ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ นับตั้งแต่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลทำให้รัฐบาลต้องประกาศยุบสภา ปัญหาน้ำมันราคาแพง ปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกปี 2549 ที่เพิ่มสูงถึงร้อยละ 5.7 เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2548 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และในเดือนเมษายนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อก็ได้เพิ่มสูงถึงร้อยละ 6.0
ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารงานใหม่เพื่อรักษาฐานะความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งในที่สุดผู้ใช้แรงงานทั่วไปจะต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน
แรงงานไทยส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงเป็น “แรงงานนอกระบบ” ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและความมั่นคงในชีวิต ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องรีบแก้ไข เพื่อให้แรงงานไทยที่เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจสามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขแบบพอเพียง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2549 จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากน้ำมันแพง อัตราดอกเบี้ยสูง การลงทุนและการบริโภคที่ชะลอตัวลง จะส่งผลทำให้มีการจ้างงานลดลง และการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราการว่างงานในปี 2549 น่าจะอยู่ร้อยละ 2.0 เปรียบเทียบกับในปี 2548 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.8
สำหรับประเด็นที่น่าจับตามองมากที่สุดก็คือ การที่แรงงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็น “แรงงานนอกระบบ” ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการต่างๆ เหมือนกับ “แรงงานในระบบ” ดังนั้นหากมีการว่างงานเพิ่มขึ้น แรงงานนอกระบบจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากเป็นแรงงานที่ไม่รับการคุ้มครองสวัสดิการใดๆ
แรงงานนอกระบบ : กำลังสำคัญของประเทศ
ในแต่ละปี ประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไปจะถูกนับรวมเป็นกำลังแรงงานของประเทศ ซึ่งแรงงานถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในขบวนการผลิต ขณะเดียวกันกำลังแรงงานในปัจจุบันสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.แรงงานในระบบ (Formal Sector)
มีการให้คำจำกัดความของ “แรงงานในระบบ” ว่า หมายถึง แรงงานที่ทำงานในระบบการจ้างงานที่มีรายได้ประจำ มีเงินเดือนที่แน่นอน หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “มนุษย์เงินเดือน” ก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือแรงงานในระบบจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิการต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นแรงงานในระบบยังมีโอกาสที่จะก้าวหน้าในชีวิตการทำงานและได้รับสิทธิคุ้มครองจากการประกันสังคม การประกันชราภาพ และประกันสุขภาพ
2.แรงงานนอกระบบ (Informal Sector)
สำหรับคำจำกัดความของ “แรงงานนอกระบบ” หมายถึง แรงงานที่ทำงานอิสระ หรือเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในระบบการประกันสังคม ได้แก่
-คนงานที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part-Time Worker)
-คนงานที่รับงานไปทำที่บ้าน (Home-Base Worker)
-คนงานที่ทำงานแบบเหมาช่วง (Sub-Contract Worker)
-คนงานที่ทำงานระยะสั้น (Short-Time Worker)
โดยสามารถที่จะจำแนกประเภทของแรงงานนอกระบบได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มที่ทำงานรับจ้าง และมีเงินเดือนประจำ ได้แก่
-แรงงานที่รับจ้างเอางานไปทำที่บ้าน
-แรงงานรับจ้างทำของ
-แรงงานรับจ้างทำการเกษตร ตามฤดูกาล
-แรงงานประมง
-คนรับใช้ และคนทำงานบ้าน
-คนขับรถ (ส่วนตัวตามบ้าน) เป็นต้น
2.กลุ่มที่ทำอาชีพอิสระทั่วไป ได้แก่
-คนขับรถรับจ้าง
-เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน
-แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย
-ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม
-เจ้าของร้านขายของชำขนาดเล็ก เป็นต้น
ในปี 2548 ที่ผ่านมา จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าประเทศไทยมีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 36.3 ล้านคน จำแนกเป็น
-แรงงานนอกระบบ มีจำนวน 22.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของแรงงานทั้งหมด
-แรงงานในระบบ มีจำนวน 13.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.9 ของแรงงานทั้งหมด
จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากำลังแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการ และหลักประกันการทำงาน นอกจากนั้นแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ หรือมากกว่าร้อยละ 85 ยังทำงานในภาคเกษตรกรรม ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก โรงแรมและภัตตาคาร ดังนี้
1.ภาคเกษตรกรรม มีแรงงานนอกระบบทำงานจำนวน 14.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.9 ของแรงงานทั้งหมด
2.ด้านค้าส่ง-ค้าปลีก มีแรงงานนอกระบบทำงานจำนวน 3.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.7 ของแรงงานทั้งหมด
3.ด้านโรงแรมและภัตตาคาร มีแรงงานนอกระบบทำงานจำนวน 1.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 ของแรงงานทั้งหมด
นอกจากนั้น ยังพบอีกว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา มากถึงร้อยละ 46.3 ของแรงงานทั้งหมด เปรียบเทียบกับแรงงานในระบบที่ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาดี โดยแรงงานในระบบร้อยละ 22.8 จบการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา
สิทธิประโยชน์ที่ขาดหาย
ตามข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าแรงงานนอกระบบถือว่าเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทย แต่กำลังแรงงานส่วนนี้ยังไม่ได้รับการดูแลด้านการคุ้มครองสวัสดิการและการประกันสังคม ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่จะรับรองสิทธิ์ให้กับแรงงานนอกระบบในการได้รับสวัสดิการเหมือนกับแรงงานในระบบ
ประกอบกับแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีสภาพการจ้างที่ไม่แน่นอน สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อการติดต่อกับหน่วยงานราชการหรือนายจ้าง แรงงานนอกระบบจึงต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพ นอกจากนั้นยังอาจจะต้องทำงานที่ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีรายได้ที่แน่นอน และไม่มีคุณภาพของชีวิตที่ดี
ขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจน จึงทำให้แรงงานนอกระบบขาดอำนาจการต่อรองในการเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมายแรงงาน
ในปี 2548 ที่ผ่านมา แรงงานนอกระบบต้องประสบกับอุบัติเหตุมากถึง 2.9 ล้านคน โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ได้แก่ การถูกของมีคมบาด มีจำนวนถึง 1.8 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบเหล่านี้จะต้องช่วยเหลือตัวเองในด้านค่ารักษาพยาบาลเมื่อได้รับอุบัติเหตุ
จากปัญหาที่แรงงานนอกระบบไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ส่งผลทำให้แรงงานที่ได้รับอุบัติเหตุไม่สามารถที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเหมือนกับแรงงานที่อยู่ในระบบได้ ซึ่งถือว่าเป็นข้อเสียเปรียบของแรงงานนอกระบบที่ทำให้ระดับคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น
ปัญหาของแรงงานนอกระบบ
สำหรับปัญหาที่แรงงานนอกระบบของไทยต้องประสบอยู่ในปัจจุบันพอสรุปได้ ดังนี้
1.แรงงานนอกระบบไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการในด้านความปลอดภัย และด้านสุขภาพ
2.แรงงานนอกระบบไม่สามารถใช้สิทธิจากประกันสังคม เนื่องจากกฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง
3.แรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากไม่มีการจัดตั้งรวมตัวเป็นองค์กรนิติบุคคล
4.แรงงานนอกระบบขาดอำนาจในการต่อรอง เนื่องจากไม่มีการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน
5.ขาดการพัฒนาความรู้ความสามารถ เนื่องจากไม่มีองค์กรที่จะบริหารและจัดการในด้านการพัฒนาความรู้ความสามารถของแรงงานนอกระบบ
แนวทางแก้ไข
เพื่อที่จะช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของไทยคิดเป็นประมาณร้อยละ 62 ของแรงงานไทยทั้งหมดให้สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีหลักประกันในการทำงาน อีกทั้งจะช่วยในการแก้ปัญหาทางสังคมที่อาจจะเกิดจากแรงงานนอกระบบ รวมไปถึงการส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบ ดังนี้
1.ควรจัดให้มีระบบการคุ้มครองประกันสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบ
2.สร้างมาตรการความปลอดภัยในการทำงานให้แรงงานนอกระบบ
3.สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของแรงงานนอกระบบ
4.จัดตั้งกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ
5.จัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนอกระบบ
การเข้าสู่ระบบประกันสังคม
เนื่องจากแรงงานนอกระบบต้องประสบกับปัญหาขาดการคุ้มครองสวัสดิการในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบหนึ่งที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบดีขึ้นได้ ซึ่งในหลายๆประเทศได้ดำเนินการคุ้มครองแรงงานนอกระบบไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้นประเทศในเอเชียบางประเทศ อย่างเช่นประเทศฟิลิปปินส์ก็มีระบบการประกันสังคมให้กับแรงงานนอกระบบแล้ว
ดังนั้นแรงงานนอกระบบของไทยน่าที่จะได้รับการคุ้มครองในระบบการประกันสังคมบ้าง ซึ่งจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย พบว่าแรงงานนอกระบบของไทยสามารถที่จะเข้าสู่ระบบการประกันสังคมได้ใน 5 กรณี ดังนี้
1.การประกันกรณีเจ็บป่วย โดยแรงงานนอกระบบที่ทำประกันตนและส่งเบี้ยครบตามเงื่อนไขกำหนดสามารถรักษาพยาบาลได้ฟรี ตามโรงพยาบาลที่ตกลง และจะได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้เหมือนกับแรงงานในระบบ
2.การประกันกรณีทุพพลภาพ แรงงานนอกระบบที่ส่งเบี้ยประกันครบตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถได้รับการรักษาพยาบาลฟรีที่โรงพยาบาลตามข้อตกลง และมีสิทธิจะได้รับเงินชดเชยกรณีการขาดรายได้ไปในกรณีที่ต้องทุพพลภาพ
3.การประกันกรณีคลอดบุตร แรงงานนอกระบบที่ส่งเบี้ยประกัน 7 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร แต่จะได้ไม่เกิน 2 ครั้ง
4.การประกันสงเคราะห์บุตร แรงงานนอกระบบจะต้องส่งเบี้ยประกันตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป สามารถทำประกัน โดยจะให้เงินกับบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ
5.การประกันกรณีเสียชีวิต แรงงานนอกระบบที่ส่งเบี้ยประกันตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป จะได้รับค่าทำศพคนละ 30,000 บาท
การประกันทั้ง 5 กรณีนี้ ผู้ใช้แรงงานนอกระบบสามารถที่จะจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันได้ในจำนวนที่ไม่มากนัก ขณะเดียวกันการให้การคุ้มครองจะสามารถทำได้อย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลควรจะมีเงินงบประมาณส่วนหนึ่งเป็น Seed Fund มาจ่ายสมทบให้กับกองทุน ซึ่งในอนาคตคาดว่ากองทุนประกันสังคมใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้เหมือนกับกองทุนประกันสังคมที่มีเงินทุนจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน
ในขณะที่แรงงานที่อยู่ในระบบได้เฉลิมฉลองวันแรงงานแห่งชาติอย่างมีความสุข แต่แรงงานนอกระบบยังต้องต่อสู้เพื่อช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้แรงงานนอกระบบที่เป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนกันจะได้มีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การนำแรงงานนอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบการประกันสังคมน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้แรงงานไทยสามารถทำงานสร้างสรรค์โลกได้อย่างมีความมั่นคงในชีวิตตลอดไป