แนวโน้มการลงทุนปี 2549 : ปัจจัยความเชื่อมั่นยังเป็นตัวแปรสำคัญ

ในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา ภาวะการลงทุนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในด้านการก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามภาวะการอ่อนตัวลงของอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในด้านการลงทุนของภาครัฐ มีทิศทางที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ที่สำคัญเป็นผลมาจากการลงทุนขยายกำลังการผลิตและจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐบาลและกิจการรัฐวิสาหกิจ

แต่เป็นที่สังเกตว่า การก่อสร้างโครงการสาธารณะต่างๆของภาครัฐที่มีการเร่งตัวอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก กลับชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีอัตราการขยายตัวเทียบกับปีก่อนหน้าที่หดตัวลงในไตรมาส 3 และในไตรมาส 4 ก็คาดว่าอาจหดตัวเช่นกัน ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของปีก่อนหน้าด้วย จากการที่ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการลงทุนในระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของการลงทุนโดยรวมของประเทศ แรงกระตุ้นจากการลงทุนของภาครัฐจึงยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการลงทุนในส่วนของเอกชนที่ขาดหายไปในปี 2548

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนโดยรวมอาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10.9 ในปี 2548 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 13.8 ในปีก่อนหน้า โดยการลงทุนของเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 16.3 ในปีก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 11.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.8 ในปีก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปี 2549 มีการคาดหมายในช่วงก่อนหน้านี้ว่า การลงทุนอาจเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตได้ดีขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวโน้มที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการส่งออกอาจชะลอตัวลง ขณะที่ในด้านการลงทุนของภาคเอกชน อาจมีการชะลอตัวของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนทิศทางการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยความเชื่อมั่นต่อศักยภาพและเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะมีผลในการสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจไทยและนักลงทุนต่างชาติในการเดินหน้าโครงการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวที่จะเป็นแรงผลักดันการลงทุน จึงต้องมาจากแรงกระตุ้นจากโครงการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งเดิมรัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายงบลงทุนมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2549 ได้ปรากฎสัญญาณให้เห็นถึงความเป็นไปได้มากขึ้นที่โครงการเมกะโปรเจ็กต์หลายส่วนอาจไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วภายในปีนี้ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนในปี 2549 รวมทั้งประเมินความเสี่ยงจากโอกาสที่การลงทุนของภาครัฐอาจไม่สามารถเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการลงทุนในปีนี้ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว

แนวโน้มการลงทุนในปี 2549 คาดว่าการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังมีทิศทางเติบโตได้ดี จากการที่บริษัทต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยก็มีความต้องการขยายการลงทุนเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในสาขาไฟฟ้า พลังงาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนของเอกชนอาจจะชะลอตัวลง ตามการชะลอตัวของการลงทุนในด้านอุปกรณ์ขนส่งและภาคอสังหาริมทรัพย์

? การลงทุนขยายกำลังผลิตยังมีแนวโน้มเติบโตดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น และมีหลายอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูง เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์กระดาษ และวัสดุก่อสร้างบางชนิด ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการลงทุนที่ยังคงมีอยู่ ภายหลังจากที่มีหลายอุตสาหกรรมได้ขยายกำลังการผลิตไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 อุตสาหกรรมที่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด ทั้งนี้ จากการประเมินโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2548 กำลังผลิตโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.8 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างดี แม้ว่าชะลอลงหากเทียบกับประมาณร้อยละ 10 ในปีก่อนหน้า

แนวโน้มความต้องการลงทุนยังสะท้อนให้เห็นได้จากโครงการที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 มีโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,358 โครงการ มูลค่าการลงทุน 704,500 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 มีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 498,900 ล้านบาท (ขยายตัวสูงขึ้นกว่า ปี 2547 ที่ขยายตัวร้อยละ 23.4) โดยประเภทกิจการที่มีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากคือหมวดโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 154 มีมูลค่าโครงการ 145,700 ล้านบาท ซึ่งที่สำคัญเป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ ส่วนประเภทกิจการที่มีการลงทุนมูลค่าสูงสุดคือหมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าโครงการ 176,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยส่วนสำคัญเป็นโครงการด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตและระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจขนส่ง

โครงการลงทุนที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

เครื่องชี้ภาวะการลงทุน โครงการ/มูลค่า อัตราการขยายตัว (%)
2547 2548 2547 2548
จำนวนโครงการรวม (ราย) 1,206 1,358 25.9 12.6
มูลค่าโครงการรวม (พันล้านบาท) 637.2 704.5 109.1 10.6
เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 53.1 40.6 55.3 -23.5
เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 157.7 131.0 692.5 -16.9
อุตสาหกรรมเบา 12.2 14.7 -31.5 20.5
ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 57.4 145.7 -5.1 153.8
อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 82.6 86.6 31.5 4.8
เคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก 116.0 109.5 107.1 -5.6
กิจการบริการและสาธารณูปโภค 158.1 176.5 195.0 11.6
โครงการลงทุนจากต่างประเทศ รวม 307.0 498.9 23.4 62.5
ที่มา : BOI

? การลงทุนด้านอุปกรณ์ขนส่งและอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มชะลอตัว

แม้ว่าการขยายกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนในด้านอุปกรณ์ขนส่งและลงทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาจชะลอตัวลง โดยในด้านอุปกรณ์ขนส่ง คาดว่าจะชะลอตัวจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในปี 2548 ที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ทำสถิติสูงสุดที่ 517,677 คัน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24 ส่งผลให้อุปสงค์ในปี 2549 อาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากฐานที่สูงดังกล่าว

สำหรับแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2549 อาจยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว โดยความต้องการที่อยู่อาศัยอาจเผชิญปัจจัยลบจากแรงกดดันด้านภาระรายจ่ายของผู้บริโภคและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมคาดว่าจะขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่มีวัฏจักรตามภาวะการลงทุนจากต่างประเทศ และการเข้ามาใช้บริการของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น เช่น นิคมอุตสาหกรรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ โรงแรม โรงพยาบาล น่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีวัฎจักรตามอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น ที่อยู่อาศัย พื้นที่ค้าปลีก

? การลงทุนของภาคเอกชนโดยรวม

โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนในปี 2549 อาจมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่) ประมาณร้อยละ 7.5-10.3 ชะลอลงจากปี 2548 ที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 10.7 โดยช่วงห่างระหว่างกรณีขั้นสูงและขั้นต่ำขึ้นอยู่กับปัจจัยความเชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งแรงกระตุ้นที่จะมาจากโครงการเครือข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐต่อภาคอสังหาริมทรัพย์

? ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายการลงทุน

ทั้งนี้ ธุรกิจที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายการลงทุนในช่วงปี 2549 อาจมีดังนี้

• เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น ไก่หรือหมู อาหารทะเลแช่แข็งและกึ่งสำเร็จรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว ผักและผลไม้แปรรูป เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำผักผลไม้ และนมถั่วเหลือง พลังงานชีวภาพและพลังงานทดแทน

• อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้าและวงจรพิมพ์ โซลาร์เซลส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า อุปกรณ์ภาพและเสียงและส่วนประกอบ คอมเพรสเซอร์

• ยานยนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ การผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ เช่น ชิ้นส่วนโลหะ พลาสติก ตัวถังรถยนต์ เครื่องยนต์และส่วนประกอบ ยางรถยนต์ อุปกรณ์ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับยานยนต์

• ปิโตรเลียมและพลังงาน ได้แก่ การผลิต สำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซ การผลิตไฟฟ้า

• ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ ปิโตรเคมีขั้นต้น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เคมีภัณฑ์อื่นๆ ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาด ดูแลเส้นผมและผิวพรรณ

• วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ เหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็น เหล็กรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก อุปกรณ์ที่ทำจากเหล็กและอลูมิเนียม คอนกรีตบล็อค ผลิตภัณฑ์แก้วและกระจก กระเบื้อง สุขภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป

• ผลิตภัณฑ์พลาสติกและกระดาษ เช่น ผลิตภัณฑ์จากไฟเบอร์กลาส ชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ บรรจุภัณฑ์พลาสติก กระดาษคราฟท์

• อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ธุรกิจบริการที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม (ศูนย์จัดซื้อและกระจายสินค้าภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ หน่วยวิจัยและพัฒนา) ธุรกิจขนส่งทางเรือและทางอากาศ

การลงทุนภาครัฐ … ตัวแปรสำคัญที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศแผนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทำให้มีการคาดหมายว่าการลงทุนจากภาครัฐจะเข้ามาเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งจะหนุนเสริมการลงทุนของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันบ่งชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ยังมีน้อย การดำเนินโครงการลงทุนอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆอย่างรอบคอบ อาทิ ข้อจำกัดด้านสถานะการคลังและการรักษาเป้าหมายกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ผลที่จะมีต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ผลต่อภาคการเงินผ่านการจัดหาแหล่งเงินทุน การจัดลำดับความสำคัญและกำหนดกรอบเวลาในการเริ่มต้นโครงการลงทุนแต่ละโครงการอย่างเหมาะสม รวมไปถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินโครงการ เป็นต้น

จากความเป็นไปได้ที่โครงการลงทุนของภาครัฐอาจมีความล่าช้าไปจากแผนการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งในส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์มีแผนการลงทุนในช่วงปี 2549 มูลค่าประมาณ 290,000 ล้านบาท (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ปรับเพิ่มจากวงเงินเดิมที่ 255,400 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ดังจะเห็นได้ว่าโครงการลงทุนในบางสาขา โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนรูปแบบรางยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์อาจไม่สูงเท่ากับแผนที่วางไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้จัดทำประมาณการผลกระทบเพิ่มเติม จากกรณีที่โครงการลงทุนของรัฐมีความคืบหน้าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม โดยมีข้อสมมติในการประมาณการ ดังนี้

1. กรณีขั้นสูง เป็นประมาณการการลงทุน ในกรณีที่การลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐสามารถคืบหน้าได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย ในกรณีนี้ การลงทุนของภาครัฐอาจขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22.7 ส่งผลให้การลงทุนโดยรวมอาจขยายตัวได้ร้อยละ 13.5 โดยการลงทุนในด้านการก่อสร้างอาจเติบโตสูงร้อยละ 15.3

2. กรณีพื้นฐาน คาดว่ารัฐบาลอาจเผชิญข้อจำกัดที่สำคัญสองประการ ได้แก่ รายได้ของรัฐที่ขาดหายไปจากการที่รัฐวิสาหกิจที่มีแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่สามารถกระจายหุ้นได้ในช่วงปี 2549 ประการที่สอง กรณีที่โครงการ Mass transit ล่าช้าไปบางส่วน โดยอาจเริ่มต้นดำเนินการได้เพียง 4 สายในเฟสแรก จากแผนการทั้งหมด 7-10 สาย ในกรณีนี้ การลงทุนของภาครัฐอาจขยายตัวร้อยละ 15.9 ส่งผลให้การลงทุนโดยรวมขยายตัวได้ร้อยละ 11.7 และการลงทุนในด้านการก่อสร้างอาจขยายตัวร้อยละ 10.9

3. กรณีขั้นต่ำ เศรษฐกิจไทยเผชิญผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง เช่น ราคาน้ำมัน การชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตไม่เป็นไปตามเป้า สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลลบต่อฐานะการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ถ้ารัฐบาลยังคงต้องการรักษาสถานะงบประมาณสมดุล ซึ่งอาจทำให้โครงการลงทุนมีความล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ความล่าช้าของโครงการลงทุนของรัฐยังอาจเกิดได้จากขั้นตอนการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง และระบบราชการ ทั้งนี้ ข้อสมมติในการประมาณการกำหนดให้โครงการ Mass transit ยังไม่สามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ในช่วงปี 2549 รวมทั้ง แผนการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาการแปรรูป อาจล่าช้าออกไป และแผนการลงทุนในโครงการสาขาอื่นๆ เช่น ทรัพยากรน้ำ ที่อยู่อาศัย อาจไม่สามารถดำเนินการได้สูงเท่ากับแผนการที่วางไว้ (ตามข้อสมมตินี้ เม็ดเงินลงทุนจะหายไปมากกว่าหนึ่งในสามของวงเงินลงทุนทั้งหมดตามแผน) ในกรณีนี้ การลงทุนของภาครัฐอาจขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 6.2 ชะลอลงกว่าในปีก่อนหน้า และผลกระทบดังกล่าวคงจะสะท้อนกลับไปสู่การลงทุนของภาคเอกชน ทำให้มีการชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการบางส่วนด้วย แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี น่าจะประคับประคองให้การลงทุนของเอกชนขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ส่งผลให้การลงทุนโดยรวมอาจขยายตัวร้อยละ 7.2 ส่วนการลงทุนในด้านการก่อสร้างอาจมีอัตราการขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 6.2

ประมาณการแนวโน้มการลงทุนในปี 2549

การลงทุน 2548 2549
กรณีขั้นสูง กรณีพื้นฐาน กรณีขั้นต่ำ
การลงทุนโดยรวม 10.9% 13.5% 11.7% 7.2%
การลงทุนภาคเอกชน 10.7% 10.3% 10.3% 7.5%
การลงทุนภาครัฐ 11.2% 22.7% 15.9% 6.2%
– การก่อสร้าง 7.0% 15.3% 10.9% 6.2%
– การลงทุนด้านอุปกรณ์ 13.0% 12.5% 11.3% 7.7%
ที่มา : สศช. และปี 2549 ประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สรุปและข้อคิดเห็น

• ในปี 2548 ภาวะการลงทุนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในด้านการก่อสร้าง จากการที่อุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง สำหรับการลงทุนโดยรวมของภาครัฐ มีทิศทางที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ตามการลงทุนขยายกำลังการผลิตและจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐบาลและกิจการรัฐวิสาหกิจ แต่การก่อสร้างโครงการสาธารณะต่างๆของภาครัฐชะลอลง โดยมีอัตราการขยายตัวเทียบกับปีก่อนหน้าหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนโดยรวมอาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10.9 ในปี 2548 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 13.8 ในปีก่อนหน้า

• แนวโน้มการลงทุนในปี 2549 ตัวแปรสำคัญอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ ว่าแผนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมะโปรเจ็กต์ จะมีความคืบหน้าได้มากน้อยเพียงใด เพราะอาจมีความเป็นไปได้ที่โครงการลงทุนของภาครัฐจะมีความล่าช้าไปจากแผนการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งในส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ตามแผนการลงทุนในช่วงปี 2549 จะมีมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความคืบหน้าจนถึงปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการลงทุนในบางสาขา โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง หรือ Mass Transit ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐในปี 2549 ไม่ปรับเพิ่มมากอย่างที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินความเสี่ยงดังกล่าว (ซึ่งมีข้อสมมติให้โครงการ Mass Transit ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2549 นี้ และโครงการอื่นๆ มีความคืบหน้าล่าช้า) ในกรณีเลวร้าย การลงทุนของภาครัฐอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 22.7 ในกรณีที่การลงทุนสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้เดิม

• ในกรณีเลวร้าย ผลกระทบดังกล่าวคงจะสะท้อนไปสู่การลงทุนของภาคเอกชน ทำให้มีการชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการบางส่วนด้วย แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี น่าจะประคับประคองให้การลงทุนของเอกชนขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 7.5 ซึ่งต่ำลงกว่าคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 10.3 ในกรณีที่การลงทุนภาครัฐสามารถเข้ามาเป็นช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้ง ความชัดเจนของแผนโครงข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐที่จะเป็นแรงกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี ตามคาดการณ์เดิม การลงทุนของภาคเอกชนในปี 2549 ก็มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อนหน้าอยู่แล้ว โดยแม้จะคาดว่าการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังมีทิศทางเติบโตได้ในเกณฑ์ดี แต่คาดว่าการลงทุนในด้านอุปกรณ์ขนส่งและภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวลง

• โดยสรุป ในกรณีเลวร้าย การลงทุนโดยรวมของประเทศอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 7.2 จากเดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวถึงร้อยละ 13.5 ในกรณีที่โครงการต่างๆของภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผน สำหรับการลงทุนในด้านการก่อสร้าง ในกรณีเลวร้ายอาจมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 6.2 จากเดิมที่คาดว่าอาจจะขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 15 ถ้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลมีความคืบหน้าได้ตามแผนการที่วางไว้ สำหรับการลงทุนในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ คาดว่าอาจขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 7.7-12.5 โดยมีโอกาสผันผวนน้อยกว่าภาคก่อสร้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างๆยังมีความต้องการลงทุนในระดับสูง จากการที่บริษัทต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยก็มีความต้องการขยายการลงทุนเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในสาขาไฟฟ้า พลังงาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

• ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายการลงทุนสูงในปี 2549 ที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอุตสาหกรรมสองกลุ่มนี้มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งครอบคลุมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำหรือกลางน้ำ (ชิ้นส่วนประกอบ) ไปจนถึงปลายน้ำ (ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย) โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์ การเข้ามาลงทุนขนาดใหญ่นี้ นอกจากจะทำให้ไทยเป็นฐานการส่งออกรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคแล้ว ยังเป็นฐานการส่งออกส่วนประกอบรถยนต์ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายได้ใช้ไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกเครื่องยนต์ไปยังสายการผลิตในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆของโลก หรือกรณียางรถยนต์ ในช่วงปี 2548 ได้มีผู้ผลิตชั้นนำจากญี่ปุ่นและยุโรป 4 รายได้มีแผนลงทุนในฐานการผลิตในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆของโลก ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญเป็นการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบ ซึ่งการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยของผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายสำคัญ ได้ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์เข้ามาจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลดีในด้านการลดการนำเข้าชิ้นส่วนที่เดิมต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นมูลค่าสูงในแต่ละปี ในส่วนของอุตสาหกรรมที่เป็นธุรกิจของไทยและมีแนวโน้มการลงทุนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านปิโตรเลียม พลังงาน และปิโตรเคมี เช่น การผลิต สำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซ การผลิตไฟฟ้า การผลิตปิโตรเคมีตั้งแต่ในขั้นต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆที่น่าจะมีการลงทุนสูง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปผลิตผลการเกษตร เป็นต้น ส่วนธุรกิจด้านการบริการที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ธุรกิจบริการที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม (ศูนย์จัดซื้อและกระจายสินค้าภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ หน่วยวิจัยและพัฒนา) ธุรกิจขนส่งทางเรือและทางอากาศ เป็นต้น

ความเสี่ยงต่อแนวโน้มการลงทุน นอกจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนของภาครัฐแล้ว ปัจจัยเสี่ยงในช่วงปี 2549 ยังอาจขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมัน ทิศทางเศรษฐกิจไทย ตลอดจนทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ กลุ่มประเทศยุโรปและเอเชีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นทางด้านการเมือง อาจจะมีผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในระยะสั้น ในแง่มุมของจังหวะเวลาการตัดสินใจลงทุน ซึ่งนักลงทุนอาจรอดูความชัดเจนของภาวะตลาด การเปรียบเทียบภาวะต้นทุนในการลงทุน และแนวนโยบายของรัฐต่อการสนับสนุนการลงทุนในสาขาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเข้มแข็งเป็นสิ่งที่สนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไปน่าจะยังมีความต่อเนื่อง หากสถานการณ์ต่างๆมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากมองภาพรวมความต้องการลงทุนโดยรวมแล้ว คาดว่าจะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนเอกชนทั้งธุรกิจไทยและบริษัทต่างชาติมากนัก แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ปัจจัยความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจจะไม่คงอยู่ยาวนานจนเกินไป จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางถึงระยะยาว