เอไอเอ็นชี้แจงการให้บริการโทรทางไกลต่างประเทศ

นายวีรชัย พัชโรภาสวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด (เอไอเอ็น) ผู้ให้บริการโทรทางไกลต่างประเทศ 005 กล่าวว่า ” ตามที่ได้มีข่าวสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) ได้มีการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 สืบเนื่องกับการให้บริการของ บริษัท เอไอเอ็น นั้น เอไอเอ็น ขอเรียนชี้แจงว่า เอไอเอ็น เป็นผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก กทช ในการเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับบริษัทอื่นอีก 2 รายได้แก่ บริษัทในเครือดีแทค และบริษัทในเครือทรูมูฟ ที่ กทช.ได้มีการให้ใบอนุญาตในทำนองเดียวกัน การดำเนินการต่างๆ ของ เอไอเอ็นเป็นเรื่องที่เปิดเผยโดยได้ประสานงานกับผู้ประกอบการทุกระบบรวมทั้งกสท. ซึ่งเอไอเอ็นได้ทำความตกลงกับกสทในการส่งทราฟฟิคผ่านไปยัง กสท โดยเอไอเอ็นได้มีการเตรียมการต่างๆ ในการเปิดให้บริการมาเป็นระยะ เพื่อให้เกิดคุณภาพในการให้บริการอย่างสูงสุด

และเมื่อมีความพร้อมจึงได้เริ่มเปิดทดลองการให้บริการในเชิงพาณิชย์กับลูกค้าเอไอเอสบางกลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 ทั้งนี้เพื่อทดสอบความพร้อมในการจัดเตรียมระบบต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการที่จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยได้ทำการทดลองให้ลูกค้าใช้บริการ กดรหัส 005 หรือ “+” ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบ ผ่านสื่อ SMS และ IVR ส่วนเครื่องหมาย “+ “นั้นเป็นเครื่องหมายที่ยอมรับกันในสากลสำหรับการเรียกออกต่างประเทศที่เจ้าของเครือข่ายผู้ให้บริการจะเป็นผู้กำหนดและแจ้งให้ลูกค้าทราบ โดยการทดลองให้บริการ “+ “ดังกล่าวได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 มี.คและสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค ที่ผ่านมา

สำหรับการทดลองให้บริการครั้งนี้เอไอเอ็นไม่ได้ทดลองกับลูกค้าทั้งหมดเพียงทดลองกับลูกค้าจำนวนหนึ่ง จากฐานลูกค้าทั้งหมดของเอไอเอส เพื่อให้เพียงพอที่จะทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเท่านั้น และรายได้จากการทดลองใช้งานของลูกค้ากลุ่มนี้ เอไอเอ็นมีหลักการในการบริหารรายได้แบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้

ส่วนที่ 1 รายได้จากกลุ่มลูกค้าที่เอไอเอ็นได้ประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบถึงการ ใช้บริการโดยกด รหัส 005 หรือ “+” จะเป็นรายได้ของเอไอเอ็น

ส่วนที่ 2 รายได้จากกลุ่มลูกค้าที่ใช้ “+” โดยไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์จะเป็นรายได้ของ บมจ กสท โทรคมนาคม
โดยเอไอเอ็นจะเรียกเก็บผ่านใบแจ้งค่าใช้บริการจากเอไอเอส และจะนำรายได้จากส่วนที่ 2 ส่งให้ บมจ กสท โทรคมนาคมต่อไป

นายวีรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยขอบเขตใบอนุญาตของ เอไอเอ็น นั้นสามารถที่จะให้บริการผ่านการเข้าถึงในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การเรียกมาจากผู้ใช้โดยตรง การเรียกมาจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ รวมถึงการเชื่อมต่อโดยตรงกับตู้สาขาอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบัน เอไอเอ็น ยังไม่ได้มีความพร้อมในการดำเนินการให้บริการผ่านทางตู้โทรศัพท์สาธารณะ รวมถึงการเชื่อมต่อโดยตรงกับตู้สาขาอัตโนมัติแต่อย่างไร ทั้งนี้การดำเนินการของเอไอเอ็น นั้นมิได้มีผลกระทบทำให้ บมจ กสท โทรคมนาคม สูญเสียทราฟฟิคแต่อย่างไร ซึ่งทราฟฟิคที่เกิดขึ้นจากการเปิดทดลองให้บริการในเชิงพาณิชย์ของ เอไอเอ็น ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น เอไอเอ็น ก็ได้ส่งผ่านโครงข่ายของ บมจ กสท โทรคมนาคมทั้งสิ้น และ เอไอเอ็น ระลึกอยู่เสมอว่า บมจ กสท โทรคมนาคม เป็นคู่ค้าทางธุรกิจ (Business Partner) เอไอเอ็น ยืนยันว่ายังคงเคารพ ยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ การจะดำเนินการใดๆ นั้นบริษัทฯ ตระหนักดีถึงกฎเกณฑ์และการปฏิบัติอันพึงมีซึ่งจะนำประโยชน์มาสู่ผู้ใช้บริการเป็นที่ตั้ง”