สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาพิเศษ “ทิศทางการเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุอยู่ ณ ขณะนี้ หากเปรียบกับอุณหภูมิทางการเมืองของประเทศไทยก็คงมีอุณหภูมิความร้อนที่ไม่แตกต่างกันนัก โดยเฉพาะคำถามของสังคมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดว่าจะออกมาในรูปแบบใด สถาบันพระปกเกล้า โดยวิทยาลัยการเมืองการปกครองจึงได้จัดสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับประเด็นร้อนทางการเมืองถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกได้จัดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ในหัวข้อ “ร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ประชาธิปไตยจึงไม่มีรัฐประหาร” และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ประชาชนผู้สนใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญและการพัฒนาการเมืองไทยที่เป็นรูปธรรม อีกทั้ง เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย

การสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยชนะ อิงคะวัต อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์เปลื้อง บัวศรี ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นวิทยากรร่วมการสัมมนา โดยมีรองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เป็นผู้ดำเนินรายการ

การสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ วิทยากรหลายท่านกล่าวถึงประเด็นทางการเมืองที่น่าสนใจว่า วิกฤตทางการเมืองการบริหารประเทศและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เข้ายึดอำนาจเพื่อหาทางออกทางการเมือง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารในครั้งนี้ และมีความคาดหวังว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และภาพลักษณ์ที่งดงามของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้ แต่ขณะนี้เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่ได้มีการรัฐประหารยึดอำนาจ แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองเก่าๆ เช่น ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง หรือแม้แต่ปัญหาสภาพถดถอยทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีรายได้ลดลง นักลงทุนไม่แน่ใจกับสถานการณ์การเมืองไทยที่ทำให้การลงทุนซบเซาไปได้เลย ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลชุดนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบางครั้งเนื้อหารัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ หากขึ้นอยู่กับการยอมรับในตัวรัฐบาล ซึ่งในครั้งนี้อาจจะเป็นเหตุให้ประชาชนไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นได้ ซึ่งวิทยากรเหล่านี้ต่างมีความเห็นว่าการบริหารงานรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ปัญหาทางเศรษฐกิจ และบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติมีความสัมพันธ์กับการออกเสียงลงประชามติของประชาชน และเกิดคำถามว่าเราจะหลีกเลี่ยงห้วงเก่าๆ ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจเงิน หรือ Money Politics หากนักการเมืองหรือข้าราชการยอมรับอำนาจทุนนั้นย่อมจะนำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

วิทยากรยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเก่งกาจสามารถ หากแต่ภาคประชาชนต้องมีความเข้มแข็ง มีส่วนร่วมทางการเมือง และรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีสิทธิในการบริหารประเทศและมีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าทิศทางการเมืองไทยจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ดังนั้นอนาคตทางการเมืองไทยอยู่ที่ประชาชนไทยทุกคน ไม่ควรผลักภาระให้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าการเมืองภาคประชาชนไม่เข้มแข็งแล้ว ในท้ายที่สุดก็ต้องมีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาใหม่อีกไม่รู้กี่ฉบับ มีการทำปฏิวัติรัฐประหารอีกไม่รู้กี่ครั้ง

เกี่ยวกับสถาบันพระปกเกล้า
สถาบันพระปกเกล้า เป็นองค์กรอิสระอยู่ในกำกับดูแลของประธานรัฐสภา และเป็นสถาบันทางวิชาการแห่งชาติที่มีพันธะกิจหลักในการเผยแพร่ความรู้ เรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้ง ทำการศึกษาวิจัยปัญหาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างมีระบบ สถาบันพระปกเกล้าประกอบด้วย 8 หน่วยงาน คือ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สำนักวิจัยและพัฒนา สำนักฝึกอบรม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สำนักงานเลขาธิการ และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อมูลเพิ่มเติม www.kpi.ac.th