เส้นทางเศรษฐกิจและโอกาสในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region: GMS) ถือเป็นความร่วมมือสำคัญในการเชื่อมโยงและพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอินโดจีน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งนี้ การประชุม GMS Summit ครั้งที่ 3 ระดับผู้นำประเทศ กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 30-31 มีนาคม 2551 ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นเป็นโอกาสอันดีในการนำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินงาน รวมทั้งประโยชน์ของไทยที่จะได้รับจากการเชื่อมโยงและพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจสายนี้ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS

ความคืบหน้าในการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตามกรอบความร่วมมือ GMS

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้กำหนดให้มีการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตามกรอบความร่วมมือ GMS จำนวน 10 เส้นทาง โดยอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจ 3 แนว ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (Southern Economic Corridor) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจ GMS ที่มีความสำคัญกับไทย ดังนี้

1. โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ
1.1 การพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้

เส้นทางหมายเลข 3A (R3A) เชื่อมโยง จีน-ลาว-ไทย ปัจจุบันเส้นทาง R3A ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางช่วงห้วยทราย-บ่อเต็น จนแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 99 คาดว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้ภายในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน 2551 นอกจากนี้ ไทยและจีนจะร่วมกันก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย โดยมีวงเงินก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2554

เส้นทางหมายเลข 3B (R3B) เชื่อมโยง จีน-พม่า-ไทย เส้นทาง R3B ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 อย่างไรก็ตาม เส้นทาง R3B ไม่ได้รับความสนใจมากนักจากนักธุรกิจและผู้เดินทาง เนื่องจากช่วงเส้นทางที่ผ่านพม่ามักมีปัญหาด้านความปลอดภัยและปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์นอกระบบ

1.2 การพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
 เส้นทางหมายเลข 9 (R9) เชื่อมโยง พม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม ในฝั่งตะวันออกเป็นเส้นทางเดิมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้น การพัฒนาจึงเป็นเพียงทำการปรับปรุงและพัฒนาถนนให้มีมาตรฐานมากขึ้น เช่น ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการขนส่งทั้งคนและสินค้าผ่านเส้นทางนี้แล้ว สำหรับฝั่งตะวันตกยังต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงอีกมาก โดยเฉพาะเส้นทางในช่วงพม่าที่ยังไม่มีความชัดเจนในการพัฒนามากนัก

2. กฎระเบียบและพิธีการต่างๆ ที่สนับสนุนการเชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจ
2.1 ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA)

ไทยได้กำหนดจุดผ่านแดนนำร่องที่จะบังคับใช้ GMS CBTA เป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก ได้แก่ มุกดาหาร/อรัญประเทศ/แม่สาย/แม่สอด และระยะที่สอง ได้แก่ หนองคาย/เชียงของ/ช่องเม็ก/ตราด ในส่วนของด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจในการใช้ GMS CBTA ระหว่างไทย-ลาว ส่วนในด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต แม่สอด-เมียวดี และแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เป็นเพียงการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิการจราจร (MOU on Exchange of Traffic Right)

2.2 ความร่วมมือในการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อการท่องเที่ยว
มีการจัดทำแผนการท่องเที่ยว 6 Countries 1 Destination เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยจะเน้นตามแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 3 แนวหลัก ตลอดจนการศึกษา GMS Visa เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจากนอกอนุภูมิภาค สำหรับนักท่องเที่ยวไทยและประเทศในกลุ่ม GMS สามารถเดินทางข้ามระหว่างกันโดยไม่ต้องขอวีซ่า ยกเว้นพม่า กัมพูชา และจีน

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากเส้นทางเศรษฐกิจ GMS

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเส้นทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงสุดในขณะนี้ คือ เส้นทาง R3A และ R9 ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ในระยะสั้นและระยะกลางจากการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจดังกล่าว ดังนี้

การค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศของไทยกับกลุ่มประเทศ GMS เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดน/ผ่านแดน เนื่องจากไทยมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่ำ รวมทั้งตลาดประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นแหล่งระบายสินค้าภายในประเทศของไทยได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเป็นช่องทางในการจัดหาวัตถุดิบราคาถูกเพื่อป้อนโรงงานภายในประเทศ ทั้งนี้ ในอนาคตหลังการเปิดใช้เส้นทางเศรษฐกิจ GMS อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศและมูลค่าการค้าชายแดน/ผ่านแดนเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทาง R3A และ R9 โดยเส้นทาง R3A ซึ่งเชื่อมต่อจีน-ลาว-ไทย จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดน/ผ่านแดน ทั้งเมืองต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทาง ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งสินค้าไปขายยังลาวและจีนผ่านทางเส้นทางดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมืองคุนหมิงที่ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจและตลาดที่สำคัญของจีน ส่วนเส้นทาง R9 ที่เชื่อมโยงเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า ก็คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งภายในอนุภูมิภาค GMS และประเทศอื่นๆ เนื่องจากเส้นทางนี้จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งจากทะเลอันดามันไปสู่ทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ เส้นทาง R9 ยังช่วยเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออก เนื่องจากสามารถเลือกขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R9 เพื่อส่งต่อไปยังท่าเรือดานังของเวียดนาม

การลงทุน ที่ผ่านมา นักลงทุนไทยและจีนได้ให้ความสำคัญในการไปลงทุนในลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า มากขึ้น เนื่องจากมองว่าประเทศเหล่านี้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แต่ยังขาดการลงทุนและการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านธุรกิจ รวมทั้งเป็นตลาดที่เริ่มเติบโต จึงมีความต้องการสูง แต่ยังขาดอุปทานที่จะป้อนสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังคงมีอุปสรรคจากการขาดการเชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจ รวมทั้งขาดการส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการลงทุน ทั้งนี้ หากเส้นทางเศรษฐกิจ ทั้ง R3A และ R9 ได้เปิดดำเนินการอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนภายในอนุภูมิภาค GMS อย่างเต็มที่ ก็คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้นักลงทุนไทยสามารถไปลงทุนทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ GMS ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะเห็นได้จากเส้นทาง R9 ที่รัฐบาลลาวได้เล็งเห็นความสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศ จึงกำหนดให้แขวงสะหวันนะเขตเป็นแขวงที่เจ้าแขวงมีอำนาจในการอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงการที่รัฐบาลส่งเสริม โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาลกลาง ส่วนในเวียดนามก็ได้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาวเพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน โดยเริ่มมีนักลงทุนไทยให้ความสนใจไปลงทุนในในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ เส้นทาง R9 มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตนิคมอุตสาหกรรมถึง 6 แห่ง นอกจากนี้ ในส่วนของไทยก็ได้มีโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมุกดาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ

การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวในภูมิภาคอินโดจีนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ เนื่องจากสามารถท่องเที่ยวได้ทั้งในเชิงนิเวศ (Eco-Tourism) และเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอินโดจีนยังคงประสบปัญหาและไม่สะดวกสบายมากนัก เนื่องจากยังคงต้องพึ่งพาการเดินทางโดยเครื่องบินเป็นหลัก ขณะที่การเดินทางด้วยรถยนต์ข้ามชายแดนภายในภูมิภาคอินโดจีนยังไม่สะดวก ทั้งในด้านเอกสารพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ หากเส้นทางเศรษฐกิจ GMS มีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะทำให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคอินโดจีนเติบโตไปกว่าเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะเส้นทางเศรษฐกิจ R9 ที่จะสร้างความสะดวกสบายและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ GMS ได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเส้นทางทางบกที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางจากไทยไปสู่เวียดนามกลางได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากมุกดาหารข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เข้าสู่สะหวันนะเขตของลาว ผ่านด่านแดนสะหวันเข้าสู่เวียดนามได้ที่ด่านลาวบาว และเดินทางต่อไปสู่เมืองดานังได้ ซึ่งเวียดนามกลางถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เนื่องจากมีเมืองมรดกโลกและเมืองเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เมืองเว้ ฮอยอัน เป็นต้น ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศลาว นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังลาวใต้จากสะหวันนะเขตมุ่งไปสู่จำปาสักได้ ซึ่งไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวไทยเท่านั้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ แต่นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็สามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเดินทางไปท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค GMS ได้ เนื่องจากไทยมีความพร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้านในหลายๆ ด้าน เช่น ระบบขนส่ง ที่พัก ศูนย์บริการข้อมูล เป็นต้น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะใช้ไทยเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมตัวและเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ เส้นทาง R9 ยังช่วยให้นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านสามารถเดินทางเข้าสู่ไทยได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งแบบ Out-Bound และ In-Bound

โลจิสติกส์ ที่ผ่านมา การเชื่อมโยงระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS ยังคงไม่สมบูรณ์มากนัก เนื่องจากยังต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในเส้นทาง R9 ด้านตะวันตกในฝั่งของพม่าที่ยังคงมีอุปสรรคในการพัฒนาการเชื่อมต่อเส้นทางอยู่อีกมาก รวมทั้งข้อตกลง GMS CBTA ที่ปัจจุบันยังไม่มีผลบังคับใช้มากนัก ทั้งนี้ หากเส้นทางเศรษฐกิจ GMS มีความเชื่อมโยงโดยสมบูรณ์ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ คาดว่าจะทำให้ระบบโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค GMS มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทาง R3A และ R9 โดยในเส้นทาง R3A จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้การคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังลาวและจีนตอนใต้ จากเดิมที่ต้องขนส่งผ่านแม่น้ำโขงขึ้นไป ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับสินค้าบางประเภทและต้องใช้เวลาในการขนส่งและกระจายสินค้านานกว่าการขนส่งทางบก สำหรับเส้นทาง R9 ถือเป็นเส้นทางสำคัญในแนวตะวันออก-ตะวันตก เนื่องจากเส้นทางนี้จะเพิ่มทางเลือกให้กับระบบโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค GMS จากเดิมที่เรือขนส่งสินค้าต้องอ้อมผ่านคาบสมุทรมลายูใช้เวลาถึง 4-5 วัน แต่หากใช้เส้นทางทางบก R9 ผ่านเมาะละแหม่งไปจนถึงดานังจะใช้เวลาประมาณ 2 วันเท่านั้น ทำให้เส้นทาง R9 กลายเป็นสะพานเศรษฐกิจ (Landbridge) ที่สำคัญแห่งหนึ่ง รวมทั้งในอนาคตไทยอาจได้รับโอกาสในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ได้ นอกจากนี้ ในส่วนของความตกลง GMS CBTA จะช่วยให้การเคลื่อนย้ายและขนส่งสินค้าสะดวกมากขึ้น เช่น การตรวจสินค้าเพียงครั้งเดียว การลดขั้นตอนการตรวจสินค้า การประสานงานด้านเวลาปฏิบัติงานที่จุดผ่านแดน การจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวก (Single Window Inspection/Single Stop Inspection) เป็นต้น นอกจากนี้ เส้นทาง R3A และ R9 มีจุดเชื่อมต่อกันที่พิษณุโลกและขอนแก่น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและนอกอนุภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม เส้นทาง R3A และ R9 ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับโครงข่ายโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS ซึ่งการเลือกใช้เส้นทางการขนส่งของผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนการขนส่ง ระยะเวลา การควบคุมและติดตามสินค้า การลงทุนเพิ่มเติม อุปสรรคต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3A และ R9 อาจมีความเหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสำหรับสินค้าบางประเภทและอาจไม่เหมาะสมสำหรับสินค้าบางประเภทเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค คือ การเชื่อมโยงทุกระบบอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็น ระบบราง ถนน เรือ แม่น้ำ และอากาศ จะต้องมีการพัฒนาให้มีความพร้อมและเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจ GMS

 ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน หลายประเทศในกลุ่ม GMS ยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีมาตรฐานเพียงพอต่อการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระบบถนนที่ยังจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างเพิ่มเติมอีกมาก ทั้งตัวถนน สถานีบริการน้ำมัน ที่พักระหว่างทาง รวมทั้งบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ยังขาดแคลนงบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้การก่อสร้างล่าช้า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในระบบโลจิสติกส์ระหว่างแต่ละประเทศ ทำให้การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ไม่สมบูรณ์มากนัก

ปัญหาด้านกฎระเบียบ ข้อตกลง GMS CBTA ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังมีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคอยู่อีกมาก เช่น เอกสารการขนส่งสินค้ายังไม่ใช้ภาษากลาง เป็นต้น หรือแม้บางจุดผ่านแดนนำร่องได้เริ่มมีการใช้ข้อตกลงดังกล่าว แต่ก็ประสบปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ทำให้การขนส่งไม่สะดวกและเพิ่มค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งปัญหาความไม่สะดวกของรถยนต์ เนื่องจากพวงมาลัยรถยนต์ของไทยอยู่ทางขวา แต่ของลาวและเวียดนามอยู่ทางซ้าย โดยเฉพาะเส้นทาง R9 ที่เป็นถนน 2 ช่องทาง อาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยได้ ซึ่งเป็นเหตุผลให้เวียดนามยังไม่อนุญาตให้รถขนส่งของไทยเข้าไปรับส่งสินค้าได้ และอาจเป็นอุปสรรคในการขยายการให้บริการด้านโลจิสติกส์ไปสู่เวียดนามและลาว สำหรับในด้านการท่องเที่ยวยังคงประสบปัญหาความไม่สะดวกในการข้ามแดน โดยพม่า กัมพูชา และจีน ยังต้องมีการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวไทย ส่วนนักท่องเที่ยวนอกอนุภูมิภาค GMS ก็ต้องขอวีซ่าแยกไปตามแต่ละประเทศที่ต้องการเดินทางเข้าไป

ปัญหาการขาดประสิทธิภาพของภาคเอกชนไทย ทำให้ไม่สามารถใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจ GMS ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากความไม่พร้อมทั้งด้านเงินลงทุนและข้อมูล ทำให้สูญเสียโอกาสให้แก่นักลงทุนจีน ซึ่งมีความพร้อมและศักยภาพในการลงทุนมากกว่า ทั้งในด้านเงินลงทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากเส้นทางเศรษฐกิจ GMS ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีนด้านตะวันตกและใต้ที่จะทำให้มีเส้นทางการค้าออกไปสู่ทะเลได้ทั้งทะเลจีนใต้และทะเลอันดามัน ทำให้รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

แนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS

จากการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตามกรอบความร่วมมือ GMS ทำให้ไทยมีโอกาสสำคัญด้านโลจิสติกส์ 2 ประการ โดยประการแรก คือ โอกาสในการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ และประการที่สอง คือ โอกาสในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน โลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสำหรับโอกาสแรกไทยมีความเป็นไปได้สูงในการประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องเร่งพัฒนาในบางด้าน ส่วนโอกาสที่สองคงต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยต้องเร่งพัฒนาในอีกหลายด้านและต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย

1. แนวทางในการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS
 การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
ไทยควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเส้นทางตามแนวชายแดนควรต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมแก่การคมนาคมขนส่งมากขึ้น รวมทั้งควรมีการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ ไทยควรให้การสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีโลจิสติกส์ระหว่างกันได้ ทำให้การเชื่อมโยงโลจิสติกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การเร่งบังคับใช้กฎระเบียบผ่านแดน ปัจจุบันไทยได้เริ่มมีการทดลองใช้กฎระเบียบผ่านแดนตามข้อตกลง GMS CBTA ที่จุดผ่านแดน มุกดาหาร-สะหวันนะเขต รัฐบาลไทยจึงควรเร่งสร้างความร่วมมือและความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านตามเส้นทางเศรษฐกิจ GMS เพื่อบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าวให้ครบถ้วน

การขยายความร่วมมือกับประเทศในกลุ่ม GMS ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการขนส่งทั้งคนและสินค้าระหว่างประเทศร่วมกัน

การแก้ปัญหาเชิงเทคนิคของรถขนส่งสินค้า เนื่องจากพวงมาลัยของรถยนต์ไทยอยู่ทางด้านขวา แต่ของประเทศลาวกับเวียดนามอยู่ทางด้านซ้าย โดยเฉพาะในเส้นทาง R9 ที่เป็นถนน 2 ช่องทาง ทำให้อาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยในการขนส่ง และเป็นเหตุผลให้เวียดนามไม่อนุญาตให้รถขนส่งของไทยเข้าไปขนส่งในเวียดนาม ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปลาวและเวียดนามต้องมีการเปลี่ยนรถขนส่งสินค้า ทำให้เสียต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ไทยควรเร่งหารือและทำข้อตกลงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

การพัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ควรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินการตามข้อตกลง GMS CBTA แก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ

2. แนวทางในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS
ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งระบบราง การขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก (Multi-Modal Transportation) ซึ่งทั้งหมดจะต้องสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายโลจิสติกส์ภายในและภายนอกอนุภูมิภาค GMS ได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งต้องมีการพัฒนากฎระเบียบศุลกากรให้อำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งขยายความร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคให้มากขึ้น ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ รวมทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือในกรอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ACMESS BIMSTEC เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการก็ควรเร่งพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการให้สูงขึ้น มีการพัฒนาความร่วมมือในการให้บริการโลจิสติกส์ร่วมกันอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกัน ร่วมมือกันเป็นกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อใช้ศักยภาพของตนให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนควรหาโอกาสในการขยายการลงทุนด้านโลจิสติกส์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างกันให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นบันไดสำคัญในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค GMS

สรุปและข้อคิดเห็น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ากรอบความร่วมมือ GMS เป็นโอกาสสำคัญสำหรับไทยในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในเส้นทาง R3A และ R9 โดยในเส้นทาง R3A เป็นการเชื่อมต่อจีน-ลาว-ไทย จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถไปเปิดตลาดจีนตอนใต้ได้มากขึ้น สร้างโอกาสการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดในลาวและจีน รวมทั้งยังสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในการขยายการให้บริการ เนื่องจากคาดว่าเส้นทาง R3A ในอนาคตจะเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการส่งสินค้าออกสู่ทะเลของผู้ประกอบการจีนตอนใต้ สำหรับเส้นทาง R9 ที่เชื่อมต่อพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับระบบโลจิสติกส์ โดยสามารถขนส่งผ่านเส้นทาง R9 ที่เปรียบเสมือน Lanbridge ได้ จากเดิมที่ต้องขนส่งผ่านเรือจากทะเลอันดามันไปสู่ทะเลจีนใต้ โดยต้องอ้อมคาบสมุทรมลายู เส้นทาง R9 ยังส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทางถนนจากไทยไปสู่เวียดนามกลาง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจ GMS ยังมีปัญหาและอุปสรรค เช่น ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาด้านกฎระเบียบ ปัญหาการขาดศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เป็นต้น

ในขณะนี้การพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจ GMS อยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งใกล้แล้วเสร็จในหลายเส้นทาง เช่น R3A R9 เป็นต้น รวมทั้งยังมีโครงการที่สำคัญในอนาคต เช่น การร่วมมือกับจีนในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เป็นต้น ในส่วนของกฎระเบียบ GMS CBTA ได้เริ่มมีการทดลองใช้ในบางจุดผ่านแดน เช่น มุกดาหาร-สะหวันนะเขต เป็นต้น ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะเร่งเจรจาและทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในโอกาสการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 3 ที่คาดว่าจะมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือกันในระดับผู้นำประเทศ

สำหรับแนวทางการพัฒนาในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าภาครัฐและภาคเอกชนควรเร่งพัฒนาเพื่อไปสู่เป้าหมายสำคัญ 2 ประการ โดยประการแรก คือ การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ และประการที่สอง คือ การก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค GMS สำหรับโอกาสแรกไทยมีความเป็นไปได้สูงในการประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาในบางด้าน ส่วนโอกาสที่สองคงต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งต้องเร่งพัฒนาในอีกหลายด้านและต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน