ผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ต่อแรงงานไทยในอุตสาหกรรมการผลิต

ผลพวงจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นได้ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง กระทบภาคธุรกิจและการจ้างงานไม่เพียงแต่ในประเทศสหรัฐฯ แต่ยังมีผลไปถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกเนื่องจากระบบการค้าและการเงินที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติการเงินของสหรัฐฯ แต่ด้วยเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ และการที่ธุรกิจและการลงทุนส่วนหนึ่งมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้ภาคเศรษฐกิจจริงและการจ้างงานในประเทศคงจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วน อาหาร อัญมณี สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้าและเครื่องหนัง ฯลฯ เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก

สถานการณ์การจ้างงาน.. จำนวนคนว่างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการว่างงานของประเทศในเดือนสิงหาคมนั้นอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (4.5 แสนคน) เท่ากับช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปีคิดเป็นร้อยละ 1.4 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.5 ในปีก่อนหน้า สาเหตุที่ภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปีคนว่างงานมีจำนวนที่ลดลงก็เนื่องมาจากการลดลงของจำนวนคนว่างงานในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงาน และกลุ่มผู้ที่เคยทำงานในภาคเกษตรซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรในช่วงต้นปี ในขณะที่จำนวนคนว่างงานในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะผู้อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเฉลี่ยซึ่งยังเป็นตัวเลขในช่วง 7 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทางกระทรวงแรงงานได้มีการประเมินแนวโน้มการว่างงานในปี 2552 ว่าน่าจะไม่เกินระดับ 7 แสนคนในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราร้อยละ 3-4 และระบุว่าขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างที่พร้อมจัดสรรให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างได้ถึง 1.1 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบครอบคลุมการจ้างบัณฑิตจบใหม่ การพัฒนาและยกระดับแรงงานในประเทศ ซึ่งน่าจะรองรับได้ถึง 5 แสนคน ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการน่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย และปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างมากมาอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขของผู้ที่เสี่ยงต่อการว่างงานสูงกว่ากรณีที่ภาครัฐมีการคาดการณ์ไว้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินแนวโน้มการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ และวิเคราะห์ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยใช้การจำแนกอุตสาหกรรมเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

1) กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง ใช้เทคโนโลยีในการผลิต และเป็นเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีการจ้างงานรวมกันประมาณ 8-9 แสนคน อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมได้เริ่มมีการชะลอตัวลง โดยในไตรมาสที่ 3 การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.4 ลดลงจากร้อยละ 9.2 ในไตรมาสที่ 2 ในขณะที่การผลิตก็มีแนวโน้มที่ชะลอตัวเช่นเดียวกัน ด้านการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนในช่วงไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 แต่การผลิตกลับเริ่มมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงซึ่งสะท้อนแนวโน้มของการขายในระยะข้างหน้าที่อาจมีการชะลอตัวลง

แนวโน้มการส่งออกและการผลิตในปี 2552 ที่ชะลอตัวลงจะส่งผลให้การว่างงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการผลิต/ประกอบชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอียู ในปีหน้ามูลค่าการส่งออกอาจลดลง สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้การบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวตาม ในขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยผู้ผลิตแต่ละรายจะพยายามลดต้นทุนการผลิตลงเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้ อุตสาหกรรมในไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ปลายน้ำ รับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนจะต้องเผชิญกับการลดลงของคำสั่งซื้อจากบริษัทโอดีเอ็มหรือบริษัทแม่ในต่างประเทศ การแข่งขันที่มากขึ้นระหว่างซัพพลายเออร์ในและต่างประเทศ แรงกดดันต่อการลดต้นทุนต่อหน่วย และแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ อาจมีการนำเอามาตรการการค้าที่มิใช่ภาษีออกมาใช้มากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อาจทำให้ในปีหน้าจะมีบริษัทหรือโรงงานรับช่วงผลิตที่แข่งขันไม่ได้ต้องปิดตัวไปบ้าง ในขณะที่บริษัทที่เหลืออาจต้องมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานลงและเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับระดับการผลิตที่ปรับตัวลดลงตามภาวะคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยในช่วงที่ผ่านมาโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอยุธยาได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ในอนาคตมีความสุ่มเสี่ยงต่อการปิดโรงงานและเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะส่งผลให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะลดคนงานที่ส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานรับจ้างผลิต พนักงานชั่วคราว และคนงานในโรงงานที่ปิดตัวลง ประมาณร้อยละ 15-20 (ประมาณ 87,000 ถึง 116,000 คน)

ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้อยกว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากการกระจายตัวของตลาดส่งออกที่เน้นไปในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย ซึ่งเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศที่เป็นตลาดส่งออกอื่น นอกจากนี้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยังอาจได้รับผลดีจากการที่ค่าเงินเยนแข็งค่า อย่างไรก็ตามโดยรวมปริมาณยอดขายและการผลิตรถยนต์ในไทยในปี 2552 ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน ด้านการจ้างงาน ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ในต่างประเทศหลายบริษัทประกาศปลดพนักงานบางส่วนออกไป บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในไทยในปีหน้าคาดว่าส่วนใหญ่จะยังไม่มีแผนการลดการจ้างงานพนักงานประจำเนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่คงจะมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานและโอทีลง รวมถึงสนับสนุนให้มีการเกษียณก่อนอายุ อย่างไรก็ตามบริษัทร่วมทุนหรือบริษัทไทยที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับบริษัทรถยนต์เหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทรถยนต์อาจมีการลดต้นทุนโดยการขอให้ซัพพลายเออร์ลดราคาชิ้นส่วนต่อหน่วยลงและ/หรือลดการใช้ชิ้นส่วนบางอย่าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะลดลงประมาณร้อยละ 5 (12,500 คน) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนและกลุ่มพนักงานชั่วคราว และในกรณีที่สถานการณ์เลวร้าย การว่างงานในอุตสาหกรรมก็ยังคงไม่น่าจะเกิน 20,000 คน

2) กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน (Labour-intensive) ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการจ้างงานโดยตรงรวมกันประมาณกว่าครึ่งของการจ้างงานในภาคการผลิตหรือประมาณ 2.6-2.7 ล้านคน การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงต้นปี ทำให้การส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรมการเกษตร (อาหาร) อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยางพารา เติบโตในอัตราที่สูง อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเติบโตของมูลค่าส่งออกมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาในตลาดโลกเป็นหลัก การที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้อุปสงค์และราคาไม่สามารถทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นที่ผ่านมาได้ ประกอบกับอุปทานของสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหน้า จะส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในอุตสาหกรรมที่เคยเติบโตได้ดีในปีนี้ กลับชะลอตัวลงค่อนข้างมากในปี 2552 โรงงานที่ไม่สามารถแข่งขันได้อาจต้องเลิกกิจการ ซึ่งจะไปกระทบกับจำนวนแรงงานในระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่อาจได้รับผลกระทบกรณีเศรษฐกิจมีการชะลอตัวรุนแรง หากมีการปิดโรงงานจะไปกระทบกับแรงงานที่อยู่ในภาคครัวเรือนอีกกว่า 1 ล้านคน ส่วนในอุตสาหกรรมอาหารนั้น แม้ว่าการจ้างงานทางตรงในโรงงานจะมีจำนวน 5-6 แสนคน แต่การปิดตัวของโรงงานจะมีผลไปยังแรงงานในที่อยู่ในภาคเกษตรเป็นวงกว้าง
ในอีกด้าน อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของการส่งออกอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสะท้อนในภาพการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่น้อยกว่าร้อยละ 40 โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเลิกการผลิตไปในปีหน้าที่การแข่งขันจะทวีความรุนแรง ในขณะที่ความต้องการในตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป มีแนวโน้มลดลง สิ่งที่น่ากังวล คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอาจเป็นการเร่งกระบวนการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมไปยังประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าหรือมีความพร้อมในด้านวัตถุดิบ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีที่ธุรกิจต่างก็พยายามลดต้นทุนการผลิตของตนเองลง ในปี 2552 แรงงานที่อยู่ในโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์จำนวน 2 ล้านคนจึงนับได้ว่าเป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากต่อการถูกเลิกจ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการจ้างงานของอุตสาหกรรมที่เน้นใช้คนงานตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงปีหน้า มีแนวโน้มที่จะลดลงประมาณ 3-4 แสนคน

โดยรวม จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว และเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 2.5-3.5 ถ้าไม่มีมาตรการรับมือใดๆ อัตราการว่างงานของประเทศในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2-2.6 คิดเป็นจำนวนคนว่างงานในปีหน้าประมาณ 8.5 แสนถึง 1 ล้านคน

อย่างไรก็ตามกรณีที่รัฐบาลมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุน เร่งสร้างงาน และมีการให้จูงใจกับธุรกิจให้รักษาลูกจ้าง จำนวนผู้ว่างงานในปีหน้าก็อาจลดลงมาอยู่ที่ 7.3 ถึง 8.8 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 1.9 – 2.3 ได้ ผลกระทบที่จะตามมาจากปัญหาการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2552 คือ การใช้จ่ายภายในประเทศที่จะหายไปประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท

ปัญหาคู่ขนาน.. ปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะทำให้ภาวะการว่างงานในอุตสาหกรรมการผลิตปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตไทยยังคงประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและแรงงานที่มีคุณภาพซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยในอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานยังมีความขาดแคลนช่างฝีมือและแรงงานที่มีความชำนาญสูง แรงงานที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรในการผลิตได้ นักออกแบบและนักการตลาด ส่วนในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ปัญหาด้านแรงงานคุณภาพที่ต้องการการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง คือ เรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของอุปทานแรงงานจากสถาบันการศึกษาซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรม โดยปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีการฝึกอบรมซึ่งเป็นต้นทุนของบริษัทหรือโรงงาน ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บุคลากรและทักษะที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น ในด้านของการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิศวกร ผู้บริหารหรือผู้คุมโรงงานที่มีทักษะด้านการจัดการและการตลาด ช่างเทคนิค แรงงานที่มีทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ฯลฯ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน แม้ว่าแรงงานไทยจะได้ชื่อว่าเป็นแรงงานที่มีฝีมือที่มีราคาถูก มีความละเอียดในการประกอบ แต่ความคงที่ของฝีมือเมื่อเทียบกับแรงงานในประเทศตะวันตกแล้วยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า โดยแรงงานในกลุ่มนี้ในไทยและโดยเฉพาะแรงงานในระดับช่างเทคนิคขึ้นไป สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยังมีความขาดแคลนอยู่มาก ทั้งนี้การขาดแคลนแรงงานมีทักษะนำไปสู่การแย่งชิงบุคลากรระหว่างอุตสาหกรรมอีกด้วย การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐควรต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการบรรเทาผลกระทบการว่างงานจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ด้วย

สรุปและข้อเสนอแนะ

จากผลกระทบของวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออก เศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปี 2552 อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2 – 2.6 หรือคิดเป็นจำนวนคนว่างงานประมาณ 8.5 แสนถึง 1 ล้านคน แต่หากรัฐบาลมีมาตรการที่จะรองรับ เร่งสร้างงานและแรงจูงใจให้กับธุรกิจให้รักษาลูกจ้าง จำนวนผู้ว่างงานในปี 2552 ก็อาจลดลงมาอยู่ที่ 7.3 แสนคน (อัตราว่างงานร้อยละ 1.9) ได้ โดยกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ แรงงานที่เพิ่งจบใหม่ แรงงานนอกระบบ และแรงงานที่เป็นพนักงานชั่วคราว แรงงานที่อยู่ในภาคท่องเที่ยว และในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากการว่างงานก็คือ การใช้จ่ายในประเทศในปีหน้าซึ่งอาจหายไปเป็นมูลค่า 4-5 หมื่นล้านบาท (ประมาณร้อยละ 1 ของการบริโภคในประเทศ)

ผลกระทบของการปิดโรงงานหรือการเลิกจ้างไม่เพียงแต่กระทบแรงงานที่มีการจ้างงานโดยตรงอยู่ในโรงงานเท่านั้น แรงงานที่เป็นการจ้างงานทางอ้อมในอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนครอบครัวของแรงงานก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีนโยบายรับมือกับปัญหาการเลิกจ้างที่เข้มข้นและครอบคลุมมากขึ้นจากที่ผ่านมา มาตรการส่วนใหญ่ที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ การช่วยเหลือโดยการเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี เป็นการช่วยเหลือด้านนายจ้างทางตรงและช่วยเหลือแรงงานทางอ้อม และอาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นยอดขายและการผลิต และทำให้บริษัทไม่ลดการจ้างพนักงานหรือรับประกันว่าจะมีการให้ค่าชดเชยแก่พนักงานตามสิทธิที่พึงได้ในกรณีที่มีการเลิกจ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการช่วยให้บริษัทหรือโรงงานไทยที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเลิกกิจการในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐอาจควรพิจารณามาตรการอื่นๆ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มเติม อาทิ การจัดให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษี การช่วยเปิดตลาดส่งออกอย่างจริงจัง และการดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อกันไม่ให้ต้นทุนชิ้นส่วนนำเข้าและการขายได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ภาครัฐควรมีกลไกที่จะติดตามสถานการณ์แรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ภาครัฐควรมีมาตรการรองรับสำหรับกลุ่มคนที่จะถูกเลิกจ้าง และแรงงานใหม่ที่จะไม่มีงานทำ ไม่ว่าจะเป็นโดยการตั้งกองทุนช่วยเหลือเป็นเงินพิเศษให้กู้ยืม การคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม และการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ภาครัฐอาจควรพิจารณาโครงการที่เป็นการสร้างงานในชนบท โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคการเกษตรเพื่อเป็นการรองรับคนตกงานที่จะกลับสู่ภูมิลำเนา ทั้งนี้ในระยะยาวรัฐควรความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างจริงจัง

ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งทางด้านยอดขายและต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานประกอบการบางแห่งอาจเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายโดยการเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าแรงงานเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในแง่ที่ว่าแรงงานที่ดีจึงจะให้ผลผลิตที่ดี ผู้ผลิตอาจควรพิจารณาการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยการปรับลด/เพิ่มชั่วโมงหรือวันในการทำงานตามสภาพธุรกิจแทนการเลิกจ้างถาวร และใช้โอกาสนี้ในการฝึกอบรมงานหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่พนักงานซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว(คุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้น และการผลิตมีการสูญเสียลดลง) และเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างที่ดีให้มั่นคงอีกด้วย