อิเล็กทรอนิกส์ปี 49 : การส่งออกยังขยายตัวได้กว่า 20%

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญในแง่ของการส่งออกของประเทศมาก โดยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ ในปี 2548 การส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีมูลค่ารวม 22,315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่า 790,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.68 จากปี 2547 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และเกิดการจ้างงานมากกว่า 500,000 ตำแหน่ง โดยมีการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

การที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกนั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพการค้าและการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกย่อมมีผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2549 นั้น ยังเติบโตค่อนข้างดี อันเนื่องมากจากการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยค่อนข้างมาก รวมทั้งแนวโน้มความต้องการในตลาดโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ไทยสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น

ภาพรวมอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นปริมาณการผลิตในแต่ละปีจึงอาศัยการพึ่งพิงจากตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก หากปีใดปริมาณความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกขยายตัว ไทยก็จะมีปริมาณการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งรายงานดัชนีอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2546 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.69 และเพิ่มสูงอย่างมากในปี 2548 มาอยู่ที่ 253.46 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.49 ซึ่งมาจากการขยายตัวของ HDD และ Other IC มากถึงร้อยละ 61.5 และ 10.24 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นไปตามภาวะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีการขยายตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Consumer Electronic มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้าน Wireless devices , Flat Panel Displays , MP3 devices and gaming consoles and Software

การส่งออก :

ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 66 ของมูลค่าส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด สินค้าที่ส่งออกไปจำหน่ายที่สำคัญ คือ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนประกอบ และเซมิคอนดักเตอร์ (แผงวงจรไฟฟ้า ทรานซิสเตอร์และไอโอด) มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 สามารถส่งออกได้คิดเป็นมูลค่า 891,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.91 จากปี 2547

มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นปรับเพิ่มขึ้นเป็นไปตามทิศทางเดียวกับภาวะการจำหน่ายสินค้า semiconductor ของโลก สินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดจีนถึงร้อยละ 60 ทำให้ในปี 2548 จีนกลายเป็นตลาดส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอันดับ 1 ของไทย แทนที่สหรัฐ ทั้งนี้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญและยังเป็นประเทศตลาดการบริโภคที่ใหญ่ด้วยเช่นกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องของจีนทำให้ไทยมีโอกาสที่จะส่งสินค้าไปจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการส่งสินค้าออกของไทยจะเป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่ที่เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามตลาดสหรัฐก็ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญรองลงมา แม้ว่าในปี 2548 จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่สำคัญ แต่ในตลาดหลักเช่น สหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็มีอัตราการเติบโตอย่างเป็นที่น่าพอใจด้วยเช่นกัน ส่วนตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ เช็ก เบลเยี่ยม เยอรมัน ออสเตรเลีย และอิตาลี คู่แข่งการส่งออกที่สำคัญของไทยคือ สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศในแถบเอเชียด้วยกันกับไทย ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ส่งไปจำหน่ายในตลาดเดียวกันกับไทย แม้ว่าความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ของโลกจะเพิ่มขึ้นแต่ไทยเองก็ยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันของตลาดที่เข้มข้นขึ้นด้วย

การนำเข้า :

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามีทั้งส่วนที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งหากไทยมีการส่งออกที่ขยายตัวการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตก็จะสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การนำเข้าสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปครบชุดเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และเครื่อมคอมพิวเตอร์พกพา (PDA) ขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2548 ถึงร้อยละ 36.34 จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดคอมพิวเตอร์ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์โน๊ตบุค และตลาดรวมคอมพิวเตอร์ในประเทศมียอดขายเพิ่มสูงถึง 1.3 ล้านเครื่อง ส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ นั้น ก็มีแนวโน้มขยายตัว ทั้งนี้ยอดรวมของการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2548 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.83 คิดเป็นมูลค่านำเข้า 7.46 แสนล้านบาท

การลงทุนจากต่างประเทศ :

เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI รายงานแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้นมากในปี 2547 โดยมีอัตราการขยายตัวของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนกว่าร้อยละ 112.9 จากปี 2546 อย่างไรก็ตามในปี 2548 มีโครงการการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 5.2 โดยมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 230 โครงการ เงินลงทุน 89,400 ล้านบาท ทั้งนี้ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิกส์ไดรฟ์เป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการผลิตรายใหญ่ของโลกถึง 4 รายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลก และการขยายการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกปี’ 49 : ยังเติบโตได้กว่า 20%

ในปี 2548 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการขยายตัวของความต้องการในตลาดโลก อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 4.31แม้ว่าที่ผ่านมาภาวะการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก การเกิดภัยธรรมชาติ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในหลายภูมิภาคของโลกจะทำให้เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศเกิดการชะลอตัว แต่ความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26 โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวมาก คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 24 และกลุ่มคอมพิวเตอร์ขยายตัวร้อยละ 23

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2549 นั้น คาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 ที่ผ่านมา โดยที่ยังคงเน้นความสำคัญของภาคการส่งออกเป็นหลักทั้งนี้มูลค่าส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2549 ของไทยไปยังตลาดโลก มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ในปี 2549 การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 26,770 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 20 โดยมีที่การส่งออกสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวมาก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และ IC Packaging ส่วนประกอบเครื่องโทรสาร/โทรศัพท์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ในขณะที่สินค้าประเภทเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ แผ่นวงจรพิมพ์ เครื่องโทรสาร/โทรพิมพิ์ ไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้า มีแนวโน้มส่งออกได้ลดลง เนื่องจากไทยมีคู่แข่งในการผลิตมาก

อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมดังนี้

• การเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก คาดว่าในปี 2006 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 7.5 ทั่วโลก โดยตลาดที่มีการเติบโตมากได้แก่ จีน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.5 ส่วนตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้แก่ อเมริกาเหนือ รองลงมาเป็นยุโรป ญี่ปุ่น จีน เอเชียแปซิฟิก ซึ่งการขยายตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลก จะส่งผลดีต่อไทยให้สามารถขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก

2006 Industry Forecast
USD million
Region Year 2005 Year 2006 Percent Change (%)
North America 9,175.2 9,529.4 3.9
Europe 9,098.2 9,416.7 3.5
Japan 6,017.5 6,291.7 4.6
China 4,924.9 5,932.5 20.5
Asia-Pacific 4,154.6 4,547.7 9.5
ROW 2,113.0 2,441.7 15.6
Total World 35,483.5 38,159.7 7.5
Source : Connector Supplier.com

• ภาวะเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้ในปี 2549 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2548 ที่ผ่านมา คือจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3 และในตลาดส่งออกที่สำคัญ ก็มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงเช่นกัน โดยคาดว่า สหรัฐจะมีการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2549 ประมาณร้อยละ 3.1 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.1 ในปี 2548 ในขณะที่ญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2549 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.1 และจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่คาดว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2549 ประมาณร้อยละ 8.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 9.2 ในปี 2548
อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีการชะลอตัวลงบ้าง แต่ภาวะเศรษฐกิจของอีกหลายๆ ประเทศก็มีแนวโน้มเติบโตดี เช่น ประเทศในแถปสหภาพยุโรป และเอเชียแปซิฟิก อีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน ซึ่งในตลาดเหล่านี้มักจะมียอดขายเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวในอัตราที่สูง นอกจากนี้สัญญาณความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ จาก Book to Bill ratio (อัตราส่วนยอดสั่งซื้อต่อยอดจัดส่ง) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2549 ก็สะท้อนความต้องการในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

• ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์โลก ในปี 2006 ขยายตัวเพิ่ม 7.6% จากการประมาณการของ The Semiconductor Industry Association (SIA) ว่ายอดขายเซมิคอนดักเตอร์โลกจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.6 ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตส่วนประกอบและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ

• การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนของไทย ทำให้มีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการกำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายการลงทุนผลิตเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2549 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงภาวะการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในปี 2548 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีประเด็นสำคัญในด้านการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรของโรงงานทุกเขตส่งเสริม การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระยะ 4-8 ปี (แตกต่างกันตามโซนที่ตั้งโรงงาน)

นอกจากนี้ยังมีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในกรณีที่กิจการมีการดำเนินงานเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา การจ้างบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการวิจัย พัฒนาและออกแบบ หรือการฝึกอบรมบุคลากรไทย การพัฒนาขีดความสามารถของผู้รับช่วงผลิตในไทย หรือให้การสนับสนุนกับสถาบันการศึกษา ซึ่งกิจการที่มีการดำเนินงานตามเงื่อนไขเหล่านี้จะได้รับการยดเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1-2 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างประเทศหันมาลงทุนขยายการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และกิจการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นคือ ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบและมีแนวโน้มว่าภายใน 5 ปี ไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลกแทนหน้าสิงคโปร์ และหากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการลงทุนและขยายการผลิตในลักษณะคลัสเตอร์ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก

ปัจจัยเสี่ยง : ที่สำคัญที่ต้องพึงระวัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ว่าในปี 2549 แนวโน้มของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมที่จะต้องให้ความระมัดระวัง ดังนี้

1. ความเสี่ยงจากวัฏจักรของสินค้า
ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้สินค้าในอุตสาหกรรมกนี้มีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้น ซึ่งผู้ผลิตไทยยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดในขณะนั้นทำให้ผู้ผลิตไทยต้องเผชิญความเสี่ยง ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประกอบกับยังขาดความพร้อมในด้านการวิจัยและพัฒนา ในขณะที่เพื่อนบ้านของไทย เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีความพร้อมในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า ทำให้ไทยเป็นเพียงฐานการผลิตเท่านั้น นอกจากนี้เทคโนโลยีการผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้บุคลากรในสายพัฒนาการผลิตของไทยขาดแคลนหรือไม่สามารถผลิตขึ้นเพื่อรองรับได้ทัน

2. ความเสี่ยงจากการแข่งขันทางด้านราคาค่อนข้างสูงและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาต่อหน่วยของสินค้าอิเล็กทรอนิก์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละครั้งต้องผลิตในปริมาณมาก เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดการผลิต ซึ่งการผลิตจำนวนมากนั้นก็มีความเสี่ยงต่อการผลิตเกินความต้องการของตลาด นอกจากนี้การผลิตที่พึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้อุปทานของวัตถุดิบมีผลกระทบต่อการผลิตค่อนข้างมาก และการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นยิ่งทำให้ผู้ผลิตต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ราคาสินค้ากลับชะลอตัวลงค่อนข้างมาก

3. ความเสี่ยงทางธุรกิจจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศของไทยส่วนใหญ่ เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก ทำให้แนวโน้มของการส่งออก ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของอุปสงค์ ของสินค้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันค่อนข้างสูง อันจะมีผลให้ราคาของสินค้าตกลงอย่างรวดเร็วเมื่อตลาดของสินค้านั้นอิ่มตัว ทำให้ผู้ผลิตต้องพยายามลดความพึ่งพาตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลง และขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใช้ไปในสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมยานยนต์มากยิ่งขึ้น

4. ความเสี่ยงด้านแรงงาน
แม้ว่าต้นทุนด้านแรงงานจะมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม แต่เนื่องจากขบวนการผลิตที่จะต้องใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor Intensive) การขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ส่งผลให้เกิดการแย่งแรงงานที่มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจต่อขบวนการผลิต อาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยเช่นกัน

5. ความเสี่ยงในด้านการลงทุน
การลงทุนผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นต้องอาศัยเงินลงทุนค่อนข้างมาก เพื่อให้การผลิตในต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าต่ำเพื่อแข่งขันในตลาดได้ แต่ในช่วงระยะนี้การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนทางด้านการเงินค่อนข้างสูง การดำเนินงานของผู้ผลิตจึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น

6. ความเสี่ยงทางด้านการใช้นโยบายทางการค้า
ซึ่งมีทั้งนโยบายทางภาษีด้วยการร่วมกลุ่มทางการค้าและนโยบายที่ไม่ใช่ภาษีจากประเทศคู่ค้า ทั้งนี้การเปิดข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ นั้น จะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้นในสินค้าชนิดหนึ่งแต่ก็ทำไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในสินค้าอีกประเภทหนึ่งด้วย นอกจากนี้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีก็มีบทบาทที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เช่น ประเทศจีนได้กำหนดมาตรฐานสินค้า CCC Mark สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเข้าไปจำหน่ายในจีน ต้องผ่านมาตรฐานดังกล่าว กลุ่มสหภาพยุโรป หรือ อียู (European Union : EU) ได้มีการเริ่มประกาศใช้ระเบียบว่าด้วย การจัดการของเสียอันเกิดจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ( Waste Electrical and Electronic Equipment : WEEE) ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตราย (Restrictions on Hazardous Substances : RoHS) 6 ชนิด คือ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม โครเมียม-6 โพลิโปรเมท-ไบฟินิล และโพลีโบรมิเนท-ไดฟินิล-อิเทอร์ และ IPP นโยบายป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร

สรุปและข้อคิดเห็น

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ในปี 2549 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2548 ที่ผ่านมา โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ในปี 2549 การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 26,770 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 20 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นและมีการขยายตัวของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น ความผันผวนของค่าเงิน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต การปรับตัวของผู้ประกอบการในประเทศ และภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างมากเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความสำคัญโดยมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ซึ่งทำให้ภาครัฐควรเร่งขจัดอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว เพราะปัจจุบันแม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยจะมีการพัฒนามานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงการผลิตให้ครบวงจรตั้งแต่สินค้าต้นน้ำจนถึงสินค้าปลายน้ำ สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรและโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ยังเป็นปัญหาต่อการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตไทยทำให้ไม่ทัดเทียมกับผู้ผลิตในต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับที่สูงขึ้นโดยเฉพาะบุคลากรด้านการออกแบบแผงวงจรไฟฟ้า เพื่อให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต