ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย

จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนนำมาสู่การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการชุมนุมของกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลได้ขยายวงกว้างไปในพื้นที่หลายจังหวัด รวมทั้งยังมีผลกระทบไปถึงการเดินทางผ่านสนามบินของจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ สถานการณ์เช่นนี้ได้สร้างความกังวลให้แก่หลายฝ่ายถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ย่อมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและระยะเวลาของสถานการณ์การเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ ที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง จึงเป็นการยากที่จะประเมินสถานการณ์จากมุมมอง ณ ขณะนี้ ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อสมมติสถานการณ์ในสองกรณี คือ กรณีพื้นฐาน เป็นกรณีที่สถานการณ์ยุติลงโดยเร็ว และกรณีเลวร้ายที่สุด เป็นกรณีที่สถานการณ์รุนแรงและยืดเยื้อ โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ระหว่างสองกรณีนี้ ทั้งนี้ เงื่อนไขข้อสมมติของทั้งสองกรณีมีดังนี้

? กรณีพื้นฐาน (Base Case) เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลงได้โดยเร็ว และรัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในกรณีนี้ ภาคการท่องเที่ยวอาจจะได้รับผลกระทบในระยะเวลา 1 เดือน คือช่วงเดือนกันยายน ที่เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ และสร้างความกังวลต่อนักท่องเที่ยวที่มีแผนการที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ยุติได้เร็ว แต่ภาพเหตุการณ์ที่เผยแพร่ออกไปสู่ต่างประเทศ รวมทั้งการที่ประเทศต่างๆ มีการเตือนประชาชนให้ระมัดระวังต่อการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ก็อาจเป็นผลทำให้นักท่องเที่ยวยังรอดูสถานการณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนอาจมีการชะลอออกไปบ้าง แต่สถานการณ์ต่างๆ จะสามารถกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 หลังสถานการณ์คลี่คลายลง ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านงบลงทุนอาจมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณบ้าง เนื่องจากข้อติดขัดในกระบวนการทำงานของรัฐบาล สำหรับในด้านการบริโภคของภาคเอกชน อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการจัดงานประชุมสังสรรค์ต่างๆ รวมทั้งประชาชนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง (เช่น ด้านบันเทิง สันทนาการ หรือการเดินทางท่องเที่ยว)

? กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) สถานการณ์การเผชิญหน้ามีความรุนแรง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ความปลอดภัย และยกเลิกการจองล่วงหน้าสำหรับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มากสุดของแต่ละปี ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อและขยายวงกว้างนั้นอาจส่งผลต่อการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนยังไม่แน่ใจต่อทิศทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไป ทำให้มีการชะลอการลงทุนออกไปตลอดช่วงระยะที่เหลือของปี สำหรับในด้านการบริโภคของภาคเอกชน นอกเหนือจากการลดกิจกรรมการจัดงานประชุม งานเลี้ยงสังสรรค์ การทำกิจกรรมนอกบ้าน และการเดินทางแล้ว ผู้บริโภคอาจมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ยิ่งระมัดระวังการใช้จ่าย ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อออมเงินไว้ในยามหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ในกรณีพื้นฐาน คาดว่าประเทศไทยอาจสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงเดือนกันยายน ประมาณ 9,000-15,000 ล้านบาท การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการใช้จ่ายของรัฐบาลอาจสูญหายไปในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์สงบลง กิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ ก็อาจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็อาจจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเดือนต่อๆ ไป ซึ่งผลกระทบโดยสุทธิแล้ว อาจทำให้มูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงประมาณ 20,000-36,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.2-4.4 และอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 4.9-5.0 ต่ำกว่าค่ากลางของประมาณการเดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 5.3

สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อไปจนถึงปลายปี อาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวโดยรวมสูญเสียรายได้ประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท และถ้ารวมกับผลกระทบที่มีต่อภาคการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน และการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลแล้ว ผลกระทบโดยสุทธิอาจทำให้มูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงประมาณ 109,000-149,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5-2.4 และมีอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3.6-4.0

นอกเหนือจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจจริงแล้ว สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายด้าน การสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีฐานะเกินดุลที่ลดลง ขณะที่ในสภาวะที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลออกจากตลาดเงินตลาดทุน จะยิ่งทำให้สถานะดุลการชำระเงินอ่อนแอลงมากขึ้น ทิศทางดังกล่าวอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอีก ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก และในอีกด้านหนึ่งอาจส่งผลให้ไทยไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ที่จะไปมีผลช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อภายในประเทศ นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้นต่อการลงทุนในไทย จะส่งผลให้การระดมทุนในตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศไทยลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ภาวะเงินทุนไหลออก จะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบลดลง ซึ่งถ้ามีเงินทุนไหลออกในปริมาณที่มากจนทำให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวมากขึ้น อาจมีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ระหว่างสองกรณีที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น โดยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 นี้ ลงมาที่ร้อยละ 3.6-5.0 ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 5.0-5.5 โดยการปรับลดประมาณการลงครั้งนี้เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สถานการณ์ที่วิเคราะห์ข้างต้น เป็นการประเมินผลกระทบในกรณีที่สถานการณ์อาจเลวร้ายจนส่งสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม อาจมีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาดีกว่าที่ประเมินไว้นี้ ถ้าหากสถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็ว และรัฐบาลสามารถกลับมาสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งเร่งดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและเร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเวลาที่เหลือของปี