แม้ไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่การได้รับการประเมินให้เป็นหนึ่งใน 17 โครงการ ที่มีผลการการดำเนินงานอยู่ในระดับ ดีเยี่ยมในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ในโรงเรียนและชุมชน จากทั้งสิ้น 107 โครงการ ในเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ปีงบประมาณ 2549-2550 สำหรับโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบจิตอาสาเพื่อสังคม” โรงเรียนบ้านหนองตาบ่ง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นี่คือความสำเร็จอีกระดับหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจและเป็นบันไดขั้นแรกที่ช่วยสร้างแรงผลักดันให้ก้าวสู่ขั้นที่สูงกว่า
ด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาวุ่นวาย เศรษฐกิจย่ำแย่ สังคมเกิดความแตกแยก ความเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คุณธรรมจริยธรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด วิกฤติเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญที่ จุดประกายให้ชุมชนและโรงเรียนบ้านหนองตาบ่งลุกขึ้นสู้หาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้วยการสรรค์สร้างกิจกรรมเสริมความรู้ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบจิตอาสาเพื่อสังคม” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับลูกหลาน เมื่อเติบโตจะสามารถเอาตัวรอดได้ และเป็นคนดีของสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นการคืนกำไรให้กับสังคมอีกทางหนึ่งด้วย
อาจารย์ วิวรรธน์ วรรณศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองตาบ่ง กล่าวว่า สังคมที่เปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะกับเยาวชนที่มีพฤติกรรมในด้านลบอย่างเห็นได้ชัด ก้าวร้าว ขาดความเอื้อเฟื้อ อ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากเด็กๆ เหล่านี้ขาดคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ถ้าไม่ช่วยกันหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อประเทศชาติได้ในอนาคต
“การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็กทำได้หลากหลายวิธี แต่เราเลือกใช้วิธีจิตอาสาเพราะต้องการสอนให้เด็กรู้จักการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เมื่อเขาได้เรียนรู้การให้ด้วยการปฏิบัติจริง เขาสามารถซึบซับได้เองทำให้จิตใจดี มีเมตตา เอื้อเฟื้อ ขณะเดียวกัน โรงเรียน ชุมชนก็สมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ปัญหาความรุนแรงต่างๆ ในสังคมก็จะลดน้อยลงด้วย” อาจารย์วิวรรธน์ กล่าว พร้อมอธิบายถึงลักษณะโครงการให้ฟังว่า เป็นการดำเนินกิจกรรมแบบบูรณาการ เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างครู นักเรียน ชุมชน โดยแบ่งกิจกรรมเป็น 3 กลุ่ม คือ
กิจกรรมแรก ครูจิตอาสา ชุมชนที่นี่เป็นชุมชนเกษตรกรรมพ่อแม่เลิกงานหลัง 5 โมงเย็น โรงเรียนเลิก 3 โมงครึ่งถ้าปล่อยไปเด็กก็วิ่งเล่นโดยเปล่าประโยชน์ หรืออาจเกิดอันตรายได้ ทางโรงเรียนจึงขอกำลังครูอาสาสมัครมาดูแลเด็กหลังเลิกเรียนซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากครูทุกคน โดยแบ่งการสอนตามความถนัด เช่น สอนทำดอกไม้สด วาดรูป การเสริมทักษะด้านการอ่าน และอื่นๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากเด็กจะได้ความรู้ทักษะเพิ่มเติม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่งด้วย
กิจกรรมที่ 2 ยุวชนจิตอาสา การสอนเรื่องความสงสารจากตัวหนังสือ จากรูปภาพ เด็กจะไม่ซึมซับ แต่ถ้าให้เขาสัมผัสด้วยตัวเอง ได้เห็นความเจ็บป่วย ความโดดเดี่ยว อย่างน้อยเด็กก็เกิดความสงสาร มีจิตใจเมตตา อ่อนโยนอยากช่วยเหลือผู้อื่น เราเลยพาเด็กๆ ไปเยี่ยมคนชราตามบ้านพักต่างๆ และเยี่ยมผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตพี่พักรักษาตามวัดใกล้เคียง ให้เขาได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วย ป้อนข้าว เช็ดตัว และพูดคุยถามสารทุกข์ สุขดิบ ชื้อข้าวของเครื่องใช้จำเป็นเล็กๆ น้อยๆ ไปฝาก เพราะผู้ป่วยบางคนไม่มีญาติ
“การได้ปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้เด็กซึมซับเรื่องคุณธรรม ความกตัญญู โดยอัตโนมัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถสอนเขาได้ที่โรงเรียน เขาจะต้องได้สัมผัสกับของจริงด้วยตัวเอง ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด บางคนชวนพ่อแม่ไปเยี่ยมผู้ป่วยเอง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเพราะรู้ว่าสาเหตุหนึ่งของการเจ็บป่วยคือไม่ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามนอกจากฝึกให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับภาครัฐได้อีกทางหนึ่งด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายกิจกรรมเช่น แรลลี่เก็บขยะ เราพาเด็กๆ ไปเก็บขยะ ทำความสะอาดตามชุมชน วัด ต่างๆ สอนให้เขาได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการคัดแยกขยะ ผลกระทบกับภาวะโลกร้อน และปลูกฝังให้เด็กรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า เป็นต้น
และกิจกรรมสุดท้าย ชุมชนจิตอาสา เนื่องจาก 1 ใน 3 ของเด็กที่นี่ไม่มีความพร้อมด้านครอบครัว สาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ พ่อแม่แยกทาง เสียชีวิต ปัญหาความยากจน หรือโรคร้ายแรง ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น ส่งผลกระทบต่อการเรียน ไม่มีสมาธิ ขาดความเอาใจใส่ พฤติกรรมก้าวร้าว ถ้าปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เราเลยจัดกิจกรรมชุมชนจิตอาสาขึ้น เพื่อหาพ่อแม่บุญธรรมให้กับเด็กเหล่านี้ โดยเชิญชวนผู้ที่มีความพร้อมอาสาอุปการะดูแลเด็กๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีพ่อแม่บุญธรรมกว่า 35 คน
“การอุปการะของพ่อแม่บุญธรรมไม่ใช่เรื่องเงินทอง แต่จะดูแลทางด้านจิตใจ เพราะเด็กเหล่านี้โหยหาความรักความอบอุ่น เงินให้มากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถช่วยเขาได้ ช่วงแรกอาจจะไม่คุ้ยเคยแต่เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งความผูกพันธ์ระหว่างกันเริ่มก่อตัวบางคนส่งเสียให้เด็กเรียนพิเศษ ซื้อของเล่นให้ ตัวเด็กเองเมื่อได้ความรักความอบอุ่น พฤติกรรมก็เปลี่ยนไปเลย มีสมาธิดี เรียนเก่งขึ้น เป็นเด็กอ่อนน้อม มีน้ำใจ”
เด็กชายวันชนะ ประนอมศิลป์ (น้องเป้) นักเรียนชั้นป.5 บอกว่า ประทับใจที่ได้ไปเยี่ยมคนป่วยที่วัด ผู้ป่วยที่นี่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แถมยังไม่มีลูกหลานมาดูแล คุณลุงคนหนึ่งบอกผมว่า อาศัยอยู่กับหลวงตา ไม่มีลูกๆ มาเยี่ยมเลยสักครั้ง ทำให้ผมรู้สึกสงสารอยากช่วยเหลือ แต่ก็ทำได้แค่ป้อนข้าว ป้อนยาให้ ผมอยากให้ลูกลุงไปเยี่ยมลุงบ้าง ลุงจะได้มีกำลังใจและได้หายจากความทุกข์ทรมานเร็วๆ ถ้าพ่อแม่ผมต้องเจ็บป่วยแบบนี้ผมจะไม่ทิ้งให้ท่านอยู่คนเดียวแน่นอน รู้ว่ามันเหงา ต้องดูแลให้ดีที่สุด ลูกที่ทอดทิ้งพ่อแม่ถือเป็นบาปที่ชดใช้ไม่หมด
และอีกหนึ่งความรู้สึกที่สะท้อนจาก เด็กชายทรงสิทธิ์ สุขสุผล (น้องนุ้ย) นักเรียนชั้นป.5 บอกว่า สนุกกับการได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อ การได้ช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เป็นการทำบุญที่ได้บุญมากครับ และทำให้จิตใจเราดี ผมไม่เคยป้อนข้าวให้ใครมาก่อนแม้แต่พ่อแม่ แต่พอได้ทำแบบนี้รู้สึกดีมาก ผมเห็นคุณลุงยิ้มและพูดว่าขอบใจ ดีใจครับที่ได้ช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ และอีกกิจกรรมหนึ่งที่ชอบ คือ แรลลี่เก็บขยะ เพราะนอกจากสนุกสนาน และได้รู้ถึงโทษของขยะที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนแล้ว ทำให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลงกว่าครึ่งในการไปเก็บครั้งที่ 2 แสดงว่าคนทิ้งขยะน้อยลง อีกหน่อยชุมชนก็สะอาด
แม้เป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่มีครูเพียง 8 คน กับนักเรียนอีก กว่า 100 ชีวิต แต่โรงเรียนแห่งนี้ไม่เคยรู้สึก โดดเดี่ยว ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากชาวชุมชนบ้านหนองตาบ่ง อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ทั้ง อบต. อบจ. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ- ประสานมิตร ที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการทำกิจกรรม รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก ศูนย์คุณธรรม ส่งผลให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
“การสร้างจิตสำนึกหรือการปลูกฝังการเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเด็กนั้น การสอนจากตำราเพียงทางเดียวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคปัจจุบันแล้ว เด็กจะต้องได้เรียนรู้ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เขาซึมซับได้ด้วยตัวเอง สามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำไปประยุกต์ ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ในฐานะครูคนหนึ่งก็อยากเห็นลูกศิษย์เติบโตเป็นเด็กดีของพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคม มีความรู้ควบคู่คุณธรรมจริธรรม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย