ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนสิงหาคม 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนการชะลอลงของการใช้จ่ายในประเทศ และภาคส่งออก
? ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม 2551
? สำหรับการใช้จ่ายของภาคเอกชน
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 7.2 (YoY) ในเดือนส.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 ในเดือนก.ค. นำโดยการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ขยายตัวร้อยละ 9.4 ในเดือนส.ค. เทียบกับร้อยละ 16.4 ในเดือนก่อนหน้า) และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค (ขยายตัวร้อยละ 23.2 ในเดือนส.ค. เทียบกับร้อยละ 28.1 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แม้ว่าในเดือนส.ค.ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะปรับตัวลงก็ตาม
การลงทุนภาคเอกชน ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยการลงทุนขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8 (YoY) ในเดือนส.ค. เทียบกับร้อยละ 4.4 ในเดือนก.ค. ทั้งนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะปรับตัวลง แต่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยังคงหดตัวลงร้อยละ 25.7 ในเดือนส.ค. (ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 29.3 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ ยอดขายปูนซีเมนต์ และมูลค่าโครงการขอรับการส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีอัตราการขยายตัวที่ติดลบเช่นกัน (หดตัวร้อยละ 17.1 และหดตัวร้อยละ 60.5 ตามลำดับ) นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าทุน สะท้อนภาพที่อ่อนแอในทำนองเดียวกัน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 12.7 ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากร้อยละ 26.1 ในเดือนก.ค.
? สำหรับในด้านการผลิต
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 2 เดือนติดต่อกัน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 7.9 (YoY) ในเดือนส.ค. จากร้อยละ 11.0 ในเดือนก.ค. โดยการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามภาคส่งออก โดยการผลิตในหมวดที่เน้นเพื่อส่งออกขยายตัวร้อยละ 16.4 ในเดือนส.ค. จากร้อยละ 18.6 ในเดือนก.ค. ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม ขยายตัวร้อยละ 5.1 ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ในเดือนก.ค. สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ขยับลงเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 71.0 ในเดือนส.ค. จากร้อยละ 71.4 ในเดือนก.ค. ส่วนดัชนีผลผลิตการเกษตร (Farm Production) ขยายตัวร้อยละ 19.2 (YoY) ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัว 21.9 ในเดือนก.ค. นำโดย ปาล์มน้ำมัน (ขยายตัวร้อยละ 33.2 เทียบกับร้อยละ 61.8) และยางพารา (ขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับร้อยละ 10.3)
? สำหรับภาคต่างประเทศ
การส่งออก ขยายตัวเพียงร้อยละ 15.5 (YoY) ในเดือนส.ค. หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.9 ในเดือนก.ค. โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของปริมาณสินค้าส่งออก (ปริมาณการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 0.1 ในเดือนส.ค. เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 24.2 ในเดือนก.ค.) ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกชะลอลงอย่างชัดเจนในทุกหมวด โดยแม้ว่าการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงร้อยละ 51.2 ในเดือนส.ค. แต่ก็ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 95.1 ในเดือนก.ค. ในขณะที่ การส่งออกในหมวดที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก และการส่งออกในหมวดสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.8 และร้อยละ 11.1 ในเดือนส.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 71.9 และร้อยละ 35.7 ในเดือนก.ค. ตามลำดับ
การนำเข้า ขยายตัวเพียงร้อยละ 26.9 (YoY) ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 53.4 ในเดือนก.ค. โดยเป็นผลมาจากการชะลอลงของปริมาณการนำเข้าเป็นสำคัญ (ปริมาณการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 8.9 ในเดือนส.ค. เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 28.8 ในเดือนก.ค.) ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในเดือนส.ค.ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในทุกหมวด โดยในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ขยายตัวเพียงร้อยละ 43.4 ในเดือนส.ค. (หลังจากขยายตัวร้อยละ 97.3 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ การนำเข้าในหมวดสินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ชะลอลงอย่างชัดเจน โดยขยายตัวร้อยละ 7.3 และร้อยละ 19.4 ในเดือนส.ค.เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 40.1 และร้อยละ 56.7 ในเดือนก.ค. ตามลำดับ
ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอลงได้ส่งผลให้ ดุลการค้า ในเดือนส.ค.บันทึกยอดขาดดุลที่ 675 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเนื่องจากที่ขาดดุล 762 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค. และเมื่อรวมยอดขาดดุลการค้าเข้ากับ ดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุลเพิ่มขึ้นในเดือนส.ค. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่องอีก 853 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. เทียบกับยอดขาดดุลที่ระดับ 906 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค.
? ภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 (2 เดือนแรกของไตรมาส 3/2551)
ภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของการลงทุนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการลงทุนขยายตัวเพียงร้อยละ 4.1 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาส 2/2551 และร้อยละ 5.9 ในไตรมาส 1/2551 ขณะที่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.4 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในไตรมาส 2/2551 และร้อยละ 12.6 ในไตรมาส 1/2551 อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องอีกร้อยละ 8.2 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 หลังจากที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เช่นเดียวกับการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 28.6 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 24.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551
? แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือ…ยังคงมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยอาจมีอัตราการขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 4.0-4.5 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศแล้ว ปัจจัยลบจากภายนอกประเทศอาจส่งผลกดดันภาคส่งออกของไทยชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยการปรับฐานของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อาจทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจแกนหลักอย่าง สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น อาจทำให้ปริมาณการส่งออก ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ของการขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ อาจช่วยให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้ ยังมีระดับใกล้เคียงร้อยละ 20 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ในปี 2550 ที่ผ่านมา