เวียดนาม : คู่ค้า คู่แข่ง & พันธมิตรผลักดันธุรกิจไทย

เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2545-2549) สูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศในเอเชีย รองจากจีน ส่วนอันดับที่ 3 ได้แก่ อินเดีย อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีมานี้ (2548-2549) เศรษฐกิจอินเดียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9.2% แซงหน้าเวียดนามที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราเฉลี่ย 8.3% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราราว 8% ต่อไป และการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวเวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้นและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กำลังซื้อของคนเวียดนามเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของชาวเวียดนามราว 720 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพิ่มขึ้น 74% เมื่อเทียบกับปี 2544 ที่เวียดนามออกนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม “โด่ง เหมย” (Doi Moi) ซึ่งในขณะนั้น รายได้ต่อหัวของคนเวียดนามราว 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนามตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตราว 8% จนถึงปี 2553 และเป็นประเทศอุตสาหกรรมในปี 2563

ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม ได้แก่

1. ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเวียดนามเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อัตราการขยายตัวของค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเวียดนามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของคนเวียดนามที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนถึงราว 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทางการเวียดนามคาดว่า สัดส่วนการบริโภคของเวียดนามจะอยู่ราว 70% ของ GDP ไปจนถึงปี 2563 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า นับว่า การบริโภคภายในประเทศเวียดนามเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ทั้งนี้ เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีตลาดภายในค่อนข้างใหญ่ ประชากรของเวียดนามมีจำนวนราว 84 ล้านคน เพิ่มขึ้นปีละ 1.3% ขนาดของตลาดเวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย (ประชากรราว 220 ล้านคน) และเป็นอันดับ 13 ของโลก

2. การส่งออกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
การส่งออกของเวียดนามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2547-2549) ขยายตัวเฉลี่ยราว 25% ต่อปี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามขยายตัวได้ดี ได้แก่ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า สินค้าประมง ไม้และผลิตภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 การส่งออกทั้งหมดของเวียดนามมีมูลค่า 18.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ถ่านหิน เพิ่มขึ้น 18.1% สิ่งทอ (+24.3%) รองเท้า (+7.9%) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+18.5%) กาแฟ (+21.4%) ผลิตภัณฑ์ไม้ (+22.7%) และสินค้าประมง (+16.2%)

สิ่งทอถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม และมีมูลค่าส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำมันดิบ คิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม การส่งออกสิ่งทอของเวียดนามได้รับผลดีจากการยกเลิกโควตาสิ่งทอขององค์การการค้าโลก (WTO) ในวันที่ 1 มกราคม 2548 ส่งผลให้การส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าไม่ถูกจำกัดปริมาณการส่งออกด้วยการกำหนดโควตาของผู้ประเทศผู้นำเข้า ทำให้การส่งออกสิ่งทอของเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็ว และครองส่วนแบ่งในตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น การส่งออกสิ่งทอของเวียดนามมีแนวโน้มสดใสในปีนี้ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เวียดนามส่งออกสิ่งทอเพิ่มขึ้น 24% ด้วยมูลค่าส่งออกราว 2,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากอัตราการเติบโตราว 20% ของการส่งออกสิ่งทอของเวียดนามในปี 2549 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3. เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันเวียดนามเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา และสาขาท่องเที่ยว เนื่องจากเวียดนามลดกฎระเบียบด้านการลงทุนตามพันธกรณีการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในเวียดนาม โดยได้รับผลดีจากวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และค่าจ้างแรงงานราคาต่ำในเวียดนาม เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเวียดนามมูลค่าราว 20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 2544-2548 สำหรับมูลค่า FDI ของเวียดนามในช่วง 2 ปีมานี้ (2548-2549) ขยายตัวกว่า 50% นับว่าเวียดนามเป็นแหล่งเป้าหมายสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติต่างสนใจเข้ามาลงทุนหลังจากที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อต้นปีมานี้ ทางการเวียดนามคาดการณ์ว่า FDI ของเวียดนามในปี 2550 จะเพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยมีมูลค่า FDI ในเวียดนามมากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 โครงการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในเวียดนามมีมูลค่าราว 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าโครงการเงินทุนจดทะเบียน 776.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 21% ของการโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดในช่วงดังกล่าว รองลงมา ได้แก่ เกาหลีใต้ มูลค่าโครงการลงทุน 731.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อินเดีย (527.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน (347.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (187.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ไทย (181.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ไต้หวัน (167.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และสหรัฐฯ (166.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ

เวียดนาม : ฐานการลงทุนผลิตสินค้าของไทย

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 13 ของบรรดาประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามทั้งหมด และถือเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (9.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และมาเลเซีย (1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มูลค่าการลงทุนของไทยในเวียดนามราว 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศในปี 2531 จนถึงปี 2548 นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าและจัดตั้งธุรกิจบริการในหลายสาขา ได้แก่ ท่องเที่ยว โรงแรม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมพลาสติก และชิ้นส่วนยานยนต์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า นักธุรกิจไทยควรเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าหรือจัดตั้งธุรกิจภาคบริการในเวียดนามเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับเวียดนาม โดยมองเวียดนามเป็นพันธมิตรทางการค้าและธุรกิจ เพราะเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จะช่วยสนับสนุนธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนผลิตสินค้าและจัดตั้งธุรกิจในภาคบริการในเวียดนามให้เติบโตตามไปด้วย โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

1. ปัจจัยภายในประเทศเวียดนาม ได้แก่

แหล่งวัตถุดิบ/ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ไม้ สินค้าประมง และสินค้าเกษตร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของเวียดนามเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ หลายชนิดในอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ข้าว กาแฟ ใบชา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และพริกไทย การเข้าไปลงทุนของไทยในเวียดนาม ทำให้ไทยสามารถใช้วัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในเวียดนามผลิตสินค้าด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคในเวียดนาม และผู้บริโภคในต่างประเทศที่ได้รับผลดีจากการบริโภคสินค้าในราคาถูก เนื่องจากผลิตจากแหล่งที่ทรัพยากรและวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ค่าจ้างแรงงานในเวียดนามราคาถูกและมีปริมาณแรงงานเพียงพอ – กำลังแรงงานในเวียดนามมีจำนวนราว 42.5 ล้านคน และประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว โดยประชากรเวียดนามราว 60% ของประชากรทั้งหมดที่มีจำนวนประมาณ 84 ล้านคน มีอายุต่ำกว่า 30 ปี นอกจากนี้ แรงงานเวียดนามมีการศึกษาดี โดยอัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) ของประชากรเวียดนามมากกว่า 90% กล่าวได้ว่า จำนวนแรงงานในเวียดนามมีปริมาณค่อนข้างมาก มีการศึกษาที่ดี และค่าจ้างแรงงานต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งประเทศไทย เข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีจุดอ่อนด้านแรงงาน คือ แรงงานที่มีทักษะและแรงงานระดับผู้บริหารขั้นกลางยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งแรงงานที่มีความชำนาญภาษาอังกฤษยังไม่มากนัก หากเทียบกับแรงงานในประเทศอินเดีย และฟิลิปปินส์ ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี หากแรงงานเวียดนามมีการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจบริการเอาท์ซอสซิ่งในเวียดนามได้เพิ่มขึ้น

ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคด้านการลงทุน และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น – การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของเวียดนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 มกราคม 2550 ส่งผลให้เวียดนามต้องลดกฎระเบียบและข้อจำกัดด้านการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้มากขึ้นในทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เช่น ผ่อนคลายเพดานถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ และรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ ถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปจัดตั้งธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพในหลายสาขา เช่น ภาคก่อสร้าง ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น สปา และนวดแผนไทย เป็นต้น

ปรับปรุงบรรยากาศด้านการลงทุน – เวียดนามปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในการทำธุรกิจในเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายบรรษัท (Enterprise Law) ฉบับใหม่ปี 2548 เพื่อให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจ และสร้างความเท่าเทียมกันทางการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการวางแผนแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน นอกจากนี้ เวียดนามวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจีสติกส์ของประเทศ ได้แก่ การสร้างท่าเรือน้ำลึก ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมภาคเหนือ-ภาคใต้ และระบบขนส่งทางทะเลตลอดแนวชายฝั่ง เพื่อรองรับการลงทุนของต่างชาติ นอกจากนี้ เวียดนามยังให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบการศึกษา โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนาม และสนับสนุนให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างยั่งยืน

2. นอกจากปัจจัยภายในประเทศของเวียดนามที่สนับสนุนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ไทยควรเข้าไปลงทุนในเวียดนามอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกกำลังสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าหลายรายการ ได้แก่

สินค้าที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า เนื่องจากค่าแรงงานในประเทศปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ

สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท – การส่งออกสินค้าของไทยได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2549 แข็งค่าขึ้นเกือบ 14% ซึ่งเป็นอัตราการแข็งค่าที่มากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชีย และค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในปีนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยสูงขึ้นในสายตาของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกของไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งไม่ได้รับผลดีจากต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่ลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาท ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหาร/อาหารแปรรูป ซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างเต็มที่ และสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก การเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในเวียดนาม จึงช่วยขจัดปัจจัยลบจากการแข็งค่าของเงินบาท การขาดแคลนแรงงานในประเทศ และค่าแรงงานที่สูงกว่าเวียดนามได้

3. การบริโภคภายในประเทศเวียดนามที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่คาดว่ามีแนวโน้มสดใส เนื่องจากการส่งออกที่เติบโตได้ดี และเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่การบริโภคของคนเวียดนามจะเติบโตต่อไป ความต้องการบริโภคจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการของคนเวียดนามเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสของธุรกิจผลิตสินค้าและธุรกิจภาคบริการของไทยในเวียดนามที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศที่ส่งออกไปเวียดนามด้วยเช่นกัน เพราะเวียดนามต้องลดภาษีศุลกากรตามพันธกรณีการเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศเข้าสู่เวียดนามได้มากขึ้น ทั้งนี้ การบริโภคของเวียดนามในปัจจุบันขยายตัวราว 20% เทียบกับการบริโภคของจีนที่เติบโต 11% และการบริโภคของไทยที่เติบโต 5% จากข้อมูลยอดค้าปลีกสินค้าและบริการของเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 (มกราคม-พฤษภาคม) พบว่า ยังคงขยายตัวได้ดีในอัตรา 22.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549

4. ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าที่ผลิตในเวียดนามไปยังประเทศที่สาม โดยเวียดนามได้รับผลดีจากการที่ประเทศต่างๆ ลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าส่งออกของเวียดนาม หลังจากที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิก WTO สินค้าที่ไทยไปลงทุนผลิตในเวียดนามมีโอกาสเข้าไปประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากเวียดนามมีพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมณฑลกวางสีของจีน ซึ่งมีประชากรราว 50 ล้านคน และทางตะวันตกของเวียดนามติดกับมณฑลยูนาน ซึ่งมีประชากรราว 50 ล้านคน ทำให้สินค้าที่ผลิตในเวียดนามมีโอกาสส่งออกทางพรมแดนไปยังจีนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้สินค้าส่งออกของไทยที่ผลิตในเวียดนามยังได้รับผลดีจากสิทธิพิเศษทางภาษีที่เวียดนามได้รับจากประเทศคู่ค้าต่างๆ ด้วย

ภาคธุรกิจไทยควรเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยศึกษาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจในเวียดนามอย่างรอบด้าน โดยการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งในด้านข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ข้อมูลด้านการตลาด เช่น ความต้องการของตลาด รูปแบบของสินค้า รวมถึงรูปแบบการกระจายสินค้า และข้อมูลทางการเงิน เช่น ระบบการเงินการธนาคาร หลักประกัน อัตราแลกเปลี่ยน การโอนผลกำไรกลับประเทศ รวมทั้งกฎระเบียบภาครัฐ เช่น กฎหมายแรงงาน และรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ ***