สงกรานต์ปีกุน : คนกรุงฯใช้จ่าย…เม็ดเงินสะพัด 2.2 หมื่นล้านบาท

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2550 ซึ่งมีวันหยุดราชการติดต่อกัน 5 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 13 -17 เมษายน 2550 ส่งผลให้ประชาชนคนไทยได้มีโอกาสร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์กับครอบครัวกันอย่างคึกคักในทุกพื้นทั่วประเทศ ภาครัฐโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ใน 12 จังหวัด ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สุโขทัย หนองคาย สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ขอนแก่น นครพนม ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำหรับในกรุงเทพฯยังมีภาคเอกชนโดยเฉพาะศูนย์การค้าต่างๆจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ดึงดูดลูกค้าเข้ามาร่วมกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ปีนี้กันอย่างคึกคัก ทั้งนี้เพื่อชดเชยช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ค่อนข้างเงียบเหงาจากการเกิดเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯช่วงส่งท้ายปีเก่า

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ และการใช้เวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯปีนี้ ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ จากกลุ่มตัวอย่างในทุกสาขาอาชีพและทุกระดับรายได้จำนวน 1,200 คน ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 4 เมษายน 2550 เพื่อประเมินแนวโน้มการใช้จ่ายในด้านต่างๆช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯปีนี้ ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้

การใช้เวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์ : คนกรุงฯอยู่กรุงเทพฯ….เพิ่มขึ้น
จากการสำรวจ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 32 เลือกที่จะพำนักอยู่ในกรุงเทพฯช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 27.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯที่มีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่มีวันหยุดติดกันหลายวัน ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติโดยเฉพาะค่าที่พักและราคาแพ็กเกจทัวร์แล้ว ยังมีความเสี่ยงต่ออุบัติภัยบนท้องถนนสูงจากการจราจรที่คับคั่งมากกว่าปกติหลายเท่าตัว

จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมมือกันจัดงานเทศกาลสงกรานต์เชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมกันอย่างคึกคักในทุกพื้นที่

กิจกรรมสำคัญตามประเพณีในเทศกาลสงกรานต์ของไทยที่สืบสานกันมาช้านาน มีดังนี้
– การทำบุญตักบาตร และสรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ไทย รวมทั้งการทำบุญบังสุกุลให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
– การรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่
– การเล่นสาดน้ำ ชมการละเล่น ขบวนแห่นางสงกรานต์ การประกวดเทพีสงกรานต์ และงานมหรสพต่างๆ

คนกรุงฯพำนักในกรุงเทพฯ : ใช้จ่ายเม็ดเงินสะพัด 4,200 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกจะพำนักในกรุงเทพฯช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมสำคัญตามประเพณีสงกรานต์ในกรุงเทพฯร้อยละ 71.9 โดยมีสัดส่วนการร่วมในแต่ละกิจกรรมดังนี้

– การทำบุญตักบาตรและสรงน้ำพระ ร้อยละ 31.7
– การรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 21.3
– การเล่นสาดน้ำ ชมการละเล่น และงานมหรสพต่างๆ ร้อยละ 26.0

สำหรับสถานที่จัดงานสงกรานต์ในกรุงเทพฯที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ถนนข้าวสาร สนามหลวง และพุทธมณฑล เป็นต้น

จากการใช้จ่ายเพื่อร่วมกิจกรรมสำคัญตามประเพณีต่างๆในกรุงเทพฯช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว เม็ดเงินส่วนใหญ่สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ ได้แก่ ร้านจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องสังฆภัณฑ์ น้ำอบไทย แป้งร่ำ ดินสอพอง พวงมาลัย ปืนฉีดน้ำ เสื้อม่อฮ่อม เสื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส เป็นต้น

นอกจากการร่วมกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ดังกล่าวแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกพำนักในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ยังมีกิจกรรมนอกบ้านต่างๆในสัดส่วนดังนี้

– การรับประทานอาหารนอกบ้านร้อยละ 31.8
– การเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าร้อยละ 29.9
– การชมภาพยนตร์ร้อยละ 18.1
– การเที่ยวตามสวนสนุก สวนสัตว์ หรือสวนสาธารณะร้อยละ 5.5

การมีกิจกรรมนอกบ้านในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ก่อให้เกิดการใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 11 เม็ดเงินดังกล่าวมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภัตตาคารหรือร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่างๆ โรงภาพยนตร์ และสวนสนุกกลางแจ้ง เป็นต้น

โดยรวมแล้วการใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆของผู้ที่เลือกจะพำนักในกรุงเทพฯช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่มีผู้พำนักอยู่ในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ประกอบกับราคาสินค้าและค่าบริการต่างๆที่ปรับสูงขึ้น

คนกรุงฯเดินทางออกจากกรุงเทพฯ : ใช้จ่ายเม็ดเงินสะพัด 17,800 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 68.0 วางแผนจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้เพื่อเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 5 จากปีที่แล้ว โดยจำแนกสัดส่วนได้ดังนี้

– ร้อยละ 82.2 เป็นกลุ่มที่จะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดหรือเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด
– ร้อยละ 15.2 เป็นกลุ่มที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งมีทั้งที่เดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ และที่เดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืน
– ร้อยละ 2.6 เป็นกลุ่มที่วางแผนจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ก็ส่งผลให้มีเงินตราจำนวนมากไหลออกนอกประเทศ

คนกรุงฯร่วมกิจกรรมสงกรานต์ในต่างจังหวัด : สร้างเม็ดเงินสะพัด 4,300 ล้านบาท
จาการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯที่ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ปีนี้ในต่างจังหวัดร้อยละ 81.1 โดยมีสัดส่วนการร่วมในแต่ละกิจกรรมดังนี้
– การทำบุญตักบาตรและสรงน้ำพระร้อยละ 29.0
– การรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ร้อยละ 27.7
– การเล่นสาดน้ำ ชมการละเล่น และงานมหรสพต่างๆร้อยละ 21.9
จากการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯเพื่อร่วมกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในต่างจังหวัดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปีที่แล้ว

คนทำงานกรุงเทพฯกลับบ้านต่างจังหวัด : ใช้จ่ายสะพัด 7,500 ล้านบาท
ผู้ตอบแบบสอบถามที่วางแผนจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 82.2 จะเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด โดยร้อยละ 72.4 เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดซึ่งจะเดินทางกลับไปบ้านในต่างจังหวัดเพื่อร่วมฉลองสงกรานต์ในหมู่ญาติพี่น้องเป็นประจำทุกปี และร้อยละ 16.1 เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯที่เดินทางไปเยี่ยมญาติที่อยู่ในต่างจังหวัด

หากพิจารณาจากภูมิลำเนาของผู้ที่จะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ปีนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 27 เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ผู้ที่มีภูมิลำเนาในภาคใต้ และภาคกลางและตะวันตกในสัดส่วนร้อยละ 24 เท่ากัน ผู้ที่มีภูมิลำเนาในภาคเหนือและภาคตะวันออกร้อยละ 19 และร้อยละ 6 ตามลำดับ

ผู้ตอบแบบสอบถามที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์มีการใช้จ่ายในด้านต่างๆ ดังนี้

1.ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของฝากญาติในต่างจังหวัด จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่วางแผนจะเดินทางไปร่วมฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่บ้านในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 79.5 ซื้อของฝากญาติในต่างจังหวัด โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 2,400 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีที่แล้ว สินค้าที่นิยมซื้อเป็นของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัดมากอันดับ 1 คือ อาหาร ซึ่งรวมทั้งผลไม้ ขนม และของบำรุงร่างกาย รองลงมา คือ เสื้อผ้า (ได้แก่ ผ้านุ่ง และเสื้อยืดสีเหลือง) และของใช้ในบ้านต่างๆ

2.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับต่างจังหวัด รวมทั้งการใช้เวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์ในต่างจังหวัด อาทิ การเดินทางไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว มีมูลค่าประมาณ 5,100 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว เม็ดเงินดังกล่าวมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจบริการด้านการขนส่ง และสถานีบริการน้ำมันทั้งในกรุงเทพฯและตามเส้นทางเดินทางไปยังภาคต่างๆ

พาหนะในการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ปีนี้ส่วนใหญ่ คือ รถบขส.หรือรถทัวร์ปรับอากาศในสัดส่วนร้อยละ 48.7 รถยนต์ส่วนตัวร้อยละ 40.3 รถไฟร้อยละ 6.6 เครื่องบินร้อยละ 2.8 ที่เหลือเป็นรถเช่าหรือรถตู้โดยสาร
การใช้จ่ายเพื่อซื้อของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัดและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 7,500 ล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 จากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าและค่าบริการด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

คนกรุงฯเที่ยวต่างจังหวัด : ใช้จ่ายสะพัด 2,000 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่วางแผนจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯในช่วงวันหยุดสงกรานต์ร้อยละ 15.2 ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วประมาณเกือบร้อยละ 10 ทั้งนี้เป็นผลจากการที่คนกรุงเทพฯบางส่วนหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ซึ่งมักจะประสบปัญหาการจราจรติดขัด ความแออัดของนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม และอัตราค่าบริการรวมทั้งราคาสินค้าต่างๆตามแหล่งท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงปกติมาก

จากการสำรวจพบว่า การจัดการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดสงกรานต์ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 84.8 เดินทางไปเที่ยวกันเอง และร้อยละ 15.2 ซื้อรายการนำเที่ยวเดินทางในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ไปกับบริษัทนำเที่ยว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันเช่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวคนไทยจะนิยมซื้อแพ็กเกจทัวร์เพื่อเดินทางไปเที่ยวกับบริษัทนำเที่ยวกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในด้านการจองที่พักรวมทั้งตั๋วเครื่องบิน และความสะดวกด้านการเดินทาง ประกอบกับการพัฒนารายการนำเที่ยวที่น่าสนใจดึงดูดลูกค้าของบรรดาบริษัทนำเที่ยว ส่งผลให้สัดส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวกับบริษัทนำเที่ยวในช่วงสงกรานต์เพิ่มขึ้นจากปกติที่มักจะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10

การเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ปีนี้มีทั้งการเดินทางไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ และการเดินทางไปเที่ยวแบบค้างคืนในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แหล่งท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ คือ

– แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภาคกลางและตะวันตก (ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นนทบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น) ในสัดส่วนร้อยละ 51.9

– แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก (ได้แก่ พัทยา บางแสน และระยอง เป็นต้น) ในสัดส่วนร้อยละ 36.5
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ มีดังนี้

– แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก (ได้แก่ พัทยา เกาะช้าง และระยอง เป็นต้น) ในสัดส่วนร้อยละ 32.8

– แหล่งท่องเที่ยวในภาคกลางและตะวันตก (ได้แก่ ชะอำ หัวหิน และกาญจนบุรี เป็นต้น) ในสัดส่วนร้อยละ 29.7

– แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ (ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และนครสวรรค์ เป็นต้น) ในสัดส่วนร้อยละ 15.6

– – แหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ (ได้แก่ สมุย กระบี่ พังงา และหาดใหญ่ เป็นต้น) ในสัดส่วนร้อยละ 10.9

– แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ได้แก่ ขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น) ในสัดส่วนร้อยละ 10.9

การใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ปีนี้ของคนกรุงเทพฯมีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินรายได้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าบริการด้านการขนส่งและค่าที่พัก เม็ดเงินดังกล่าวส่วนใหญ่สะพัดสู่ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจด้านที่พัก (อาทิ โรงแรม รีสอร์ต และบังกาโล) ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว และบริการอื่นๆตามแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆทั่วทุกภาคของประเทศ

คนกรุงฯเที่ยวต่างประเทศ : ใช้จ่ายสะพัด 4,000 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่วางแผนจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ร้อยละ 2.6 ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 12.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่มีวันหยุดติดกันหลายวัน และแนวโน้มการท่องเที่ยวอย่างประหยัดของนักท่องเที่ยวคนไทย โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวระยะใกล้ที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวมีแนวโน้มถูกลงจากค่าเงินบาท และการขยายการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้แพ็กเกจตั๋วเครื่องบินรวมที่พักมีราคาถูกลงมาก เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงสงกรานต์ปีนี้ของคนกรุงเทพฯมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 11 โดยมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท
แหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมจากผู้ตอบแบบสอบถามที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รองลงมา คือ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

แม้ว่าการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์จะมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว แต่การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศโดยรวมของคนไทยในช่วงวันหยุดสงกรานต์ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยเกื้อหนุนตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศหลายประการ โดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และตั๋วเครื่องบินราคาถูกของสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ขยายการให้บริการกว้างขวางขึ้นในเส้นทางแถบเอเชีย รองรับการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศระยะใกล้ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในลักษณะเดินทางไปเที่ยวกันเองในตลาดระดับบน และตลาดกลุ่มครอบครัวมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลจากการขายแพ็กเกจตั๋วเครื่องบินราคาถูกพร้อมที่พักเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศของหลายประเทศ ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มบริษัท และกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจขายตรง และธุรกิจประกันภัย ยังคงเป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่องและเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของบริษัทนำเที่ยวต่างประเทศ

สรุป
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน 5 วันหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดงานสงกรานต์กันอย่างคึกคักในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่งผลกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯร่วมกิจกรรมสำคัญๆตามประเพณีสงกรานต์ และใช้เวลาในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ในกิจกรรมต่างๆเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เมื่อประกอบกับราคาสินค้าและบริการต่างๆปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้การใช้จ่ายโดยรวมของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในอัตราไม่สูงนัก โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 22,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เม็ดเงินดังกล่าวประกอบด้วยการใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆของผู้ที่เลือกพำนักอยู่ในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ปีนี้ซึ่งมีมูลค่า 4,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 10.5 และการใช้จ่ายของผู้ที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด และผู้ที่เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ปีนี้คิดเป็นมูลค่า 13,800 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 8.7 นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินที่ไหลออกนอกประเทศจากการใช้จ่ายของผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงสงกรานต์คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาทลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 11