ตลาดรถจักรยานยนต์เดือนแรกของศักราชใหม่ปี 51 มีปริมาณกระเตื้องขึ้นจนสร้างสถิติสูงสุดในรอบ 6 เดือน ด้วยยอดการจดทะเบียนโดยรวมทั้งสิ้นกว่า 1.43 แสนคัน ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยด้านความชัดเจนทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการบริโภค ประกอบกับเป็นช่วงของฤดูการขาย ทำให้ค่ายผู้ผลิตผลักดันกิจกรรมการตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อกลุ่มเป้าหมาย และด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ ยังส่งผลให้ตลาดในไตรมาสแรกมีความตื่นตัวและคึกคักต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวางตลาดรถรุ่นใหม่ พร้อมการจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขายของบรรดาค่ายผู้ผลิต
นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมของรถจักรยานยนต์ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีปริมาณโดยรวมทั้งสิ้น 143,207 คัน ซึ่งถือเป็นสถิติยอดจดทะเบียนสูงสุดในรอบ 6 เดือน คือนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้วเป็นต้นมา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 150,685 คันแล้ว มีปริมาณลดลงเพียง 7,478 คัน หรือมีอัตราการเติบโตลดลง 5% เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยกว่าในแต่ละเดือนของปีที่ผ่านมาที่มีอัตราการเติบโตลดลงโดยเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 17%
ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยด้านการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคมีสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมายังเป็นช่วงของฤดูการขาย ส่งผลให้บรรดาค่ายผู้ผลิตต่างผลักดันกิจกรรมทางด้านการตลาด เพื่อเป็นแรงกระตุ้นการตัดสินใจซื้อและสร้างแรงจูงใจต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยกิจกรรมใหญ่ในเดือนที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าหรือแบรนด์ (Brand)
นอกจากนั้นแล้ว ค่ายผู้นำตลาด คือ ฮอนด้า ยังรุกตลาดด้วยกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ โดยการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ และลวดลายสีสันรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวรุ่นสุดยอดความนิยม พร้อมทั้งมีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านการประหยัดน้ำมัน คือ ฮอนด้า เวฟ 100 เพื่อให้มีความสดใหม่ อันเป็นการสนองตอบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในขณะนั้น ส่งผลให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค
สำหรับสภาพตลาดที่ยังคงเป็นช่วงต่อเนื่องของฤดูการขาย และจากปัจจัยทางการเมืองซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภค จะเป็นส่วนสำคัญทำให้ตลาดในไตรมาสแรกมีความตื่นตัวและคึกคักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแนะนำรถรุ่นใหม่ลงสู่ตลาด พร้อมทั้งมีการจัดแคมเปญและกิจกรรมเพื่อสร้างยอดจำหน่ายของค่ายผู้ผลิตต่างๆ
ในด้านรายละเอียดของยอดจดทะเบียนของเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์แบบครอบครัวมีปริมาณการจดทะเบียนสูงสุด คือ 71,057 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 50% โดยมีอัตราการเติบโตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9% ในขณะที่รถจักรยานยนต์แบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือแบบเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเป็นอย่างสูงนั้น มีปริมาณการจดทะเบียนมากเป็นลำดับที่สอง คือ 66,372 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 46% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีอัตราการเติบโตคงที่
ส่วนรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต มีปริมาณการจดทะเบียน 4,248 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 3% โดยมีอัตราการเติบโตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 18% รถจักรยานยนต์ประเภทสปอร์ต มีปริมาณการจดทะเบียน 1,048 คัน สัดส่วนตลาด 1% มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1% และรถจักรยานยนต์ประเภทอื่นๆ จำนวน 482 คัน
หากแบ่งยอดจดทะเบียนเป็นรายผู้ผลิตแล้ว รถจักรยานยนต์ฮอนด้ามีปริมาณการจดทะเบียน 98,297 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 69% ยามาฮ่า 36,109 คัน อัตราครองตลาด 25% ซูซูกิ 6,655 คัน อัตราครองตลาด 5% คาวาซากิ 687 คัน เจอาร์ดี 445 คัน แพล็ตตินั่ม 361 คัน ไทเกอร์ 101 คัน และอื่นๆ 552 คัน