มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล … เน้นบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า

ตามที่รัฐบาลได้มีการเปิดเผยแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีรายละเอียดชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ โดยมาตรการที่จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในระยะอันใกล้นี้ จุดสนใจอยู่ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ชุด ชุดแรก คือ มาตรการด้านงบประมาณ โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) สำหรับปีงบประมาณ 2552 จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 1.835 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม หลังจากนั้นจะเสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 มกราคม ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่สอง คือ มาตรการด้านภาษียังอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายละเอียด โดยมีกำหนดจะนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 มกราคมต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ และผลที่จะมีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

เปิดแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ … เน้นบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ
หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มถดถอยลงต่อไปอีก รวมทั้งแก้ไขผลกระทบที่ตามมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเนื้อหาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแนวทางที่จะมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ การใช้มาตรการจูงใจทางภาษี และมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีดังนี้

คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางปีวงเงิน 115,000 ล้านบาท
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 มกราคม 2551 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 (งบกลางปี) วงเงิน 115,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่จัดสรรสำหรับยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมในระยะเร่งด่วน 16 โครงการ วงเงิน 93,469.2 ล้านบาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 2,391.3 ล้านบาท และรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง 19,139.5 ล้านบาท

เป็นที่สังเกตได้ว่ามาตรการที่มีการตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขึ้นมานี้ นับเป็นมาตรการที่ดีที่พยายามอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เน้นมาตรการเชิงรับต่อปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้เกิดผลได้ด้วยความรวดเร็ว โดยมุ่งเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม คือให้ความช่วยเหลือต่อภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง เช่น ประชาชนผู้มีรายได้น้อย แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้ประคองตัวอยู่ได้ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้มีเงินรายได้จำกัดและไม่มีเงินออม จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพ โดยรวมแล้ว ด้วยการออกแบบมาตรการให้ลงไปสู่ผู้ที่ประสบปัญหาโดยตรง จึงอาจกล่าวได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเพื่อบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลคงจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างในระยะยาวตามมา
มาตรการด้านอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากโครงการที่รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินรายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2552 แล้วดังรายละเอียดข้างต้น ถ้าวิเคราะห์จากแนวคิดที่รัฐบาลเปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะยังมีแนวทางอื่นๆ ที่อาจจะดำเนินการประกอบกันไปด้วย อาทิ

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การสร้างงานรองรับในภาคเกษตรกรรม การพัฒนาความรู้และการบริหารจัดการระบบการเกษตร เป็นต้น

มาตรการด้านแรงงานและการจ้างงาน เช่น การปรับลดเงินสมทบประกันสังคมเพื่อลดภาระของแรงงานและสถานประกอบการ โครงการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพสำหรับแรงงาน เป็นต้น

มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเอกชน เช่น มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (การขยายอายุมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการขยายวงเงินในการนำดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านมาหักลดหย่อนภาษี) มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ทั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่มีงบประมาณคงค้างอยู่กว่า 100,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนในปีงบประมาณ 2552 ประมาณ 300,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลเริ่มเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ ให้มีความคืบหน้าชัดเจน ก็คาดว่าจะมีผลกระตุ้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนได้

มาตรการด้านสภาพคล่องทางการเงิน เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท แนวทางให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี และการสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตว่า ด้วยเหตุผลที่การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางการคลัง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการ โดยเลือกใช้มาตรการที่มีความจำเป็นเฉพาะหน้า มากกว่าที่จะใช้มาตรการที่อาจจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพกว้างได้แต่สูญเสียรายได้งบประมาณมูลค่าสูง เช่น การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรืออัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ขณะเดียวกัน ในประเด็นเรื่องสภาพคล่อง อุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความขาดแคลนสภาพคล่องในระบบ แต่อยู่ที่ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยกู้

ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ … ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นตัวถ่วง
จากการที่รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น อันเป็นผลจากการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา รวมทั้งจากการที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบในภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาได้ โดยปัจจัยบวกเหล่านี้ น่าที่จะช่วยให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยในปี 2552 ไม่ติดลบอย่างที่กังวลกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดกันไว้ การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศของไทยในปี 2552 จึงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำหรืออาจติดลบได้ ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2552 จะยังคงต่ำกว่าในปี 2551 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ท่ามกลางแนวโน้มที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องชี้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำที่ทยอยประกาศออกมาสะท้อนสัญญาณที่น่าวิตกมากขึ้นในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ทั้งภาวะการผลิต การจ้างงานและผลประกอบการของธุรกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีโอกาสถดถอยลงลึกมากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ อาจต้องอาศัยระยะเวลายาวนานออกไปอีก ขณะเดียวกัน จากมรสุมเศรษฐกิจที่รุมเร้าภายในประเทศ ส่งผลให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคเอกชนทั้ง 3 ด้าน คือการบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ อ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในประมาณการครั้งก่อน ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในปี 2551 และปี 2552 ลง จากร้อยละ 4.0-4.3 เป็นร้อยละ 3.6 สำหรับปี 2551 และจากร้อยละ 2.5-3.5 เป็นร้อยละ 1.5-2.5 สำหรับปี 2552 โดยแม้คาดหมายว่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐน่าจะมีโอกาสขยายตัวในระดับที่สูงขึ้น จากการขยายวงเงินงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดทางการคลังอาจเป็นสาเหตุให้มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสร้างผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนได้ในวงกว้าง แนวโน้มในระยะไตรมาสข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจึงคงจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคไปได้ยาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 จะมีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ที่หดตัวลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักหน่วงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตลาดภูมิภาคหลัก รวมทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงนี้จะยังคงต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 1/2552 สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีอัตราการเติบโต (YoY) โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างหดตัวร้อยละ 0.2 ถึงหดตัวร้อยละ 1.0 ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไปคงขึ้นอยู่การขับเคลื่อนของกลไกภาครัฐ ว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเป็นแรงส่งให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ เดินเครื่องไปสู่การฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ สมมติฐานกรอบบนของประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะบริหารประเทศให้เกิดการผลักดันนโยบายรวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องพอสมควร ทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปช่วยภาคเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหา เช่น ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว พยุงสถานการณ์การจ้างงาน และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่กรอบล่างของประมาณการ เป็นกรณีที่การเบิกจ่ายของภาครัฐอาจมีความล่าช้า ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านสถานการณ์ในภาคธุรกิจ การจ้างงาน ตลอดจนการใช้จ่ายของผู้บริโภคของไทยอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น

ภายใต้กรอบประมาณการเศรษฐกิจข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะขยายตัวในระดับต่ำ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5-1.2 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2551 ส่วนการลงทุนโดยรวมอาจจะหดตัวระหว่างร้อยละ 1.4 ถึงร้อยละ 3.4 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2551 การส่งออกอาจจะหดตัวระหว่างร้อยละ 3.0 ถึงร้อยละ 7.0 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 17.2 ในปี 2551 แต่การนำเข้ามีแนวโน้มลดลงในอัตราที่รุนแรงกว่าด้านการส่งออก เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงอย่างมาก จึงส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะพลิกกลับมาเกินดุล จากที่ขาดดุลเล็กน้อยในปี 2551
โดยสรุป จากแนวคิดของรัฐบาลในการเร่งรัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจที่รายล้อมรอบด้านอยู่ในขณะนี้ นับว่าเป็นแนวทางที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะเข้ามาแก้ไขเยียวยาปัญหาให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดีที่มีการผลักดันมาตรการใหม่ๆ ออกมาจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้สภาวการณ์เศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ในแทบทุกด้าน นอกจากนี้ ภาพที่สะท้อนออกไปสู่ต่างประเทศน่าจะสร้างความมั่นใจต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยได้มากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถ้าบรรยากาศการเมืองมีความสงบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นผลดีต่อโอกาสการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุน

ทั้งนี้ รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงขึ้น จากผลของการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าน่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบในภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาได้ รวมทั้งน่าจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยตลอดปี 2552 ไม่ติดลบอย่างที่เคยมีผู้กังวล

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการออกมาตรการมาบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าจากรัฐบาล แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณความอ่อนแอที่น่าวิตกมากขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม และข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของไทย ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในปี 2551 และปี 2552 ลง โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคเอกชนทั้ง 3 ด้าน คือการบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการล้วนแล้วอยู่ในสภาพที่อ่อนแรง แม้คาดหมายว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจสุดท้ายที่เหลืออยู่ คือการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐนั้น น่าจะมีโอกาสขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นจากการขยายวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ตาม ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสข้างหน้า จะยังคงเผชิญความเสี่ยงจากภาวะถดถอย โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จะเริ่มติดลบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2551 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 1/2552 ซึ่งจะเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 จะมีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ที่หดตัวลงร้อยละ 0.5 ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงนี้จะยังคงต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 1/2552 สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีอัตราการเติบโต (YoY) โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างหดตัวร้อยละ 0.2 ถึงหดตัวร้อยละ 1.0 ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไป คงขึ้นอยู่การขับเคลื่อนของกลไกภาครัฐ ในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี

โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1.5-2.5 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.6 (จากประมาณการเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-4.3 และในปี 2552 จะขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 2.5-3.5) 