จับตามาเลเซีย : ไทยเร่งขีดความสามารถทางการแข่งขัน & เสริมบรรยากาศการลงทุน

สถานการณ์การเมืองของประเทศไทยที่อ่อนไหวมาตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับเหตุการณ์ไม่สงบในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ลุกลามมายังพื้นที่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อกลางเดือนกันยายน ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ทำให้การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในไทยปี 2549 มีแนวโน้มชะลอตัวลง หากพิจารณาการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในไทยจากโครงการลงทุนของต่างชาติที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าจำนวนโครงการของต่างชาติที่ยื่นขอรับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 470 โครงการ จาก 462 โครงการในช่วงเดียวกันของปี 2548 แต่มูลค่าการยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติลดลง 27.6% โดยมีมูลค่ารวมราว 151,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 ที่มีมูลค่า 207,328 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่มูลค่าโครงการของต่างชาติที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยถดถอยลง หลังจากที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2544-2548) มูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากราว 149,500 ล้านบาท ในปี 2544 เป็น 307,000 ล้านบาท ในปี 2548

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นอกจากเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแห่งใหม่แล้ว มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ถือเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยมานาน ซึ่งขณะนี้มาเลเซียได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและต้อนรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างยิ่ง สมควรที่ไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

การลงทุนของต่างชาติในมาเลเซีย
ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 (มกราคม-กรกฎาคม) โครงการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากทางการมาเลเซียมีมูลค่า 7,580 ล้านริงกิต คิดเป็นสัดส่วน 44% ของโครงการลงทุนทั้งหมด 17,248 ล้านริงกิต ที่ได้รับอนุมัติในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 สำหรับโครงการลงทุนของต่างชาติในมาเลเซียในปี 2548 มีมูลค่า 17,900 ล้านริงกิต เพิ่มขึ้น 36.6% เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่มีโครงการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุมัติลงทุนในมาเลเซียมูลค่า 13,100 ล้านริงกิต โดยโครงการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุมัติในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วน 57.7% ของการลงทุนทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติในปี 2548 มูลค่ารวม 31,000 ล้าน ริงกิต

ประเภทโครงการลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในมาเลเซียมากที่สุด ได้แก่ เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าโครงการ 3,762 ล้านริงกิต ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดในมาเลเซียในช่วงเดียวกัน ส่วนโครงการลงทุนของต่างชาติประเภทเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2548 มีมูลค่า 11,319 ล้านริงกิต คิดเป็นสัดส่วน 80% ของโครงการลงทุนเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในมาเลเซียในปี 2548

ส่วนโครงการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากในมาเลเซียรองลงมา ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 ได้แก่ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ การผลิตเครื่องจักร และการผลิตอาหาร ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากในไทยและมาเลเซียใน 2 อันดับแรกเป็นโครงการประเภทเดียวกัน ได้แก่ เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ

ท่องเที่ยวมาเลเซีย
มาเลเซียเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน ในช่วงครึ่งปีแรก 2549 นักท่องเที่ยวต่างชาติในมาเลเซียมีจำนวน 8.56 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในมาเลเซีย 8.16 ล้านคน สำหรับปี 2548 นักท่องเที่ยวต่างชาติในมาเลเซียมีจำนวน 16.43 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.4% จากจำนวน 15.7 ล้านคน ในปี 2547 ส่วนไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 11.51 ล้านคนในปี 2548 ลดลง 1.9% จากจำนวน 11.73 ล้านคนในปี 2547 เนื่องจากในปี 2548 ไทยประสบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้และการระบาดของไข้หวัดนกเป็นระยะๆ จึงทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางท่องเที่ยวมายังไทย นับว่ามาเลเซียเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ส่วนประเทศอาเซียนที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมามากลำดับรองลงไป ได้แก่ สิงคโปร์ (8.94 ล้านคน) อินโดนีเซีย (5 ล้านคน) เวียดนาม (3.46 ล้านคน) ฟิลิปปินส์ (2.62 ล้านคน) ตามลำดับ

– หากพิจารณาประเทศมาเลเซีย นอกจากเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนเช่นเดียวกับไทยที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดเสรีการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มอาเซียนด้วยการขจัดอุปสรรคทางการค้าด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างแท้จริง รวมทั้งขจัดอุปสรรคด้านการลงทุนจัดตั้งธุรกิจภายในอาเซียน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) แล้ว อีกด้านหนึ่งมาเลเซียยังถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เนื่องจากมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจคล้ายกับไทย โดยเฉพาะปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนี้

– ไทยและมาเลเซียเป็นแหล่งลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโครงการประเภทต่างๆ คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นประเภทธุรกิจที่ต่างชาติสนใจลงทุน คิดเป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ของโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดของทั้งสองประเทศ รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยและมาเลเซียเป็นอันดับ 1 อีกทั้งสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยและมาเลเซีย ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของทั้งไทยและมาเลเซีย มาเลเซียส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนราว 53% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของมาเลเซีย ส่วนไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนราว 32.7% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

– ไทยและมาเลเซียเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศที่สำคัญของกลุ่มอาเซียน โดยมาเลเซียเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 32% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในอาเซียน ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 22% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในอาเซียน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่โครงการลงทุนของต่างชาติในมาเลเซียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในปี 2548 และมีแนวโน้มว่าเงินลงทุนของต่างชาติจะเข้ามาในมาเลเซียอย่างต่อเนื่องในปี 2549 เนื่องจากทางการมาเลเซียออกมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมฉบับที่ 3 (Third Industrial Master Plan : IMP3) ระหว่างปี 2549-2563 ที่เน้นการพัฒนาภาคเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำประเทศไปสู่การผลิตที่เพิ่มมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ประกอบกับเหตุการณ์ความสงบเรียบร้อยของประเทศ และความมั่นคงทางการเมืองในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ใช้มาเลเซียเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์

ขณะนี้มาเลเซียเร่งออกมาตรการส่งเสริมบรรยากาศด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ที่สำคัญ ได้แก่

— ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากปัจจุบัน 28% เป็น 27% ในปี 2550 และ 26% ในปี 2551
— เพิ่มงบประมาณรายจ่ายภาครัฐด้านการพัฒนาการศึกษา นวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตที่เพิ่มมูลค่าและนำประเทศสู่เป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563
— เสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมโลจีสติกส์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ โดยวางแผนจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาโลจีสติกส์แห่งชาติและศูนย์โลจีสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเพิ่มงบประมาณรายจ่ายภาครัฐด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนด้านท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในมาเลเซียมากกว่าไทย เนื่องจากมาเลเซียเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวในอาเซียนเดินทางไปมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ที่มีจำนวนถึง 9.6 ล้านคน (เนื่องจากที่ตั้งของสิงคโปร์ใกล้กับมาเลเซียมากที่สุด นอกจากการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว ยังมีการเดินทางเพื่อติดต่อทางธุรกิจ) รองลงมา ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และบรูไนฯ รวมจำนวนนักท่องเที่ยวจากอาเซียนทั้งหมดในมาเลเซีย 12.98 ล้านคนในปี 2548 เทียบกับไทยที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเดินทางมาไทย 3.10 ล้านคน นับว่านักท่องเที่ยวจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองที่เดินทางไปมาเลเซียมากกว่าไทยถึง 9.88 ล้านคนในปี 2548 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณานักท่องเที่ยวจากทั่วโลกยกเว้นอาเซียน พบว่า ไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคต่างๆ เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมากกว่ามาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศในเอเชีย (ไม่รวมอาเซียน) ตะวันออกกลาง ทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ต่างเดินทางเข้ามาไทยมากกว่ามาเลเซีย

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียมีแผนที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มอื่นๆ มากขึ้นด้วยการขยายการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทนำเที่ยวถึงปี 2554 เพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในมาเลเซียระยะเวลา 15 วัน

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง เนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ประกอบกับปัจจัยหลายประการในปี 2549 ที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ในขณะที่มาเลเซียเร่งออกมาตรการส่งเสริมบรรยากาศด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันหลายประการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การที่ไทยจะเป็นประเทศที่ต่างชาติเลือกเข้ามาลงทุนก่อนประเทศอาเซียนอื่นๆ จำเป็นต้องมีปัจจัยบวกหลายๆ ด้านที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แนวทางพัฒนาเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศด้านการลงทุน รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญได้แก่

การพัฒนาด้านโลจีสติกส์ – ต้นทุนด้านโลจีสติกส์ของไทยค่อนข้างสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 18.9% ต่อ GDP ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันลดลง ไทยควรพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และการเชื่อมต่อโครงข่ายการขนส่งรูปแบบต่างๆ (Multimodal Transport) ได้แก่ ทางเรือ ทางถนน และทางรถไฟ รวมทั้งพัฒนากำลังคนด้านโลจีสติกส์ ให้ความรู้แก่บุคลากร และผู้ประกอบการ เพื่อสร้างธุรกิจให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่การลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

พัฒนาด้านการศึกษา/แรงงานทักษะ – การพัฒนาแรงงานให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ/ความรู้เฉพาะทางให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม/ภาคบริการ และให้ความสำคัญกับความรู้ด้านภาษา

ความโปร่งใสของกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ & ธรรมาภิบาลที่ดี – ไทยควรปรับปรุงกฎเกณฑ์และหลักเกณ์ต่างๆ ให้มีความชัดเจนขึ้น และเป็นบรรทัดฐานที่ถือปฏิบัติต่อไป การตรวจสอบต่างๆ ควรเปิดเผยข้อมูลและมีความโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วในปัจจุบัน หรือกำลังพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยในอนาคต

นอกจากการยุทธศาสตร์การดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศเพื่อสร้างการผลิตและกระตุ้นการจ้างงานในประเทศแล้ว นักธุรกิจไทยควรออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และค่าแรงงานต่ำ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากต้นทุนวัตถุดิบและแรงงานที่ต่ำลง นอกจากนี้ การลงทุนผลิตในประเทศควรคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงาน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและประชาชนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น