ส่งออกไทยปี 52 …. กลุ่มสินค้าอาหารน่าที่จะดีกว่ากลุ่มอื่นๆ

การส่งออกของไทยต้องเผชิญปัจจัยท้าทายครั้งสำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2552 เนื่องจากวิกฤตการเงินโลกในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ประเทศทั้งสามต้องประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจนมากขึ้น หากประเมินจากเหตุการณ์ในอดีตช่วงปี 2544 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดอทคอม ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2544 หดตัวลงร้อยละ 11.2 โดยสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีดังกล่าวชะลอตัวลงหลายรายการ ที่สำคัญได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อาหารทะเลแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น สำหรับวิกฤตการเงินโลกในครั้งนี้ คาดว่าสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และปี 2552 จะประสบภาวะชะลอตัวในเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอัญมณี/เครื่องประดับ และคาดว่าการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับภาวะอ่อนแรงลงเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกต้องประสบภาวะชะลอตัวรุนแรงในปี 2552 โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การส่งออกสินค้าในหมวดเกษตร/อาหารน่าจะมีแนวโน้มดีกว่าสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และเป็นสินค้าส่งออกที่ไทยมีศักยภาพจึงน่าจะรักษาการเติบโตของการส่งออกได้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวอาจจะยังคงชะลอตัวลงตามอำนาจซื้อที่ลดลงในตลาดส่งออกดังกล่าว แต่ก็คาดว่าน่าจะชะลอน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้การส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารของไทยยังน่าจะได้รับแรงหนุนจากประเด็นในด้านคุณภาพ ท่ามกลางกระแสความกังวลต่อสารปนเปื้อนเมลามีนจากสินค้าที่มาจากจีนที่ขยายวงจากนมและผลิตภัณฑ์นมไปยังกลุ่มสินค้าอาหารอื่นๆ ของจีน ได้แก่ ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ผัก ไข่ อาหารสัตว์ และเครื่องในสัตว์ ทำให้ทั่วโลกต่างคำนึงถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ประเทศต่างๆ จะลดการบริโภคสินค้าอาหารจากจีน การส่งออกอาหารของไทยจึงน่าจะมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากสินค้าอาหารไทยถือว่ามีมาตรฐานสินค้าในระดับสูงในตลาดโลก นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารของไทย ถือเป็นการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในไทยเองด้วย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบจากภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

สร้างจุดแข็งสินค้าอาหารของไทย….รักษาตลาดส่งออกหลัก

หากพิจารณาการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะพบว่าการส่งออกในหมวดอาหารสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 23.3 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรวมไปยัง 3 ตลาดหลักดังกล่าวที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 11.5 สะท้อนถึงสินค้าส่งออกประเภทอาหารของไทยที่ยังคงเติบโตได้ดีในตลาดหลัก สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ ผักและผลไม่แช่เย็น/แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 16.8 อาหารทะเลแช่เย็น/แปรรูป ขยายตัวร้อยละ13.5 และผลิตภัณฑ์ไก่ขยายตัวร้อยละ 78.5 ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตร/อาหารซึ่งเป็นสินค้าบริโภคที่จำเป็นน่าจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง จึงเป็นช่องทางในการรักษาตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเน้นที่จุดแข็งของไทยที่เป็นผู้ส่งออกอาหารของโลก รวมทั้งการพัฒนารูปแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด คิดค้นสินค้าใหม่ๆ และรักษามาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ

อาหารทะเลแช่เย็น/แปรรูป เป็นสินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดหลักและมีศักยภาพสูง โดยผลิตภัณฑ์จากกุ้งได้รับความนิยมในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และผลิตภัณฑ์จากปลาได้รับความนิยมในญี่ปุ่น

ผลิตภัณฑ์ไก่ เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากการผลิตไก่ของไทยเป็นการผลิตในระบบฟาร์มปิด และมีระบบตรวจสอบคุณภาพการผลิตเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงได้รับความไว้วางใจในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นเนื่องจากไทยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลง JTEPA แต่สำหรับสหรัฐฯ ไทยไม่ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไปตลาดสหรัฐฯเนื่องจาก สหรัฐฯเป็นผู้ผลิตและส่งออกสัตว์ปีกอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล และสหรัฐฯนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากแคนาดาถึงร้อยละ 90 รองลงมาเป็นอิสราเอลและฝรั่งเศส ดังนั้นการเจาะตลาดผลิตภัณฑ์ไก่ในสหรัฐฯจึงค่อนข้างลำบาก

ผักและผลไม้แช่เย็น/แปรรูป มีสัดส่วนการส่งออกไม่สูงนักเนื่องจากอุปสรรคทางด้านการขนส่งไปยังตลาดหลักแต่ยังมีแนวโน้มไปได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้จากไทยมีรสชาติโดดเด่นและเป็นที่ต้องการ อีกทั้งตลาดหลักยังเป็นตลาดพรีเมี่ยมจึงเป็นโอกาสที่จะขายสินค้าได้ราคาดี ดังนั้นควรเน้นด้านการผลิต โดยผลิตผักและผลไม้ให้มีขนาดใหญ่รสชาติดี ลดการใช้สารเคมีเนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต่างให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น บรรจุภัณฑ์ควรออกแบบให้ดึงดูดและสามารถรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพดีเมื่อถึงมือผู้บริโภค ซึ่งสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการส่งออกคือมาตรฐานการตรวจสอบสินค้านำเข้าของแต่ละประเทศที่มีมาตรฐานสูงต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

บทสรุป

การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเนื่องจากต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ลุกลามไปทั่วโลกทำให้ความต้องการนำเข้าของประเทศต่างๆชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2551 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 20 จากที่เติบโตร้อยละ 17.25 ในปี 2550 แต่ผลกระทบดังกล่าวน่าจะส่งผลที่ชัดเจนขึ้นในปี 2552 โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2552 จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5-10

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สินค้าเกษตร/อาหารน่าที่จะมีแนวโน้มดีกว่าสินค้าส่งออกในกลุ่มอื่นๆเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและไทยมีศักยภาพเนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารของโลก โดยสินค้าอาหารทะเลแช่เย็น/แปรรูปของไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพทั้งในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการส่งออก 2.99 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.5 ส่วนผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยมีมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 78.5 โดยเฉพาะญี่ปุ่นเนื่องจากไทยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลง JTEPA จึงยังมีแนวโน้มเติบโตสูง นอกจากนี้สินค้าผักและผลไม้แช่เย็น/แปรรูป ซึ่งตลาดหลักมีมาตรฐานการนำเข้าสูง เช่น มาตรฐานเกี่ยวกับสารเคมีและแมลงที่มากับผักและผลไม้ ทำให้ปริมาณการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักค่อนข้างน้อย แต่น่าจะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะผลไม้ของไทยที่มีรสชาติโดดเด่น จึงควรเน้นการผลิตให้มีคุณภาพให้ได้มาตรฐานการส่งออกรวมถึงขนาดและรสชาติให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดหลักที่มีกำลังซื้อสูง

นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดทั่วโลกกังวลกับกรณีพบสารเมลามีนปนเปื้อนในนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนและลุกลามไปยังสินค้าอาหารอื่นๆ เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ผัก ไข่ อาหารสัตว์ และเครื่องในสัตว์ ทำให้สินค้าอาหารของไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ ต่างไม่มั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าประเภทอาหารของจีนและอาจชะลอการนำเข้าสินค้าของจีนระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องคำนึงถึงมาตรฐานสินค้าส่งออกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศต่างให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของอาหารและมีกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารที่เคร่งครัด ดังนั้นสินค้าอาหารส่งออกของไทยที่ได้มาตรฐาน/มีความปลอดภัยจึงน่าจะเข้าสู่ตลาดส่งออกได้มากขึ้นและจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้มีโอกาสขยายตัวตามไปด้วย