ตองกา…ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก : ก้าวสำคัญสู่สัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทย

พิธีเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระประมุขและผู้นำประเทศต่างๆ ได้เดินทางมาร่วมพิธียิ่งใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยประมุขหรือผู้แทนพระองค์และผู้นำของประเทศที่ชาวไทยค่อนข้างรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี เช่น อังกฤษ สเปน สวีเดน เดนมาร์ก นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งประมุขและผู้นำของประเทศที่ชาวไทยไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าใดนัก เช่น เลโซโท สวาซิแลนด์ ภูฏาน ตองกา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศกลุ่มหลังนี้ บางประเทศมีทำเลที่ตั้งไม่ห่างไกลจากประเทศไทย การเดินทางมาร่วมพิธีฉลองการครองสิริราชครั้งนี้ น่าจะช่วยให้ชาวไทยได้รู้จักประเทศเหล่านี้มากขึ้น และจะมีโอกาสสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นต่อไป

ประเทศตองกาเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียแปซิฟิกที่มีระบอบการปกครองประเทศโดยมีกษัตริย์เป็นพระประมุข ภายใต้ระบอบรัฐสภา มกุฎราชกุมาร เจ้าชายทูโพทัว (HRH Crown Prince Tupouto’a) เป็นผู้แทนพระองค์ในการเสด็จมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยครั้งนี้

ตองกาเป็นประเทศเล็ก มีพื้นที่ 748 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และมลรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยเกาะจำนวน 169 เกาะ ซึ่งในจำนวนนี้มี 36 เกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่ ประชากรรวมราว 112,000 คน รายได้ประชาชาติต่อหัวเฉลี่ยราว 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตองกาเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และได้รับเอกราชในวันที่ 4 มิถุนายน 2513 ปัจจุบันตองกาถือเป็นประเทศหนึ่งในเครือจักรภพอังกฤษ

? เศรษฐกิจตองกา – เศรษฐกิจตองกาขยายตัว 2.5% ในปีงบประมาณ 2548 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2548) จากปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจเติบโต 1.6% การเติบโตทางเศรษฐกิจของตองกามีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของภาคเกษตรกรรม รวมถึงการดำเนินโครงการลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ
ภาคการเกษตรของตองกามีความสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 63% ของ GDP โดยรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักที่นำเงินตราเข้าประเทศ ตองกาอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชไม้ดอกขนาดใหญ่ (hibiscus and frangipani) สวนมะพร้าว และการปลูกกล้วย สินค้าส่งออกสำคัญของตองกาส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด รายได้จากการส่งออกอันดับ 1 ได้แก่ การส่งออกฟักทอง โดยส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก สินค้าเกษตรส่งออกอื่นๆ ที่สำคัญของตองกา ได้แก่ กล้วย น้ำเต้า เผือก มันเทศ และวานิลา รวมทั้งอาหารทะเล เช่น ปลา เนื่องจากตองกามีเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลที่กว้างใหญ่ ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของตองกาในอนาคต ได้แก่ กาแฟ และสินค้าทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของตองกายังมีขนาดเล็กและประสบปัญหาด้านการพัฒนา เนื่องจากขาดแคลนแรงงานทักษะ และต้นทุนค่าขนส่งและวัตถุดิบในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง

ส่วนการนำเข้าของตองกาส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากนิวซีแลนด์ เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กันและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด นอกจากนี้ นิวซีแลนด์เป็นประเทศหลักที่บริจาคเงินช่วยเหลือตองกาด้านการพัฒนาทางการศึกษา สินค้านำเข้าสำคัญของตองกา ได้แก่ อาหาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์

ตลาดส่งออกสำคัญราวครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดของตองกา ได้แก่ ญี่ปุ่น รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ สัดส่วนราวกว่า 20% และนิวซีแลนด์ (สัดส่วนราว 10%) ส่วนประเทศหลักที่ตองกานำเข้าสินค้า ได้แก่ นิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการนำเข้าทั้งหมดของตองกา รองลงมาได้แก่ ฟิจิ (สัดส่วน 26%) แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ

ภาคการท่องเที่ยวเป็นแหล่งนำรายได้เข้าประเทศที่สำคัญของตองกา จากข้อมูลของหน่วยงานด้านท่องเที่ยวของตองกา พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปตองกาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2545-2548)

ตองกาส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเป็นประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกประเทศแรกที่สร้างอุทยานทางทะเล (marine park) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 4 แห่ง เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิตทางทะเล เช่น ปลา ปะการัง นอกจากนี้ตองกายังมีหาดทรายขาวสะอาดทอดยาวหลายไมล์ รวมทั้งแนวโขดหินที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งเป็นสิ่งธรรมชาติที่สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในตองกา

นอกจากรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแหล่งนำเงินตราต่างประเทศที่สำคัญแล้ว รายได้จากการส่งเงินกลับเข้าประเทศของชาวตองกาที่ไปทำงานในต่างประเทศก็เป็นแหล่งนำเงินตราเข้าประเทศที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของตองกาเช่นกัน ส่วนใหญ่ชาวตองกาเข้าไปทำงานอยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

บทบาทของตองกาในประชาคมโลก

ตองกาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในประชาคมแปซิฟิก (Pacific Community) และPacific Islands Forum (PIF) โดยในเดือนตุลาคม 2549 นี้ ตองกากำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum Summit) ครั้งที่ 37 หลังจากที่ปาปัวนิวกินีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Pacific Islands Forum ในเดือนตุลาคม 2548 นับว่าการประชุมหารือผู้นำ PIF มีความสำคัญต่อการกำหนดบทบาทของกลุ่มประชาคมแปซิฟิก โดยการประชุมหารือของผู้นำกลุ่ม Pacific Islands Forum ที่ผ่านมาได้ตกลงจัดทำแผนดำเนินการ (Pacific Plan) เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันของประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือและการรวมตัวของภูมิภาค โดยแผนดำเนินการนี้ประกอบด้วยจุดมุ่งหมาย 4 ด้าน ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การมีธรรมาภิบาลที่ดี และการสร้างความมั่นคงของกลุ่มประเทศแปซิฟิก

ก้าวสำคัญของตองกาในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในประชาคมโลก คือ การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ประเทศล่าสุดในลำดับที่ 150 โดยเข้าเป็นสมาชิกในการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 6 เดือนธันวาคม 2548 นับว่าตองกาเป็นประเทศที่ 4 ในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO หลังจากที่ประเทศฟิจิ ปาปัวนิวกีนี และหมู่เกาะโซโลมอน (Solomon Islands) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ในปี 2539

ตองกาใช้เวลาในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO นานนับ 10 ปี นับตั้งแต่ตองกายื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก WTO ในเดือนมิถุนายน 2538 แต่ได้เริ่มต้นการเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ในเดือนเมษายน 2544 โดยหลังจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ในเดือนธันวาคม 2548 ตองกามีข้อผูกพันตามข้อตกลงต่างๆ ของ WTO ดังนี้

– ข้อตกลงด้านศุลกากร (Custom Valuation Agreement) และข้อตกลงการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPS) แต่ตองกามีระยะเวลาปรับตัว โดยเริ่มดำเนินการภายใต้ข้อตกลงข้างต้นในวันที่ 1 มกราคม 2551 และ 1 มิถุนายน 2551 ตามลำดับ
– ตองกาต้องยกเลิกการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดภายในประเทศนับจากวันที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก WT0 ยกเว้นการอุดหนุนบางประเภท (actionable subsidies) ที่ WTO อนุญาตให้ใช้ได้
– ตองกาต้องดำเนินการตามความตกลงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Agreement on Sanitary and Phyto-Sanitary Measures) นับตั้งแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิก WTO
– ในระยะต่อไป ตองกาต้องเข้าร่วมข้อตกลงด้านมาตรฐานทางเทคนิค (Agreement on Technical Barrier to Trade)
– ในวันที่ 1 มกราคม 2550 ตองกาจะต้องลดภาษีศุลกากรของสินค้าทั้งหมดให้เหลืออัตราระหว่าง 15-20% เพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าและเปิดตลาดภายในประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันเป็นโอกาสให้สินค้าส่งออกสำคัญของตองกาสามารถเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ ได้มากขึ้น จากภาษีศุลกากรที่ต่ำลง

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กอย่างตองกา รวมถึงประเทศอื่นๆ ในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกประสบความยากลำบากในการเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจการค้าของโลก ยิ่งเกิดกระแสการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจสำคัญอย่างสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ที่จัดตั้งกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union) และเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ (NAFTA) รวมทั้งการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย และการรวมตัวของกลุ่มอเมริกากลางในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ประเทศขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิกถูกทิ้งให้อยู่นอกกระแสการค้าโลกมากขึ้น

แม้ว่าประเทศฟิจิ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่ปี 2539 แต่ก็ประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งที่ทำการอย่างถาวรประจำองค์การการค้าโลกของแต่ละประเทศ ดังนั้น WTO จึงให้การสนับสนุนโดยจัดตั้งที่ทำการร่วมกันของผู้แทนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก 16 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกของ Pacific Islands Forum ณ นครเจนีวา ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การการค้าโลก โดยในบรรดาประเทศสมาชิกทั้งหมด มี 6 ประเทศที่เป็นสมาชิก WTO ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และตองกา ซึ่งประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ในฐานะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีบทบาทนำที่สำคัญของกลุ่มในการส่งเสริมและนำเสนอท่าทีในนามของกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิกสู่การประชุมเจรจาด้านต่างๆ ขององค์การการค้าโลก นับว่าโอกาสของการมีส่วนร่วมทางการค้าของประเทศขนาดเล็กเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางการค้าระหว่างประเทศ และการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศเหล่านี้ตามมาด้วย

ความสัมพันธ์ไทย-ตองกา
ไทยกับตองกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในวันที่ 27 มกราคม 2537 และมีความสัมพันธ์อันดีตลอดมา โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือตองกาในกรณีพายุไซโคลน ปี 2545 และพายุ Heta ในปี 2547 ส่วนตองกาให้ความช่วยเหลือไทยในกรณีเหตุการณ์สึนามิ ปี 2547 โดยตองกาเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ให้ความช่วยเหลือไทย

เจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตา (Prince Ulukalala Lavaka Ata) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบินพลเรือน เสด็จมาเยือนไทยในเดือน เมษายน 2548 โดยได้ขยายความร่วมมือด้านการบินกับไทย ทั้งนี้ บริษัทการบินไทยอาจพิจารณาเปิดเส้นทางการบินจากนครซิดนีย์ หรือนครโอ๊คแลนด์ต่อไปยังตองกาประมาณ 1-2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในนามของสายการบินตองกา ถือเป็นการขยายความสัมพันธ์ของสองประเทศ และกระตุ้นการท่องเที่ยวไป-มาระหว่างกัน ทำให้ประชาชนชาวไทยและตองกา ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของกันและกัน สนับสนุนให้มีการเชื่อมความสัมพันธ์ในทางที่ดีระหว่างกันมากขึ้น

ด้านการค้าไทย-ตองกา – มูลค่าการค้าไทยกับตองกาต่อปีค่อนข้างน้อย มูลค่าไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกสินค้าไทยไปตองกา ไทยแทบไม่ได้นำเข้าสินค้าจากตองกา ทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับตองกามาโดยตลอด แต่ในปี 2548 มูลค่าการค้าไทย-ตองกาเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวถึง 237.5% จากปี 2547 สำหรับช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 การส่งออกของไทยไปตองกาเพิ่มขึ้น 133% จาก 0.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันปี 2548 เป็น 0.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยไม่ได้นำเข้าสินค้าจากตองกา ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับตอง 0.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สินค้าส่งออกของไทยไปตองกามี 3 รายการ เรียงตามมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามลำดับ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2549 สัดส่วนการส่งออกผ้าผืนไปตองกาเพิ่มขึ้นเป็น 57.14% ของการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมดไปตองกา ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติก สัดส่วนการส่งออกของไทยไปตองกาเท่ากันคือ 14.29%

 แม้ว่าประเทศไทยและตองกามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันค่อนข้างน้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่การที่มกุฎราชกุมารแห่งตองกา เสด็จมายังประเทศไทย เพื่อร่วมพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะช่วยให้ชาวไทยรู้จักคุ้นเคยกับประเทศตองกามากขึ้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกันต่อไป