แนวโน้มธุรกิจก่อสร้าง คาดหวังตลาดฟื้น หากการเมืองเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

ภาวะการก่อสร้างภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาของปี 2550 มีทิศทางชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากการรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ให้เห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 การลงทุนในด้านการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2549 และถ้าพิจารณาถึงการก่อสร้างของภาคเอกชนซึ่งสะท้อนการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นได้ว่าหดตัวลงร้อยละ 1 โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันตลอด 2 ไตรมาสแรกของปี และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 สภาวะดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยลบที่ส่งผลกดดันต่อภาวะอุปสงค์ โดยเฉพาะปัจจัยในด้านความเชื่อมั่นต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมทั้งการขยายการลงทุนของภาคธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มธุรกิจก่อสร้างในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2550 และโอกาสในการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะข้างหน้า โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

การก่อสร้างในระยะที่ผ่านมา … ชะลอตัวตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจก่อสร้างในระยะที่ผ่านมาของปี 2550 พบว่า การชะลอตัวของการลงทุนในด้านการก่อสร้างภายในประเทศ มีสาเหตุที่สำคัญมาจากการชะลอตัวของภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับมีผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัจจัยความเชื่อมั่น ซึ่งผู้บริโภคก็ไม่มั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความมั่นคงทางรายได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ขณะเดียวกัน ในด้านของนักลงทุนยังคงชะลอการลงทุนเพื่อรอคอยความชัดเจนทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์มีการชะลอตัวลงทุกประเภททั้งที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ทำให้การลงทุนในโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน หดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่อัตราร้อยละ 0.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่ 2 หลังจากที่มีทิศทางชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2549 เป็นที่สังเกตว่า ในช่วงปี 2550 ประเภทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายตัวของการลงทุนค่อนข้างดีจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มประเภทคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมือง หรือ ซิตี้คอนโด และประเภทโรงแรม รีสอร์ทในจังหวัดท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เช่น ภูเก็ต หัวหิน และเชียงใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะซบเซาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โครงการลงทุนของภาครัฐนับได้ว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่เข้ามาชดเชยการชะลอตัวของกิจกรรมก่อสร้างในภาคเอกชนได้พอสมควร ซึ่งแม้ว่าในไตรมาสแรกโครงการก่อสร้างภาครัฐมีการชะลอตัว เนื่องจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2550 และโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการโดยเฉพาะโครงการของรัฐวิสาหกิจมีความล่าช้า แต่การใช้จ่ายงบลงทุนในส่วนของรัฐบาลกลางและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2 ทำให้การก่อสร้างภาครัฐมีอัตราการขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 9.4 ในไตรมาสที่ 2 จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสแรก จึงช่วยประคับประคองให้การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เป็นร้อยละ 3.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรก

แนวโน้มการก่อสร้าง … อาจฟื้นตัวชัดเจนในปี 2551 หากการเมืองนิ่ง

 แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังปี 2550

เครื่องชี้เศรษฐกิจสะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจภายในประเทศในไตรมาสที่ 3 ซึ่งถ้าสถานการณ์มีความต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่เหลือของปี ก็น่าจะช่วยเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้นกว่าในระยะที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งต่างประเทศและในประเทศที่ต้องจับตามอง ปัจจัยในต่างประเทศได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจากผลกระทบของปัญหาวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgages หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง) และภาวะถดถอยของภาคที่อยู่อาศัย และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองไทยยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปตามกำหนดเวลาที่รัฐบาลประกาศไว้ คือวันที่ 23 ธันวาคม นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นตัวแปรจำกัดการฟื้นตัวของตลาดผู้บริโภค ยังอาจมาจากผลกระทบในด้านความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก เพราะจะนำไปสู่ปัญหาการปิดตัวของธุรกิจและการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกัน หากราคาน้ำมันยังคงพุ่งสูงขึ้นจะมีผลต่อเนื่องไปถึงระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ปัจจัยในด้านเสถียรภาพในการมีงานทำและเสถียรภาพของราคาสินค้าจะส่งผลกดดันการฟื้นตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภค

สำหรับผลที่จะมีต่อภาคการก่อสร้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาวะการก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 จะปรับตัวดีขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นยังมีผลต่อความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่นักลงทุนส่วนหนึ่งยังรอคอยความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น กว่าที่จะเห็นภาคอสังหาริมทรัพย์มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และอย่างทั่วถึงไปยังอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท อาจยังต้องรอจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะทำให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ มีความมั่นใจต่อทิศทางนโยบาย และเริ่มเดินหน้าแผนการลงทุนที่มีแผนการรออยู่ ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ได้รับอนุมัติและเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเพื่อดำเนินโครงการภายในช่วงปี 2550 น่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปี 2551 เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง โครงการรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การก่อสร้างภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 โดยอาจจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5-3.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่หดตัวลงร้อยละ 1.0 ในครึ่งปีแรก สำหรับการก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวลดลงหรือใกล้เคียงกับช่วงครึ่งแรก เนื่องจากยังไม่มีโครงการใหม่เริ่มต้นดำเนินการมากนัก โดยจะมีอัตราขยายตัวร้อยละ 3.4-5.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ในครึ่งปีแรก แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างภาคเอกชนน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การก่อสร้างโดยรวมจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.4-4.4 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.2

โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 2550 คาดว่าการก่อสร้างโดยรวมจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.3-3.3 ชะลอตัวลงจากที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2549 ที่สำคัญเป็นผลมาจากการก่อสร้างภาคเอกชนที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.3-1.0 จากที่เติบโตร้อยละ 2.5 ในปี 2549 สำหรับภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.4-5.7 ซึ่งจะสังเกตได้ว่าแม้โครงการก่อสร้างภาครัฐจะมีส่วนช่วยประคับประคองให้การก่อสร้างในภาพรวมไม่ทรุดตัวลง แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าในปี 2549 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.4

แนวโน้มในปี 2551

ในช่วงปี 2550 การใช้จ่ายของภาคเอกชนจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน ซึ่งสาเหตุที่สำคัญมาจากความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและทิศทางการเมืองในระยะข้างหน้า ปัจจัยความเชื่อมั่นจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลขับเคลื่อนอุปสงค์ของภาคเอกชนในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ถ้ากระบวนการทางการเมืองดำเนินไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม และมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแม้ว่าคงไม่อาจหลีกเลี่ยงรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพในระดับที่เพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ และฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาดีขึ้น ก็น่าจะเป็นเงื่อนไขให้ภาวะการก่อสร้างในปี 2551 กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

การก่อสร้างของภาคเอกชน
ในด้านการก่อสร้างภาคเอกชน คาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวในระยะปีที่ผ่านมา ที่น่าจะกระเตื้องขึ้นหากความกังวลต่อปัจจัยความไม่แน่นอนลดลง จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงมีอยู่ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์น่าจะยังยืนในระดับต่ำต่อเนื่องไปจนตลอดช่วงปี 2551 จึงเป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย สำหรับการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม คาดว่าน่าจะมีความต้องการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก คอมเพล็กซ์ โรงแรม โรงพยาบาล บริการด้านสุขภาพ ขณะที่ด้านอุตสาหกรรมน่าจะมีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมรองรับการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจไฟฟ้า ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และพลังงานทดแทน เป็นต้น โดยแม้ว่าปี 2550 จะยังคงเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนและยังอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมือง การขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าของการลงทุน ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 8 เดือนแรก มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 418,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549

การก่อสร้างของภาครัฐ
ตามกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2551 ในส่วนของงบลงทุนมีมูลค่า 404,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เทียบกับวงเงิน 374,721 ล้านบาทในปีงบประมาณก่อนหน้า ขณะที่งบเหลื่อมปีในปี 2551 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายงบลงทุนในปี 2550 ล่าช้ากว่าเป้าหมาย สำหรับงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ มีวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 289,756 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความพร้อม 216,673 ล้านบาท การลงทุนที่ต้องรอขออนุมัติตามขั้นตอน 73,083 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณลงทุนของรัฐดังกล่าว ถ้ารัฐบาลสามารถเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆให้มีความคืบหน้าได้ตามแผน น่าจะมีส่วนช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสูระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคการผลิตและการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการก่อสร้างในปี 2551 ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณีคือ
กรอบประมาณการขั้นสูง การเมืองภายหลังการเลือกตั้ง แม้มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสม แต่ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลสามารถรวมตัวกันได้อย่างมีเสถียรภาพตลอดช่วงปี 2551 และดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ก็น่าที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการเดินหน้าโครงการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลสามารถร่วมมือกันในการผลักดันการเบิกจ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ข้อสมมติดังกล่าว จะทำให้การลงทุนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และการก่อสร้างน่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างครอบคลุมทุกประเภท

กรอบประมาณการขั้นต่ำ หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลผสมหลายพรรคอาจเป็นอุปสรรคทำให้การตัดสินใจและการผลักดันนโยบายมีความล่าช้า แต่อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลที่มีฐานมาจากการเลือกตั้งน่าจะพยายามดำเนินนโยบายเชิงกระตุ้นการเติบโต เพื่อให้เป็นที่การยอมรับของประชาชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้โครงการของภาครัฐมีความคืบหน้าได้ ส่วนโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมน่าจะปรับตัวดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ภาพการเมืองอาจยังไม่ทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นตัวขึ้นได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินสกุลภูมิภาคเอเชีย อันจะส่งผลต่อธุรกิจส่งออก และอาจมีผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาการจ้างงาน ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นตัวแปรที่จำกัดขอบเขตการฟื้นตัวของตลาดผู้บริโภค รวมถึงตลาดที่อยู่อาศัย

โดยสรุปภาพรวมแนวโน้มในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการก่อสร้างมีโอกาสฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสถียรภาพพอสมควรและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัว และผลักดันการลงทุนในโครงการของรัฐให้มีความคืบหน้า ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และแนวโน้มผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและภาคการส่งออกของไทย ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังเสี่ยงต่อการปรับตัวสูงขึ้นได้หากเกิดอุปสรรคในด้านอุปทาน ตลอดจนราคาสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้างอาจมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

โดยภาพรวมคาดว่าในปี 2551 การก่อสร้างภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นมามีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-8.0 จากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3-1.0 ในปี 2550 การก่อสร้างของภาครัฐน่าจะมีความคืบหน้าของโครงการลงทุนสำคัญ ทำให้มีอัตราการขยายตัวดีขึ้นมาที่ประมาณร้อยละ 6.3-9.7 จากคาดการณ์การขยายตัวในระดับร้อยละ 4.4-5.7 ในปี 2550 ส่งผลให้การก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.1-8.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3-3.3 ในปี 2550

สำหรับแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้าง อาจปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าในปี 2550 ที่คาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 เนื่องจากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างน่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจเผชิญความผันผวน โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ความต้องการสินค้าวัตถุดิบโลหะในประเทศจีนและอินเดียยังมีแนวโน้มขยายตัวสูง ตามการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาจกระตุ้นให้กองทุนต่างชาติหันมาเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้อีก

ปริมาณงานก่อสร้างภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสตลาดในต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น โครงข่ายคมนาคมทางบก โรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภค โดยตลาดที่น่าสนใจคือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียใต้ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาล สูงกว่า 1 ล้านล้านบาท (30,000 ล้านดอลลาร์ฯ) ต่อปี นอกจากนี้ตลาดงานก่อสร้างในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาก็มีแนวโน้มขยายตัว ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญต่อการขยายความสัมพันธ์และช่องทางธุรกิจด้านการบริการในต่างประเทศมากขึ้น และธุรกิจก่อสร้างก็เป็นหนึ่งในธุรกิจเป้าหมายหลักที่ไทยต้องการสนับสนุนให้สร้างรายได้จากต่างประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในระดับที่แข่งขันได้ จากการที่บริษัทก่อสร้างของไทยหลายรายมีประสบการณ์ในการรับเหมางานก่อสร้างในต่างประเทศมาแล้ว นอกจากนี้ การสนับสนุนการขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศจะเป็นก้าวย่างสำคัญในการยกระดับศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจก่อสร้างของไทยให้มีมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากล ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโอกาสและความท้าทายที่จะมาพร้อมกับการเปิดเสรีภาคการบริการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างด้วย