกรรมการซื้อทองคำและเครื่องประดับทองรูปพรรณของคนไทยส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยนิยมซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำอย่างคึกคักเพื่อเป็นของขวัญของกำนัลและเพื่อเก็บออมในช่วงเทศกาลตรุษจีน เปลี่ยนเป็นความนิยมซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่สากลเป็นการทดแทน เนื่องจากบรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ หันไปจ่ายเงินโบนัสเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกจ้างพนักงานตอนสิ้นปี มีส่วนทำให้ความต้องการซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่แบบสากลไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากปีใหม่แบบสากล แม้ว่าจะยังคงมีการแจกอั่งเปา แต่กำลังซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำมีแนวโน้มน้อยกว่าในช่วงปีใหม่สากล ประกอบกับราคาทองคำแพงขึ้นในช่วงนี้ ทำให้การซื้อทองคำและเครื่องประดับทองคำในเทศกาลตรุษจีนปีจอไม่คล่องตัว เมื่อเทียบกับตรุษจีนปีไก่

ทองคำของไทยมีราคาแพงขึ้นเป็นลำดับตลอดปี 2548 จวบจนถึงต้นปี 2549 โดยเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาทองคำต่างประเทศ เนื่องจากทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดทองคำของไทย เป็นทองคำที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยแทบไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสินแร่ทองคำที่สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ ทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของไทยที่ซื้อ-ขายในตลาดทองไทย เป็นการนำเข้าทองคำแท่งจากต่างประเทศ แล้วนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับทองรูปพรรณในประเทศไทย ดังนั้น ปัจจัยกำหนดราคาทองคำของไทย จึงขึ้นอยู่กับราคาทองคำต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเป็นหลัก

ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่มีอิทธิพลต่อราคาทองคำของไทย สรุปได้ดังนี้

? ราคาทองคำต่างประเทศ การที่ทองคำต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับราคาเฉลี่ยประมาณ 420 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงต้นปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 517 ดอลลาร์/ออนซ์ ณ สิ้นปี 2548 และทำสถิติราคาทองคำต่างประเทศสูงสุดในรอบ 25 ปี แตะระดับ 563.60 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 คิดเป็นราคาทองคำแพงขึ้นถึง 34% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

ราคาทองคำต่างประเทศเข้มแข็งอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปีที่แล้ว ทะลุระดับ 500 ดอลลาร์/ออนซ์ และทำสถิติราคาสูงสุดระดับใหม่เมื่อกลางเดือนมกราคม 2549 เนื่องจากมีปัจจัยใหม่ๆ กระตุ้นความต้องการซื้อทองคำในตลาดต่างประเทศให้ขยับสูงขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่

(1) น้ำมันแพงกระตุ้นเงินเฟ้อ เหตุการณ์ตึงเครียดทางการเมืองในอิหร่านและไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบสำหรับส่งออกรายใหญ่รายหนึ่งในกลุ่มโอเปก ทำให้หวั่นเกรงกันว่าจะกระทบต่อปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก ผลักดันราคาน้ำมันดิบแพงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้นักลงทุนและกองทุนต่างๆ เข้าซื้อทองคำเก็บไว้เพื่อเป็นหลักประกันเงินเฟ้อ เพราะทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามั่นคงและปลอดภัยที่สุด

(2) จีนถือทองคำสำรองเพิ่ม กระแสข่าวที่ว่าทางการจีนอาจปรับสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าทางการจีนอาจเปลี่ยนมาถือทองคำสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการซื้อทองคำในตลาดโลกกระเตื้องขึ้น จึงเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เกื้อหนุนราคาทองคำให้เข้มแข็งในช่วงต้นปีนี้

? ค่าเงินบาท การที่ทองคำเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดคำนวณราคาซื้อ-ขายทองคำของไทยด้วย เมื่อใดที่เงินบาทมีค่าแข็งขึ้น ก็จะช่วยบรรเทามิให้ราคาทองคำของไทยแพงขึ้นรวดเร็วนัก ในทางตรงข้าม เมื่อใดที่เงินบาทมีค่าอ่อนตัวลง จะทำให้ราคาทองคำในรูปเงินบาทขยับสูงขึ้น

การที่เงินบาทมีค่ากระเตื้องขึ้นในช่วงต้นปี 2549 อยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 39.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ย 41.20 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2548 คิดเป็นค่าเงินบาทแข็งขึ้น 4.1% มีส่วนช่วยให้ราคาทองคำของไทยในช่วงนี้มิได้พุ่งขึ้นอย่างฉับพลัน แม้ว่าราคาทองคำแท่งของไทยยังคงทรงตัวสูงกว่าระดับ 10,000 บาท/บาทก็ตาม แต่เป็นการขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 10,050-10,500 บาทตลอดเดือนมกราคม 2549 หากเงินบาทมีค่าอ่อนตัวลงในช่วงนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ราคาทองคำของไทยแพงขึ้นกว่าระดับที่เป็นอยู่ในขณะนี้

แนวโน้มราคาทองคำแท่งของไทยในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน คาดว่าจะยังคงทรงตัวอยู่เหนือระดับ 10,000 บาทต่อไปอีกระยะหนึ่ง หรือหากจะปรับลดลงต่ำกว่าระดับดังกล่าว ก็น่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่มั่นคง ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเป็นที่น่าวิตกต่อไป ประกอบเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ ยังผันผวน โดยเฉพาะตะวันออกกลาง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทองคำยังคงเป็นที่ต้องการในฐานะหลักทรัพย์ที่มีค่ามั่นคงที่สุด ส่งผลให้ราคาทองคำต่างประเทศมีพื้นฐานเข้มแข็งต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำของไทยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาทองคำต่างประเทศ