ทิศทางเศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีหลัง 2551…ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

สถานการณ์ทางการเมืองของมาเลเซียที่พลิกผันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียหลังชัยชนะของนายอันวาร์ อิบราฮิมผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียในการเลือกตั้งซ่อมที่เมืองเปอร์มาตัง ปาอูห์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมาได้สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองและอาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจมาเลเซีย ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจมาเลเซียยังได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมาเลเซียอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากไทยและมาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกันโดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ของไทย

เศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีแรก…ขยายตัวจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

เศรษฐกิจมาเลเซียปี 2551 น่าจะชะลอตัวลงเช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคโดยจะขยายตัวราวร้อยละ 5.5 (yoy) ต่ำกว่าปี 2550ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 (yoy) และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกเศรษฐกิจมาเลเซียสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(yoy) ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.6 แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองในประเทศและปัญหาเงินเฟ้อ โดยความต้องการภายในประเทศเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมาเลเซียและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียสามารถเดินต่อไปได้ในปีนี้

– การบริโภคภาคเอกชน ภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันในประเทศที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการปฏิรูปราคาน้ำมันในประเทศประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนลดการใช้จ่ายลง โดยการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 เหลือร้อยละ 9 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 11.8 อย่างไรก็ตามทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงน่าจะช่วยลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อในมาเลเซียได้

– การใช้จ่ายภาครัฐ แม้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันจะช่วยลดภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาลได้ค่อนข้างมากและช่วยให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐในไตรมาสที่ 2 ลดลง แต่คะแนนนิยมของรัฐบาลมาเลเซียที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องทำให้ภาครัฐยังคงใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรฐกิจในครึ่งปีหลัง โดยในครึ่งหลังปี 2551 รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลราว 15 ล้านริงกิตเป็นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและการใช้มาตรการภาษีเพื่อลดรายจ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม

– การลงทุนในประเทศของมาเลเซียที่เคยขยายตัวสูงเริ่มอ่อนแรงลงในปีนี้ โดยครึ่งแรกของปี 2551 การลงทุนในประเทศขยายตัวร้อยละ 5.8 (yoy) ต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2549-2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 ทั้งนี้การลงทุนในไตรมาสที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของภาครัฐและการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ สำหรับในครึ่งปีหลังคาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศอาจจะชะลอตัวลงตามปัจจัยภายนอกประเทศ ประกอบกับการสูญเสียที่นั่งในรัฐสภาของฝ่ายรัฐบาลให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศต่างชะลอการลงทุนลง

– ภาคการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวถึงร้อยละ 9.7 (yoy) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 6 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 (yoy) ทั้งนี้สินค้ากลุ่มพลังงานซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของมาเลเซียได้รับอานิสงค์จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 88.8 ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบขยายตัวร้อยละ 66 และ 52 ตามลำดับ ขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อจากราคาพลังงานทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวเพียงเล็กน้อย เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้เศรษฐกิจมาเลเซียจะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 แต่การส่งออกของมาเลเซีย กลับขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้ประเทศคู่ค้ามีความต้องการสินค้าจากมาเลเซียในเชิงปริมาณลดลง แต่ราคาสินค้าส่งออกของมาเลเซียหลายชนิดอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงช่วยให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกซึ่งเป็นรายได้หลักของมาเลเซียจะเข้าสู่ขาลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ซึ่งย่อมจะทำให้การส่งออกของมาเลเซียทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณลดลง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งหลังปี 2551 มีแนวโน้มจะชะลอตัวลง อาทิ

– เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจคู่ค้าหลักและทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของมาเลเซียลดลง ใน 6 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของมาเลเซียชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีแนวโน้มจะชะลอตัวมากขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของประเทศคู่ค้าลดลงจากร้อยละ 5.1 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 3.7 (yoy) ในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม นโยบายลดการพึ่งพาตลาดส่งออกขนาดใหญ่และเน้นขยายตลาดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น รวมทั้งการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัวลงจากวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาทำให้การส่งออกไปยังประเทศตะวันตกซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ของมาเลเซียมาโดยตลอดขยายตัวไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย โดยเดือนกรกฎาคม 2551 การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 และ 6.6 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนขยายตัวถึงร้อยละ 74.1 และ 25 ตามลำดับ นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันขาลงในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้ากลุ่มพลังงานของมาเลเซียปรับตัวลดลง ประกอบกับการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของรัฐบาลอาจเพิ่มความต้องการสินค้าทุนจากต่างประเทศซึ่งจะส่งผลต่อดุลการค้าและทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของมาเลเซียทวีความรุนแรงมากขึ้น

– ผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกยังคงส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนของเอกชนในครึ่งปีหลัง แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจากราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันจะเป็นปัจจัยคุกคามเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงครึ่งปีแรกมากนักเพราะมาเลเซียมีการอุดหนุนราคาน้ำมันค่อนข้างสูง แต่หลังการประกาศใช้นโยบายลดการอุดหนุนราคาพลังงานเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 มำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 8.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีและอาจะทำให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศช่วงครึ่งปีหลังลดลง

– ความไม่แน่นอนทางการเมืองมาเลเซียอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนและความเชื่อมั่นการบริโภคของประชาชน แต่คาดว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองของมาเลเซียน่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะสั้นเท่านั้น โดยการลงทุนใหม่อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน แต่ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของมาเลเซีย การฟื้นตัวของภาคการเงิน แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการขยายตัวของภาคการผลิตหลักของประเทศ น่าเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจเข้ามาลงทุนในมาเลเซียในระยะกลางและระยะยาวเพราะโดยทั่วไปแล้วนักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวมากกว่า

ผลกระทบต่อประเทศไทย

การค้าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับมาเลเซียในครึ่งปีหลังน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและอาจจะชะลอตัวลงจากครึ่งแรกของปีนี้ โดย 6 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-มาเลเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไทยเกินดุลการค้ากับมาเลเซียเป็นครั้งแรกโดยมีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 166 พันล้านบาทและมูลค่าการนำเข้า 165 พันล้านบาท สินค้าส่งออกของไทยไปมาเลเซียประมาณร้อยละ 71 เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและอีกร้อยละ 23 เป็นสินค้าเกษตรเช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหนัง รถยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพาราและข้าว ส่วนสินค้านำเข้าของไทยได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สำหรับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียที่ไทยเกินดุลการค้าโดยตลอด คาดว่าในครึ่งปีหลังไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเพราะเศรษฐกิจภาคใต้ของไทยมีการพึ่งพิงกับมาเลเซียค่อนข้างสูงและที่ผ่านมาเศรษฐกิจในภาคใต้สามารถขยายตัวได้ดีจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากต่างชาติ สินค้าส่งออกของไทยไปมาเลเซียเช่น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์การดำเนินมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าอาหารนำเข้าหลายรายการของรัฐบาลมาเลเซียเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นที่จะประกาศใช้ราวปลายปีนี้น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันมาเลเซียจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากสินค้าประมงและจัดเก็บภาษีสินค้าประเภทผัก/ผลไม้สดในอัตราที่ค่อนข้างสูงนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ส่งออกไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพคุณสินค้าที่มาเลเซียมีความเข้มงวดและผลิตอาหารให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามเพราะประชากรมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ 62.8 ของประชากรทั้งหมด

การลงทุน ภาวะเงินเฟ้อและความไม่ชัดเจนทางการเมืองภายในประเทศของไทยและมาเลเซียอาจจะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศของนักลงทุนทั้งสองชาติในครี่งปีหลังชะลอตัว แม้ว่าช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้นักลงทุนมาเลเซียยังคงเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นโดยนักลงทุนมาเลเซียที่เข้ามายื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยมีจำนวนรวม 27 โครงการมูลค่า 5.3 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 จาก 3.4 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2550 โครงการลงทุนของมาเลเซียในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคบริการ สินแร่และเซรามิก สำหรับในครึ่งปีหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในของไทยที่ยังคงไม่ชัดเจนอาจจะส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนมาเลเซียให้ชะลอการลงทุนออกไปก่อน ส่วนการลงทุนของไทยในมาเลเซียช่วงหลังของปีนี้คาดว่าจะชะลอลงจากบรรยากาศด้านการลงทุนในมาเลเซียเช่นเดียวกัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของมาเลเซียที่อาจจะทำให้นักลงทุนไทยชะลอการลงทุนในมาเลเซียไปก่อนเพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมือง สาเหตุอีกส่วนหนึ่งคือ ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 26 ปีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ระดับร้อยละ 8.5 ต่อปี ทำให้การบริโภคและการลงทุนของมาเลเซียชะลอตัวลง และอาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตของมาเลเซียปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

การท่องเที่ยว ภาวะเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองของมาเลเซียในครึ่งปีหลังอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียชะลอการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองของไทยอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของคนมาเลเซียด้วยเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่น่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกที่อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมากกว่านักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและรัฐบาลไทยได้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ส่วนปัญหาความไม่สงบตามบริเวณชายแดนภายใต้ของไทยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2548 คนมาเลเซียเข้าใจสถานการณ์และสามารถปรับตัวได้มากขึ้นจึงไม่น่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวของไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นก็อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียชะลอการเดินทางออกไปก่อน ทั้งนี้ปี 2550 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยถึง 1.206 ล้านคน ขณะที่คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในมาเลเซียเพียง 6 แสนคน

แรงงาน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในครึ่งหลังของปี 2551 น่าจะส่งผลกระทบกับแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียในระดับหนึ่งโดยความต้องการแรงงานไทยที่ทำงานในภาคก่อสร้าง ร้านอาหารและนวดแผนไทยอาจจะชะลอตัวลงตามการบริโภคของคนมาเลเซีย โดยเฉพาะแรงงานในร้านอาหารไทยซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของแรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากนี้อาจจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบในร้านอาหารไทยโดยเฉพาะที่ต้องนำเข้าจากไทยชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเกษตรน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักโดยเฉพาะการผลิตปาล์มน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 3,000 ริงกิตต่อตันทำให้การผลิตปาล์มน้ำมันครึ่งปีแรกที่ผ่านมาขยายตัวสูงและรัฐบาลได้เข้ามาอุดหนุนปาล์มน้ำมันมากขึ้นจึงยังมีความต้องการแรงงานอยู่

สรุป เศรษฐกิจมาเลเซียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2551 เช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคโดยจะขยายตัวราวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 (yoy) แม้ว่าในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจมาเลเซียสามารถขยายตัวถึงร้อยละ 6.7 ต่อปีจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งทั้งการบริโภคภาครัฐและภาคเอกชน แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองในประเทศและปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จนทำให้การบริโภคภาคเอกชนการส่งออกของมาเลเซียชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียได้เพิ่มการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นทั้งเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับประชาชน กล่าวได้ว่า อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียสามารถเดินต่อไปได้โดยจะช่วยชดเชยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมาเลเซียจากภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของมาเลเซียชะลอตัวลงและส่งผลต่อการส่งออกของมาเลเซียในครึ่งปีหลัง แม้ว่าการส่งออกของมาเลเซียในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้จะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในอัตราร้อยละ 17 นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกยังกดดันให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของมาเลเซียลดลง ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันขาลงในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มพลังงานของมาเลเซียลดลงและทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของมาเลเซียรุนแรงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อจากราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยคุกคามเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีแรกมากนักเพราะมาเลเซียสามารถผลิตน้ำมันได้เองและให้การอุดหนุนราคาน้ำมันค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศใช้นโยบายลดการอุดหนุนราคาพลังงานในไตรมาสที่ 2 ทำให้ราคาอาหารและพลังงานในประเทศพุ่งสูงขึ้นและคาดว่าผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของเอกชนในครึ่งปีหลัง สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในมาเลเซีย

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2551 นี้จะทำให้การบริโภคและการลงทุนในมาเลเซียอ่อนแรงลงซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าโดยรวมระหว่างไทยกับมาเลเซีย การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนมาเลเซีย ผลประกอบการของนักลงทุนไทยในมาเลเซียรวมถึงแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียโดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร สปาและธุรกิจนวดแผนไทย อย่างไรก็ตาม สำหรับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากการพึ่งพาการค้าระหว่างกันบริเวณชายแดนค่อนข้างสูง รวมทั้งไม่น่าส่งผลกระทบกับแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเกษตรของมาเลเซียโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันที่ได้รับอานิสงค์จากราคาที่พุ่งสูง สำหรับพืชอาหารนั้นมาเลเซียจะดำเนินมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าอาหารนำเข้าหลายรายการราวปลายปีนี้น่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่จะเปิดโอกาสให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะอาหารได้มากขึ้น ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศของมาเลเซียน่าจะยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในระยะสั้น แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองของมาเลเซียยังคงไม่ชัดเจนน่าจะลดการบริโภคของธุรกิจและคนมาเลเซีย ซึ่งอาจจะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยในระยะแรกบ้าง แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมทั้งทำเลที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พร้อมเพรียงของมาเลเซียน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงดึงดูดความสนใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในมาเลเซีย ดังนั้นภาคเอกชนไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับมาเลเซียควรจะจับตาสถานการณ์ทางการเมืองมาเลเซียอย่างใกล้ชิด หากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซียจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ผู้ประกอบการทั้งการส่งออกและการลงทุนในมาเลเซียจะต้องปรับเปลี่ยนแผนและกลยุทธ์ทางธุรกิจตามสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคตได้อย่างทันท่วงที