วิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจของเทศกาลสงกรานต์ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนเมษายน

เทศกาลสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย ถือเป็นหนึ่งในโอกาสพิเศษที่ประชาชนเฝ้ารอคอยให้เวียนมาถึง นอกเหนือไปจากเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้หยุดพักจากการทำงานเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน ซึ่งในปีนี้ เทศกาลสงกรานต์มีกำหนดเวลาอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2551 และจากจำนวนวันหยุดต่อเนื่องถึง 5 วัน (ยกเว้นสถาบันการเงินที่จะปิดทำการเพียง 4 วัน) ทำให้คาดว่า ประชาชนอาจมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ การเดินทางท่องเที่ยว การเดินทางสู่ภูมิลำเนาเดิม และการสังสรรค์พบปะระหว่างครอบครัวและเพื่อนฝูง เป็นต้น ในขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551 นี้ ธปท.ได้มีการสำรองธนบัตรชนิดต่างๆ เป็นมูลค่ารวม 284,200 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่ใช้ธนบัตรในช่วงเวลาดังกล่าว โดยประมาณการว่ายอดการเบิกจ่ายของธนาคารพาณิชย์ตลอดเดือนเมษายนจะมีมูลค่าประมาณ 137,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มียอดการเบิกจ่ายธนบัตรประมาณ 135,223 ล้านบาท จากปริมาณสำรองธนบัตรทั้งสิ้น 290,133 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์เองก็มีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ผ่านทางตู้เอทีเอ็มที่กระจายอยู่ตามสาขาและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ไม่มีเทศกาลพิเศษด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยอดมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังอาจเพิ่มขึ้น ตามปัจจัยด้านฤดูกาลที่ผู้ประกอบการมักจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าในอัตราที่ค่อนข้างก้าวกระโดดในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ในกรณีที่ปัจจัยอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง) ดังจะเห็นได้จากการที่ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปในเดือนเมษายนมักจะเพิ่มขึ้นต่อเดือนในอัตราที่มากกว่าเดือนก่อนหน้า ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในเดือนมีนาคม 2550 เช่นเดียวกับในปี 2549 ที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ ตามความต้องการใช้ธนบัตรหรือเงินสด และการปรับขึ้นของราคาตามปัจจัยด้านฤดูกาล แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงเทศกาลไปแล้ว การใช้จ่ายที่กลับมาสู่ภาวะปกติ และการไหลกลับของธนบัตรและเงินสดเข้าสู่ระบบธนาคารอีกครั้ง ก็ทำให้ธุรกรรมทางการเงินตลอดทั้งเดือนเมษายนอาจจะไม่ได้มีความแตกต่างมากนักเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ของปี และเมื่อพิจารณาถึงเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในเดือนเมษายน ประกอบด้วยแล้ว พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ :-

 ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะบ่งชี้ถึงการใช้จ่ายของระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ครอบคลุมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจ ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติในอดีต ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างเดือนเมษายนทั้งเดือนเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปีนั้นๆ ยังไม่ได้มีผลที่แสดงถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่า การใช้จ่ายโดยรวมที่วัดด้วยฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดทั้งเดือนเมษายน ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญไปจากเดือนที่เหลือของปี โดยแม้ว่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเมษายน 2550 จะเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยของปี แต่ก็เป็นขนาดการเพิ่มขึ้นเพียง 1.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ในเดือนเมษายนปีก่อนหน้า หรือในปี 2546-2549 แทบจะไม่มีความแตกต่างระหว่างฐานภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนเมษายนและค่าเฉลี่ยของปี ซึ่งสะท้อนว่า แม้เทศกาลสงกรานต์จะส่งผลกระตุ้นต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค แต่กิจกรรมของภาคธุรกิจก็ได้ชะลอตัวลงไปด้วย โดยเฉพาะในภาคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการบริโภค ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมที่เป็นฐานของภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเมษายน มิได้ปรับเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยของทั้งปีมากนัก

 ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านเช็ค ซึ่งบ่งชี้ถึงการประกอบธุรกรรมเพื่อการบริหารเงินสดระยะสั้นของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ ทั้งนี้ จำนวนวันทำการของเดือนเมษายนที่น้อยลงตามวันหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เป็นปัจจัยด้านฤดูกาลที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีการชะลอการประกอบธุรกรรมดังกล่าว โดยหากเปรียบเทียบธุรกรรมการชำระเงินผ่านเช็คทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าตลอดทั้งเดือนเมษายนแล้ว มักจะพบว่า มีจำนวนที่ลดลงเมื่อเทียบกับในเดือนมีนาคม และน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปีด้วย ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 2550 ปริมาณธุรกรรมการชำระเงินผ่านเช็คมีจำนวน 6,714,888 ลดลงจาก 7,061,863 ในเดือนมีนาคม 2550 และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่อยู่ที่ 6,725,040 ทางด้านมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านเช็คนั้น ในเดือนเมษายน 2550 มีจำนวน 2,482.5 พันล้านบาท ลดลงจาก 2,645.6 พันล้านบาทในเดือนมีนาคม 2550 และน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่มีจำนวน 2,711 พันล้านบาท

 อัตราการใช้กำลังการผลิต ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเช่นเดียวกับธุรกรรมการชำระเงินผ่านเช็ค จำนวนวันทำการของเดือนเมษายนที่น้อยลงจากวันหยุดเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เป็นปัจจัยด้านฤดูกาลที่มีผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมชะลอระดับการใช้กำลังการผลิตลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยหมวดอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงในเดือนเมษายน มักได้แก่ หมวดที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือไม่มีความเกี่ยวข้องมากกับการบริโภค การท่องเที่ยว และการบริการต่างๆ โดยในเดือนเมษายน 2550 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 70.1 ลดลงจากร้อยละ 78.0 ในเดือนก่อนหน้า

 ดัชนีผลผลิตภาคเกษตร ซึ่งบ่งชี้ถึงกิจกรรมการผลิตในภาคการเกษตร จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งนี้ จำนวนวันหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมในภาคการเกษตรชะลอตัวลงเช่นกันในเดือนเมษายน ดังสะท้อนได้จากข้อมูลสถิติในอดีตที่ดัชนีมักจะหดตัวลงมากขึ้นในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่น ในเดือนเมษายน 2550 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลงร้อยละ 15.4 จากเดือนก่อนหน้า เทียบกับที่หดตัวลงร้อยละ 12.0 ในเดือนมีนาคม 2550

โดยสรุป ต้องยอมรับว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังสะท้อนได้จากการเตรียมการรับมือกับการเบิกจ่ายธนบัตรและเงินสดของทั้งทางการและธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในเดือนเมษายนตามปัจจัยด้านฤดูกาล อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดทั้งเดือนเมษายนแล้ว จะได้ว่า การใช้จ่ายหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในเดือนดังกล่าวอาจไม่ได้มีผลที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับในเดือนที่เหลือของปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเม็ดเงินที่ไหลออกจากระบบธนาคารในช่วงเทศกาลจะทยอยไหลกลับมาตามการใช้จ่ายที่ลดลงหลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลไปแล้ว รวมทั้งจำนวนวันทำการของเดือนที่น้อยลงซึ่งทำให้ธุรกรรมทางการเงินและการประกอบกิจการของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดที่ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริโภคและการท่องเที่ยว

สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายของประชาชนในเดือนเมษายน 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า น่าที่จะมีความแตกต่างกันในระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนที่อาจมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มชาวนา ชาวไร่ และเกษตรกร ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตรในปีนี้ โดยเฉพาะข้าว ดังจะเห็นได้จากรายได้เกษตรกร (ข้อมูล ธปท.) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 22.7 และ 29.2 ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2551 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 16.6 ในปี 2550 ในขณะที่ ประชาชนในกลุ่มเมือง (ไม่รวมธุรกิจที่มีรายได้เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยวและการให้บริการต่างๆ) ซึ่งมีรายได้คงที่หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน อาจมีแนวโน้มใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากอำนาจซื้อของคนกลุ่มนี้ถูกบั่นทอนจากการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้น โดยรวมแล้ว บรรยากาศการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์และในเดือนเมษายนปีนี้ อาจจะไม่ได้คึกคักมากอย่างที่คาดหวังกันไว้ เพราะผู้บริโภคอาจเลือกที่จะใช้จ่ายตามความจำเป็นมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงภาวะค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น สำหรับในภาคธุรกิจนั้น ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์น่าที่จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการบริโภค อย่างไรก็ตาม จำนวนวันทำการของเดือนเมษายนที่ลดลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของเดือนนี้ชะลอลง ดังจะเห็นได้จากธุรกรรมการชำระเงินผ่านเช็คและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ยอดการใช้จ่ายที่เป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มก็อาจปรับเพิ่มไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งปี