มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5

27 มกราคม 2549: ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุ่มเงินกว่า 10 ล้านบาท จัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5” (Thailand ICT Contest Festival 2006) ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 10.00-19.00 น. ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เพื่อยกระดับและรวมสุดยอดเยาวชนนักพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยมี ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน

ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology – ICT) โดยมีเทคโนโลยีที่ครอบคลุมเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณ โทรคมนาคม และสารสนเทศ และยังเป็นกลุ่มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic Technology) นอกจากนั้นยังถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการวางแนวนโยบายของศูนย์ฯ ในทุกๆ ด้าน รวมทั้งกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

โดยในปี 2549 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) จึงได้จัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5” (Thailand ICT Contest Festival 2006) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้นำเอาความรู้ความสามารถเข้าร่วมประกวดแข่งขัน ทั้งยังเป็นการแสดงศักยภาพเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความรู้ ความสนใจในเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในวงกว้าง ผลงานนวัตกรรมต่างๆ มีความหลากหลายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนนำไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมในอนาคตได้ สำหรับงานมหกรรมประกวดฯ ในครั้งนี้มีเยาวชนนักพัฒนาไอทีที่มีทักษะและศักยภาพมานำเสนอผลงานและผ่านการคัดเลือกจากทุกภูมิภาคของประเทศ มากกว่า 600 คน ซึ่งได้สนับสนุนทุนสำหรับการพัฒนากว่า 10 ล้านบาท

ดร.ประวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า งาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 10.00-19.00 น. ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ซึ่งภายในงานจะมีการประกวดแข่งขันแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8 (The Eighth National Software Contest: NSC 2006) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ดำเนินโครงการการแข่งขันระดับชาติเป็นปีที่ 8 โดยได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 12 ประเภท คือ โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ โปรแกรมเพื่องานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับลินุกซ์ ในระดับนักศึกษา โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน ในระดับนักเรียน หัวข้อพิเศษ Web Services Contest, Mobile Application โปรแกรมส่วนขยายต่อจากโปรแกรมประยุกต์หลัก (Open Source Application Extension) และระดับครู อาจารย์ สื่อบทเรียนสำหรับระบบการเรียนรู้ออนไลน์ โดยมีโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 567 โครงการ จากข้อเสนอโครงการกว่า 1,115 โครงการ มีนักพัฒนาที่สนใจเข้าร่วม 2,504 คน โดย เนคเทค/สวทช. ให้การสนับสนุนผู้พัฒนาจำนวน 1,241 คน สำหรับในงานมหกรรมประกวดฯ นี้ เป็นผลงานการประกวดและการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับประเทศ ของผู้พัฒนาทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกมาหลายขั้นตอนจาก 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคกลาง รวมทั้งเสนอผลงานเพื่อการประกวดแข่งขัน 126 โครงการ ผู้เข้าร่วมแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ 275 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 91 คน

2. การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์ (Young Scientist Competition in Computer Science and Engineering Project: YSC.CS & YSC.EN 2006) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมดำเนินการและสนับสนุนเยาวชนที่พัฒนาโครงงานในด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยในปีนี้ได้สนับสนุนโครงงานจำนวน 34 โครงงานจากข้อเสนอ 135 โครงงาน นอกจากนั้น ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช.ได้จัดทำโครงการนำร่องแก่โรงเรียน 22 แห่งเพื่อให้ส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าประกวดประเภททีมด้วย โดยการประกวดในงานมหกรรมประกวดฯ ผู้พัฒนาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และประเภททีมจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ครั้งที่ 57 ณ เมืองอินเดียนาโปลิส มลรัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในต้นเดือนพฤษภาคม 2549 สำหรับในงานมหกรรมประกวดฯ นี้ เป็นผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ของนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกมาหลายขั้นตอนจาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง รวมทั้งเสนอผลงานเพื่อการประกวดแข่งขัน 16 โครงการ ผู้เข้าร่วมแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ 16 คน และประเภททีมอีก 33 ทีม

3. การแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 5 (Youth’s Electronics Circuit Contest: YECC) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ โดยมีตัวแทนค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์จากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนที่ผ่านการอบรมจากค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (e-Camp)และนิสิต นักศึกษาพี่เลี้ยงจากแต่ละค่ายฯ ได้มีโอกาสแข่งขันประลองฝีมือในการประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ในปี พ.ศ. 2549 ได้จัดค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ไปแล้ว 18 ค่าย มีนักเรียนที่ผ่านการเข้าค่ายฯ กว่า 863 คนและนักศึกษาที่เป็นพี่เลี้ยงของค่ายฯ จำนวน 654 คน และในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จะมีนักเรียนและพี่เลี้ยงตัวแทนค่ายของแต่ละมหาวิทยาลัยจำนวน 64 คน

4. การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (NECTEC Linux Competition: NLC) สำหรับงานมหกรรมประกวดฯนี้ ได้เปิดรับสมัครสำหรับผู้ที่สนใจทั้งระดับนักเรียนในระดับชั้นไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 4 และผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อแข่งขันในการแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์ ทั้งการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เพื่อสร้างสรรค์ Web Page โดยใช้โปรแกรมต่างๆ ในลินุกซ์ทะเล และการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมและให้บริการเครือข่ายโดยใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ระบบปฏิบัติการตามแนวทาง Open Source ที่ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้จัดสอบแข่งขันรอบคัดเลือกจากทั่วประเทศ ณ สนามสอบ 11 แห่งทุกภูมิภาคเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2549 มีผู้สนใจสมัครเข้าสอบ 962 คน และได้คัดเลือกผู้มีทักษะและความสามารถในเรื่องลินุกซ์เพื่อมาชิงชนะเลิศในงานมหกรรมประกวดฯ ครั้งนี้จำนวน 180 คน

นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดสำหรับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ เนคเทค/สวทช. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ จะเชิญนักธุรกิจและบริษัทผู้พัฒนาในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาทำการวิเคราะห์โครงการ สำหรับโครงการที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตลอดจนศักยภาพเชิงพาณิชย์ จะได้รับการคัดเลือกนำโครงการและผู้พัฒนามาสนับสนุนให้ทุนและพัฒนาให้โครงการที่ได้รับการคัดเลือกนี้สามารถต่อยอดนำไปสู่ภาคธุรกิจได้

พร้อมกันนี้จะมีการประกวดแข่งขัน Asia Pacific ICT Awards (APICTA) ในประเภทนักเรียน นักศึกษา ซึ่งทุกปีจะจัดให้มีการประกวดในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ในปีนี้จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ในวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ เนคเทค/สวทช. ได้คัดเลือกโครงการที่ชนะเลิศจากการแข่งขัน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4” ปี 2548 จำนวน 4 โครงการเข้าประกวดแข่งขัน และผู้ชนะเลิศจากงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 ปี 2549 ก็จะได้รับคัดเลือกไปประกวดในปีหน้าต่อไป

ผู้ที่ชนะเลิศการการแข่งขันได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐรวมทั้งหมด 7 แห่งด้วย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโลยีสุรนารี และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยไม่ต้องทำการสอบเอ็น ทรานซ์ และจะได้รับบัตรทอง “ต้นกล้า” โครงการ Passport for Young Scientist ให้สามารถเข้ามาทำการวิจัยร่วมกันนักวิจัยของ สวทช. และ

สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ยังได้นำผลงานจากการแข่งขันในครั้งนี้ไปต่อยอด โดยได้ให้ทุนสนับสนุนผู้ที่ชนะการแข่งขันทำการพัฒนาโครงการต่อ เพื่อจะนำผลงานเหล่านี้ไปใช้งานได้จริงกับคนตาบอด ซึ่งในปีที่ผ่านมีผลงานที่ได้รับการต่อยอดและนำไปใช้แล้ว เช่น หนังสือเสียงอิเล็กทรอนิกส์สำหรับคนตาบอด โดยนายธนาคม ตาฬวัฒน์ และยังสนับสนุนทุนให้นำผลงานไปเสนอผลงานในประเทศแถบยุโรป และสถานกงสุลอังกฤษได้สนับสนุนทุนให้เยาวชนไปอบรมที่ประเทศอังกฤษอีกด้วย

สำหรับภายในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีฯ ในครั้งนี้ยังมีกิจกรรมให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมสนุก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการตอบปัญหาชิงรางวัล และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านไอซีที
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โทร. 02-564-6900 ต่อ 2346-2355, 2396-7
หรือ E-mail: [email protected]
http://www.nectec.or.th/fic