รัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หวั่นนโยบายกระตุ้นศก.ได้ผลไม่เต็มที่ ระบุประชาชนขยาดใช้จ่าย-แห่ออม

นักวิชาการคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า วิพากษ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นนโยบายลดหย่อนภาษี-แจกเงินมนุษย์เงินเดือนไม่เหมาะกับสถานการณ์ เหตุประชาชนยังไม่เชื่อมั่น หวั่นแห่ออมมากกว่าใช้จ่าย ฉุดนโยบายรัฐได้ผลไม่เต็มที่ แนะรัฐเร่งโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็คท์ ควบคู่กับนโยบายการเงิน เชื่อไตรมาส 3 เห็นดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1%

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า โจทย์สำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณขาดดุลอีก 1.15 แสนล้านบาท อยู่ที่การทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพและเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หลายโครงการที่รัฐบาลนำมาใช้ยังไม่เข้ากับสถานการณ์ในเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ ทั้งเรื่องของมาตรการลดหย่อนภาษี ที่จะช่วยเหลือได้แต่กลุ่มที่ยังมีงานทำ ซึ่งทำให้เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังทำให้ประชาชนทั่วไปยังขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย

ขณะที่การอัดฉีดเงิน 2 ,000 บาท ให้กับข้าราชการและพนักงานบริษัทที่มีรายได้ต่ำนั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่สามารถวัดผลจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ เพราะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุดและในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ คนกลุ่มนี้อาจนำเงินที่ได้มาออมมากกว่าการนำออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอย

“การเลือกใช้มาตรการลดหย่อนภาษีที่ได้ผลมากที่สุด จะต้องเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่จากสถานการณ์ขณะนี้ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างชัดเจน มีคนตกงานจำนวนมาก การลดหย่อนภาษีก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ หรือแม้แต่การแจกเงิน 2,000 บาท ให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ แต่หากรัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้ คนกลุ่มนี้ก็คงยังไม่กล้าใช้จ่ายเงินแน่นอน” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวด้วยว่า ภาครัฐควรเลือกแนวทางในการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คท์ เช่น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้า การก่อสร้างถนน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการคลังเพียงอย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอ ภาครัฐควรใช้นโยบายทางด้านการเงินควบคู่กันไป ซึ่งมีความเป็นได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5-1% จากเดิม 2.75% เนื่องจากเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ และปัจจัยจากการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทที่ไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการส่งออก อีกทั้งยังป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐได้ปรับลดอัตรานโยบายเหลือ 0.25% และธนาคารกลางของอังกฤษได้ปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1.5% ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 1% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้