ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนตุลาคม 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจไทยในทุกภาคเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น
ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2551
การใช้จ่ายของภาคเอกชน … ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาก
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 (YoY) ในเดือนต.ค. ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในปีนี้ และชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.9 ในเดือนก.ย. โดยองค์ประกอบหลัก อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค ขยายตัวเพียงร้อยละ 8.6 และร้อยละ 9.0 ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 และร้อยละ 38.3 ในเดือนก.ย.ตามลำดับ ในขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (ขยายตัวร้อยละ 19.4 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 31.6 ในเดือนก่อนหน้า) ชะลอการขยายตัวตามรายได้ภาคเกษตรกร (ขยายตัวร้อยละ 13.0 ในเดือนต.ค. เทียบกับร้อยละ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า) ที่ปรับตัวลงอย่างมาก ทั้งนี้ การบริโภคที่ชะลอลงเป็นไปในทิศทางเดียวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลงแตะระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือนที่ระดับ 75.8 ในเดือนต.ค.จากระดับ 76.8 ในเดือนก.ย.
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือน แม้ว่าการนำเข้าสินค้าทุนจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องอีกร้อยละ 16.0 ในเดือนต.ค. (จากร้อยละ 14.2 ในเดือนก.ย.) แต่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 (YoY) ในเดือนต.ค. เทียบกับร้อยละ 3.3 ในเดือนก.ย. นำโดยยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดขายปูนซีเมนต์ ซึ่งหดตัวลงอีกร้อยละ 28.3 และหดตัวร้อยละ 16.0 ในเดือนต.ค. (ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 22.8 และหดตัวร้อยละ 17.3 ในเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ) นอกจากนี้ มูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนพลิกกลับมาหดตัวลงร้อยละ 24.4 ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 79.9 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของการลงทุนดังกล่าว มีความสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจซึ่งปรับตัวลงแตะระดับ 38.3 ในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำข้อมูลในปี 2542 จากระดับ 41.0 ในเดือนก.ย.
การผลิต … ชะลอลงต่อเนื่อง
ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำสุดในรอบ 44 เดือน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 4 เดือนติดต่อกัน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 (YoY) ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 4.3 ในเดือนก.ย. โดยการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม (อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และอาหารทะเลแช่แข็ง) ถูกกดดันจากความอ่อนแอของอุปสงค์ในต่างประเทศ โดยการผลิตในหมวดที่เน้นเพื่อส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 5.9 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 9.2 ในเดือนก.ย. ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวมชะลอลงตามความซบเซาของการใช้จ่ายในประเทศ โดยการผลิตที่เน้นตลาดในประเทศขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงส่งผลทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตขยับลงมาที่ร้อยละ 66.4 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 68.2 ในเดือนก.ย.
ผลผลิตภาคเกษตรหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตพืชผล (Crop Production Index) หดตัวลงร้อยละ 2.8 (YoY) ในเดือนต.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 ในเดือนก.ย. ในขณะที่ ราคาพืชผลขยายตัวได้ต่อเนื่องอีกร้อยละ 16.2 ในเดือนต.ค. แต่ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 32.3 ในเดือนก.ย.
ภาคต่างประเทศ … ส่งออกขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ขณะที่ดุลการค้าพลิกกลับมาขาดดุลอีกครั้ง
การส่งออกขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 4.7 (YoY) ในเดือนต.ค. เทียบกับที่ขยายตัวได้ร้อยละ 19.5 ในเดือนก.ย. โดยปริมาณสินค้าส่งออกพลิกกลับมาหดตัวลงร้อยละ 3.1 ในเดือนต.ค. หลังจากขยายตัวร้อยละ 5.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.0 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.5 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะ หมวดสินค้าเกษตร ขยายตัวเพียงร้อยละ 12.8 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 54.0 ในเดือนก่อนหน้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 17.2 ในเดือนก่อนหน้า และหมวดสินค้าใช้เทคโนโลยีสูง หดตัวลงร้อยละ 0.8 ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 17.6 ในเดือนก่อนหน้า
การนำเข้าขยายตัวชะลอลง โดยการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 23.5 (YoY) ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 38.6 ในเดือนก.ย. โดยปริมาณและราคาสินค้านำเข้าขยายตัวชะลอลงเป็นร้อยละ 15.6 และร้อยละ 6.9 ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 และร้อยละ 12.3 ในเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวเพียงร้อยละ 11.0 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 41.3 ในเดือนก่อนหน้า หมวดวัตถุดิบ ขยายตัวเพียงร้อยละ 20.8 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 38.5 ในเดือนก่อนหน้า หมวดสินค้าทุน ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.0 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 17.5 ในเดือนก่อนหน้า และหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นขยายตัวเพียงร้อยละ 26.4 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 42.9 ในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอลงมากได้ส่งผลให้ดุลการค้าพลิกกลับมาบันทึกยอดขาดดุลอีกครั้งในเดือนต.ค. โดยขาดดุล 964.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่บันทึกยอดเกินดุลที่ 142.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย. และเมื่อรวมยอดขาดดุลการค้าเข้ากับดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุล 163.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่องอีก 1,127.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค. หลังจากที่ขาดดุล 702.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย.
แม้ว่าจะมีแรงหนุนจากการผ่อนคลายลงของแรงกดดันจากเงินเฟ้อ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งด้านการลงทุนและการบริโภคอาจยังคงซบเซาต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศและความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาวะชะลอตัว/ถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของไทยอาจส่งผลกดดันภาคส่งออกของไทยรุนแรงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 ต่ำลงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิม และการขยายตัวในไตรมาส 3/2551 ค่อนข้างมาก